ความคิดเห็นที่ 5
ที่สำคัญที่สุดศิลาจารึก หลักที่ ๑ หมายจะสอนสังคมพุทธอันดีเลิศตามฝัน (Ideal Buddhist Society) ที่ทำบุญทำทาน, มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับทุกคน "ในน้ำมีปลาในนามีข้าว", มีเสรีภาพในการทำอาชีพและหลวงท่านไม่เบียดเบียน "เพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขายฯ" และ "เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ฯ" มีกฎหมายที่เป็นยุติธรรม "(ใคร) ล้มตาย...เหย้าเรือน...ป่าหมาก ป่าพลู...ไว้แก่ลูกมันสิ้น" และพ่อเมืองย่อมฟังเสียงประชาชน "ผิแลผิดแผกแสกว้างกัน...จึงแล่งความแก่ขาด้วยซื่อ ๆ" และ "ปากประตูมีกระดิ่งอันณื่งฯ" ศิลาจารึก หลักที่ ๑ มีทั้งเศรษฐศาสตร์, สังคมศาสตร์, รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์, แต่ท่านสอนตามแบบตำรับตำราสมัยใหม่ไม่ได้ ท่านสอนตามประสาท่านด้วยนิทานโบราณ หรือเทพนิยาย ดังมีในนิทานชาดก ขอชวนท่านผู้อ่านลองฟังเสียงศิลาจารึก หลักที่ ๑ โดยตรง :- (ด้าน ๓ บรรทัดที่ ๑๐ ถึง ๒๗) "พ่อขุนรามคำแหง...ปลูกไม้ตาลนี้ ได้สิบสี่เข้าจึงให้ช่างฟันขดานหิน ตั้งกลางไม้ตาลนี้...พ่อขุนรามคำแหง...ขึ้นนั่งเหนือขดานหินให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมือง...ขดานหินนี้ชื่อมนังศิลาบาตรสถาบกไว้นี่ จึ่งทั้งหลายเห็น" กษัตริย์ในอุษาคเนย์ที่มีตัวตนที่ไหนมี, ที่ออกขุนนางกลางป่าตาล? และใครที่ไหนประทับบนแท่นชื่อ มนังศิลาบาตรที่น่าจะแปลว่า "แผ่นหินตามใจนึก"? เท่าที่ผมสอบได้ กษัตริย์ที่มีพฤติกรรมแบบนี้ มีแต่กษัตริย์ในเทพนิยาย เช่น ชาตกมาลา, นิทานปัญจตันตระ, กถาสริตสาคระ และพระอภัยมณี จะเป็นไปได้ไหมว่า สุนทรภู่มีบทบาทในการประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑? กษัตริย์ที่ออกขุนนางกลางสวนป่า โดยประทับบนแท่นทิพย์สารพัดนึกไม่น่ามีองค์จริง, แต่เป็นพระเอกในเทพนิยาย ปัญหาของเรามีอยู่ว่า เพื่อนฝ่ายขวา (เทพเทวดาชาวฟ้า) ไม่เข้าใจเรื่องวรรณกรรมโบราณ, ไม่ว่าจะเป็นนิทานสั่งสอน (Didactic Literature) เช่น นิทานชาดก, หรือเทพนิยาย (Fairy Tale) เช่น พระอภัยมณี ที่ท่านเสนอว่า ศิลาจารึก หลักที่ ๑ เป็นประวัติศาสตร์จากเหล็กจารใบลานของพ่อขุนรามฯ ก็ไม่ผิดแผกแตกต่างนักกับการเสนอว่า เรื่องพระอภัยมณีเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่พระอภัยมณีท่านประพันธ์ขึ้นมาเอง สุนทรภู่ไม่เกี่ยวหรอก
อีกมิติหนึ่งของปัญหา ฝ่ายภูตผีปีศาจบางคนเคยเสนอว่า เจ้านายครั้งกรุงรัตนโกสินทร์น่าจะมีบทบาทในการประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ฝ่ายเทพเทวดาฯ รีบโต้ตอบว่า นี่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ว่าท่านอาจตรัสเท็จ เรื่องนี้น่าสนใจมากเพราะหากทุกคนเข้าใจวรรณคดีตามหลักสูตรของพวกเทพเทวดาฯ แล้วไซร้, ก็ต้องสรุปว่า นักประพันธ์ทั่วโลกเป็นคนโกหกพกเท็จทั้งสิ้น, ไม่ว่าจะเป็นสุนทรภู่, Shakespear, Charles Dickens หรือแม้กระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เล่านิทานชาดกสอนสาวก แต่ฝ่ายภูติผีฯ มักมองวรรณกรรมแบบสากลปัจจุบันโดยไม่จำเป็นต้องใส่ความว่าผู้มีจินตนาการ "โกหก" ศิลาจารึก หลักที่ ๑ เต็มไปด้วยจินตนาการมากมายเกี่ยวกับอดีต (สมัยสุโขทัย) แต่ในขณะเดียวกันยังเต็มไปด้วยความจริงสำหรับสยามในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และปัจจุบัน ในการดิ้นรนหาความใส่พวกภูติผีฯ, ฝ่ายเทพเทวดาฯ ได้มองข้ามความซื่อจริงในจารึกฯ ที่พวกภูติผีฯ พยายามจับมานานแล้วนั่นคือ "ลายแทง" ที่แจ้งถึงที่มาของข้อมูลในจารึก หลักที่ ๑
ปริศนาลายแทง ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๒๒-๒๕ มีความว่า ด้วยจารึกอีกสามหลักที่อยู่ในเมืองต่าง ๆ พวกเทพเทวดาฯ ต่างแสร้งทำเป็นไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร, แต่ภูติผีฯ อย่างผมรู้ว่าเป็นลายแทงหมายถึงศิลาจารึก หลักที่ ๒ (วัดศรีชุม), หลักที่ ๒ (นครชุม) และ หลักที่ ๕ (วัดป่ามะม่วงสุโขทัย, ภาษาไทย, พบใกล้กรุงศรีอยุธยา) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นักประพันธ์ชาวไทยไม่จำเป็นต้องแจ้งที่มาของข้อมูลตามประเพณี นักวิชาการสากลปัจจุบัน, แต่ผู้ประพันธ์ศิลาจารึก หลักที่ ๑ มีความซื่อสัตย์ต่อข้อมูลมาก และมีความเคารพต่อผู้อ่านสูงจนท่านอุตส่าห์บอกแหล่งข้อมูลให้ได้ ที่ท่านบอกด้วยรหัสหรือ "ลายแทง" นั้นไม่แปลก, เพราะโบราณท่านนิยมสื่อสารกันด้วยรหัสที่ผู้รู้ย่อมเข้าใจกันได้ดี ปัญหามันเกิดภายหลักเมื่อ "ผู้รู้", ทั้งไทยและเทศ, ต่างพยายามอ่านวรรณกรรมแบบโบราณ (จารึก หลักที่ ๑, ตำรานางนพมาศ ฯลฯ) เหมือนกับว่าเป็นงานวิชาการสมัยใหม่ ว่าง่าย ๆ ท่านลืมนิทาน และตีลายแทงไม่ออก
ความผิดอยู่ที่ใคร? ความผิดที่นักปราชญ์ส่วนใหญ่เข้าใจศิลาจารึก หลักที่ ๑ อย่างไขว้เขวนั้น, มิได้เป็นความผิดของผู้หนึ่งผู้ใด, หากเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม, วัฒนธรรมและวิธีคิดที่ไม่ได้รับการศึกษา หรือบางทีไม่ค่อยมีใครสังเกต ปัญญาชนชาวสยามรุ่น ร.๓, ร.๔ มีใจกว้างและมีสายตามองอนาคตได้ไกล. แต่ท่านยังเป็นปัญญาชนแบบโบราณ ท่านจึงแต่งศิลาจารึก หลักที่ ๑ ด้วยวิธีคิดแบบโบราณ, คือใช้จินตนาการว่าด้วยอดีตในอุดมคติ (Imagined Ideal Past) เพื่อสร้างอนาคตอันอุดมที่ปรารถนา (Desired Ideal Future), ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ติไม่ได้ ต่อมาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และต้านคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐, เจ้านายสยามเริ่มลืมอดีตที่แท้จริงและยึดถืออดีตที่สมมติขึ้นมาตามอุดมการณ์ ศิลาจารึก หลักที่ ๑ จึงกลายฐานะจาก "นิทานสอนความดีงาม" (Didactic Literature) มาเป็น "ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง" (Real History) ในขณะเดียวกันชาวบ้านได้หลุดหายไปจากประวัติศาสตร์, เพราะชาวบ้านยังคงอยู่ในโลกเก่า, นอกความเจริญที่เจ้านายท่านจินตนาการขึ้น ชาวบ้านเพิ่งกลับมาปรากฏบนจอประวัติศาสตร์หลังวันที่ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ หากจะโทษใครว่าด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับศิลาจารึก หลักที่ ๑, ก็เห็นจะต้องโทษนักปราชญ์ฝรั่งที่ควรรู้ดีกว่า, เพราะท่านอยู่นอกกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม, วัฒนธรรมและวิธีคิดที่ทำให้ "น้ำขุ่น" สำหรับคนไทยที่อยู่ในเหตุการณ์ ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐. George Cedes น่าจะเข้าใจศิลาจารึก หลักที่ ๑ ได้ดี, แต่ท่านแปลและส่งเสริมหลักที่ ๑ ในฐานะประวัติศาสตร์จริง อย่าลืมว่าท่านเป็นข้าราชการลับของฝรั่งเศสที่ได้รับคำสั่งให้ "โอ๋" เจ้านายสยามเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและการเมืองฝรั่งเศส ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นักปราชญ์ชาวอเมริกันได้รับช่วงจาก Cedes, เช่น W. J. Gedney, A. B. Griswald กับ D. K. Wyatt ที่ล้วนใช้หลักที่ ๑ เป็นพื้นฐานในการเขียนงานเรื่องภาษาศาสตร์, ประวัติศาสตร์ศิลป และประวัติศาสตร์รัฐ ตามลำดับโดยไม่มีความสงสัย แต่แล้วท่านทั้งสามทำงานในยุคสงครามเย็นที่อเมริกาแสวงหาสัมพันธมิตร, สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการฝ่ายขวา และไม่คิดขัดขวางความคิดล้าหลัง ผมเชื่อว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ ทำขึ้นมาเพื่อสั่งสอนและสร้างสรรค์, ไม่ใช่เพื่อหลอกใคร หรือหากท่านหลายจะหลอกใครก็คงหมายจะหลอกฝรั่ง และหลอกได้ดีชะมัดด้วยซ้ำ! ................................
จากคุณ :
จิ้งจกร้องทัก
- [
6 ก.ย. 46 12:13:53
]
|
|
|