Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ชัดๆ จะๆ เข้าใจง่าย ใครยืนในหลักการ ใครแกว่งไกวโล้ใบเข้าหาธง ติดต่อทีมงาน

วันที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:30 น.  ข่าวสดออนไลน์


สัญญาณแกว่ง - "รธน."อึมครึม

การเมือง ข่าวสด

บรรยากาศบ้านเมืองเข้าสู่ช่วงอึมครึม

ระหว่างประชาชนทั่วทั้งประเทศตั้งหน้าตั้งตารอลุ้นผลศาลรัฐธรรม นูญตามที่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า

การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้ มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือส.ส.ร.3 ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ก่อนนำไปสอบถามความคิดเห็นประชาชนทั้งประเทศผ่านการทำประชามติ

ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาวาระแรก และวาระ 2 มาจ่ออยู่ที่วาระ 3 ก่อนหยุดชะงักไปด้วยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

ถือเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 หรือไม่


ในการออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนก่อน มีคำวินิจฉัย คณะตุลาการศาลรัฐธรรม นูญกำหนดการไต่สวนพยานสองฝ่ายระหว่างวันที่ 5-6 ก.ค.ที่ผ่านมา

โดยให้ฝ่ายผู้ร้องนำพยานเข้าไต่สวนวันแรก 7 คน

ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายวันธงชัย ชำนาญกิจ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นาย วรินทร์ เทียมจรัส นายบวร ยสินธร นายสุรพล นิติไกรพจน์ และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์

ฝ่ายผู้ถูกร้องนำพยานเข้าชี้แจงไต่สวนวันที่สอง 8 คน

ประกอบด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นายสามารถ แก้วมีชัย นายชุมพล ศิลปอาชา นายภราดร ปริศนานันทกุล นายโภคิน พลกุล นายอุดมเดช รัตนเสถียร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์

และนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

ในการเปิดไต่สวนพยานวันแรก นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการฯ ทำหน้าที่แจ้งการพิจารณาวินิจฉัยของคณะตุลาการฯ 4 ประเด็น

1.ผู้ฟ้องมีอำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 วรรคสองหรือไม่ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่

3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 มีปัญหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

4.หากมีการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องมีการยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสามและสี่หรือไม่

ในภาพรวมการเบิกความและซักค้านของสองฝ่ายที่ดำเนินมาเป็นเวลา 2 วันเต็ม


นอกจากฉายให้เห็นถึงการต่อสู้หน้าบัลลังก์ศาล ที่ฝ่ายหนึ่งยึดกุม "ข้อเท็จจริง"

กับอีกฝ่ายยึดกุม "จินตนาการ" ตั้งคำถามไล่ต้อนโยงไปถึง "คนแดนไกล" และ "คนเสื้อแดง" นอกสภาว่า มีเจตนาเปลี่ยนแปลงล้มล้างระบอบการปกครอง

ทั้งยังใช้ความพยายามเดิมๆ ลากดึงเอาสถาบันสูงสุดลงมาเกี่ยวข้องกับเกมแย่งชิงอำนาจการเมือง

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่แตกต่างไปจากการที่ต่างฝ่ายต่างยืนในจุดของตนเอง เหมือนกับที่เคยแสดงออกในการอภิปรายในการประชุมรัฐสภาทั้งในวาระแรกและวาระ 2

โดยเฉพาะในวาระ 2 ชั้นการแปรญัตติ ทั้งสองฝ่ายใช้เวลาอภิปรายถกเถียงกันถึง 15 วัน ยาวนานเป็นประวัติ ศาสตร์ของรัฐสภาไทย

การเมืองว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนี้แรงกดดันได้เคลื่อนย้ายไปตกอยู่กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา

ซึ่งแน่นอนว่าระหว่างนี้ต้องมีการคาดเดาผลไปต่างๆ นานา


โดยเฉพาะการตีความเบื้องหน้าเบื้องหลังการแสดงเจตนาขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะพิจารณาวินิจฉัยคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 จาก 9 คน

เริ่มจาก นายจรัญ ภักดีธนากุล ที่ติดหล่มคำพูด ของตัวเองสมัยเป็นรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐ ธรรมนูญปี 2550 ที่พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า

"อยากจะให้เราทำแบบเมื่อปี 2540 เราเสนอให้ 5 หมื่นคนเท่านั้น แล้วก็ส.ส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้น เสนอแก้ไขมาตราเดียวแบบที่เราเริ่มทำในปี 2540"

"แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่"

แต่สิ่งที่ทำให้นายจรัญต้องถอนตัว และคณะตุลาการฯ มีมติอนุญาต เนื่องจากนายจรัญชี้แจงระหว่างการไต่สวนพยานเมื่อวันที่ 5 ก.ค.

"ผมพูดตอนนั้นว่าถ้าไม่ได้รัฐธรรมนูญ 2550 เราจะไม่พ้นจากระบอบปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้น น่าจะต้องรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อน แล้วถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมไม่ควรก็แก้ไขเพิ่มเติมได้"

"แต่ไม่ได้บอกว่าแก้มาตราเดียวแบบยกเลิกทั้งฉบับ ซึ่งคนละประเด็นกับคดีนี้"

เพียงแค่ไม่กี่ประโยคก็เผยให้เห็น "ธง" ทั้งที่ยังไม่ได้ฟังคำชี้แจงของฝ่ายผู้ถูกร้องก็เลยจำเป็นต้องถอนตัวไป ในที่สุด

ด้วยเหตุทำนองเดียวกัน ก่อนศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนวันที่สอง นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงเจตนารมณ์ขอถอนตัวบ้าง

เพราะมีคนไปค้นเจอหลักฐานนำมาเผยแพร่ทางยูทูบว่า นายวสันต์เคยพูดไว้เองเช่นกันว่า รัฐ ธรรมนูญก็เหมือนกฎหมายอื่นๆ ที่แก้ไขได้


แรงกดดันยังแผ่ลามไปถึง นาย นุรักษ์ มาประณีต กับ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ที่ในอดีตเคยเป็นส.ส.ร.2 มีส่วนได้เสียกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยตรง

แต่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่อนุญาตให้ตุลาการทั้ง 3 คนถอนตัว ด้วยเหตุผลว่าเป็นคนละกรณีกับของนายจรัญ

ก่อนเดินหน้ากระบวนการวินิจฉัยต่อไป


ความไม่อยากเอาตัวเองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้ง ยังไม่นับรวมกรณีการถอนชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน ออกจากบัญชีพยานของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม

จากสถานการณ์ที่ยังแกว่งไปแกว่งมา ทำให้คาดเดาได้ยากว่าผลลงเอยจะเป็นอย่างไร

กระนั้นก็ตามสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็น ตรงกันก็คือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ มีความสำคัญสูงสุดไม่เพียงต่อชะตากรรมของรัฐบาล ฝ่ายค้าน

ยังเป็นการชี้ขาดอนาคตประเทศชาติและประชาชนว่า

ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการรัฐประหารต่อไปโดยไม่มีหนทางแก้ไข หรือจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย

เป็นของประชาชนโดยแท้จริง


---------------------------------

ตอนแรกออกตัวล้อฟรี "ผมไม่ได้พูดอย่างน้าน..."

ผ่านไปแป๊บเดียว "ผมลืมว่าพูดไปอย่างนั้น ขอบายก็แล้วกัน..."


ง่ายดีไหม กับผู้กุมชะตา กม.สูงสุดของประเทศ ในขณะนี้

จากคุณ : huttytanny
เขียนเมื่อ : 9 ก.ค. 55 08:49:42 A:202.57.188.3 X:




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com