คอลัมน์ รายงานพิเศษ
รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะแถลงผลงานครบ
รอบ 1 ปีที่บริหารประเทศในวันที่ 23 ส.คนี้ "ข่าวสด" จึงถือโอกาส
สอบถามความคิดเห็นนักธุรกิจเอกชน นักวิชาการ ซึ่งผลการให้คะแนน
รัฐบาลสอบผ่าน แต่ก็มีข้อเสนอแนะนโยบายที่ต้องเร่งทำในการเข้าสู่
ปีที่ 2 ไว้อย่างน่าสนใจอย่างยิ่ง
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่ม
อุตสาหกรรมยานยนต์ให้คะแนน 10 เต็ม 10 คะแนน เนื่องจาก
ความตั้งใจสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์โดยเฉพาะมาตรการคืน
ภาษีรถยนต์คันแรก 100,000 บาท ที่ล่าสุดขยายอายุมาตรการ
จะส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอีกมาก คาดว่า
การขยายตัวทั้งการผลิต การส่งออก ในปี 2556 จะปรับตัวดีขึ้น
จากปีนี้แน่นอน
สำหรับนโยบายที่ต้องเร่งคือ การจัดตั้งศูนย์ทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์
ในไทย จากเดิมต้องส่งชิ้นส่วนไปตรวจสอบคุณภาพที่ต่างประเทศ
ซึ่งเรื่องนี้มีการหารือภายในรัฐบาล และได้มอบหมายให้คมนาคมร่วม
กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ไปร่วมดำเนินการ
แต่ยังไม่มีความคืบหน้า หากจัดตั้งศูนย์ขึ้นมาจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม
ชิ้นส่วนค่อนข้างมาก
นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและ
อิเล็กทรอนิกส์ ส.อ.ท. กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ให้คะแนน 5 เต็ม 10 คะแนน เนื่องจากไม่มีนโยบายส่งเสริมอะไรเป็นพิเศษ
ออกมา ขณะเดียวกันก็พยายามบริหารเศรษฐกิจไม่ให้มีปัญหา ในส่วนนี้ก็
ไม่เกิดผลกระทบอะไรต่อกลุ่มมากนัก
อยากให้รัฐบาลมองมาตรการต่างๆ ระยะยาว เช่น สนับสนุนด้านการศึกษา
พัฒนาวิชาชีพให้เหมาะสมกับตลาดงาน ซึ่งปัจจุบันในกลุ่มขาดแรงงานนับ
แสนราย ที่ต้องการแรงงานฝีมือ ขณะเดียวกัน นโยบายที่ดำเนินผิดพลาด
อยากจะขอให้ทบทวน คือการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเป็นการ
ผลักภาระ ให้ผู้ประกอบการ ทำให้ธุรกิจมีปัญหาเพิ่มขึ้น อยากให้รัฐบาลร่าง
กฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ให้ฝ่ายการเมืองไม่ใช้นโยบายค่าแรงมาหาเสียงอีก
เพราะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ รวมถึงภาพรวมการขยายตัวเศรษฐกิจ
ด้าน นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
กล่าวว่า ในด้านการเมืองจาก 100% ตนให้คะแนน 70% เพราะควบคุม
สถานการณ์ด้านการเมืองได้ค่อนข้างดี ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง ส่วนที่ 2
คือด้านเศรษฐกิจให้ 50% เพราะถือว่ายังกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออกได้
ไม่ดีพอ ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกที่จะมี
ผลต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งการให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารเรียนรู้ร่วมกันให้
มากขึ้น ที่สำคัญคือควรให้ความสำคัญกับนโยบายด้านพลังงานสะอาดได้แล้ว
และควรทบทวนเรื่องการชดเชยราคาพลังงาน
นายสุขุม ศรีโสภณางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัทโคคุโบะ ร็อกไอซ์ โรงงาน
ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา ที่ประสบปัญหา
อุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา กล่าวว่า โดยรวมจากเหตุการณ์น้ำท่วม รัฐบาล
มีการตื่นตัว วางมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ
มีแผนดูแลเขตอุตสาหกรรม เดินหน้าสร้างเขื่อนกั้นน้ำอย่างเต็มที่ ทำให้
ผู้ประกอบการมีความพอใจในระดับหนึ่ง อาจจะติดขัดอยู่บ้างในส่วนของ
การเบิกจ่ายงบประมาณที่มีความล่าช้าตามระเบียบราชการ แต่โดยภาพรวม
ผู้ประกอบการให้คะแนนความตั้งใจรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมาที่ 7 เต็ม 10 คะแนน
สำหรับนโยบายสนับสนุนการฟื้นตัวของผู้ประกอบการโรงงานช่วงที่ผ่านมามี
ความพอใจระดับหนึ่ง เช่น มาตรการยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรใหม่แทน
เครื่องจักรเดิมที่ถูก น้ำท่วม ซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็เร่งดำเนินการ
ไปแล้วและเตรียมติดต่อกรมศุลกากรเพื่อขอรับการคืนภาษีกลับมา แต่ที่ยัง
เป็นห่วงและอาจจะต้องขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยคือการจ่ายสินไหมทดแทน
ของบริษัทประกัน ที่อยู่ระหว่างการตรวจสภาพความเสียหาย ซึ่งกระบวนการ
ล่าช้ามาก ยังไม่ได้รับสินไหมคืน ทำให้ผู้ประกอบการต้องไปกู้เงินจากสถาบัน
การเงินและเสีย ดอกเบี้ยเงินกู้จำนวนมาก
นายพรชัย ปิ่นวิเศษ อุปนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและประธาน
กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาเห็นว่ารัฐบาลยังไม่ได้ให้ความ
สำคัญกับภาคการเกษตร โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง
แต่สินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา
รัฐบาลจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษจนต้องมีการรับจำนำ ดังนั้น ต่อจากนี้รัฐบาล
ควรหันมาจริงจังกับการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างจริงจัง ควรจัดพื้นที่ปลูกพืช
ต่างๆ(โซนนิ่ง) เพื่อให้จำหน่ายได้ในราคาที่ดี ทำแผนแม่บทด้านการเกษตร
เพราะต่อไปทั้งโลกจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารขึ้นเนื่องจากพื้นที่ที่เคยปลูก
พืชเพื่อการบริโภคก็หันไปปลูกพืชชนิดอื่นเป็นส่วนใหญ่ โดยที่รัฐบาลก็ไม่
สามารถห้ามได้
ส่วน นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ)
กล่าวว่า จะขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.นโยบายภาครัฐ มีการกำหนดเป้าหมายการท่องเที่ยวชัดเจน เตรียมวาง
ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวรองรับการแข่งขันหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจ
อาเซียน(เออีซี) ในปี 2558 มีการหารือภาคเอกชนเพื่อขจัดปัญหาและ
อุปสรรคของการท่องเที่ยว ดังนั้น รัฐบาลน่าจะได้คะแนน 7-8 คะแนน
เพราะมีความชัดเจนในนโยบาย ท่องเที่ยว
2.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้รับนโยบายจากรัฐบาล แต่ในฐานะ
บริษัทเอกชนไม่ได้รับการใส่ใจ บุคลากรของกระทรวงไม่ได้เลือกผู้ที่มีความ
รู้ความสามารถด้านการท่องเที่ยวมาทำงาน แต่เลือกคนที่พรรคการเมือง
สั่งได้ ส่วนรัฐมนตรีก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว ไม่รู้ว่าไม่มีวิชั่น
หรือไม่ใส่ใจ หากคะแนนเต็ม 10 ในระดับกระทรวงให้แค่เกือบตก คือ 5 คะแนน
ปัญหาของรัฐบาลคือ คนทำงานในระดับกระทรวงไม่สามารถทำงานได้ หากเ
ปลี่ยนตัวรัฐมนตรีได้จะดี หรือหากเปลี่ยนไม่ได้ให้หาระดับคนทำงาน อาทิ
ปลัดที่มีความรู้ความสามารถด้านการท่องเที่ยวมาทำที่ กระทรวงต้องรู้จัก
ทำงานร่วมกับภาคเอกชนตั้งแต่ ขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้าย ไม่ใช่ประชุม
เสร็จแล้วเรียกเอกชนมารับทราบ
นายจิรบูลย์ วิทยาสิงห์ เลขาธิการสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์ไตล์ไทยกล่าวว่า
หากมองในภาพรวมถือว่ารัฐบาลชุดนี้ผ่าน โดยเฉพาะการตอบรับการแก้ไข
ปัญหาให้กับภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็กเพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุน
ได้ง่ายขึ้น โดยจะมีการปล่อยสินเชื่อกว่า 20,000 ล้านบาทให้ธุรกิจเอสเอ็มอี
และควรทำอย่างต่อเนื่อง หากทำได้จริงเชื่อว่าภาคเอกชนก็จะให้คะแนน
ถึง 80% แต่สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นก็คือเรื่องของการเมืองที่รัฐบาลควรลด
ความสำคัญลงบ้าง และให้หันมามุ่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจปากท้องมากขึ้น
ส่วน น.ส.บุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าวว่า จากนโยบาย
ต่างๆ ที่ออกมาในฐานะภาคเอกชนมองเห็นว่ารัฐบาลพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ของประเทศ ยิ่งเห็นได้ชัดจากการที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปโรดโชว์ในต่าง
ประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ
แข็งแกร่งขึ้น หากให้คะแนนรัฐบาลจะให้ 8 คะแนนจากเต็ม 10 เนื่องจากค่อน
ข้างพอใจในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้
สำหรับย่างก้าวสู่ปีที่ 2 ของรัฐบาลอยากให้รัฐบาลช่วยเร่งนโยบายใน 2 เรื่อง
สำคัญ คือ เรื่องการศึกษา ควรส่งเสริมให้คนไทยคิดนอกกรอบ เพิ่มทักษะ
การเรียนรู้ด้านภาษา เพื่อขับเคลื่อนสู่การเปิดเออีซีได้อย่าง เต็มที่ ส่วนอีกเรื่อง
คือโลจิสติกส์ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศนโยบายผลักดันอย่างจริงจัง นับว่าเป็นเรื่อง
ที่ดี หากทำได้ตามแผนสามารถเชื่อมต่อในแต่ละประเทศถึงกันได้จะส่งผลให้
เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ดียิ่งขึ้น พร้อมกันนี้อยากเห็นเมกะโปรเจ็กต์
อย่างโครงการรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และการจัดวางผังเมืองให้เป็น
ระบบมากขึ้น
ส่วน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบัน
อนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า รัฐบาลยังขาดเรื่องการบริหารจัดการที่ดีในทุกเรื่อง
ทั้งการบริหารคน บริหารโครงการต่างๆ ที่ประกาศไว้ จึงไม่สามารถดำเนินงาน
ตามนโยบายได้ทั้งหมด รัฐบาลประกาศนโยบายต่างๆ ไว้สูง ทั้งเรื่องวงเงิน
โครงการ และเป้าหมายของโครงการ แต่เมื่อลงมือทำเกือบทุกโครงการไม่
สามารถทำให้สัมฤทธิผลได้ จากนี้ต่อไปรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในเรื่องการ
บริหารจัดการภายในให้ดี เพื่อเร่งขับเคลื่อนโครงการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน
รองรับการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรับการเป็นเออีซี
ในส่วนโครงการประชานิยมรัฐบาลต้องลดลงเพราะใช้งบประมาณจำนวนมาก
อาทิ การอุดหนุนก๊าซแอลพีจี ที่ใช้เงินอุดหนุนมากและอุดหนุนมานานแล้ว
นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หากจะให้คะแนนนโยบายเศรษฐกิจไม่สามารถให้ได้
เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายเศรษฐกิจที่แท้จริง ส่วนใหญ่หวังผลทางการเมือง
โดยใช้เครื่องมือด้านเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อน ผลที่เกิดกับเศรษฐกิจจึง
ไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง มีเพียงคะแนนเสียงที่ได้จากประชานิยม ภาระอันใหญ่
หลวงของประเทศคือ นโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ด หากรัฐบาลไม่ปรับรับรอง
เจ๊งแน่ ภาระเงิน งบประมาณของรัฐบาล ซึ่งคือเงินภาษีของคนไทยมา
จำนำข้าวนั้นมหาศาลยิ่งทำยิ่งหมด จะต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่จึงจะพอ หาก
ไม่มีเงินก็ต้องกู้
สำหรับการทำงานต้องยอมรับว่าเริ่มผ่อนสั้นผ่อนยาว เริ่มรับฟังความคิดเห็น
ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รับฟังเอกชน รับฟังเสียงประชาชน หากลืมเรื่อง
การเมืองปรับการทำงาน คิดนโยบายผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าเอา
แบบจริงจังเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน โดยเฉพาะ
การรับจำนำข้าว ไม่ต้องจำนำทุกเมล็ด เพราะเปิดช่องให้ทุจริตเกิดขึ้นมาก
อุดหนุนหรือรับจำนำเฉพาะเกษตรกรรายย่อยจริงๆ
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObFkyOHlOVEExTURnMU5RPT0=§ionid=TURNd05RPT0=&day=TWpBeE1pMHdPQzB3TlE9PQ==
ทำงานครบ 1 ปี ...เป็นไปไม่ได้ที่จะประสบความสำเร็จไปทุกนโยบาย
เมื่อผิดพลาด ผู้คนท้วงติง ก็ต้องแก้ไข ปรับเปลี่ยน....การคิดริเริ่ม
กับการลงมือทำ ย่อมมีความแตกต่างกันบ้างเป็นธรรมดา
แต่ก็มิใช่จะล้มเหลวไปซะทั้งหมด
เขาบอกว่า ...วันนี้มีแต่สื่อเลือกข้าง ...ก็เลยเอาสื่อ 2 ข้างมาให้อ่านกัน