คำเตือนจาก "ชุมพล ณ ลำเลียง" จะถูก "ปิดปาก" แบบ "ภูษณ" "เจิมศักดิ์" "โฆสิต" ไหมครับ ... จากประชาชาติธุรกิจ

    ประชาชาติธุรกิจ
    วันที่  11 กันยายน 2546  
    ปีที่ 27 ฉบับที่ 3513


    จี้รัฐแตะเบรกศก.ร้อน บิ๊กปูนใหญ่หวั่น"หุ้น-อสังหาฯ"สูงเกินจริง

    แม่ทัพปูนใหญ่ "ชุมพล ณ ลำเลียง" สวนกระแส "เศรษฐกิจขาขึ้น" ข้องใจกำลังซื้อแท้หรือเทียมหลังบ้านหรูราคาแพงขายกระฉูด-ตลาดหุ้นมูลค่าเพิ่มเท่าตัว ชี้จีดีพีสูงแต่อานิสงส์ไม่ถึงรากหญ้า กำไรกระจุกเฉพาะกลุ่ม เตือนถ้าไม่เตรียม "ติดเบรก" มีสิทธิลงเหวอีกรอบ ขณะที่ดอกเบี้ยต่ำยาวนานจะก่อปัญหาในอนาคต


    วันนี้ข้อถกเถียงไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจฟื้นหรือไม่ฟื้น แต่นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจที่รู้รสและลิ้มลองความเจ็บปวดจากวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้ว กำลังจับอาการสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจขาขึ้นรอบนี้ว่าจะมีบับเบิลหรือฟองสบู่อย่างที่กลุ่มอนุรักษนิยมตั้งคำถาม

    หรือว่าเศรษฐกิจกำลังจะวิ่งฉิวอย่างที่รัฐบาลพยายามชี้นำ

    ในประเด็นนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้เคยสัมภาษณ์ ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้คำตอบว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว แต่ยังต้องเผชิญหน้ากับภาวะราคาต่ำอยู่ แม้ว่าจะไม่รุนแรงขึ้น แต่จะอยู่กับเราไปอีกนาน หรือที่เรียกว่า disinflation คือมีความกดดันจากราคาต่ำ และถ้าภาวะราคาต่ำต่อเนื่องนานๆ อาการที่จะพบก็คือ 1.ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะลุ่มๆ ดอนๆ 2.ตลาดแรงงานจะประสบปัญหาคนว่างงานเพิ่มขึ้น แรงงานใหม่ๆ จะหางานยากขึ้น 3.ผลตอบแทนจากการออมต่ำ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประชาชน/ภาคธุรกิจจะต้องดูแลตัวเองก็คือ พยายามอย่าใช้จ่ายเกินตัว ต้องมีวินัย

    ล่าสุด "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ทวนคำถามนี้อีกครั้งกับนายชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นมืออาชีพและคลุกคลีในภาคเศรษฐกิจแท้จริง ได้ให้ข้อเท็จจริงจากการจับสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วอย่างแน่นอน แต่ขณะนี้มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงว่ามีการเก็งกำไรในพวกที่ไม่ใช่ภาคการผลิตจริง เป็นการเก็งกำไรบนกระดาษ ได้สร้างความร่ำรวยจากราคาที่ปั่นกันขึ้นไป โดยไม่ได้มาจากผลผลิตที่แท้จริง

    สัญญาณที่ทำให้ชุมพลยกมาเป็นประเด็นก็คือ ราคาบ้านที่ขายดีที่สุดในขณะนี้ ชุมพลบอกว่า "บ้านขายดีที่สุดราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ผมว่าเป็นไปไม่ได้ในข้อเท็จจริงและกำลังเงินที่มีอยู่ อยู่ดีๆ ประชาชนจะมีรายได้มากขนาดนั้น รวยขนาดนั้นมาจากไหน อย่าลืมว่ารายได้ของคนไทยยังเป็นเงินบาท และไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมาย ฉะนั้น ราคาบ้านเมื่อเทียบกับรายได้มันเกินไปหรือไม่ เมื่อเกินไปก็ชวนให้คิดว่ามันแพงไปหรือไม่ "

    เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในปีนี้ มูลค่าตลาดหุ้นรวมหรือมาร์เก็ตแคปได้เพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านล้านบาท เป็นประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่ามีคนร่ำรวยขึ้นจากตลาดหุ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท ชุมพลมองว่าการที่คนจะรวยจากตลาดหุ้นสุดท้ายก็ต้องมีคนจ่าย ***เพราะการรวยจากตลาดหุ้นไม่ใช่รวยจากการผลิตจากการขายของได้ แต่มาจากคนอื่นที่พร้อมจะจ่ายในราคาที่สูงกว่าที่เราซื้อมาไปเรื่อยๆ และหากทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันต้องตก มันต้องจบ เกมต้องโอเวอร์

    เมื่อถามว่าตลาดหุ้นกำลังเกิดฟองสบู่หรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่า "ผมว่าหุ้นบางตัวราคายังโอเค บางตัวก็เกินเหตุจริงๆ บางตัวยังถกเถียงกันได้ แต่ว่าผู้ซื้อส่วนใหญ่วันนี้ซื้อไม่เลือก เมื่อซื้อไม่เลือก ราคาก็ขึ้นไม่เลือก ทุกคนก็ซื้อราคาถูกหมด ผมคิดว่าถึงจุดที่น่าเป็นห่วงกันบ้าง แต่ผมยังไม่คิดว่าถึงจุดที่มันจะมีอะไรเกิดขึ้น ผมคิดว่าเรายังโตไปได้อีก แต่ว่าให้เบาๆ ลง"

    นายชุมพลระบุว่า เศรษฐกิจฟื้นจริง แต่คนที่ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในรอบนี้จะเป็นพวกที่มีทรัพย์สินอยู่แล้วและพวกเก็งกำไร ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป แม้จะบอกว่าจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) จะดีขึ้น ประเทศรวยขึ้นและลงไปถึงรากหญ้า ก็คงต้องถามว่าถึงรากหญ้านั้นถึงมากแค่ไหน ถ้าถึงน้อยความมั่นคงก็จะน้อย

    นายชุมพลบอกว่า นี่เป็นสัญญาณที่เริ่มไม่ปกติ และถ้าเผื่อของพวกนี้ (ตลาดหุ้น อสังหาริมทรัพย์) ไม่ทำให้ทั้งหมดสะดุด เศรษฐกิจโดยทั่วไปก็ยังไปได้อยู่

    แต่นายชุมพลตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาไม่เป็นบทเรียนหรือ ? และ****วันนี้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงหาย ไปไหน ?**** ถ้าเป็นบทเรียนวันนี้ประเทศไทยมี "เบรก" อยู่หรือไม่

    นายชุมพลมีความเห็นว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินการมานั้นเป็นการทำดีแล้ว และวันนี้ทุกคนบอกว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะต้องใช้เบรก แต่ถามว่าวันนี้ "เบรก" ของเราคืออะไร เรามีเบรกอะไรบ้างและใครจะเป็นคนดึง/คนคุมเบรก

    นั่นต่างหากคือประเด็นที่ชุมพลต้องการจะสื่อ ส่วนจะใช้เบรกหรือไม่ใช้เบรกนั่นอีกเรื่องหนึ่ง

    "ช่วยบอกหน่อยว่าเรามีเบรกอะไรบ้าง ไม่ใช่เราจะตกเหวแล้วค่อยมาผลิตเบรก เราต้อง เตรียมเบรกไว้ให้พร้อมก่อน ผมเห็นด้วยว่าเวลานี้ยังไม่ใช่เวลาใช้เบรก แต่ขอดูหน่อยว่ามีเบรกหรือไม่มีเบรก ผมก็ห่วงเหมือนกัน เหมือนบอกว่ายังไม่ถึงเวลาใช้ร่มชูชีพ แต่ถามว่ามีหรือไม่มี"

    นอกจากนี้ นายชุมพลให้ความเห็นต่อสภาพคล่องทางการเงินในปัจจุบันว่า วันนี้ผู้ฝากเงินท้อใจ ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเกินไปแล้ว และยืนยันว่าดอกเบี้ยต่ำเกินไปไม่ดี อย่างญี่ปุ่นที่ดอกเบี้ยต่ำมานานเป็น 10 ปีก็ไม่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ นายชุมพลได้ออกตัวว่าไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ตั้งคำถามว่าการที่สภาพคล่องล้นมากๆ ตามปกติจะต้องมีคนดูแลไม่ใช่หรือ หรือไม่มีคนทำ หรือว่าไม่ทำกัน ถึงได้ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำจนเกินไป ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้ออมเงิน

    ขณะเดียวกันในภาคเรียลเซ็กเตอร์ที่เป็นภาคการผลิตจริงๆ นายชุมพลกล่าวว่า ในขณะนี้กำลังการผลิตของภาคเอกชนยังเหลืออยู่ ยังไม่จำเป็นที่จะต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เหล็ก กระดาษ หรือปิโตรเคมี เพราะผลิตตามดีมานด์ที่มีจริง

    -------------------------------------------
    ความคิดเห็นส่วนตัวผมเอง

    ผมยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ "โครงสร้าง" "รากฐาน" เช่น การศึกษาที่มีคุณภาพของคนไทย เพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลง (ดูๆไปมีแต่การเพิ่มปริมาณโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสิ่งปลูกสร้าง) และการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง (แต่ยังคงต้องนำเข้าเทคโนโลยี เพื่อมาบริโภคและใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกเหมือนเดิม) ไม่ได้เป็นการ "พัฒนาจากภายใน" แต่อย่างใด .... จู่ๆ มูลค่าตลาดหุ้น GDP ทรัพย์สินก็พุ่งขึ้นมา มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ในขณะที่คนค้าขายทำธุรกิจกันไม่ค่อยได้แล้ว รัฐบาลก็ปล่อยยักษ์ต่างชาติครอบต่อไป เป็นเพียงความมั่นใจที่รัฐบาลพยายามสร้างขึ้นมา .. พื้นฐานเมืองไทยยังคงต้องพึ่งพาต่างประเทศเหมือนเดิม และคุณทักษิณยังบอกว่าจะเพิ่ม GDP  เร่งการส่งออกไปพุ่งพรวดไปอีก (ขัดแย้งกับที่ท่านหาเสีียงไว้) เหล่ากองเชียร์ก็ช่วยกันป่าวประกาศความสำเร็จในการรักษาตลาดอเมริกา จากการส่งทหารไปช่วยอเมริกาในอิรัก .... ก็แปลว่า แท้จริงแล้วคุณทักษิณกำลังนำประเทศไทยให้พึ่งพาอเมริกาให้มากขึ้นไปอีก

    เราพุ่งขึ้นมาแต่เราไม่มีราวหรือกิ่งสำหรับเกาะเกี่ยว รากเราแข็งแรงแค่ไหน แล้วถ้ามันหยุดพุ่งเราจะใช้อะไรเกาะเอาไว้ อย่างที่คุณชุมพล บอกว่า "เตรียมเบรกไว้บ้างหรือเปล่า ก่อนลงปากเหว"

    แก้ไขเมื่อ 12 ก.ย. 46 00:54:06

    จากคุณ : United States of America - [ 12 ก.ย. 46 00:51:45 ]