Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
บทบาทการเมือง “อดีต-อนาคต”48 ปีกับ ก้าว(ที่ควรไป)ของ “อภิสิทธิ์” จากศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์และสุขุม นวลสกุล ติดต่อทีมงาน

เนื่องในวันคล้ายวันเกิด “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้นำพรรคฝ่ายค้านและอดีตนายกรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2555

เข้าขวบปีที่ 48 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่ออายุ 46 ปี ถือว่าเป็นนายกที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย





เคยนั่งประกบคู่กับนายมารุต บุนนาค  อดีตประธานรัฐสภาสมัยปี 2535 ในฐานะ “นักการเมืองดาวรุ่งที่สุด” ของพรรคประชาธิปัตย์ เคยซักนายชวน  หลีกภัย หัวหน้าพรรคของตนเองในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แบบไม่ไว้หน้า” จนนายหัวชวนถึงกับชักสีหน้าไม่พอใจ “ลูกพรรคคนนี้ของตนเอง”





เป็นนักการเมืองที่เคยเรียกร้องให้” นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง”





แต่มาในวันนี้ ภาพที่เราเห็นจาก “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”  คือ ข้อครหาต่าง ๆ มากมาย เช่น นายกรัฐมนตรีที่มาจากค่ายทหาร นักการเมืองที่เคย”เรียกร้องนายกฯ พระราชทาน” และกำหนดบทบาทพรรคไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะไม่พอใจระบบการจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลชั่วคราว “ทักษิณ ชินวัตร”





สร้างประวัติศาสตร์ทางการเมือง “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” ใช้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนที่คาดว่า “มีผู้ก่อการร้าย”อยู่ปะปน  จนนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวน 98 ราย

สังคมหลายฝ่ายต่างมองว่า เส้นทางทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจบลงแล้ว แต่อีกฝ่ายก็มองว่า ขณะนี้พรรคประชิปัตย์ยังไม่มีใครสามารถเป็น “แม่ทัพทะลวงฟัน” ฝ่ายตรงข้ามได้ดีกับ “อดีตนายกฯ คนนี้”



มติชนออนไลน์สัมภาษณ์พิเศษนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์สองท่านคือ  “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” และ “สุขุม นวลสกุล” ตอบทุกประเด็น ที่มาที่ไปของอภิสิทธิ์ และ “เส้นทางการเมืองต่อจากนี้ของนายอภิสิทธิ์” จะเป็นเช่นไร






“สุขุม นวลสกุล” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ถ้าวัดความสำเร็จในหน้าที่ของนักการเมืองแล้ว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประสบความสำเร็จ เหตุเพราะเริ่มเข้ามาเป็นจุดสนใจในการเลือกตั้ง ปี 2535 ครั้งที่ 2  จำได้แม่นว่าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีรูปลักษณ์และวิสัยทัศน์ทางการเมืองที่ดี เป็นแนวคิดใหม่ อีกทั้งเหตุการณ์สำคัญที่สร้างชื่อก็คือ วันที่” มารุต บุนนาค” นักการเมืองอาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์เลือกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “มานั่งเคียงข้าง” ในงานเปิดตัวนักการเมืองรุ่นใหม่ของแต่ละพรรค เรียกเสียงฮือฮาในสังคมการเมืองในตอนนั้นอย่างมาก





“จนถึงตอนมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในสมัยที่ “ชวน หลีกภัย” เป็นผู้นำรัฐบาล สามารถถ่ายทอดความคิดทางการเมืองอย่างแตกฉาน จนนักการเมืองในสมัยนั้นต่างมองตรงกันว่า นักการเมืองคนนี้สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้”





ส่วนศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่ออภิสิทธิ์ว่า เป็นนักการเมืองที่กล้าวิจารณ์หัวหน้าพรรคของตนเองในการอภิปรายไม่ไว้ววางใจ จนสร้างความประทับใจให้กับสังคมไทยว่า ได้เกิดดาวรุ่งดวงใหม่ทางการเมืองไทย มีบทบาทมากในสมัยการรัฐประหารของ รสช. ที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มากจากการเลือกตั้ง โดยอภิสิทธิ์เป็นหัวหอกสำคัญที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและนายกรัฐมนตรีต้องมาจากพรรคการเมือง อีกทั้งยังเคยวิจารณ์ “ชวน หลีกภัย” ที่ทำงานเชื่องช้าออกสู่สาธารณชน





แต่เพราะเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ทำให้การมองของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้เปลี่ยนไปเพราะมีแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย





ศิโรตม์มองว่า ประเด็นที่ทำให้แนวคิดประชาธิปไตยของอภิสิทธิ์เปลี่ยนไปก็คือ การมองทักษิณเป็นปัญหาทางการเมือง เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ดูบริบทที่แวดล้อมอื่น ๆ อีกทั้งยังสนองความต้องการของชนชั้นกลาง ทำให้กำหนดยุทธศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ผิดไปหมด เพราะปัญหาหลัง2549 คุณทักษิณเป็นเพียงปัญหาหนึ่ง ไม่ใช่ปัญหาทั้งหมดของการเมืองไทย”





“โดยเฉพาะโจทย์ที่เป็นอุปสรรคต่อระบบประชาธิปไตยของไทย อำนาจนอกระบบที่เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง โจทย์เหล่านี้อภิสิทธิ์ไม่ได้สนใจ”





“ทำให้ภาพของผู้นำที่จะปฎิรูประบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไม่มีต่อไปอีกแล้ว ส่งผลให้ไม่สามารถดึงนักเศรษฐกิจ นักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วยเหลืองานในพรรคประชาธิปัตย์ได้”





ส่วน สุขุม นวลสกุล มองว่า หลังเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 บทบาทของอภิสิทธิ์เปลี่ยนไป ทำให้คนที่นิยมต่อแนวคิดประชาธิปไตยเริ่มสงสัยและตั้งคำถามต่อแนวคิดของผู้นำฝ่ายค้านคนนี้  โดยเฉพาะข้อครหาว่า ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร หรือการไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษา การเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน  ทำให้หลายคนมองว่าอภิสิทธิ์ไม่ยึดหลักประชาธิปไตย





“แต่ผมไม่ได้มองว่าท่านเป็นนายกฯ เผด็จการหรอกนะ ท่านเพียงแต่เป็นนักการเมืองที่ ฉวยจังหวะ โดยไม่ได้ดูวิถีทางว่าจะต้องมาจากระบอบประชิปไตย แตกต่างจากชวน หลีกภัยที่บอกตัวเองชัดเจนว่า ยึดมั่นในระบอบรัฐสภา”





ส่วนทำไมต้องฉวยจังหวะนั้นก็เพราะอภิสิทธิ์ประเมินว่า พรรคประชาธิปัตย์คงไม่สามารถชนะการเลือกตั้งตามระบอบได้  เชื่อว่าไม่สามารถสู้อำนาจเงินได้ เพราะแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าการเลือกตั้งมีการซื้อเสียง เมื่อลงไปเล่นในเกมส์นี้ด้วยก็มีแต่เสียเปรียบ เมื่อเชื่อว่าสู้ไม่ได้จึงยอมที่จะอาศัยอำนาจอื่น เช่นสร้างวาทกรรมเผด็จการทหารดีกว่าเผด็จการนายทุนหรือเผด็จการรัฐสภา





แต่ก็ใช่ว่าประตูเพื่อไปสู่นายกรัฐมนตรีของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะปิดประตูตายเสียทีเดียว โดยศิโรตม์เห็นว่า สิ่งที่นายอภิสิทธิ์ควรทำก็คือ  


1.ต้องมีจุดยืนทางประชาธิปไตยให้มากขึ้น  โดยกลับไปใช้โจทย์ทางการเมืองของตัวเองที่เข้ามาในช่วงปี 2535



2. ใช้เวลานี้ทบทวนตัวเอง เข้าหากลุ่มต่าง ๆ มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเพื่อให้ภาคสังคมเห็นว่ายังสามารถเป็นผู้นำที่มีศักยภาพ




3.ต้องเป็นผู้นำในการปรับนโยบายพรรคหรือยุทธศาสตร์ของพรรคครั้งใหญ่เพื่อให้สามารถดึงคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในแวดวงการเมืองและธุรกิจเข้ามาสร้างความแข็งแกร่งภายในพรรค



เมื่อถามจี้จุดว่า “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ควรจะขอโทษคนเสื้อแดงเพื่อเรียกความน่าเชื่อถือกลับมาเป็นการกรุยทางสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งหรือไม่นั้น



ศิโรตม์กล่าวอย่างน่าสนใจว่า เป็นเรื่องยากที่จะออกมาขอโทษเพราะถ้าทำเช่นนั้นจะกลายเป็นว่า อภิสิทธิ์เป็นคนผิดในเหตุการณ์สลายการชุมนุม แต่ความเป็นไปได้มากที่สุดที่ควรทำคือ “พักบทบาททางการเมืองไปสักระยะหนึ่ง” เพราะในหลายครั้งถ้าเกิดวิกฤติทางการเมืองในตัวบุคคล จะพบว่านักการเมืองหลายคนยุติบทบาททางการเมืองไประยะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หรือแม้แต่ทักษิณ ชินวัตรเองก็ด้วย



ส่วนศักยภาพที่จะสามารถกลับมามีจุดยืนทางประชาธิปไตยได้หรือไม่นั้น  ศิโรตม์เห็นว่า ในเวลานี้ยังทำไม่ได้ แต่ถ้าค่อยๆ ทบทวนตัวเอง อีกทั้งยังมีอายุเพียง 48 ปี ยังถือว่ามีเวลามาก แต่อาจจะต้องยอมเสียสละทางการเมืองด้วยการเลิกเล่นการเมืองไปก่อน แล้วหันไปเป็นนักวิชาการหรือผู้นำทางความคิดเพราะยังมีคนหลายฝ่ายที่ยังนิยมความคิดของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอยู่



“โอกาสเดียวที่อภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาชนะในการเมืองไทยได้คือ ต้องกลับมาเล่นเกมส์แบบประชาธิปไตย ถ้าไม่เลือกเล่นเกมส์แบบนี้จะไม่มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นผู้นำในการบริหารประเทศอีกเลย อย่างมากก็จะเป็นพรรคการเมืองท้องถิ่นในกรุงเทพมหานครและอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะเป็นได้แค่นายก อบจ.เท่านั้น”



“แต่ผมเชื่อว่า อภิสิทธิ์มีศักยภาพมากกว่านั้นเพราะไม่มีนักการเมืองคนไหนที่จะมีแนวคิดทางการเมืองแบบเดิม เพียงแต่ว่าสภาพแวดล้อมแบบไหนที่จะทำให้เขาได้เปรียบ อย่างคุณสมัครหรือคุณทักษิณเองก็มาพูดเรื่องประชาธิปไตยหลังปี 2549”



เสียดายไม่ได้ถามต่อว่า สถานการณ์ตอนนี้พอจะทำให้คนที่ชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “เปลี่ยนแนวคิดได้หรือยัง”



จึงผิดกับแนวคิดของ “สุขุม นวลสกุล” ที่มองว่าเป็นเรื่องยากที่อภิสิทธิ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตยได้เพราะได้ถลำลึกลงไปแล้ว ไม่มีช่องทางที่พรรคประชาธิปัตย์จะลงสนามเลือกตั้งแล้วชนะการเลือกตั้งได้เลย ในอีสานตายสนิท ถ้าไม่สามารถชนะพื้นที่นี้ได้ก็ยากจะเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล



นอกจากนี้นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ตอบโจทย์ของคนส่วนใหญ่ แตกต่างจากพรรคเพื่อไทยที่บอกชัดเจนว่านโยบายสามารถทำให้เห็นผลได้จริง บอกให้เห็นชัดว่าจะทำอะไร แต่พรรคประชาธิปัตยมีนโยบายที่ดีแต่ไม่สามารถทำโฆษณาที่กินใจประชาชนเหมือนพรรคเพื่อไทย



“วันนี้อภิสิทธิ์ถูกสร้างให้เป็นคนที่สั่งการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต จึงยากที่อีกฝ่ายจะกลับลำมาเลือกอภิสิทธิ์ ส่วนเสียงฝ่ายกลางที่ไม่ได้ลงไปอยู่ในความขัดแย้งก็จะมองว่าอภิสิทธิ์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้อีกแล้ว เพราะในสมัยที่เป็นรัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนได้”



“ประชาธิปัตย์ตั้งคุณอภิสิทธิ์มา ไมใช่คุณอภิสิทธิ์ตั้งพรรคประชาธิปัตย์ จึงแวดล้อมไปด้วยกลุ่มคนหลายประเภท แตกต่างจากพรรคเพื่อไทยที่ชัดเจนว่า ใครเป็นคนกำหนดยุทธศาตร์และนโยบายของพรรค”



“ดังนั้นอภิสิทธิ์จะเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์จะกำหนดบทบาททางการเมืองของตัวเองเช่นไร”

พันธวิศย์ เทพจันทร์ :สัมภาษณ์/เรียบเรียง

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1344003878&grpid=01&catid&subcatid

จากคุณ : ภิรุณ6252
เขียนเมื่อ : วันเข้าพรรษา 55 22:31:31 A:58.11.134.174 X:




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com