ยิ่งเจริญก้าวหน้าคนจนไร้ที่ดินยิ่งทุกข์ยาก
ธรรมชาติมีกฎอยู่ในการแบ่งผลตอบแทนระหว่างเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้ง ๓ ปัจจัย คือ ที่ดิน แรงงาน และ ทุน (ในที่นี้ถือว่า การประกอบการ เป็น แรงงาน ซึ่งหมายความรวมทั้งแรงสมองและแรงกาย) Henry George เขียนไว้ในหนังสือ Progress and Poverty ค.ศ.๑๘๗๙ ว่า ที่ดินชายขอบ หรือ ขอบริมแห่งการผลิต เป็นตัวกำหนดกฎการแบ่งผลตอบแทนระหว่างปัจจัยการผลิตทั้งสามนั้น
ขอบริมแห่งการผลิต คือ ที่ดินดีที่สุดที่จะหาได้โดยไม่เสียค่าตอบแทน ซึ่งปกติจะมีผลิตภาพต่ำสุดที่ใช้กันอยู่
ค่าเช่าที่ดิน คือ ผลตอบแทนต่อเจ้าของที่ดิน กำหนดด้วยผลผลิตของที่ดินนั้นในส่วนที่เกินกว่าที่ ขอบริมแห่งการผลิต เมื่อใช้แรงงานและทุนเท่ากัน
ค่าแรง คือ ผลตอบแทนต่อผู้ใช้แรงงาน กำหนดด้วยผลผลิตที่แรงงานสามารถผลิตได้ ณ ขอบริมแห่งการผลิต
ดอกเบี้ย คือ ผลตอบแทนต่อเจ้าของทุน จะสูงขึ้นหรือต่ำลงเช่นเดียวกับค่าแรง คือขึ้นอยู่กับ ขอบริมแห่งการผลิต เหมือนกัน
เมื่อเกิดความเจริญก้าวหน้าทำให้สมรรถภาพในการผลิตสูงขึ้น คนเราโดยส่วนรวม (ถึงแม้จะไม่ทั่วถึงกัน) จะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น จะสามารถสนองความต้องการของตนได้มากขึ้น เช่น จะสร้างบ้านดีขึ้นใหญ่ขึ้น มีบริเวณกว้างขึ้น มีของกินของใช้มากขึ้น ประณีตดีขึ้น และมีทุนที่จะขยายการผลิตของตนให้กว้างขวางออกไปอีก จึงต้องการที่ดินมากขึ้น ซ้ำการผลิตทั้งหลาย เศรษฐทรัพย์ทั้งหลาย ซึ่งจะผลิตได้ประณีตดีขึ้นมากขึ้นนั้น ก็ต้องอาศัยวัตถุดิบมาจากแผ่นดินทั้งสิ้น เป็นเหตุให้มีการใช้ที่ดินมากขึ้น ขอบริมแห่งการผลิตจะขยายออกไป ดังนั้นก็จะทำให้ค่าแรงต่ำลง แต่ค่าเช่าสูงขึ้น ผู้มีแต่แรงงานจึงอาจเดือดร้อนอีกทั้งๆ ที่สมรรถภาพในการผลิตของส่วนรวมดีขึ้น
สิ่งที่ทำให้สมรรถภาพในการผลิตของส่วนรวมดีขึ้น แม้แต่การสหกรณ์ และความขยันขันแข็งขึ้นเป็นส่วนรวม อาจจะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้แรงงาน แต่จะกลับไปเพิ่มความร่ำรวยให้แก่เจ้าของที่ดิน เพราะประโยชน์ที่ได้เพิ่มขึ้นเหนือจากที่ควรจะได้ ณ ขอบริมแห่งการผลิตจะไปตกอยู่แก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน
ความเจริญก้าวหน้าซึ่งทำให้ค่าเช่าสูงขึ้นนั้นมิใช่จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้าที่เพิ่มความสามารถในการผลิตโดยตรงเท่านั้น แต่รวมถึงความเจริญก้าวหน้าในการปกครอง มารยาท และศีลธรรม ซึ่งเพิ่มความสามารถในการผลิตโดยทางอ้อมด้วย
โปรดสังเกตว่าค่าแรงจริงจะไม่ต่ำลงถ้าขอบริมแห่งการผลิตขยายออกไปน้อยกว่าอัตราความเจริญก้าวหน้าในการผลิต อย่างไรก็ตามถ้าคิดเทียบกันแล้ว อัตราส่วนของค่าแรงต่อค่าเช่าจะต่ำลงเสมอ
ยิ่งไปกว่านั้น เราทั้งหลายรู้กันดีว่า ที่ดินส่วนใหญ่จะมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อนี้ทำให้เกิดคติ ซื้อที่ดินไว้ดีกว่าซื้อทองคำ มีการเก็งกำไรเก็บกักที่ดิน สะสมที่ดินไว้เป็นมรดก หรือเตรียมหาที่ดินไว้ให้ลูกหลานหรือแม้แต่ตนเอง ทำให้ที่ดินส่วนหนึ่งถูกซื้อทิ้งไว้เปล่าๆ เช่น ที่ดินชานเมืองจำนวนมาก การนี้จะทำให้ขอบริมแห่งการผลิตขยายออกไปไกลเกินกว่าที่ควร ทำให้ผลิตภาพต่ำลงกว่าที่ควร จึงทำให้ค่าแรงต่ำมากไป และค่าเช่าที่ดินสูงเกินควร
นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดที่ดินอีกประเภทหนึ่ง คือ ที่ดินที่ใช้ประโยชน์เหมือนกัน แต่ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ซึ่งถ้าเราพิจารณาดูดีๆ แล้ว จะเห็นว่ามีอยู่มากมายทั้งในเมืองและชนบท
ถ้าที่ดินถูกครอบครองหมด ไม่สามารถจะขยายขอบริมแห่งการผลิตออกไปอีกได้ ก็จะเกิดสภาพผูกขาด เพราะแรงงานไม่มีทางเลือกอีกต่อไป จะต้องอาศัยที่ดินจากบรรดาเจ้าของที่ดินไม่คนใดก็คนหนึ่ง ค่าแรงก็จะลดต่ำลงไปอีก แต่ค่าเช่าที่ดินจะยิ่งสูงขึ้น
นี่คือ คำอธิบายต่อปัญหาที่ว่า เหตุใดค่าแรงจึงดูจะลดต่ำลงตลอดเวลา (รายได้เป็นตัวเงินอาจจะปรากฏว่ามากขึ้น แต่ถ้าคิดเป็นกำลังซื้อหรือผลผลิตแล้วก็ลดลง)
สำหรับแรงงานที่มีฝีมือ (Skilled Labour) และผู้ใช้แรงงานสมอง อาจเดือดร้อนเพียงเล็กน้อย แต่แรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labour) ไม่ว่าจะเป็นแรงงานทางเกษตร หรือแรงงานในเมือง (ซึ่งถ่ายเทระหว่างกันได้) ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากมาย และเป็นฐานล่างสุดของแรงงานทุกประเภท ซึ่งได้ค่าแรงต่ำกว่าแรงงานอื่นๆ ทั้งสิ้น ซึ่งปกติก็ยากจนเดือดร้อนอยู่แล้ว ย่อมจะต้องแร้นแค้นยิ่งขึ้นไปอีก.
อ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ ความก้าวหน้ากับความยากจน www.pitlok.com/econbuu/suthon/index.html
หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม www.pitlok.com/econbuu/suthon/suthon4.doc ถึง www.pitlok.com/econbuu/suthon/suthon9.doc และขอส่วนที่เหลือได้จาก suthon@clickta.com
บทความที่เกี่ยวข้อง www.pitlok.com/econbuu/webboard/index.php
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์ และขอบคุณท่านที่จะนำไปเผยแพร่ต่อ)
จากคุณ :
สุธน หิญ
- [
14 ส.ค. 46 06:58:42
A:202.133.176.39 X:
]