เลขาฯสุรนันท์พูดถึงนายกฯคล้ายๆท่านทักษิณคือมีกึ๋นประชาสัมพันธ์
แต่ที่เก่งคือจริงใจ ......มติชนออนไลน์
สัมภาษณ์พิเศษ โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ มติชน 21 มิถุนายน 2555
19 มิถุนายน 2555 เป็นวันสิ้นสุด การเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ยาวนาน
ครั้งหนึ่งตลอด 175 วัน ปรากฏภาพ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าร่วมประชุมปฏิบัติหน้าที่
ในฝ่ายนิติบัญญัติไม่กี่ครั้ง
ทั้งๆ ที่มีกฎหมายสำคัญ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญหรือ พ.ร.บ.ปรองดอง รวมกระทู้ถามนับร้อย
ที่มอบหมายให้ รมต.ตอบแทน
นอกจากนี้ยังบ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถามประเด็นร้อนที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
อดีตนายกฯ
...เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
สุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ หมาดๆ ผู้ที่เปรียบบทบาทหน้าที่ตัวเองเป็น
"เสมียนตึกไทยคู่ฟ้า" มีคำตอบ
"ท่านรู้ว่าต้องการพูดอะไร สื่ออะไร แล้วท่านก็ไม่ได้มีข้อบกพร่องที่รุนแรง เสียหาย
อะไรเลย แต่บางครั้งท่านอาจจะคิดว่าการยืนต่อหน้าสื่อไม่กี่นาที ตอบไม่กี่คำถาม
อาจจะไม่ครบถ้วนกระบวนความ"
...เหตุใดยิ่งลักษณ์ถึงชอบเลี่ยงตอบคำถามร้อนๆ ไม่ว่าทั้งในสภาหรือต่อหน้าสื่อ?
"ความที่ท่านนายกฯไม่ได้เป็นนักการเมือง ก็เลยไม่ได้ฝึกทักษะการพูดต่อสาธารณชน
หรือการพูดกับกล้องโทรทัศน์ให้บ่อยครั้ง ผมเองตอนที่เล่นการเมืองใหม่ๆ ก็พูด
ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ดังนั้น เราจะไปโทษนายกฯไม่ได้ เพราะมันเป็นแค่ทักษะหนึ่ง
เท่านั้น บางครั้งที่สื่อแซว หรือท่านพูดผิดบ้าง ก็ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่ไม่ดี"
ส่วนผมเมื่อได้เข้ามาทำงานพร้อมกับ ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ
ก็จะไปช่วยอุด "จุดอ่อน" ดังกล่าว
"เท่าที่ทำงานด้วยกัน ท่านรู้ว่าต้องการพูดอะไร สื่ออะไร แล้วท่านก็ไม่ได้มี
ข้อบกพร่องที่รุนแรง เสียหายอะไรเลย แต่บางครั้งท่านอาจจะคิดว่าการยืนต่อ
หน้าสื่อไม่กี่นาที ตอบไม่กี่คำถาม อาจจะไม่ครบถ้วนกระบวนความ ก็อาจจะมา
บอกให้ผมหรือคุณศันสนีย์ไปช่วยชี้แจงเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะไม่ต้องออกสื่อ
แค่นั่งเล่าให้ฟัง หรืออาจต้องเปิดการแถลงข่าว"
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการนายกฯยกย่องนายกฯว่ามี "ข้อเด่น" ตรงที่ยอมรับว่าตัวเอง
บกพร่องอะไร แล้วเรียนรู้ที่จะปรับปรุงแก้ไข
"นายกฯยิ่งลักษณ์จะคล้ายๆ ท่านทักษิณ คือ มีกึ๋นในการประชาสัมพันธ์ เข้าในเรื่อง
การนำเสนอ ไม่แพ้กัน แล้วสิ่งที่นายกฯเก่ง คือท่านจริงใจ จะเห็นได้ว่าเวลาไปพบ
ประชาชน แทบจะไม่ต้องห่วง พอบอกว่ามีกึ๋น ไม่ได้แปลว่า คิดวางแผน เพราะถ้า
ทำอะไรด้วยความจริงใจ ภาพมันจะออกมาเอง แล้วผมเชื่อเสมอว่า ทีวีไม่หลอกใคร
เพราะสายตาประชาชนเป็นล้านคู่ ย่อมดูออก"
เขากลับมองว่าเรื่องนี้เป็น "ข้อด้อย" ของฝ่ายตรงข้าม
"ต่างกับนักการเมืองบางคน ที่เคยศึกษาในต่างประเทศ คนที่วางแผนมากๆ
เกี่ยวกับภาพลักษณ์ตัวเอง มันไม่ประสบความสำเร็จหรอก เพราะคนมันดูออก
ว่าวางแผน"
ส่วนเรื่องการไม่ตอบ "คำถามทางการเมือง" ที่ฝ่ายตรงข้ามมองว่าเป็นเพราะผู้นำ
หญิงต้องการ "ลอยตัวหนีปัญหา" เลขาฯ นายกฯ ยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะผู้เป็นนาย
ยืนยันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าประชาชนเลือกมาให้ทำงานบริหาร ดังนั้น จะไม่ไปตอบโต้
ให้ถูกดึงไปพัวพันในเรื่องยุ่งๆ
"หลักการท่านแม่น อย่างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นเรื่องของสภา แต่ถ้ามี
จังหวะ บางจังหวะ ท่านก็ตอบ เพราะถ้าตอบมากๆ คนเขาก็จะเอาท่านไปเกี่ยวพัน
กับเรื่องนั้นอีก หาว่ามาตอบเพราะเป็นน้องสาวอดีตนายกฯ มีความขัดแย้งเรื่อง
ผลประโยชน์หรือเปล่า ไม่ตอบเลยจะดีกว่า หรือร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ท่านก็บอกว่า
มันเป็นขั้นตอนแรก การนำเข้าสู่สภาเป็นแค่จุดเริ่มต้นในการถกเถียงกัน แต่พอร่าง
พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสู่สภาแล้วท่านไปตอบโต้อีก ก็จะถูกกล่าวหาว่าไปแทรกแซง
ไปช่วยเหลือคนโน้นคนนี้"
เขาสรุปเหตุผลที่ "นายกฯหญิง" ไม่ตอบคำถามในบางเรื่องบางราวว่า
"ไม่พูดก็โดนอยู่แล้ว ยิ่งพูดยิ่งโดนเข้าไปใหญ่ ท่านก็เลยตัดสินใจว่า
ไม่พูดจะดีกว่า ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับท่าน"
สุรนันทน์ยังยกตัวอย่างการทำงานระหว่าง "ผู้นำกับสื่อ" ของต่างชาติกับของไทย
"โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มาพบท่านยิ่งลักษณ์ ก็ถามท่านว่าพูดกับสื่อ
บ่อยไหม ท่านก็ตอบว่า พูดทุกวัน ปรากฏว่านายกฯอังกฤษตกใจ เพราะเขาบอก
ว่าตัวเขานานๆ จะพูด สัปดาห์ละครั้งก็ถือว่ามากแล้ว และจะใช้เป็นเพรสคอนเฟอเรนซ์
ขณะที่บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ค่อยพูดกับสื่อ
จะใช้การปาฐกถา ซึ่งบางครั้งก็ซ่อนเรื่องการเมืองไว้ในคำกล่าวของเขา
ผู้นำในประเทศ อื่นๆ เขาจะใช้วิธีสื่อสารกับประชาชน แล้วสื่อก็ต้องนำสิ่งที่ผู้นำพูด
กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัยหรือการปาฐกถามาเป็นข่าว โดยจะกำหนดไป
เลยว่าจะพูดสัปดาห์ละกี่ครั้ง ยกเว้นในช่วงวิกฤตจริงๆ ที่จะออกมาให้สัมภาษณ์พิเศษ
แต่พวกคุณใช้นายกฯไทยเปลือง หรือมองอีกมุมนักการเมืองไทยก็ใจดีเกินไป"
ถามว่านายกฯจะใช้วิธีไม่พูดเพื่อจัดระเบียบสื่อต่อไป
เขาตอบว่า "อย่าเรียกว่าจัดระเบียบ แต่ท่านอยากมาทำงาน ถ้าถึงจุดที่จะต้องพูด
และมีข้อมูลที่ครบถ้วน มีคำอธิบายที่ชัดเจน ท่านก็จะพูดเอง แต่ถ้าพูดไปแล้ว
นักข่าวยังเข้าใจไม่ตรงกัน สื่อสารออกไปแล้วจะผิด ท่านก็จะไม่อยากพูด ซึ่งท่าน
ก็จะใช้วิธีนี้ต่อไป เว้นแต่สื่อมีข้อคิดเห็นอื่น เช่นบอกว่าต่อไปนี้ไม่ต้องแล้ว แถลงข่าว
เดือนละครั้งพอ"
สุรนันทน์บอกด้วยว่า แต่ "โมเดลยิ่งลักษณ์" เรื่องเดี๋ยวพูด-เดี๋ยวใบ้ จะเอาไป
เทียบเคียงกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ โดยเฉพาะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
คงไม่ได้ เพราะอดีตนายกฯแต่ละคนก็มีลูกเล่นไม่เหมือนกัน อย่าง พล.อ.เปรม
ก็ไม่ค่อยพูด จะพูดสั้นๆ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ใช้การพูดเล่นเบี่ยงประเด็น
กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณบางช่วงก็พูดมาก บางช่วงก็พูดแค่สัปดาห์ละครั้ง
ส่วนท่านยิ่งลักษณ์ คงดูว่าจะทำอย่างไร ใจท่านคงอยากใช้เวลานี้ทำงานให้เต็มที่
แล้วเมื่อถึงเวลาต้องสื่อสาร ก็จะใช้รายการทุกเช้าวันเสาร์ หรือใช้โอกาสได้ปาฐกถา
ยาวๆ มากกว่า
และเพื่อให้เห็นว่านายกฯหญิงรู้เรื่องในงานที่ตัวเองทำจริงๆ เขาถึงได้เปิดเผยว่า
เอกสารเปิดงานต่างๆ ในระยะหลัง "นายกฯจะเขียนด้วยตัวเอง" เกือบทั้งหมด
"เท่าที่ผมได้ทำงานกับท่าน ตั้งแต่ยังไม่มีตำแหน่ง ท่านก็แก้ไขเพิ่มเติมเองตลอด
โดยเฉพาะหลังน้ำท่วม บางเรื่องแทบไม่ต้องเขียน อย่างเรื่องน้ำ ท่านรู้จนกลาย
เป็นผู้เชี่ยวชาญ บางครั้งมีคนร่างสปีชมาให้ ท่านก็พลิกไปอีกหน้าหนึ่ง แล้วเขียน
ด้วยลายมือท่านหมด
ดังนั้นสบายใจได้ว่ามันเป็นคำพูดของท่านเอง และท่านอยากสื่อสารด้วยวิธีนี้
ส่วนการตอบคำถามนักข่าว ขอเป็นเรื่องๆ ตามจังหวะจะดีกว่า ถ้าท่านคิดว่า
จังหวะนี้ยังไม่ถูกต้อง สื่อสารแล้วเข้าใจผิด ท่านก็จะไม่พูด"
ถึงบรรทัดสุดท้ายฟังดูเหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้สื่อทำใจว่าหลายครั้งที่ตาม
ไปทำข่าวแล้วอาจไม่ได้สัมภาษณ์
สุรนันทน์บอกว่า "ใช่ ก็ขอให้เข้าใจ แต่ผมคิดว่าตามไปทำข่าวแล้ว
เห็นกิจกรรมท่าน ฟังท่านพูดสิ่งดีๆ ผมว่าอาจได้ข่าวดี มีสาระ มากกว่า
ฟังท่านตอบคำถามเสียอีก"
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1340245956&grpid=01&catid=&subcatid=