Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
"การเมือง"ลาม"ศาล รธน." เพื่อไทย-ปชป.ลุ้น ม.291 "ตุลาการ"ร้อน ...มติชนออนไลน์ ติดต่อทีมงาน

 

วิเคราะห์

 

บัดนี้คดีกล่าวหาว่าการร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ไปทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นขัดต่อมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ ฐานล้มล้าง
การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ร้องต่อศาล
รัฐธรรมนูญได้เริ่มต้นกระบวนการไต่สวนแล้ว

วันที่ 5 กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้อง วันที่ 6 กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญ
ไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นการพิจารณาไว้ 4 ประเด็น ประกอบด้วย

หนึ่ง อำนาจการฟ้องร้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง

สอง ปัญหาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง
ฉบับได้หรือไม่

สาม ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบ
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง
ที่เป็นไปตามวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

และ สี่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
วรรคสามและวรรคท้ายอันเป็นเหตุให้พรรคการเมืองถูกยุบพรรคหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เพียงวันแรกของการไต่สวนคดี นายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเป็น 1 ใน 9
ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ขอถอนตัว

เหตุที่นายจรัญถอนตัวเนื่องจากได้แสดงความคิดเห็นในรูปคดี คือ คิดเห็นเรื่องการแก้ไข
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 291 นั้นทำได้หรือไม่

ขณะเดียวกันนายจรัญ ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงถูก
เพ่งเล็งในการทำหน้าที่ตุลาการพิจารณาคดีนี้

ผลจากการถอนตัวทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นทันที

ประการแรก เมื่อเปรียบเทียบกับ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี
คลิปคำให้สัมภาษณ์ของนายวสันต์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2554 ระบุว่า สามารถแก้ไข
มาตรา 291 เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้

แล้วพบว่า มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับคลิปที่นายจรัญเคยให้ความเห็นเอาไว้เมื่อปี 2550
คือ ให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขในมาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ได้หรือไม่

ประการที่สอง เมื่อเปรียบเทียบกับ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และ นายนุรักษ์ มาประณีต กับ
นายจรัญ ซึ่งเป็นตุลาการศาล

รัฐธรรมนูญเหมือนกันแล้วพบว่า นายจรัญ นายสุพจน์ และนายนุรักษ์ ต่างมีส่วนยก
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาเหมือนกัน

ดังนั้น หากนายจรัญถอนตัวในเรื่องที่เคยเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550
นายสุพจน์ และนายนุรักษ์ ก็ตกที่นั่งเดียวกัน

จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวว่า ทั้งนายวสันต์ นายสุพจน์ และนายนุรักษ์ ขอถอนตัวออกจาก
องค์คณะ เพียงแต่ในกรณีของนายวสันต์ นายสุพจน์ และนายนุรักษ์ ที่ประชุมศาลไม่
อนุญาตให้ถอนตัว

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ หากมีการถอนตัว จะเหลือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียง 5 คน
ซึ่งเท่ากับจำนวนองค์คณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 พอดี ซึ่งหากปล่อยให้เป็น
เช่นนี้จนมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดไม่อาจทำหน้าที่ได้ กระบวนการพิจารณาคดี
ก็อาจสะดุด

อย่างไรก็ตาม แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 คน จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถอนตัว แต่ยัง
เป็นปัญหาว่าตุลาการทั้ง 3 คน สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มพิกัดได้แค่ไหน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ชี้ให้เห็นถึงความร้อนแรงทางการเมืองที่ลุกลามไปถึง
ศาลรัฐธรรมนูญ

การเมืองที่เดิมร้อนแรงเฉพาะฝ่ายการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทย

กล่าวคือ พรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่
พรรคเพื่อไทย ได้รับการสนับสนุนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทั่งกลายเป็นยืน
ตรงข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และนำเสนอกฎหมายที่ดูเหมือนจะ
เป็นประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ
พ.ศ. .... ซึ่งถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่นิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ หรือร่างแก้ไข
รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถูก
มองอีกว่าเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะยกเลิกโทษของ พ.ต.ท.ทักษิณ

พรรคประชาธิปัตย์จึงร่วมกับฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ออก

แรงต้าน แม้จะต้านในสภาไม่ได้ก็ใช้สิทธิดึงเรื่องไปพึ่งอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

และหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจรับคำร้องไว้พิจารณาโดยตรง โดยไม่ผ่าน
อัยการสูงสุด ทำให้เกิดข้อครหาตามมาตรา 68 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ.2550

นับแต่นั้นศาลรัฐธรรมนูญก็เข้าสู่วังวนเดียวกับฝ่ายการเมือง.....ดูเหมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญ
กำลังถูกดึงไปเป็น ?คู่ขัดแย้ง? แทนที่จะเป็น ?กรรมการ?

นี่จึงเป็นช่วงเวลาของศาลรัฐธรรมนูญ

หากศาลรัฐธรรมนูญถูกดึงไปเป็นคู่ขัดแย้ง ผลที่ตามมาย่อมกระทบต่อศาลรัฐธรรมนูญ
และกระทบต่อผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมให้การเมืองดึงไปเป็นเครื่องมือ แต่ดำรงตนเป็น ?กรรมการ?ได้
ศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับการยอมรับ

วันนี้ ศึกการเมืองได้ย้ายสนามรบออกจากรัฐสภาไปประจันหน้ากันที่ศาลรัฐธรรมนูญ

การเผชิญหน้ากันครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย หากตั้งรับ
ไม่ดีย่อมได้รับผลกระทบกระเทือน

แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน หากหลักไม่แน่น ตั้งรับไม่ดี อาจตกเป็นเหยื่อ
สงครามการเมืองได้ทุกเมื่อเช่นกัน

http://www.matichon.co.th/daily/view_news.php?newsid=01col02080755&sectionid=0116&selday=2012-07-08

น่าเชื่อถือไหม ...ถ้าจะบอกว่า  งานนี้ศาลรธน.ก็ได้ใบสั่งมาเหมือนกัน  เหมือนกับ
หลายเรื่องที่กำลังระดมมาที่พรรคเพื่อไทย
ไม่มีมูล...ไม่มีข่าวแบบกระซิบกระซาบกันไปทั่วหรอก

ที่น่าเชื่อถือก็เพราะ  มันขัดกับหลักการต่างๆ ที่แต่ละคนพูดกันก่อนหน้านี้
ทำให้ต้องเกิดอาการถอนตัว  เพราะหาทางออกไม่ได้
แล้วก็ทำให้นึกไม่ถึงว่า  คนระดับศาลรธน.  ก็ยังไม่สามารถยึดหลักการได้
อยากจะบอกว่า กรณีนี้เชื่อว่า ศาลรธน.ไม่อยากทำหรอก  ........

จากคุณ : sao..เหลือ..noi
เขียนเมื่อ : 8 ก.ค. 55 15:20:11 A:58.11.86.215 X:




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com