ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายเรื่องนี้เป็นพระราชกำหนด
แต่การเสนอความเห็นก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่านักกฎหมายหลาย ๆ ท่านที่ได้เสนอไปแล้ว
หลักการของกฎหมายเรื่องนี้คงไม่มีใครค้าน
เพียงแต่วิธีการบัญญัติกฎหมายต่างหากที่เป็นการสมควรหรือไม่
มีพฤติการณ์เร่งด่วนจนต้องออกเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) จริงหรือ
และการออก พ.ร.ก.แล้ว แก้ไขปัญหาได้จริงตามที่ต้องการหรือไม่
เป็นการทำลายหลักนิติรัฐหรือไม่
ผลของการตีความของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นกระนั้นหรือ?
นี่ต้องถกเถียงและรอดูกันต่อไป
กระทู้นี้ขอนำเสนอเนื้อหาของกฎหมายที่อาจจะพอเป็นประโยชน์ให้หลาย ๆ ท่านได้ทำความเข้าใจ
นักกฎหมายท่านใดมีความเห็นเพิ่มเติมก็เชิญเลยนะครับ
ก่อนอื่นขอเอามาตราสำคัญในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาลงให้อ่าน
ส่วนพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนั้น
มีสาระสำคัญเพียงมาตราเดียวคือเพิ่มมูลฐานความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย(ที่แก้ไขนี้)เท่านั้น
จึงขอละไว้เพราะขี้เกียจพิมพ์
พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓ ให้เพิ่มให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑/๑) ของมาตรา ๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
"(๑/๑) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๕/๑ มาตรา ๑๓๕/๒ มาตรา ๑๓๕/๓ และมาตรา ๑๓๕/๔"
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นลักษณะ ๑/๑ ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย มาตรา ๑๓๕/๑ มาตรา ๑๓๕/๒ มาตรา ๑๓๕/๓ และมาตรา ๑๓๕/๔ ในภาค ๒ ความผิด แห่งประมวลกฎหมายอาญา
"ลักษณะ ๑/๑ ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
มาตรา ๑๓๕/๑ ผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดอาญาดังต่อไปนี้
(๑) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ
(๒) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
(๓) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ
ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท
การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย
มาตรา ๑๓๕/๒ ผู้ใด
(๑) ขู่เข็ญว่ากระทำการก่อการร้าย โดยมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะกระทำการตามที่ขู่เข็ญ หรือ
(๒) สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้ายตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือยุยง ประชาชนให้เข้ามีส่วนในการก่อการร้าย หรือผู้ว่ามีผู้จะก่อการร้ายและกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้
ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตัวตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
มาตรา ๑๓๕/๓ ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๓๕/๑ หรือมาตรา ๑๓๕/๒ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้นๆ
มาตรา ๑๓๕/๔ ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคล ซึ่งมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นคณะบุคคลที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย และรัฐบาลไทยได้ประกาศให้ความรับรองมติหรือประกาศดังกล่าวด้วยแล้ว ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท"
___________________________________
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันปรากฏว่ามีภัยคุกคามจากการก่อการร้ายโดยมุ่งประสงค์ต่อชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือทำลายทรัพย์สินให้เกิดความเสียหาย เพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนและทำให้เกิดความวุ่นวายในประเทศ หรือเพื่อบังคับขู่เข็ญให้รัฐบาลไทย รัฐบาลของรัฐใด หรือองค์การระหว่างประเทศ จำยอมต้องกระทำหรือละเว้นการกระทำตามที่มีการเรียกร้องของผู้ก่อการร้าย ซึ่งการกระทำเช่นนั้นได้เกิดขึ้นในประเทศใกล้เคียงและมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นภายในประเทศอันจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรงนอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังเป็นการกระทำในลักษณะการร่วมมือกระทำความผิดระหว่างประเทศ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติที่ ๑๓๗๓ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ค.ศ.๒๐๐๑ ขอให้ทุกประเทศร่วมมือดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำใดที่เป็นการก่อการร้าย รวมถึงการสนับสนุนทางทรัพย์สินหรือกรณีอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์จะนำไปใช้ดำเนินการก่อการร้ายหรือเป็นสมาชิกขององค์กรก่อการร้าย โดยเหตุที่การก่อการร้ายเป็นการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต้องแก้ไขปัญหาให้ยุติลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศและความปลอดภัยสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
------------------------------------
จากคุณ :
cha Jr.
- [
15 ส.ค. 46 14:08:39
]