Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ตลก รัฐธรรมนูญเอาไปอีกหนึ่งดอกงามๆ ติดต่อทีมงาน

คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ของศาลหรืออำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทยผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิป​ไตย จะถูกวิพาษ์วิจารณ์ในทำนอง

มีความเคลือบแคลงสงสัยศาลรัฐธรรมนูญในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา ในการพิพากษาคดีต่าง ๆ ว่า วินิจฉัยโดยมีธงมาล่วงหน้าหรือไม่

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็เอาอีก มีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จนเป็นที่ฮือฮากันเป็นการใหญ่ในหลักการนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์

มีผู้คนจำนวนมากเคลือบแคลงสงสัยในพฤติกรรมของตุลาการรัฐธรรมนูญ 7 ท่านในจำนวน 9 ท่านว่า ท่านมีเหตุผลอะไรที่ท่านเหล่านั้นมีมติออกคำสั่งเช่นนั้น ในวงการสนทนาหลายแห่งมีคนไม่เชื่อเหตุผลที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญออกมาชี้แจง ท่านเหล่านั้นเคยเป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่มาก่อน เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้หลักนิติศาสตร์และหลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายรัฐ​ธรรมนูญ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำอธิบายว่า เมื่อมีคนมาร้องว่ารัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิป​ไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ต้องรับไว้ไต่สวน โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งขัดกับคำอธิบายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ของศาลรัฐธรรมนูญเอง

หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ระบบการแยกอำนาจและการถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ถ้าสังเกตให้ดีเขาให้อำนาจนิติบัญญัติมาก่อน ต่อมาจึงเป็นอำนาจบริหาร แล้วจึงเป็นอำนาจตุลาการ ในงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธี ประธานรัฐสภาก็นั่งอยู่เหนือนายกรัฐมนตรีและประธานศาลต่าง ๆ

เมื่อสังคมยกย่องให้เกียรติโดยคำกล่าวที่ได้ยินอยู่เสมอว่า "ไม่ขอก้าวล่วงอำนาจศาล" ศาลก็เลยเข้าใจเอาเองว่าตนเป็น

ผู้มีอำนาจสูงสุดในบรรดาอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ อันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

แท้จริงแล้วอำนาจในการออกกฎหมาย ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะเป็นพระราชบัญญัติ หรือบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้อย่างสมบูรณ์แล้ว ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการต้องปฏิบัติตามนั้น ตามหลักนิติรัฐหรือหลักการปกครองโดยกฎหมาย "Rule of Law" ซึ่งตรงกันข้ามกับการปกครองโดย "อำเภอใจ" หรือ "Arbitrary Rule" จนมีคำพูดว่า ในระบบการปกครองระบอบรัฐสภานั้น รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด "The Supremacy of the Parliament" ซึ่งต่างกับระบบประธานาธิบดี เพราะในระบบนี้แม้แต่รัฐธรรมนูญ รัฐสภาก็แก้ไขได้ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ยินยอมและเห็นด้วย

การที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จึงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่า การปกครองของเรานั้นเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข​ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั่วโลกเป็นการปกครองระบอบรั​ฐสภา นายกรัฐมนตรีมาจากสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในโลกนี้เหมือนระบอบประธานาธ​ิบดี

การบริหารราชการแผ่นดินก็ดี การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ ของศาลต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามวิธีการอันเป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

จะบริหารราชการหรือพิจารณาพิพากษาอรรถคดีไปตามอำเภอใจไม่ได้ เพียงแต่ฝ่ายนิติบัญญัติจะถูกถ่วงดุลโดยฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการได้ตามบทบัญญัติของ​รัฐธรรมนูญเท่านั้น

การที่ศาลรัฐธรรมนูญไปออกคำสั่งให้รัฐสภาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ จึงเป็น "การก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ" ประชาชนที่มีความรู้ทางกฎหมายและการปกครองจึงทนไม่ได้ และถือว่าเป็นเรื่องใหญ่

ยิ่งประธานศาลรัฐธรรมนูญออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อมีคนมาร้องว่ารัฐสภากำลังจะเปลี่ยนระบอบการปกครองแผ่นดินจะไม่รับไว้ไต่สวนได้อ​ย่างไร ก็จะได้เรียกผู้ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาถามว่า จะเปลี่ยนระบอบการปกครองหรือไม่

จะช้าไปอีกสักเดือนไม่เห็นเป็นไร พูดง่าย ๆ อย่างนี้ได้อย่างไร มันเป็นเรื่องหลักการ

การที่ศาลก้าวล่วงเข้าไปในอำนาจนิติบัญญัติย่อมเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐสภา ฝ่ายอื่น ๆ ยังมีความเป็นอารยะว่าจะ "ไม่ก้าวล่วงอำนาจศาล" มิฉะนั้นประเทศไทยก็จะมีระบอบการปกครองโดยศาล ไม่ใช่โดยรัฐสภา ซึ่งจะเป็นประชาธิปไตยไม่ได้เลย เพราะศาลไม่ได้มาจากประชาชน เป็นแต่เพียงผู้เชี่ยวชาญกฎหมายใช้อำนาจตุลาการแทนประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไต​ย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และกฎหมายที่ออกตามความในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติเท่านั้น

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรจะต้องเป็นผู้มีวุฒิภาวะและคุณธรรมสูง ต้องมี "อุเบกขา" คือความมีใจเป็นกลาง ว่างจากความรัก โลภ โกรธ และหลง เมื่อใดรู้ตัวว่าตนไม่มี "อุเบกขา" หรือว่างกิเลสตัณหาและอุปาทานแล้วก็ไม่ควรรับหน้าที่เป็นตุลาการ เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่น กับประเทศชาติ กับประชาชน แม้แต่ราชบัลลังก์ได้โดยไม่รู้ตัว

หลักกฎหมายเบื้องต้นก็ควรจะแม่น โต้เถียงได้ยากหรือโต้เถียงไม่ได้ เช่น การอ้างพจนานุกรมในการตีความกฎหมาย ใคร ๆ ก็รู้ว่าสำหรับประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร ท่านให้พิจารณาตามความของตัวหนังสือหรือตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในกรณีที่ตัวหนังสือไม​่ชัดเจน ไม่ใช่ตามพจนานุกรมซึ่งเปลี่ยนไปตามกาลเวลา หรืออ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งมีฐานะต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายเอกชนบัญญัติความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน ไม่ใช่กฎหมายมหาชน เช่น รัฐธรรมนูญบทบัญญัติ ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตย และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน

ยิ่งแนะนำให้ไปอ่านรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษยิ่งไปกันใหญ่ เพราะกฎหมายที่ใช้บังคับในราชอาณาจักรไทยต้องเป็นภาษาไทย ไม่ใช่ฉบับที่แปลเป็นภาษาต่างประเทศ แม้ว่าเขาจะแปลถูกแล้วคือแปลคำว่า "และ" เป็น "and" เลยกลายเป็นเรื่องตลกขบขัน เสียเกียรติภูมิของศาลไป คงอีกนานกว่าจะกู้กลับคืนมาได้

เกิดไต่สวนไปมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.มีเจตนาจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐสภาอาจจะโดนข้อหา "กบฏในราชอาณาจักร" ก็ได้ ยิ่งจะเป็นเรื่องตลกดังไปทั่วโลก

ความเข้าใจผิดที่ว่าศาลมีความเป็น กลางสูงสุดของระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีรัฐธรรมนูญและศาลสูงของอเมริกาซึ่งปกครองโดยระบอบประธานาธิบดีเป็นตัวอย่าง ยังมีอยู่กับตุลาการหลายท่าน แม้จะไม่ใช่ส่วนใหญ่ก็ตาม อาจจะเป็นเพราะการศึกษาวิชากฎหมายของเขาให้ศึกษาในขั้นปริญญาที่สอง นักกฎหมายจะได้มีวิสัยทัศน์และทัศนคติที่กว้างขวางนอกจากกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่ได้เกิดในสุญญากาศ อีกทั้งเมื่อให้เรียนเป็นปริญญาที่สอง นักศึกษาก็มีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิสูงขึ้น ไม่ว่าจะมาจากชาติวุฒิใด การเป็นนักกฎหมายจะสมบูรณ์ขึ้น

ตุลาการเป็นอาชีพที่คับแคบ เมื่อเป็นตุลาการแล้วการจะออกมาคบหาสมาคมกับบุคคลภายนอกมากจนเกินไปก็ไม่ดี จะถูกครหาได้ง่าย ถูกระแวงสงสัยในความเป็นกลางจากคู่ความได้ง่าย จึงมีโลกทัศน์ที่จำกัด ยิ่งผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนต่างก็เกรงกลัว ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาล จึงไม่มีกระจกจะส่องดูตนเอง ตุลาการส่วนใหญ่จึงไม่ทราบทัศนคติของประชาชนที่มีต่อศาลว่าเป็นอย่างไร ทั้ง ๆ ที่การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาก็ดี พฤติกรรมของศาลก็ดี เป็นสิ่งที่ทำได้และควรทำ ไม่ใช่เป็นการหมิ่นศาลอย่างที่เข้าใจกัน คำวิพากษ์วิจารณ์อาจจะไม่จริงศาลก็จะได้แก้ไข ได้ออกมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ดีกว่าให้คนเขาซุบซิบวิพากษ์วิจารณ์กันจากปากต่อปาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ตุลาการบางท่านไปเข้าใจว่าการที่คำพิพากษาเป็นการกระทำในพระปรมาภิไธย ดังนั้นตุลาการก็เลยเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ตามประมวลแพ่ง ว่าด้วยเอกเทศสัญญา ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ในระบอบการปกครองใด ๆ การประกาศใช้กฎหมายก็เป็นประกาศของประมุขของรัฐทั้งสิ้น ในระบอบของเราการประกาศใช้กฎหมายก็เป็นประกาศพระบรมราชโองการ แต่ต้องมีประธานรัฐสภาลงนามสนองพระบรมราชโองการ ถ้าเป็นการแต่งตั้งรัฐมนตรีข้าราชการระดับสูงก็เป็นพระบรมราชโองการซึ่งทรงลงพระปรมา​ภิไธยเอง แต่ผู้รับผิดชอบคือผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ

ถ้าคำพิพากษาต้องทำเป็นพระบรมราชโองการ คงจะเป็นพระราชภาระอันหนักที่จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธยทุกคำพิพากษา จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นคำพิพากษาในพระปรมาภิไธย เพราะคำพิพากษามีมากมายในแต่ละวัน ไม่สะดวก ไม่รวดเร็ว จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นคำพิพากษาในพระปรมาภิไธยให้ผู้พิพากษาลงนามเอง แต่มิได้หมายความว่าตุลาการกลายเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ ทำในนามของประมุขของประเทศ มิฉะนั้นพระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงรับผิดชอบในการกระทำของตัวแทน ซึ่งผิดหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามคำกล่าวที่ว่า The King can do no wrong แม้จะเคยมีพระราชกระแสพระราชทานไว้ว่า The King can do wrong ซึ่งทรงหมายความว่า ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ก็ไม่ควรมีการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะทุกเรื่องต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ

หรือตุลาการที่พิพากษาคดีรับผิดชอบทุกเรื่องไป

การมีความเข้าใจ มีจิตวิญญาณ และมีศรัทธาต่อปรัชญาของกฎหมาย ปรัชญาของการปกครองระบอบรัฐสภาและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข​ น่าจะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอันทรงเกียรติ
http://www.prachachat.net/news_detail.ph...catid=0200

จากคุณ : อดิศร1
เขียนเมื่อ : 19 มิ.ย. 55 10:35:50 A:125.26.217.244 X:




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com