เริ่มรู้จักชื่อพรรคการเมือง เมื่อตอนเป็นเด็ก อยู่ไม่กี่พรรค ชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย พลังธรรม ประชาธิปัตย์ ... แต่ไม่ได้สนใจมากนัก
โตขึ้นมาอีกนิด หลังสงครามอ่าว บ้านเราก็เข้าสู่วิกฤตการเมือง มีเรื่อง รสช. รัฐประหาร มีนายกรัฐมนตรี ที่ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ และ พฤษภาทมิฬ 2535
จำได้ว่าตอนนั้นกำลังจะเปิดเทอมประมาณวันที่ 15-20 พ.ค.ทั่วประเทศ แต่ส่วนหนึ่งแถวถนนดินสอไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามกำหนด เพราะมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมโดยทหารบนถนนราชดำเนิน
จากเหตุการณ์ที่ยังติดอยู่ในความทรงจำ แม้จะไม่ได้ร่วมเหตุการณ์ แต่ในยุคนั้นมีการบันทึกภาพเป็นวิดิโอ แล้วนำออกมาให้คนที่อยู่ภายนอก ต่างจังหวัดได้ดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ได้ดูไม่น้อยกว่า 3 รอบ
ความเป็นเด็กวันมัธยมต่างจังหวัด มองว่า ทำไมทหารถึงอยากเข้ามาปกครองประเทศ ทำไมต้องมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหาร(ทั้งที่ก่อนหน้าก็มี แต่ พล.อ.ชาติชาย เกษียณแล้วจึงมาเล่นการเมือง) ทำไมต้องกราดยิงคนที่มาชุมนุม ทำไมต้องบุกเข้าไปในโรงแรมที่มีหน่วยแพทย์ดูแลผู้บาดเจ็บ .. และ ทำไมฯลฯ
หลังจากมีภาพ พล.อ.สุจินดา พล.ต.จำลอง เข้าเฝ้าฯ ทุกอย่างก็เข้าสู่ภาวะสงบ (แบบสมยอม รอมชอม สงัดเงียบ ตามความคิดตอนนั้นของเรา)
จากนั้นก็มีนายกรัฐมนตรีที่ใครๆก็ยกย่องว่า ดีที่สุดในขณะนั้น ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป แล้วผลปรากฎว่า พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล มีนายชวนเป็นนายกรัฐมนตรี มีส.ส. นักเรียนนอกหน้าใหม่ รูปหล่อ (ตามที่คนแถวพรรคนั้นคิดกัน แต่ไม่ใช่เรา)ที่ชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (เราไม่ได้เสิร์ชข้อมูล แต่เล่าจากความทรงจำ เมื่อ เกือบ 20 ปีมาแล้ว อาจจะตกๆหล่นๆบ้าง)
บอกตามตรงเรารู้สึกไม่ค่อยดีกับพรรคนี้ กับบุคคลของพรรคนี้ (เราเกิดและโตไม่ทันที่จะเรียนรู้ว่าพรรคนี้มีคนดีๆอย่างคุณพิชัย) เราจำได้ว่าตอนมัธยมต้น เราได้เรียนเรื่องเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 และ 6 ต.ค. 19 .. แล้วพรรคที่มีบทบาทในฐานะรัฐบาลก็ไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์
จึงทำให้เราเริ่มมองด้วยสายตาอคติ ว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์ สถานการณ์ที่รุนแรงและเลวร้าย พรรคนี้ จะขึ้นมาสู่จุดสูงสุดได้หรือไม่
หลังจากวันนั้น เวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ความเชื่อของเรา ว่าแนวทางของพรรคนี้ไม่เคยเปลี่ยนไปในสายตาเราเลย