Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
วีรพงษ์ รามางกูร : ตุลาการในระบอบประชาธิปไตย ........ มติชนออนไลน์ ติดต่อทีมงาน

 


คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร  (ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่2-4 กรกฎาคม 2555)

เมื่อไม่นานนี้มีข่าวว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ส่งตัวแทนของตนไปร้องต่อ
ศาลอาญาให้ถอนประกันผู้ต้องหาคดี "ก่อการร้าย" ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็น
ปรากฏการณ์ "เหลือเชื่อ" ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของศาล

เนื่องจากการเป็นศาลนั้นไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน
เป็นอิสระปราศจากการตรวจสอบจากสถาบันใด ๆ ที่มาจากประชาชนเลย ดังนั้น
การเป็นตุลาการไม่ว่าของศาลใด ๆ ต้องวางตัวให้เหมาะสม มีวุฒิภาวะสูงใน
สายตาของประชาชน

การวางตัวให้เหมาะสมนั้นเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับตุลาการ เพราะจะต้อง
ได้รับความเชื่อมั่น เชื่อถือ ยิ่งเรียกร้องว่าตัวเองต้องอิสระ ไม่ถูกตรวจสอบ
โดยองค์กรภายนอกเลย ยิ่งต้องมีขันติธรรม คือความอดกลั้นสูง ไม่โอนเอน
ไปตามอารมณ์ของตน ต้องมีอุเบกขา คือความมีใจเป็นกลางว่างจากอคติและ
อุปาทานของตน อย่างน้อยก็ต้องไม่ให้ประชาชนเห็น เพราะจะทำให้ผู้คนคิด
ไปไกลว่าไม่อาจเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้ายได้ ทำให้

เกิดความเสียหายกับประเทศชาติโดยส่วนรวม

การที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปร้องต่อศาลอาญา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
จะกล่าวว่าตนไม่รู้ไม่เห็น ทางสำนักงานเขาทำกันไปเองไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น
จริงก็เท่ากับตนไม่มีความหมายอะไร สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำเรื่อง
ใหญ่ขนาดนี้ได้โดยไม่ปรึกษาประธานศาล

แต่ผู้คนเขากลับมองว่าประธานศาลไม่พูดความจริง เป็นการพูด "แก้ตัว"
ปัดเรื่องออกจากตัวมากกว่า ยิ่งออกมาพูดว่าที่ไปร้องต่อศาลอาญาก็เพื่อ
ความปลอดภัยของประธานศาลรัฐธรรมนูญก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะการให้
ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะใช้ข้อหา
"ผู้ก่อการร้าย" เพื่อให้ศาลมีดุลพินิจที่จะไม่ให้ประกันตัวได้ก็เป็นข้ออ้าง
ทางการเมือง ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องกล่าวหากันทางการเมือง แม้ประธาน
ศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาบอกประชาชนว่าตนได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ ถ้าแค่ถูก
โทรศัพท์ข่มขู่ก็หวั่นไหวในการอำนวยความยุติธรรมแล้ว ก็ต้องคิดให้หนักว่า
จะทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมได้หรือไม่

ศาลเป็นสถาบันเดียวในสามสถาบันที่เป็นผู้ใช้อำนาจประชาอธิปไตยที่ไม่เคย
เปลี่ยนแปลง ไม่เคยมีการปฏิรูปเลยตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาถึง
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ศาลผู้ใช้อำนาจ
ตุลาการก็ยังไม่ถูกแตะต้องเลย แถมคณะราษฎร์ยังไปขอให้
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา อดีตผู้พิพากษามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกด้วย
การที่คณะราษฎร์ไปดึงเอาผู้พิพากษามาทำงานการเมืองจึงเป็นจุดเริ่มต้น
ของความล้มหลวในเวลาต่อมา เพราะพระยามโนปกรณ์นิติธาดาไม่ได้มีความ
เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยเลย

ความไม่มีความเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยของศาลนั้นน่าจะยังมีสืบเนื่อง
มาจนปัจจุบัน เพราะการเรียนการสอนก็ไม่ได้ตัดตอนฐานะของผู้พิพากษาใน
ระบบที่แตกต่างกันก่อนปี 2475 กับหลังปี 2475 ว่าตนทำหน้าที่แทนใคร ควร
วางตัวอย่างไร วิธีคิดควรเปลี่ยนไปอย่างไร

เมื่อมีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว
ได้มีการยอมรับมานานแล้วว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ศาลซึ่ง
เป็นอำนาจหนึ่งในสามที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจแทนประชาชนทางศาล
ดังนั้นศาลจึงทำหน้าที่ตุลาการแทนประชาชนเหมือน ๆ กับรัฐสภา
และคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่นิติบัญญัติและบริหารแทนปวงชนชาวไทยแล้ว
ต้องตระหนักให้มากว่าตนได้รับเกียรติให้มาทำหน้าที่ตุลาการแทนประชาชน
โดยไม่ได้มีอะไรยึดโยงกับประชาชนเลย ทั้งในการคัดเลือก ควบคุม ตรวจสอบ
ถอดถอน ดังนั้นตนต้องเคร่งครัดในหลักการและจรรยาบรรณ

กล่าวคือต้องควบคุมและตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอเป็นนิตย์ ว่าตนยังทำหน้าที่แทน
เจ้าของอำนาจอธิปไตยคือประชาชนอยู่หรือไม่

ยิ่งเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการได้รับการคัดเลือกมาตอนที่อำนาจอธิปไตย
ถูกยึดจากปวงชนชาวไทยโดยคณะรัฐประหาร อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร
ก็ออกมาสารภาพขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสภานิติบัญญัติที่ตนแต่งตั้ง
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องยิ่งถ่อมเนื้อถ่อมตน และตระหนักว่าตนมิได้มา
ตามวิถีทางปกติ วันหนึ่งเจ้าของอำนาจอธิปไตยเขาก็คงจะต้องมีการเปลี่ยน
แปลงปรับปรุงรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากเขา แม้เขาจะเป็นผู้ลงประชามติรับก็
ด้วยมีเหตุจำยอม เพราะถ้ายิ่งไม่รับก็ยิ่งต้องใช้รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร
ด้วยความเชื่อผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และเชื่อรัฐบาลประชาธิปัตย์ว่าให้
รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลัง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองก็ควรตระหนักถึง
ข้อเท็จจริงอันนี้ ถ้าตนตระหนักว่าตนทำหน้าที่ตุลาการแทนประชาชนชาวไทย
ตุลาการรุ่นเก่าที่สอนกฎหมายอยู่ระหว่างประเทศปกครองโดยรัฐบาลทหาร

ในห้องเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ท่านก็พร่ำสอนถึงความเป็นตุลาการใน
ระบอบประชาธิปไตย อดีตประธานศาลฎีกาท่านหนึ่งเคยสอนว่า "แม้จะรู้ว่า
เมื่ออ่านคำพิพากษาจบฟ้าจะถล่มดินจะทลาย คำพิพากษาก็จะไม่มีวัน
เปลี่ยนแปลง" ยังจำติดหูอยู่จนทุกวันนี้ ไม่ใช่ออกมาแสดงความหวั่นไหว
เมื่อมีโทรศัพท์มาข่มขู่ ซึ่งจริงหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจ มิฉะนั้นเราคงจะไม่เห็น
พลเอกผู้ร่วมปฏิวัติกับจอมพลสฤษดิ์ถูกตัดสินจำคุกเพราะภรรยาไปรับเพชร
เป็นสินบน

แม้จะยึดหลักทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ว่า "ผู้ที่ยึดอำนาจสำเร็จย่อมเป็น
รัฏฐาธิปัตย์" สามารถตรากฎหมายให้ศาลใช้ได้ ก็ยังต้องตระหนักว่าตนใช้
กฎหมายนั้นแทนประชาชน ไม่ใช่แทนคณะรัฐประหารที่เป็นองค์อธิปัตย์ เพราะ
คณะรัฐประหารก็ประกาศว่า "ตนกระทำการบริหารประเทศแทนประชาชน ตาม
ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

โดยทั่วไปสังคมยอมรับว่าผู้พิพากษาเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็น "คนดี" แต่ก็มีภาษิต
ทางรัฐศาสตร์อยู่เหมือนกันว่า "คนดีที่ควบคุมไม่ได้อันตรายเสียยิ่งกว่าคนเลวที่
ควบคุมได้" เรื่องนี้เคยพิสูจน์มาแล้วจากประวัติศาสตร์ในยุคที่บ้านเมืองเคยถูก
ปกครองโดยคนที่ประชาชนนึกว่าเป็นคนดี ผู้ที่ถือค้อนนาน ๆ เข้าก็จะเห็นศีรษะ
ของมนุษย์เป็นหัวตะปูไปหมด ถ้าไม่มีการควบคุมหรือถ่วงดุล อำนาจทุกอย่างจึง
ต้องมีการควบคุมและถ่วงดุล การควบคุมและการถ่วงดุลจึงเป็นหลักสำคัญ
อย่างหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการบริหารประเทศ
ทุกระดับ เราควรจะตรวจสอบดูว่าองค์กรทุกองค์กรมีระบบถ่วงดุลและควบคุม
เพียงพอหรือไม่ ไม่ควรคิดว่า "ถ้าเลือกคนดีทุกอย่างก็จะดีเอง" อย่างที่บางคน
ชอบพูดฟังดูดี แต่ไม่สู้จะมีประโยชน์ กลับไปทำให้สังคมคิดผิด ๆ และหลงทาง
ไม่สนใจระบบและโครงสร้างของอำนาจ ไปสนใจหาคนดีหรือทำคนให้ดีเท่านั้น
ซึ่งเป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าและพระศาสดาองค์อื่นพยายามมากว่า 2-3,000 ปี
แล้วก็ยังทำไม่ได้

มาสนใจระบบดีกว่าว่าจะสร้างอย่างไรจึงจะควบคุมทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่ให้เอา
คุณค่าและความคิดของตนไปใช้อำนาจบังคับให้คนอื่นต้องคิดตาม

ขณะนี้ทั้งโลกยอมรับกันแล้วว่า "ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด"
เพราะเป็นระบบที่สามารถเปลี่ยนผู้ปกครองได้โดยสันติวิธี สามารถควบคุมตรวจ
สอบและถ่วงดุลได้ไปในตัว ไม่มีชนชั้นใดโง่หรือฉลาดกว่าชนชั้นใด ขณะนี้คนชนบท
ไม่มีแล้ว มีแต่คนเมืองกับคนต่างจังหวัดเท่านั้น เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจรายได้
ระบบสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีได้เปลี่ยนโลกใบนี้ให้แตกต่างจากเมื่อ 20-30 ปี
ก่อนไปแล้ว องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายควรจะเลิกสับสนเสียทีว่าตนเป็นเพียง
ผู้ใช้อำนาจรัฐแทนใครและเพื่อใคร ควรตระหนักได้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของ
ประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชน

ผู้ที่ต้องเปลี่ยนแปลงความคิดมากที่สุด อาจจะเป็นตุลาการนั่นเอง

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1341223227&grpid=&catid=02&subcatid=0207

ชื่นชม ...พี่โกร่ง..อยู่แล้ว  เก็บตกมาให้เพื่อนๆ อ่านกัน
ใครไม่ชอบ...เชิญวิจารณ์ตามสบาย
แปลกนะ ...ไม่ค่อยมีคนมาวิจารณ์ แบบขัดแย้ง...
อ้อ..ถึงเป็นนักเศรษฐศาสตร์  แต่ ดร.โกร่ง ...จบรัฐศาสตร์นะคะ
เรียนมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ ...ให้เรียนในหลักสูตรด้วยค่ะ
เป็นวิชาบังคับ

จากคุณ : sao..เหลือ..noi
เขียนเมื่อ : 3 ก.ค. 55 06:42:01 A:58.8.138.9 X:




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com