Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สลิ่ม สลิ่ม และสลิ่ม ติดต่อทีมงาน

สลิ่ม: พื้นที่ศักดิ์สิทธ์ทางวิชาการหรือแค่เรื่องตลกของยุคสมัย

ท่ามกลางความสับสนและความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศเทยในช่วงที่ผ่านมา พฤติกรรม(จริงๆสิ่งที่จะกล่าวต่อไปจะเรียกว่า “พฤติกรรม” ก็ดูจะไม่ตรงนัก แต่เพื่อความสะดวกในการสื่อสาร ผู้เขียนขออนุญาตใช้คำนี้ไปพลางก่อน) ที่เรียกกันอย่างลำลองทางวิชาการว่า “สลิ่ม”( salim) ได้ก่อตัวขึ้นและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่ชนชั้นกลางของประเทศเทย(โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว) มีการถกเถียงกันในวงวิชาการอย่างมากมายและกว้างขวางต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น บ้างก็ว่ามันเป็นอาการของโรค(disease) บ้างก็ว่าเป็นความผิดปกติทางจิต(psychological disorder) บางส่วนบอกว่าเป็นอุปทานรวมหมู่(mass hysteria ) บางคนถึงกับบอกว่า “สลิ่ม” เป็นเพียงวาทกรรม(ในความหมายแบบไทยๆ)ที่เอาไว้ discredit ฝ่ายที่คิดเห็นไม่ตรงกับพวกตน

อย่างไรก็ดีแม่จะมีวิวาทะทางวิชาการมากมายในประเด็นดังกล่าว แต่ด้วยความลักลั่นย้อนแย้ง(paradox) ความลื่นไหล ความไม่เสถียร(stable) ของพฤติกรรม “สลิ่ม” ทำให้ข้อถกเสียงเหล่านั้นไม่สามารถให้ข้อสรุปถึงนิยาม(definition)ของคำว่า “สลิ่ม” ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับสังคมในการใช้คำว่า “สลิ่ม” มาก เพราะความหมาย(meaning) และสัญญะ (sign) ของมันขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้ใช้เป็นหลัก ทำให้ผู้ที่ถูกเรียกว่า “พวกสลิ่ม” ไม่อินังขังขอบหรือเดือดเนื้อร้อนใจเมื่อถูกเรียกแบบนั้น ทั้งที่อันที่จริงแล้วคำนี้มีความหมายในเชิงประชดประชันเสียดสีอยู่มาก

จากการทบทวนวรรณกรรมที่ผ่านมา ผู้เขียนพบว่าการศึกษาปรากฏการณ์ “สลิ่ม” เป็นไปอย่างไร้ทิศทางและกระจัดกระจาย มีการใช้กรอบวิเคราะห์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในทาง สังคมศาสตร์, รัฐศาสตร์, ปรัชญา, เศรษฐศาสตร์, หรือแม้แต่การวิเคราะห์ด้วยความตั้มฟิสิกส์ ซึ่งความหลากหลายในแนวทางการศึกษาเช่นนี้ แม้จะทำให้เราค้นพบแง่มุมใหม่ๆของคำว่า “สลิ่ม” แต่ก็ไม่สามารถให้ความหมายที่เป็นจุดร่วมของคำๆนี้ได้ ส่งผลให้ “สลิ่ม” กลายเป็นคำที่มีลักษณะนามธรรม (abstract) ลึกลับ(mysterious) หรือแม้กระทั่งดูศักดิ์สิทธิ์ (divine) กว่าที่คนธรรมดาทั่วไปจะเข้าถึงได้

บทความนี้ผู้เขียนไม่มีเจตนาที่จะเสนอข้อสรุปหรือทฤษฎีที่ชี้ขาดว่า “สลิ่ม” คืออะไรกันแน่ เพียงแต่ต้องการที่จะทบทวน วิเคราะห์ เพื่อสังเคราะห์เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นของพฤติกรรมที่เรียกว่า “สลิ่ม” ผู้เขียนพยามยามจะรวบรวมจุดร่วมของพฤติกรรมดังกล่าวที่เห็นได้อย่างชัดเจน (obvious) ในกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าสลิ่มส่วนใหญ่ โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นของการวิเคราะห์ว่า “สลิ่ม” ไม่ใช่ความผิดปกติ(abnormally) เพราะกลุ่มคนที่ถูกขนานนามว่าสลิ่มนั้นสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ไม่ได้มีความบกพร่องในการใช้ชีวิตปกติแต่อย่างใด(แต่มี “ความคิด” หรือเปล่านั้นเป็นสิ่งที่ต้องอภิปรายต่อไป) โดยผู้เขียนใช้กรอบการว่าเคราะห์ “สลิ่ม” ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมผสม( hybrid culture) ซึ่งเกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรมรวมถึงอุดมคติที่หลากหลาย ทั้งวัฒนธรรมแบบชนชั้นกระฎุมภี, แนวคิดอนุรักษ์นิยมใหม่, pop culture, วัฒนธรรมแบบผู้มีการศึกษา และอาจร่วมถึงวัฒนธรรมนำเข้าอย่างกระแส k-pop

ผู้เขียนเห็นว่าการมองสลิ่มเป็นวัฒนธรรม ทำให้เราเข้าใจถึงพฤติกรรมนี้ได้อย่างมีมิติและเป็นพลวัตรมากขึ้น เพราะกระบวนการการทำให้เป็นสลิ่ม (salimization) ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน แต่เป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมายาวนานอย่างเป็นระบบ ซึ่งเราอาจจะสืบย้อนกลับไปได้ถึงช่วงการเข้ามาของแนวคิดสมัยใหม่ (modernism)ในรัชสมัยรัชกาลที่ห้า หรืออย่างน้อยก็สมัยที่มีการเกิดขึ้นของชนชั้นกระฎุมภีใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพุทธศักราช  2475 ซึ่งมันมีความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์อยู่มาก(อ่าน, สมสุข 2553) อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่ากระบวนการทำให้เป็นสลิ่มชัดเจนที่สุดในทศวรรษ 2490-2500 และมีการแสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดพร้อมๆกับการมาถึงของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มคนเสื้อหลากสี” (multicolor anti-democracy puppets) ในช่วงเดือนมีนาคม 2553 แต่ด้วยข้อจำกัดของความยาวของบทความผู้เขียนจะไม่อภิปรายกระบวนการทำให้เป็นสลิ่มในที่นี้ แต่จะขอตั้งข้อสังเกตลักษณะร่วมบางประการของ “สลิ่ม” เท่านั้น

จากคุณ : เด็กหญิงโนบิตะ
เขียนเมื่อ : 16 ส.ค. 55 10:54:35 A:124.121.37.80 X:




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com