Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ตำนาน ควง ถึง อภิสิทธิ์ กลยุทธ์การเมือง ควบสถาบัน และคำของปรีดี "ตกน้ำไม่ไหล..." ติดต่อทีมงาน

ข้อกล่าวหา "ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เป็นข้อกล่าวหารุนแรง มีความหมายใกล้เคียงกับสมคบคิด "ก่อกบฏ"

ในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 พรรคใดฝ่าฝืน มีโทษถึงขั้นยุบพรรค ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคไม่ให้มีส่วนร่วมกิจกรรมการเมือง 5 ปี

ในทางอาญา ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ก็กำหนดโทษฉกรรจ์ถึงขั้น "ติดคุกตลอดชีวิต" หรือ "ประหารชีวิต"

"ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (3) แบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร"

"ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต"

แต่ในยุทธศาสตร์ทำลายเกมการเมืองของฝ่ายตรงข้าม ไม่จำเป็นต้องเล่นแรงถึงขั้นให้อีกฝ่ายต้องติดคุก ติดตะราง

ในพุทธศักราช 2555 "พรรคประชาธิปัตย์" จึงยื่นเรื่องเอาผิด "พรรคเพื่อไทย" แค่ทางการเมือง จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น ส่วนความผิดอาญาจำต้องละเว้น

กลยุทธ์การเมืองปี 2555 ไม่ต่างจากกลยุทธ์เมื่อ พ.ศ. 2489 ปีที่ "พรรคประชาธิปัตย์" ได้สถาปนาตัวขึ้นในระบอบการเมืองไทย

เป็นยุคที่ "ปรีดี พนมยงค์" ได้รับเสียงข้างมากจากสภาผู้แทนราษฎร 115 ต่อ 3 เสียง สนับสนุนขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน "ควง อภัยวงศ์" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก ที่ลาออกจากการเป็นนายกฯ

รับรู้กันว่าการก่อตัวของ "พรรคประชาธิปัตย์" เกิดจากการรวมกลุ่มของคนการเมืองที่อยู่ต่างขั้วกับ "ปรีดี" เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ส.ส.พระนคร-โชติ คุ้มพันธ์ ส.ส.พระนคร-เลียง ไชยกาล ส.ส.อุบลราชธานี ฯลฯ

กลไกรัฐสภาที่ "พรรคประชาธิปัตย์" ใช้ต่อกรกับอำนาจเสียงข้างมาก เริ่มส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลปรีดีประสบปัญหา

ขวากหนามแรกที่ฝ่ายค้านหยิบขึ้นสู้คือ เรื่องการใช้จ่ายเงินและอภิสิทธิ์ของฝ่ายเสรีไทย "บุญช่วย อัตถากร" ส.ส.มหาสารคาม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการยื่นญัตติให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า

"เสรีไทยบางคนนำเงินและทรัพย์สมบัติของชาติไปใช้ในทางส่วนตัว นำความหม่นหมองมาสู่ตลอดไป ขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการสะสาง"

ทำให้ "ปรีดี" ต้องชี้แจงว่า "เราถือว่าบริสุทธิ์ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ จะอย่างไรก็ยอมทั้งสิ้น ขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนโดยคนกลาง"

แต่ขวากหนามที่ทำให้รัฐบาลต้องเพลี่ยงพล้ำ "พรรคประชาธิปัตย์" และส่งผล

กระทบอย่างแรงต่อรัฐนาวาปรีดีคือ กรณีสวรรคต ร.8

เวลานั้น หนังสือพิมพ์อิทธิธรรมของ "ไถง สุวรรณทัต" สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกข่าวว่า การสวรรคตเกิดจากการลอบปลงพระชนม์

แต่สิ่งที่ถูกวิพากษ์ และกลายเป็น "ตราบาป" ของ "พรรคประชาธิปัตย์" ตลอดมา เมื่อมีหลักฐานปรากฏในภายหลังว่า "เลียง ไชยกาล" ส่งลูกน้องไปตะโกนในโรงหนังว่าปรีดีฆ่าในหลวง และ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์" ในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรคเวลานั้นก็ถูกพาดพิงว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง

แม้ต่อมารัฐบาลปรีดีหมดวาระลง จนมีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 5 สิงหาคม 2489 "ปรีดี" ได้รับเลือกเข้ามาเป็น ส.ส.อยุธยาอีกสมัย แต่กลับตัดสินใจจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ ทำให้ "พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" ส.ส.อยุธยา หัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญที่สนับสนุน "ปรีดี" ได้รับเสียงโหวตจากสภาให้เป็นนายกฯคนต่อไป

พอเข้าสู่ยุค รัฐบาลถวัลย์ อุณหภูมิการเมืองก็ยังระอุ กรณีสวรรคต ร.8 ยังถูกนำมาปะปนกับการเมือง บวกเข้ากับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง กลายเป็นปัจจัยสองแรงบวกทำให้เก้าอี้ของ "พล.ร.ต.ถวัลย์" สั่นคลอน

เมื่อรัฐบาลพยายามหาทางระบายความกดดัน ด้วยการให้ฝ่ายค้านใช้สิทธิ์อภิปรายไม่ไว้วางใจ 7 วัน 7 คืน แต่หมากเกมนี้กลับทำให้ "พรรคประชาธิปัตย์" ฉวยความได้เปรียบ อภิปรายการทุจริตในองค์การสรรพาหาร ผนวกรวมเข้ากับกรณีสวรรคต

การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ทำให้รัฐบาลถวัลย์ความนิยมในตัวรัฐบาลตกฮวบ นอกจากมีปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า การตอบคำถามเรื่องสวรรคตยังไม่กระจ่าง ยังมีคลื่นใต้น้ำจากฝ่ายทหาร โดยเฉพาะซีกกองทัพบกที่เริ่มก่อตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง

เพราะกองทัพไม่พอใจเสรีไทยที่มีบทบาทเหนือกว่า ยิ่งกว่านั้นในยุครัฐบาลปรีดีได้ปลดประจำการทหารไปเป็นจำนวนมาก และยังบังคับให้ทหารห้ามเกี่ยวข้องกับการเมือง ประกอบกับเวลานั้นทหารก็ไม่พอใจเรื่องการคลี่คลายคดีสวรรคต ร.8 ของรัฐบาลเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อความไม่พอใจของประชาชนเรื่องการบริหารงานของรัฐบาลในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง

ความไม่พอใจของประชาชนต่อกรณีการตอบคำถามเรื่องสวรรคต ร.8 ที่มี "พรรคประชาธิปัตย์" ในขณะนั้นเป็นตัวโหม และเร่งกระแส

ความไม่พอใจจากกองทัพที่ถูกลดบทบาท

เมื่อปัจจัยทั้ง 3 ขมวดปมเข้าด้วยกัน จึงกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายทำให้รัฐบาล "พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" ถูกกองทัพรัฐประหาร โค่นอำนาจลงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ทำให้ "ปรีดี พนมยงค์" ที่ถูกมองว่าพัวพันกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ต้องลี้ภัยไปประเทศจีน และจบชีวิตลง ณ ประเทศฝรั่งเศส

การเมืองวันนั้น ไม่ต่างกับการเมือง พ.ศ. 2555 เมื่อรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ

กลยุทธ์โหมและเร่งกระแสของ "พรรคประชาธิปัตย์" จึงถูกนำมาใช้สู้รบกับฝ่ายเสียงข้างมากอีกครั้ง

การกลับบ้านของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" และเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกนำมาเป็นชนวนในการเร่งกระแสความไม่พอใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ข้อกล่าวหา "ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ถูก "พรรคประชาธิปัตย์" นำมาอ้างถึง

กลายเป็นวาทกรรมที่กล่าวหาว่า "พรรคเพื่อไทย" และ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ต้องการเปลี่ยนรูปแบบรัฐให้เป็น "รัฐไทยใหม่" และนำมาผูกโยงกับเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่ว่า พ.ศ. 2489 ยุค "ควง อภัยวงศ์" เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ไม่ว่า พ.ศ. 2555 ยุค "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ประเด็นเรื่องสถาบัน และการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ก็ยังถูกนำมาเป็นกลยุทธ์การเมืองเสมอ ทั้งในรัฐบาลปรีดี พนมยงค์-พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แม้กระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่มา www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1342332361&grpid=09&catid=16&subcatid=1600

จากคุณ : Tomato_Rezz
เขียนเมื่อ : 17 ก.ค. 55 16:55:33 A:115.67.64.58 X:




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com