โดย วีรพงษ์ รามางกูร
ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ของศาลหรืออำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นหนึ่ง
ในสามของผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทยผู้ซึ่งเป็นเจ้าของ
อำนาจอธิปไตย จะถูกวิพาษ์วิจารณ์ในทำนอง มีความเคลือบแคลงสงสัย
ศาลรัฐธรรมนูญในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา ในการพิพากษาคดีต่าง ๆ ว่า วินิจฉัย
โดยมีธงมาล่วงหน้าหรือไม่
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็เอาอีก มีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอพิจารณาการ
แก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จนเป็นที่ฮือฮากันเป็นการใหญ่ในหลักการนิติศาสตร์
และรัฐศาสตร์
มีผู้คนจำนวนมากเคลือบแคลงสงสัยในพฤติกรรมของตุลาการรัฐธรรมนูญ 7 ท่าน
ในจำนวน 9 ท่านว่า ท่านมีเหตุผลอะไรที่ท่านเหล่านั้นมีมติออกคำสั่งเช่นนั้น
ในวงการสนทนาหลายแห่งมีคนไม่เชื่อเหตุผลที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญออก
มาชี้แจง ท่านเหล่านั้นเคยเป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่มาก่อน เป็นไปไม่ได้ที่จะ
ไม่รู้หลักนิติศาสตร์และหลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ
และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คำอธิบายว่า เมื่อมีคนมาร้องว่ารัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างระบอบ
การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ต้องรับ
ไว้ไต่สวน โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งขัดกับคำอธิบายรัฐธรรมนูญฉบับปี
2550 ของศาลรัฐธรรมนูญเอง
หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ระบบการแยกอำนาจและ
การถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ถ้าสังเกต
ให้ดีเขาให้อำนาจนิติบัญญัติมาก่อน ต่อมาจึงเป็นอำนาจบริหาร แล้วจึงเป็น
อำนาจตุลาการ ในงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธี ประธานรัฐสภาก็นั่งอยู่เหนือ
นายกรัฐมนตรีและประธานศาลต่าง ๆ
เมื่อสังคมยกย่องให้เกียรติโดยคำกล่าวที่ได้ยินอยู่เสมอว่า
"ไม่ขอก้าวล่วงอำนาจศาล" ศาลก็เลยเข้าใจเอาเองว่าตนเป็น
ผู้มีอำนาจสูงสุดในบรรดาอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ อันได้แก่
อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
แท้จริงแล้วอำนาจในการออกกฎหมาย ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะเป็นพระราชบัญญัติ
หรือบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้อย่าง
สมบูรณ์แล้ว ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการต้องปฏิบัติตามนั้น ตามหลักนิติรัฐ
หรือหลักการปกครองโดยกฎหมาย "Rule of Law" ซึ่งตรงกันข้ามกับการ
ปกครองโดย "อำเภอใจ" หรือ "Arbitrary Rule" จนมีคำพูดว่า ในระบบการ
ปกครองระบอบรัฐสภานั้น รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด
"The Supremacy of the Parliament" ซึ่งต่างกับระบบประธานาธิบดี เพราะ
ในระบบนี้แม้แต่รัฐธรรมนูญ รัฐสภาก็แก้ไขได้ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่
ยินยอมและเห็นด้วย
การที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ไว้ก่อน จึงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่า การปกครองของเรานั้นเป็น
การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่
ระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมี
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั่วโลกเป็นการปกครองระบอบรัฐสภา
นายกรัฐมนตรีมาจากสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
โดยตรงจากประชาชนในโลกนี้เหมือนระบอบประธานาธิบดี
การบริหารราชการแผ่นดินก็ดี การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ
ของศาลต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามวิธีการอันเป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นโดย
ฝ่ายนิติบัญญัติ
จะบริหารราชการหรือพิจารณาพิพากษาอรรถคดีไปตามอำเภอใจไม่ได้
เพียงแต่ฝ่ายนิติบัญญัติจะถูกถ่วงดุลโดยฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการได้
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้น
การที่ศาลรัฐธรรมนูญไปออกคำสั่งให้รัฐสภาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ จึงเป็น
"การก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ" ประชาชนที่มีความรู้ทางกฎหมายและ
การปกครองจึงทนไม่ได้ และถือว่าเป็นเรื่องใหญ่
ยิ่งประธานศาลรัฐธรรมนูญออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อมีคนมาร้องว่ารัฐสภา
กำลังจะเปลี่ยนระบอบการปกครองแผ่นดินจะไม่รับไว้ไต่สวนได้อย่างไร
ก็จะได้เรียกผู้ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาถามว่า จะเปลี่ยนระบอบการปกครองหรือไม่
จะช้าไปอีกสักเดือนไม่เห็นเป็นไร พูดง่าย ๆ อย่างนี้ได้อย่างไร มันเป็นเรื่องหลักการ
การที่ศาลก้าวล่วงเข้าไปในอำนาจนิติบัญญัติย่อมเป็นเรื่องใหญ่
เพราะเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐสภา
ฝ่ายอื่น ๆ ยังมีความเป็นอารยะว่าจะ "ไม่ก้าวล่วงอำนาจศาล" มิฉะนั้น
ประเทศไทยก็จะมีระบอบการปกครองโดยศาล ไม่ใช่โดยรัฐสภา ซึ่งจะเป็น
ประชาธิปไตยไม่ได้เลย เพราะศาลไม่ได้มาจากประชาชน เป็นแต่เพียงผู้เชี่ยวชาญกฎหมายใช้อำนาจตุลาการแทนประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และกฎหมายที่ออกตามความ
ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติเท่านั้น
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรจะต้องเป็นผู้มีวุฒิภาวะและคุณธรรมสูง
ต้องมี "อุเบกขา" คือความมีใจเป็นกลาง ว่างจากความรัก โลภ โกรธ
และหลง เมื่อใดรู้ตัวว่าตนไม่มี "อุเบกขา" หรือว่างกิเลสตัณหาและอุปาทาน
แล้วก็ไม่ควรรับหน้าที่เป็นตุลาการ เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่น
กับประเทศชาติ กับประชาชน แม้แต่ราชบัลลังก์ได้โดยไม่รู้ตัว
หลักกฎหมายเบื้องต้นก็ควรจะแม่น โต้เถียงได้ยากหรือโต้เถียงไม่ได้
เช่น การอ้างพจนานุกรมในการตีความกฎหมาย ใคร ๆ ก็รู้ว่าสำหรับ
ประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร ท่านให้พิจารณาตามความของ
ตัวหนังสือหรือตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในกรณีที่ตัวหนังสือไม่ชัดเจน
ไม่ใช่ตามพจนานุกรมซึ่งเปลี่ยนไปตามกาลเวลา หรืออ้างประมวลกฎหมาย
วิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งมีฐานะต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายเอกชน
บัญญัติความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน ไม่ใช่กฎหมายมหาชน
เช่น รัฐธรรมนูญบทบัญญัติ ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตย และ
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน
ยิ่งแนะนำให้ไปอ่านรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษยิ่งไปกันใหญ่ เพราะ
กฎหมายที่ใช้บังคับในราชอาณาจักรไทยต้องเป็นภาษาไทย ไม่ใช่ฉบับ
ที่แปลเป็นภาษาต่างประเทศ แม้ว่าเขาจะแปลถูกแล้วคือแปลคำว่า
"และ" เป็น "and" เลยกลายเป็นเรื่องตลกขบขัน เสียเกียรติภูมิของศาลไป
คงอีกนานกว่าจะกู้กลับคืนมาได้
เกิดไต่สวนไปมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดย ส.ส.ร.มีเจตนาจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐสภาอาจจะโดนข้อหา
"กบฏในราชอาณาจักร" ก็ได้ ยิ่งจะเป็นเรื่องตลกดังไปทั่วโลก
ความเข้าใจผิดที่ว่าศาลมีความเป็น กลางสูงสุดของระบอบการปกครอง
ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีรัฐธรรมนูญและศาลสูงของอเมริกา
ซึ่งปกครองโดยระบอบประธานาธิบดีเป็นตัวอย่าง ยังมีอยู่กับตุลาการหลาย
ท่าน แม้จะไม่ใช่ส่วนใหญ่ก็ตาม อาจจะเป็นเพราะการศึกษาวิชากฎหมาย
ของเขาให้ศึกษาในขั้นปริญญาที่สอง นักกฎหมายจะได้มีวิสัยทัศน์และ
ทัศนคติที่กว้างขวางนอกจากกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่ได้เกิดในสุญญากาศ
อีกทั้งเมื่อให้เรียนเป็นปริญญาที่สอง นักศึกษาก็มีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิสูงขึ้น
ไม่ว่าจะมาจากชาติวุฒิใด การเป็นนักกฎหมายจะสมบูรณ์ขึ้น
ตุลาการเป็นอาชีพที่คับแคบ เมื่อเป็นตุลาการแล้วการจะออกมาคบหา
สมาคมกับบุคคลภายนอกมากจนเกินไปก็ไม่ดี จะถูกครหาได้ง่าย
ถูกระแวงสงสัยในความเป็นกลางจากคู่ความได้ง่าย จึงมีโลกทัศน์ที่จำกัด
ยิ่งผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนต่างก็เกรงกลัว ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์
คำพิพากษาศาล จึงไม่มีกระจกจะส่องดูตนเอง ตุลาการส่วนใหญ่จึง
ไม่ทราบทัศนคติของประชาชนที่มีต่อศาลว่าเป็นอย่างไร ทั้ง ๆ ที่การวิพากษ์
วิจารณ์คำพิพากษาก็ดี พฤติกรรมของศาลก็ดี เป็นสิ่งที่ทำได้และควรทำ
ไม่ใช่เป็นการหมิ่นศาลอย่างที่เข้าใจกัน คำวิพากษ์วิจารณ์อาจจะไม่จริง
ศาลก็จะได้แก้ไข ได้ออกมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ดีกว่าให้คนเขา
ซุบซิบวิพากษ์วิจารณ์กันจากปากต่อปาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบการ
ปกครองระบอบประชาธิปไตย
ตุลาการบางท่านไปเข้าใจว่าการที่คำพิพากษาเป็นการกระทำ
ในพระปรมาภิไธย ดังนั้นตุลาการก็เลยเป็นตัวแทนของ
พระมหากษัตริย์ตามประมวลแพ่ง ว่าด้วยเอกเทศสัญญา ความจริง
ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ในระบอบการปกครองใด ๆ การประกาศใช้กฎหมาย
ก็เป็นประกาศของประมุขของรัฐทั้งสิ้น ในระบอบของเราการประกาศ
ใช้กฎหมายก็เป็นประกาศพระบรมราชโองการ แต่ต้องมีประธานรัฐสภา
ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ถ้าเป็นการแต่งตั้งรัฐมนตรีข้าราชการ
ระดับสูงก็เป็นพระบรมราชโองการซึ่งทรงลงพระปรมาภิไธยเอง
แต่ผู้รับผิดชอบคือผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ
ถ้าคำพิพากษาต้องทำเป็นพระบรมราชโองการ คงจะเป็นพระราชภาระ
อันหนักที่จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธยทุกคำพิพากษา จึงเปลี่ยนรูป
แบบเป็นคำพิพากษาในพระปรมาภิไธย เพราะคำพิพากษามีมากมาย
ในแต่ละวัน ไม่สะดวก ไม่รวดเร็ว จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นคำพิพากษา
ในพระปรมาภิไธยให้ผู้พิพากษาลงนามเอง แต่มิได้หมายความว่าตุลาการ
กลายเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ ทำในนามของประมุขของประเทศ
มิฉะนั้นพระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงรับผิดชอบในการกระทำ
หรือตุลาการที่พิพากษาคดีรับผิดชอบทุกเรื่องไป
การมีความเข้าใจ มีจิตวิญญาณ และมีศรัทธาต่อปรัชญาของกฎหมาย
ปรัชญาของการปกครองระบอบรัฐสภาและระบอบประชาธิปไตยอันมี
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข น่าจะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็น
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอันทรงเกียรติ
มิฉะนั้นก็จะไม่มีใครเชื่อถือ กลายเป็นตลกไป
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1339886385&grpid=03&catid=02&subcatid=0200#
เมื่อมีศรัทธาในใคร เวลาเขาเขียนอะไรก็ดูจะถูกใจ ตรงใจ
ได้อย่างใจไปเสียทุกที เหมือนข้อเขียน ดร.โกร่ง วันนี้
ระดับดร.โกร่ง ...เขียนเข้าข้างฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายเสื้อแดง
สุดขั้ว แบบนี้ ....
ดิฉันก็คงจะต้องเรียนเชิญ มือโปร...ของฝ่าย non แดง
มาวิจารณ์กันหน่อย
...ไม่ทราบว่า จะมีใครมาบ้าง เอาเลยค่ะ
จะบอกว่า ดร.โกร่งนี้ก็เป็น "โรค kika ทักษิณ" ด้วย
ก็ออกมาซัดกันให้เต็มที่เลย แฟนคลับเทพบุตรประชาธิปไตย เชิญเลย
ชอบมาก ตรงที่บอกว่า
ศาลไม่ได้มาจากประชาชน เป็นแต่เพียงผู้เชี่ยวชาญ
กฎหมายใช้อำนาจตุลาการแทนประชาชนผู้เป็น
เจ้าของอำนาจอธิปไตย
โดนใจจริงๆ