Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
วันนี้อยากขอบคุณ ตลก.ครับ ติดต่อทีมงาน

หลังจากรอคำวินิจฉัยด้วยใจระทึกเป็นเวลานาน สุดท้ายท่าน ตลก.ก็ได้วินิจฉัยออกมาให้สบายใจเสียที และที่อยากขอบคุณท่าน เพราะคำวินิจฉัยของท่านในครั้งนี้ ใช้ภาษาที่ค่อนข้างเข้าใจง่าย ผิดกับคำวินิจฉัยครั้งก่อนๆ โดยที่กระผมไม่ต้องอาศัยพจนานุกรมหรือดิกชั่นนารีในการทำความเข้าใจ และที่อยากขอบคุณเป็นพิเศษก็คือ ที่ท่านแสดงให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่า ท่านก็เป็นพวกที่เข้าใจกับอำนาจของประชาชนเป็นอย่างดี แม้ท่านจะไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนก็ตาม นี่จึงเป็นสปิริตที่ดีงามของท่านที่กระผมเคารพครับ

แต่ถึงแม้จะเข้าใจง่ายเพียงใดก็ตาม กระผมก็ยังมีข้อข้องใจหลายประการที่ท่านไม่ได้ให้ความกระจ่าง อาจเป็นเพราะกระผมไม่ค่อยรู้กฎหมายสักเท่าไรนัก ดังนั้นอาจเข้าใจอะไรคลาดเคลื่อนไปบ้าง ก็ขอให้ท่านโปรดให้อภัย แล้วช่วยไขข้อข้องใจให้กับกระผมด้วยก็จักเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ

ท่านครับ ประเด็นที่ผมไม่เข้าใจก็คือ ท่านพูดถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญย่อมเหนือกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่าง ซึ่งผมไม่รู้ว่ามันต่างกันอย่างไร ในเมื่อคนร่างก่อนร่าง ต้องตั้งเป้าก่อนว่าต้องการร่างเพื่ออะไร แล้วจึงร่างมาตรานี้ขึ้นมาตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ ซึ่งหนึ่งในคนร่างก็บอกชัดเจนแล้วว่า มีความต้องการเช่นไร ดังนั้นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงควรเป็นไปตามนั้นมิใช่หรือครับ หรือว่า หลังจากเป็นรัฐธรรมนูญแล้ว ตัวรัฐธรรมนูญเอง ก็จะผันแปรไปตามเจตนารมณ์ของผู้ที่จะตีความ นี่เป็นสิ่งที่ผมไม่เข้าใจ หรือว่าผมเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่าครับ

ประเด็นต่อมา ท่านพูดถึงการพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่มัวแต่รออัยการนั้น อาจเป็นการสายไป ดังนั้นตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญจึงตีความได้ว่า ตลก.มีอำนาจที่จะรับคำร้องด้วยตนเองได้ เพื่อยับยั้งอันที่จะเป็นภัยต่อการปกครองนั้น กระผมที่มีความรู้ค่อนข้างน้อย แต่ก็ยังคงคิดว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่แท้จริง น่าจะมาจากความต้องการที่จะให้ยื่นเรื่องให้กับอัยการสูงสุด เพื่อกลั่นกรองเสียก่อน ถ้ามีมูลค่อยส่งต่อยังศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง มิฉะนั้นทางศาลอาจจะต้องรับเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง จนเรื่องรกศาลโดยเปล่าประโยชน์ และอาจจะทำให้การทำงานทั้งทางด้านบริหารและนิติบัญญัติล่าช้าไปโดยใช่เหตุ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ที่อีกฝ่ายพร้อมจะออกมาใช้ช่องทางกฎหมายในทุกเรื่องอยู่แล้ว กระผมจึงคิดว่า เรื่องอย่างนี้จึงไม่น่าใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง จะผิดหรือถูกก็แล้วแต่จะพิจารณา

ส่วนข้อวินิจฉัยที่เกรงว่าการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดกลั่นกรองนั้น อาจทำให้กระบวนการล่าช้าเกินไปจนยากที่จะแก้ไขกลับคืนนั้น กระผมกลับเห็นว่า อัยการสูงสุดที่มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญเฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไป ถ้าคำร้องมีมูล ทางอัยการก็คงไม่ปล่อยให้เรื่องล่าช้าจนไม่ทันการณ์อย่างแน่นอน โดยเห็นได้จากการชี้แจงของอัยการว่าคำร้องไม่มีมูล ก่อนจะมีคำวินิจฉัยของท่านเสียอีก นั่นแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้วว่า การยื่นเรื่องต่ออัยการก่อนนั้น ไม่เป็นการทำให้ทุกอย่างสายเกินไปอย่างที่ท่านเข้าใจก็ได้นะครับ

ประเด็นต่อมาก็คือเรื่องคำร้องที่ต้องการให้ท่านวินิจฉัยว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการล้มการปกครองหรือไม่ เมื่อวินิจฉัยออกมาแล้วว่าไม่ใช่การล้มการปกครอง เรื่องก็ควรจะจบแค่นี้ แล้วปล่อยให้สภาเดินหน้าต่อไป แต่ท่านกลับมีคำแนะนำเรื่องการทำประชามติเรื่องจะให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่องนี้ทำให้กระผมสับสนมากยิ่งขึ้นในหลายประเด็น

ประเด็นแรกเรื่องการทำประชามติ ท่านจะให้ประชาชนลงมติเรื่องอะไร ระหว่างรัฐธรรมนูญปี 50 กับรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ได้ร่าง แล้วประชาชนจะทราบได้อย่างไรถึงข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ

ประเด็นที่สอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย และเมื่อเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างถล่มทลาย นั่นยังไม่พอที่จะพิสูจน์ให้เห็นหรือครับว่า คนส่วนใหญ่เขาเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญฉบับเจ้าปัญหา

ประเด็นที่สาม คำชี้แจงของท่าน เป็นเพียงคำแนะนำหรือว่ามีผลผูกพันต่อรัฐสภา อย่างนี้แล้วจะให้สภาเดินหน้าต่ออย่างไร

ประเด็นที่สี่ คำชี้แจงเหล่านี้ เป็นการเพิ่มขึ้นมาหรือว่ามีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราใด ท่านก็ไม่ได้ยกขึ้นมาเอ่ยถึง

และประเด็นสุดท้ายก็คือ ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติ แต่ถ้าแก้เป็นรายมาตราท่านกลับไม่ได้ห้ามไว้ ดังนั้นถ้าสภาอยากแก้รัฐธรรมนูญสักร้อยสองร้อยมาตรา คงไม่ต้องทำประชามติใช่หรือไม่?

ดังนั้นสิ่งที่ท่านวินิจฉัยมานั้น ยังคงสร้างความงุนงงสงสัยต่อกระผมอย่างยิ่ง และยังเป็นห่วงถึงความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อการวินิจฉัยในเรื่องหนึ่ง แล้วเพิ่มความคิดเห็นที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติเดินหน้าต่อไปไม่ได้ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ในอนาคต ฝ่ายนิติบัญญัติจะออกกฎหมายใดๆที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ซึ่งก็เห็นกันชัดเจนแล้วว่าฝ่ายต่อต้านไม่เคยเห็นด้วยในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศหรือไม่ ลำพังอาศัยแค่จินตนาการก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ อย่างนี้แล้วฝ่ายนิติบัญญัติจะทำงานกันได้อย่างไร

และสิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่ออำนาจสูงสุดไม่ใช่อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติดังที่เข้าใจมาแต่ต้น อย่างนี้แล้วเรายังจะเรียกการปกครองของเราเป็นระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไรกันครับ

สุดท้ายก็ยังมีเรื่องสงสัยอยู่อีกนิดเดียว คือกระผมสงสัยว่า เมื่อมีข้อสงสัยในเรื่องรัฐธรรมนูญ เราสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แล้วถ้าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่สร้างความกระจ่าง แล้วเราจะส่งเรื่องให้ใครวินิจฉัยต่อล่ะคราวนี้?

จากคุณ : ทวดเอง
เขียนเมื่อ : 14 ก.ค. 55 10:54:25 A:58.11.7.89 X:




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com