หวั่นฟองสบู่ลาม | เฮดจ์ ฟันด์ มองบาทต่ำเกินจริง | สรรพากรสกัดเงินนอก ... (เชิญถล่มกระทู้)

    ประชาชาติธุรกิจ
    วันที่ 11 กันยายน 2546
    ปีที่ 27 ฉบับที่ 3513

    นายแบงก์ผวา"ฟองสบู่"รอบใหม่

    นายแบงก์-นักธุรกิจประสานเสียงเตือนเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นสัญญาณฟองสบู่ หวั่นไม่เกิน 3-4 เดือนเข้าสู่จุดอันตราย หลังจากสัญญาณดัชนีหุ้นปรอทแตกทะลุเกินปัจจัยพื้นฐาน 600 จุด บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯพลอยรับสัญญาณผิด แห่ระดมทุนเพิ่มกำลังการผลิต แฉรัฐถ่วงเวลาให้ ธปท.กดค่าเงินบาท คุมเงินนอกไหลเข้า ดันส่งออกพุ่ง จีดีพีขยับตัวเลขเกิน 6% รอเลือกตั้งใหม่ปี"48

    ขณะที่รัฐบาลกำลังพอใจกับภาวะเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะไม่ต่ำกว่าระดับ 6% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเริ่มมาวิเคราะห์กันมากขึ้นว่า การที่เศรษฐกิจไทยโตอย่างรวดเร็วนั้นเป็นการโตที่ผิดปกติหรือโตจากพื้นฐานที่แท้จริงกันแน่

    เฮดจ์ฟันด์มองบาทต่ำเกินจริง

    แหล่งข่าวในวงการการเงินการธนาคาร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การที่เศรษฐกิจของไทยมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น เป็นการโตที่ผิดปกติ ที่เกิดจากการเข้าแทรกแซงของทางการ เนื่องจาก ณ ขณะนี้ นักลงทุนทั่วโลกรวมทั้งเฮดจ์ ฟันด์ต่างชาติ (กองทุนเก็งกำไรเงินตราต่างประเทศ) ต่างรู้ดีว่าค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวอยู่ระดับปัจจุบัน 41-42 บาท/ดอลลาร์ ต่ำเกินความเป็นจริงประมาณ 5-6 บาท/ดอลลาร์ เพราะการที่ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยตลอดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2546 เกินดุลอยู่ 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตามธรรมชาติค่าเงินบาทจะต้องแข็งเพื่อสะท้อนการเกินดุล แต่เนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องการให้ค่าเงินแข็ง เพราะกลัวกระทบการส่งออกและอัตราการเติบโตของประเทศ จึงพยายามกดค่าเงินบาทไว้ด้วยการแทรกแซงเพื่อให้ส่งออกดี ทำให้ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (อ่านข่าว น.20 ประกอบ) ขณะที่หนี้ต่างประเทศลดน้อยลงมากแล้ว

    การที่ทางการพยายามกดค่าเงินบาทไว้ไม่ให้แข็ง ทำให้เฮดจ์ฟันด์ต่างชาติรู้ว่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวอยู่มีโอกาสที่จะแข็งขึ้นได้มากกว่านี้ จึงทำให้เกิดช่องทางเก็งกำไร เงินทุนไหลเข้าประเทศเพื่อหาผลตอบแทนระยะสั้น ก่อให้เกิดการเพาะเชื้อของ "bubble" หรือ "ฟองสบู่" ซึ่งปัจจุบันเริ่มมองเห็นความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่จากดัชนีตลาดหลัก ทรัพย์ของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 550 จุด ภายในระยะเวลาสั้น เพียงแต่ยังไม่ขยายไปยังภาคอสังหา ริมทรัพย์และภาคอุตสาหกรรมการลงทุนต่างๆ

    ในระยะสั้นยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจไทยดี มีอัตราเติบโตสูง ที่เกิดจากแรงใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคภายในประเทศ และภาคการส่งออกขยายตัวสูง ทำให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัด มีรายได้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าประเทศมาก ซึ่งการส่งออกที่สูงเกิดจากการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามนโยบายการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไป เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและกระทบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลมุ่งหวัง

    (ตรงนี้ก็น่าสนใจ) -----> แต่การแทรกแซงเงินตราต่างประเทศของ ธปท. อีกนัยหนึ่งคือ การปล่อยเงินบาทเข้าสู่ระบบทำให้ฐานเงินและปริมาณเงินเพิ่ม เท่ากับเป็นการปั่นตลาดให้เศรษฐกิจขยายตัว โดยเฉพาะหากอีกขาหนึ่ง ธปท.ไม่ดูดเงินกลับจะทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงไปเรื่อยๆ ซึ่งจะยิ่งกระตุ้นให้คนเร่งขอสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายและลงทุนเพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ต้นทุนถูก

    หวั่นฟองสบู่ลามออกนอกตลาดหุ้น

    อย่างไรก็ตาม แม้ในระยะสั้นเศรษฐกิจจะดี ประชาชน นักธุรกิจ อาจชื่นชอบพอใจกับอัตราการเติบโตที่ขยายตัวในระดับสูง 6% แต่ในระยะยาวแล้วจะเกิดผลเสีย เพราะภาวะฟองสบู่จะลามไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ นอกจากตลาดหุ้น เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการลงทุน ทำให้ระยะยาวเศรษฐกิจประเทศไทยขาดเสถียรภาพ

    เพราะฉะนั้น ณ จุดนี้ ที่ฟองสบู่เพิ่งเริ่มก่อตัว รัฐบาลควรจะต้องจับตาและตามดูใกล้ชิด อย่าให้สัญญาณ (sign) ที่จะเกิดฟองสบู่ชัดเจนมากขึ้นกว่านี้ เช่น ดัชนีราคาหุ้นพุ่งขึ้นเกินพื้นฐาน 600 จุด, เกิดภาวะการเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ขณะนี้การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ชัด เนื่องจากส่วนใหญ่ซื้อบ้านเพื่อต้องการอยู่อาศัยจริง แต่เริ่มมีการซื้อบ้านหลังที่ 2 หลังที่ 3 ของกลุ่มคนที่มีฐานะเกิดขึ้นแล้ว ที่ซื้อไว้เพื่ออยู่และขายต่อในอนาคต, การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่สะท้อนพื้นฐานที่แท้จริง โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเริ่มมีการระดมทุนเพื่อขยายกิจการเพิ่มเติม

    "หากปล่อยไว้อนาคตจะยุ่ง รัฐบาลต้องเสี่ยงเอา อยากให้เศรษฐกิจโตก็ต้องทำอย่างนี้ กดบาทไว้ไม่ให้แข็ง เพื่อให้ส่งออกโต จีดีพีสูง แต่มีความเสี่ยงเกิดฟองสบู่ ดังนั้น รัฐบาลทำได้ไม่ตลอดหรอก ต้องดูไหวแค่ไหน หากไม่ไหวก็ต้องหยุดที่จะดันเศรษฐกิจให้โต คิดว่ารัฐบาลซื้อเวลาให้เศรษฐกิจขยายตัวระดับนี้ไปได้อีกแค่ 3-4 เดือน แล้วต้องหยุดที่จะกดค่าเงินบาทไว้ หรืออาจมี sign ชี้ไม่ไหวแล้วก็ต้องหยุดทันที เช่น ดัชนีหุ้นขึ้นร้อนแรงไปถึง 700-800 จุด ซึ่งเกินพื้นฐาน หรืออสังหาริมทรัพย์เริ่มมีการเก็งกำไรมากขึ้น และอุตสาหกรรมเริ่มลงทุนแบบไม่คิดหน้าคิดหลังเหมือนในอดีต" แหล่งข่าวกล่าว

    แหล่งข่าวกล่าวว่า บรรยากาศในขณะนี้เหมือนกับช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตปี 2540 ที่มีฟองสบู่เกิด เงินต่างชาติเข้ามามาก ดัชนีตลาดหุ้นพุ่งร้อนแรง อสังหาริมทรัพย์โตเร็วมากและเกิดการเก็งกำไร ซึ่งปรากฏการณ์นี้ ธปท.มองเห็นจึงตื่นตัวพยายามสร้างทำนบกั้นไม่ให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามามาก ไม่ว่าจะด้วยการเตรียมมาตรการแบบประเทศชิลี ที่บังคับเงินทุนต้องไหลเข้าเกินกว่า 1 ปี โดยสำรองเงินไว้ 10% ที่ ธปท.โดยไม่ได้ดอกเบี้ย หรือมาตรการภาษี เพื่อเพิ่มต้นทุนของเงินทุน แต่ทำได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไทยยังเป็นประเทศเล็ก การออกกฎห้ามเงินทุนอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุนต่างชาติ

    แบงก์ชาติเร่งสกัดเงินทุนระยะสั้น

    "แบงก์ชาติมองเห็นผลระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ หากรัฐบาลยังมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตสูงอยู่เช่นนี้ จึงออกมาตรการสกัดกั้นเงินทุนระยะสั้นผ่านช่องทางต่างชาติ เพื่อประวิงเวลาให้เศรษฐกิจเติบโตได้นานที่สุด หรือนานเท่าที่รัฐบาลต้องการ แต่เมื่อไรที่ภาวะฟองสบู่ชัดเจน รัฐบาลและ ธปท.ต้องหยุดที่จะแทรกแซงและปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง ซึ่งส่งออกและจีดีพีจะต้องชะลอตัวลงแน่นอน <---- (ตรงนี้น่าสนใจ เพราะในทางการเมือง รัฐบาลจะยอมหรือเปล่า???) ดังนั้นผู้ประกอบการควรใส่ใจในจุดนี้และดำเนินธุรกิจด้วยความไม่ประมาท เพราะหากลงทุนไปแล้วและคิดว่าจะขายได้ แต่เมื่อเศรษฐกิจหยุดการโต การลงทุนที่ลงไว้จะไม่ได้ผลตอบแทนกลับมา ธุรกิจจะประสบปัญหาขาดทุน" แหล่งข่าวกล่าว

    แหล่งข่าวกล่าวว่า ประการสำคัญประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2548 ดังนั้นรัฐบาลจะต้องพยายามผลักดันอัตราการเติบโตให้อยู่ในระดับสูง เพื่อเป้าหมายสร้างคะแนนเสียงทางการเมือง ฉะนั้นการที่จะให้รัฐบาลเลิกผลักดันเศรษฐกิจคงเป็นไปได้ยาก หนทางที่จะทำได้และยังช่วยให้เศรษฐกิจดำเนินเติบโตต่อเนื่องต่อไปได้ คือ การประวิงเวลาให้เศรษฐกิจโตให้ได้นานที่สุด โดยออกมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าด้วยวิธีการต่างๆ ที่จะไม่สร้างภาระเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เพื่อรอเวลาให้ผ่านพ้นในช่วงการเลือกตั้งปี 2548 ไป และพรรคไทยรักไทยได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จัดตั้งรัฐบาลได้อีก

    จากคุณ : United States of America - [ 13 ก.ย. 46 20:19:29 ]