 |
ลองค้นบทความเก่าๆ ดูค่ะ
________________________________________________________________
บทความพิเศษ : ไทยคม-ชัด-ลึก สัมพันธ์อลเวง 'ทักษิณ-จ๊อด' และท่านสารวัตร
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1076 วันที่ 2 เมษายน 2544
--สรกล อดุลยานนท์--
เพียงเพราะประโยคเดียวในวันที่ยิงดาวเทียมไทยคมขึ้นสู่ท้องฟ้าที่ "ทักษิณ ชินวัตร" บอกในวงสนทนาที่ประเทศเฟรนช์กีอานาว่า "ถ้าไม่มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ก็คงไม่มีวันนี้"
"ทักษิณ" จึงถูกผลักเข้าไปอยู่ในวังวนความขัดแย้งเรื่อง "มรดก 4,000 ล้าน" ของ "บิ๊กจ๊อด" ระหว่าง "บ้านเล็ก" และ "บ้านใหญ่"
ในช่วงต้นที่มีข่าวเรื่องมรดกจำนวนมหาศาลของ " บิ๊กจ๊อด " ประธานสภารักษาความสงบแห่งชาติ หรือ รสช. และมีกระแสกดดันให้รัฐบาลตรวจสอบทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร ปฏิกิริยาที่นิ่งเพื่อประเมินกระแสของ "ทักษิณ" ถูกตีความว่าไม่กล้าทำอะไรเพราะบุญคุณที่ "บิ๊กจ๊อด" เคยช่วยเหลือเรื่องโครงการดาวเทียมไทยคม
ยิ่งมีการอ้างอิงคำพูดของ "ทักษิณ" ดังกล่าวจากคำนำเสนอของ "ชลิต กิติญาณทรัพย์" บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจขณะนั้นในหนังสือ "ทักษิณ ชินวัตร อัศวินคลื่นลูกที่สาม"
"ถ้าไม่มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ก็คงไม่มีวันนี้"
ผนวกกับภาพ "ทักษิณ-พจมาน ชินวัตร" ยืนเคียงคู่กับ พล.อ.สุนทรและ นางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร หรือ "คุณยุ้ย" ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ
"ทักษิณ" ก็กลายเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองทันที เป็นเรื่องจริงที่ "อัศวินคลื่นลูกที่สาม" ผู้นี้เป็นคนที่รู้จักบุญคุณคน ใครที่เคยช่วยเหลือเขาในยามอับจน เขาจะไม่ลืม คนอย่าง "ปรีดา พัฒนถาบุตร" อดีตรัฐมนตรีที่ "ทักษิณ" เคยเป็นตำรวจติดตามจะได้รับการดูแลอย่างดียิ่ง เช่นเดียวกับ "ประยูร จินดาประดิษฐ์" อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารทหารไทยที่ให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อให้กับ "ทักษิณ" ตั้งแต่ธุรกิจของเขาเริ่มหยั่งรากลงดิน "บิ๊กจ๊อด" นั้นมีบุญคุณกับ "ทักษิณ" จริง
แต่ระดับและรูปแบบของ "บุญคุณ" นั้นเป็นอย่างไร คงต้องย้อนประวัติศาสตร์การเมืองกันสักนิดและอย่าแปลกใจ หากมีชื่อของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เข้ามาเกี่ยวพันด้วย ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ตั้งแต่ปี 2531 "ทักษิณ" ยังคงเป็นนักธุรกิจระดับกลางคนหนึ่งไม่ใช่ "มหาเศรษฐี" เหมือนในวันนี้ แต่เป็น "คลื่นลูกใหม่" ที่มาแรงทั้งวิสัยทัศน์และสายสัมพันธ์ สายสัมพันธ์ของเขาแนบแน่นกับรัฐมนตรีในยุคนั้น 2 คน คือ นายมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
"ทักษิณ" เสนอโครงการเคเบิลทีวีกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ตั้งแต่ปี 2528 แต่กระบวนการพิจารณาดำเนินไปอย่างล่าช้า จน ร.ต.อ.เฉลิมเข้ามาดูแล อ.ส.ม.ท. โครงการนี้จึงถูกปัดฝุ่น และได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนมีนาคม 2532 พร้อมข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้านว่า การอนุมัติครั้งนี้มาจากสายสัมพันธ์ที่เป็น "เพื่อนรัก" ของ "ทักษิณ-เฉลิม"
"ทักษิณ" บอกในหนังสือ "ตาดูดาว เท้าติดดิน" ว่าการอนุมัติโครงการไอบีซี เป็นเพียงการอุทธรณ์เรื่องเดิมตั้งแต่สมัยรัฐบาลเปรมจนถึงรัฐบาลชาติชาย
"ส่วนคุณเฉลิมด้วยความเป็นเพื่อนกันมา ผมจึงมีโอกาสชี้แจงอธิบายการไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่านั้น เรื่องมีอยู่แค่นี้ ไม่ได้สลับซับซ้อนอย่างที่มีคนพยายามจะผูก" พร้อมกับบอกว่า "ผมขอยืนยันไว้ในที่นี้ว่า สลึงหนึ่งก็ไม่เคยจ่ายให้คุณเฉลิม และข่าวลือต่างๆ นานาก็ไม่เป็นความจริง"
"เฉลิม" เองก็ยังยืนยันมาโดยตลอดว่าเขาไม่เคยได้รับผลประโยชน์จาก "ทักษิณ" แม้แต่บาทเดียว แม้แต่ครั้งล่าสุดที่คุยกันซึ่งเป็นช่วงหลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เขาก็ยืนยันว่า "ทักษิณ" ไม่เคยให้เงิน หรือหุ้นราคาพาร์กับเขาเลย แต่ยังถือทิฐิยืนยันว่าถ้าจะให้เขาไปคุยกับ "ทักษิณ" เรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี " ไม่มีทาง "
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิมเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาก็ประกาศในสภาว่า "ผมกับ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเพื่อนกัน" ต่อสาธารณะ ภาพของ "ทักษิณ" แนบแน่นกับ "เฉลิม" มาโดยตลอด เหมือนจะบวก แต่จริงๆ แล้วค่อนข้างลบมากสำหรับคนที่ต้องทำธุรกิจ และผลพวงนั้นปรากฏชัดขึ้นในช่วงปลายรัฐบาลชาติชาย
ก่อนเหตุการณ์ รสช. ไม่นาน หลังจากเป็นหนี้ 200 ล้านบาทหลังเหตุการณ์ลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2527 "ทักษิณ" เริ่มต้นความร่ำรวยจากธุรกิจ "โฟนลิ้งค์" ตามมาด้วย "ไอบีซี" และ "เซลลูล่าร์ 900" และทันทีที่สามารถผลักดันบริษัทในเครือเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2533 เขากลายเป็นนักธุรกิจระดับพันล้านทันที จากนั้น "ทักษิณ" ก็ต่อจิ๊กซอว์ตัวสำคัญในธุรกิจโทรคมนาคมด้วยการตัดสินใจ เข้าประมูลโครงการ ดาวเทียมของกระทรวงคมนาคม
20 กันยายน 2533 นายมนตรีเปิดให้มีการประมูล มีผู้แข่งขัน 5 ราย คือ กลุ่มไทยแสท, กลุ่มโมดูลาร์, กลุ่มแอซตรา คอมแสท, วาเคไทย และ ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แต่มีผู้ยื่นซองเพียง 3 ราย ผลการเปิดซองปรากฏว่า "ทักษิณ" เสนอผลประโยชน์สูงที่สุดคือ 15.33% ตลอดอายุสัญญา 30 ปี และประกันผลกำไรขั้นต่ำ 1,350 ล้านบาท ไทยแสท เสนอผลประโยชน์เฉลี่ย 10% ประกันขั้นต่ำ 980 ล้านบาท วาเคไทยของ "คีรี กาญจนพาสน์" เสนอผลประโยชน์เฉลี่ย 8.78% และรายได้ขั้นต่ำ 876 ล้านบาท
ประเด็นสำคัญ อยู่ที่ "วาเคไทย" เสนอให้รัฐบาลใช้ช่องสัญญาณหรือทรานสปอนเดอร์ฟรี 0.5 ทรานสปอนเดอร์ในดาวเทียมดวงแรก และ 1 ทรานสปอนเดอร์ ในดวงที่ 2 "คีรี" ยืนยันว่าเมื่อตีค่าช่องสัญญาณฟรีเป็นเงินแล้ว ผลประโยชน์ที่เขาเสนอแก่รัฐนั้นมากกว่ากลุ่มชินวัตร แต่ในมุมของ "ทักษิณ" เขามองว่าเมื่อยิงดาวเทียมขึ้นไป ช่องสัญญาณดาวเทียมย่อมมีเหลือ สิ่งที่เหลือจึงไม่มีมูลค่าเป็น 0
วันที่ 14 ธันวาคม 2533 คณะกรรมการกลั่นกรองที่มี นายศรีภูมิ สุขเนตร ปลัดกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น เป็นประธานประกาศผลการตัดสินให้กลุ่มชินวัตรชนะ ประมูล โดยนายมนตรี เซ็นอนุมัติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ก่อน พล.อ.ชาติชายลาออกเพียง 1 วัน ด้วยความทะ:-)ในเรื่องเวลา ทำให้มีคนตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้มาก
"ทักษิณ" เล่าให้ "วัลยา" ฟังถึงเรื่องนี้ในหนังสือ "ตาดูดาว เท้าติดดิน" ว่าตนยอมรับไม่ได้ที่มีการสร้างภาพว่า การชนะประมูลครั้งนี้มีลับลมคมใน เพื่อลัดขั้นตอนให้เสร็จในไม่กี่วัน "ราวกับลืมไปว่าก่อนหน้านี้โครงการต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองมาหลายขั้น เป็นการเสนอราคาอย่างถูกต้องชอบธรรมตามกติกาทุกประการ"
ช่วงนั้น สถานการณ์การเมืองร้อนจัด ทหารไม่พอใจ ร.ต.อ.เฉลิมอย่างรุนแรง จน พล.อ.ชาติชายต้องแก้ปัญหาด้วยการลาออก เพื่อปรับคณะรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชายลาออกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม นายมนตรีและพรรคกิจสังคมพยายามเล่นเกมการเมืองจึงถูกปรับพ้นจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชายดึงพรรคประชากรไทยเข้าร่วมรัฐบาล
นายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ "วาเคไทย" ยื่นหนังสือประท้วงกับนายสมัครทันที ณ เวลานั้น "ทักษิณ" เจอศึก 2 ด้าน ด้านแรก คือ สงครามดาวเทียมกับวาเคไทย อีกด้านหนึ่ง คือ ความไม่พอใจของทหารต่อ ร.ต.อ.เฉลิม และกระทบชิ่งมายังตัว "ทักษิณ" ในฐาน "เพื่อนเก่า" ด้วย ทั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่าง "ทักษิณ-เฉลิม" เปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนไปก่อนที่ "เฉลิม" จะกล่าวในสภาแขวนป้าย "เพื่อนรัก" ให้กับ "ทักษิณ" เสียอีก
เมื่อต้นปี 2535 ผมเคยสัมภาษณ์ "ทักษิณ" เกี่ยวกับเรื่องนี้ "ทักษิณ" บอกว่าไม่ได้เจอกับ ร.ต.อ.เฉลิมมานานแล้ว "เราไม่ได้คุยกัน ก่อนที่เขาจะพูดในสภาว่าผมเป็นเพื่อนรักกับเขา" และ "เราเคยเป็นเพื่อนที่สนิทกัน แต่ระยะหลัง... คุณเฉลิมเขายุ่งเรื่องการเมือง ผมก็ยุ่งทางธุรกิจเลยไม่ค่อยได้พบกัน ไม่ได้คุยกันร่วมปีแล้ว"
เมื่อถามว่า "ทักษิณ" เคยต้องไปเคลียร์กับทหาร
"เราเคลียร์กันก่อนมีการปฏิวัติ เคลียร์ว่าผมเป็นคนที่เป็นตัวของตัวเอง ผมจบโรงเรียนเตรียมทหาร"
"เป็นปัญหาด้านธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่ทำสัญญากับทหาร" ผมถามต่อ
ก่อนหน้านี้ผมได้ข่าวว่า "ทักษิณ" มีปัญหาเรื่องโครงการเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นสั่งให้ชะลอเรื่องไว้เพราะเห็นว่า "ทักษิณ" เป็น "เพื่อนรัก" กับ ร.ต.อ.เฉลิม คู่ปรับคนสำคัญของ "บิ๊กจ๊อด"
"รู้สึกว่าคุณรู้เยอะ" ทักษิณกึ่งยอมรับกลายๆ
รัฐบาลชาติชายถูกปฏิวัติโดย รสช. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จากนั้น รสช. ก็เรียกปลัดกระทรวงทุกแห่งไปประชุมเพื่อรับนโยบาย นายศรีภูมิ สุขเนตร ปลัดกระทรวงคมนาคมให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าโครงการของกระทรวงคมนาคมที่ ต้องส่งให้ รสช. พิจารณา คือ โครงการดาวเทียม, โครงการรถไฟสายศรีราชา-แหลมฉบัง เป็นต้น (มติชน 26 กุมภาพันธ์ 2534)
ถ้าโครงการดาวเทียมเป็น "ลูกบอล" ก็มีช่วงนี้เท่านั้นที่ลูกบอลอยู่ในการครอบครองของ "บิ๊กจ๊อด" และ รสช. ขณะนั้นกำลังภายในของ "ทักษิณ" สู้กลุ่มวาเคไทยของ "คีรี กาญจนพาสน์" ไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเสื้อคลุม "เพื่อนรัก" ของ ร.ต.อ.เฉลิมที่ต้องหนีตายไปเดนมาร์กยังติดตัวเขาอยู่
พล.อ.สุจินดา คราประยูร รองประธาน รสช. และผู้มีอำนาจสูงสุดตัวจริงของ รสช. เพิ่งให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่าเขาเป็นประธานกรรมการของสนามกอล์ฟธนาซิตี้ที่มี บัตรเครดิตให้ใช้จ่ายไม่จำกัดจำนวน
"ธนาซิตี้" คือโครงการแรกในเมืองไทยของ "คีรี กาญจนพาสน์" ทาง "วาเคไทย" ยื่นหนังสือคัดค้านถึง พล.อ.สุนทร และมีการยัดไส้เอกสารให้เซ็นไปยังกรมอัยการ ประเด็นที่เขาต้องเคลียร์มี 2 เรื่อง คือ 1.ความสัมพันธ์กับ ร.ต.อ.เฉลิม และ 2.ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้ในโครงการดาวเทียมระหว่างข้อเสนอของกลุ่มชินวัตร กับวาเคไทย
การดึงเอกสารคัดค้านกลับอาจเป็นบุญคุณที่ "บิ๊กจ๊อด" มีกับ "ทักษิณ" แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านของอำนาจนั้นสั้นนัก เพราะเพียงแค่ต้นเดือนมีนาคม นายอานันท์ ปันยารชุน ก็มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาตั้ง นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากนั้นลูกบอล "ไทยคม" ถูกส่งต่อจาก รสช. ไปอยู่ในการครอบครองของนายนุกูล
ชื่อเสียงของ "นุกูล" นั้นรับประกันคุณภาพได้จากโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายที่กล้าชนกับซีพีและ รสช. "บิ๊กจ๊อดไม่เคยเข้ามายุ่ง ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง" เขาให้สัมภาษณ์กับ "ประชาชาติธุรกิจ" หลังจากข่าวเรื่องมรดก 4,000 ล้านกระฉ่อน
หนังสือของ "วาเคไทย" มีผลเพียงให้คณะกรรมการกลั่นกรองที่มี นายไพจิตร เอื้อทวีกุล เป็นประธานหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนสรุปว่าข้อโต้แย้งของวาเคไทยมีมูล แต่ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงให้วาเคไทยกลับมาเป็นผู้ชนะ จากนั้นนายนุกูลต่อรองกับ "ทักษิณ" ขอเพิ่มค่าผลประโยชน์ให้รัฐเป็น 1,415 ล้านบาท และลดเวลาสัมปทานจาก 30 ปีเหลือ 8 ปี ก่อนจะเซ็นสัญญาในปี 2535 คำสัมภาษณ์ของนายนุกูลถือเป็นการการันตีว่าโครงการดาวเทียมไทยคมในช่วงที่ เขาดูแลไม่มีรังสีของ "บิ๊กจ๊อด" มาเกี่ยวข้องเลย แต่ "ทักษิณ" นั้นเป็นคนรู้คุณคน
วันที่ 18 ธันวาคม 2536 วันที่ดาวเทียมไทยคมยิงขึ้นฟ้า "ทักษิณ" เชิญสื่อมวลชนและบุคคลสำคัญไปเป็นสักขีพยาน หนึ่งในนั้นคือ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธาน รสช. ณ เวลานั้น รสช. หมดอำนาจโดยสิ้นเชิงเพราะ เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ภาพลักษณ์ของ "บิ๊กจ๊อด" และผู้นำ รสช. ค่อนข้างติดลบ แต่ "ทักษิณ" ก็เชิญ "บิ๊กจ๊อด" ไปร่วมงานและบอกกับคนที่ไปร่วมงานด้วยว่าถ้าไม่มี พล.อ.สุนทรก็ไม่มีวันนี้ นี่คือการให้เกียรติ และแสดงความเป็นคนรู้คุณคนของ "ทักษิณ ชินวัตร" บุญคุณที่เกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจแค่ไม่ถึง 20 วันหลังการรัฐประหาร
อ้างอิงคำศัพท์ ทรราช
ทรราช แปลว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใต้การปกครองของตน (อ้างอิงจาก ดิกชันนารี ของเปลื้อง ณ นคร)
_____________________________________________________________
(อ่านความหมายของทรราชแล้ว นึกถึง 98 ศพ <= ไว้สนทนาในกระทู้อื่น)
จากคุณ |
:
น้ำมิตร
|
เขียนเมื่อ |
:
27 ก.ค. 55 21:54:58
A:58.8.2.116 X:
|
|
|
|
 |