ยุทธศาสตร์ใหญ่ของอินเดีย

    อินเดียถือตัวว่าเป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่งของโลก หรือไม่ก็ของทวีปเอเชีย มานานแล้ว ซึ่งก็เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจเสมอมา ที่ไม่ได้รับการยอมรับ ให้เข้ามามีบทบาทในเวทีโลก หรือในเอเชียบ้างเลย

    การตัดสินใจครั้งสำคัญ ๆ อย่างเช่น การสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในปี 1998 ก็เพื่อตอบสนองความปรารถนา ที่จะเป็นมหาอำนาจ หลายปีมาแล้ว บรรดานักวิเคราะห์ ทั้งในและนอกบ้าน ลงความเห็นว่า ในศตวรรษที่ 21 อินเดียจะเริ่มแสดงแสนยานุภาพของตน ไปทั่วทั้งเอเชีย และในความเป็นจริง รัฐบาลอินเดียก็ให้ความเห็นชอบในโครงการ 10 ปี ที่จะสร้างให้อินเดีย เป็น “มหาอำนาจในมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอาหรับ และทั่วทั้งทวีปเอเชีย”

    ผลพลอยได้ที่สำคัญคือ อินเดียหวังจะได้ทิ้งห่างปากีสถาน ออกมาเสียที ไม่เช่นนั้น ปากีสถานจะคอยเป็นหอกข้างแคร่ของอินเดียอยู่ร่ำไป ดังนั้น โครงการนี้จึงมีปัจจัยด้านจิตวิทยา คอยผลักดันให้อินเดีย แผ่อำนาจออกไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย ดังนั้น เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ นายกรัฐมนตรี อตัล พิหารี วัชปายี จึงบัญชาให้ฝ่ายเสนาธิการ กำหนดแผนการทางยุทธศาสตร์ ให้ขยายออกไปจากเอเชียใต้ และชมพูทวีป โดยกล่าวว่า การขยายแสนยานุภาพออกไปทั่วทุกทิศนี้ ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ

    ดังนั้น อินเดียจะเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคง กับประเทศต่าง ๆ ในอ่าวเปอร์เซีย เอเชียอาคเนย์ และเอเชียกลาง ให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่แลกเปลี่ยนข่าวสาร เกี่ยวกับการก่อการร้ายเฉย ๆ ความร่วมมือใหม่นี้ จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคี การซ้อมรบร่วม และใช้อุปกรณ์ด้านความมั่นคง ร่วมกับมิตรประเทศอื่น ๆ ในบริบทนี้ การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ กับวอชิงตันจำเป็นมาก เพราะความสัมพันธ์กับรัสเซีย ของอินเดียแต่เดิมหมดไป และตอนนี้ มอสโคว์ก็หันไปขึ้นกับตะวันตกมากขึ้น ดังนั้น หากอินเดียไม่ได้รับความร่วมมือจากวอชิงตัน ก็จะต้องพบกับอุปสรรคมากมาย

    แผนทางทหารสิบปีของอินเดีย

    ขณะที่อินเดียพยายามหลีกเลี่ยง ไม่ให้การขยายแสนยานุภาพทางทหารของตน ออกมาแบบก้าวร้าว แต่ก็ได้ประกาศตั้งฐานทัพในประเทศทาจิกิสถาน และมีแผนทางทหาร จนถึงปี 2013 ดังนี้


    ปรับปรุงยุทธบริการของตนในอิหร่าน ทาจิกีสถาน คาซักสถาน และอุซเบกีสถาน

    เพิ่มการแลกเปลี่ยนทางทหาร กับมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย ลาว และเวียดนาม

    เพิ่มการแลกเปลี่ยนทางนาวี กับแอฟริกาใต้ ประเทศอื่น ๆ ในทวีปอาฟริกา อิหร่าน โอมาน สหรัฐอาหรับ เอมิเรต และประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอ่าว

    ขยายการสนับสนุนทางด้านวัตถุ ยุทธบริการ และโครงสร้างส่วนลึก ให้พม่า เพื่อถ่วงดุลการเคลื่อนไหวของจีนในประเทศนั้น

    เพื่อให้เป็นไปตามแผนการนี้ กองทัพอินเดียทั้งหมด จะได้รับการปรับแต่งใหม่ครั้งใหญ่ เช่นระบบอาวุธแบบแผน ระบบยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้ง การรับมือกับอาวุธนิวเคลียร์ โดยปรับปรุงด้านการสื่อสาร คมนาคม และระบบการเฝ้าระวังด้วย

    และที่สำคัญคือ กองทัพเรือจะต่อเรือรบอีกจำนวนมาก เพื่อบรรจุกองเรือภาคมหาสมุทรอินเดีย ให้มีขีดความสามารถ ในการแสดงแสนยานุภาพออกไปได้ ในกรณีจำเป็น ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กองบัญชาการทหารสูงสุดของอินเดีย ก็ได้ออกคำชี้แนะด้านนโยบายและแผนงานฉบับใหม่ โดยกำหนดให้กองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ ให้มีขีดความสามารถ ในการส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เข้าไปในประเทศรอบ ๆ มหาสมุทรอินเดีย เพื่อสร้างร่มกำบังให้ประเทศ

    “วิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ของอินเดีย” นี้ กำหนดให้มีความร่วมมือกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย มัลดีฟ มอริเชียส และเวียดนาม ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แนะของวัชปายี อย่างไรก็ตาม การที่อินเดียยังขาดเครื่องบินระยะไกล ที่เติมน้ำมันกลางอากาศได้ เครื่องบินบัญชาการและเตือนภัยล่วงหน้า (เอแวค) เฮลิคอปเตอร์โจมตี และเรือบรรทุกเครื่องบินอื่น ๆ นอกจากเรือบรรทุกเครื่องบินวิรัตที่มีอยู่แล้ว ก็คงทำให้ภารกิจดังกล่าวไม่สามารถทำได้

    เมื่อเทียบกับจีนที่สามารถบุกเบิก ลงมาทางมหาสมุทรอินเดียแล้ว อุตสาหกรรมทางทหารของอินเดีย ยังนับว่าขาดประสิทธิภาพอยู่ เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะทดแทนได้ คือหาซื้อจากต่างประเทศ แต่การที่จะเที่ยวไปเชิญชวนพ่อค้าขายอาวุธต่างชาติ เข้ามาช่วยอุตสาหกรรมผลิตอาวุธในประเทศ อินเดียต้องไม่คิดแต่จะพึ่งอาวุธจากรัสเซียแต่เพียงฝ่ายเดียว

    อาวุธจากภายนอก

    การที่จะเชิญชวนบริษัทขายอาวุธจากภายนอกเข้ามา อินเดียจะต้องมั่นใจว่า ตนได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธภายในของตน ให้สามารถแข่งขัน ผลิตอาวุธที่เป็นของตน โดยเฉพาะระบบไฮ-เทค เพื่อขายให้กับกองทัพอินเดีย รวมทั้งขายให้ภายนอก ควบคู่กันไปด้วย

    ดังนั้น นโยบายและแผนการระยะยาวของอินเดียคือ พยายามส่งออกอาวุธแบบแผน ซึ่งก็ได้ทำไปแล้วบางส่วน ในเอเชียกลาง

    สำหรับกองทัพเรือ เห็นได้ชัดว่า อินเดียวางเป้าหมายไว้สูงมาก ไม่เฉพาะแค่คิดจะถ่วงดุลกับปากีสถานและจีนเท่านั้น หากแต่ต้องขยายแสนยานุภาพออกไป ให้ครอบคลุมมหาสมุทรอินเดียด้วย

    เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา จอมพลเรือมัธเวนทรา สิงห์ ผู้บัญชาการกองทัพเรืออินเดีย กล่าวว่า “การที่จะบรรลุความเป็นเจ้าสมุทรได้ อินเดียจะต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างน้อย 3 ลำ เรือฟรีเกต (เรือรบขนาดกลาง ที่มีขนาดเล็กกว่าเรือประจัญบาน) อีกกว่า 20 ลำ เรือประจัญบานติดเฮลิคอปเตอร์ อีกกว่า 20 ลำ รวมทั้งเรือคอร์แวต (เรือคุ้มกัน) ติดขีปนาวุธ และต่อต้านเรือดำน้ำ อีกจำนวนมาก”

    ตามโครงการจัดซื้อของกองทัพเรือ อินเดียต้องใช้เงินมากกว่า US$20 พันล้านเหรียญ ในการซื้อเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือดำน้ำ เรือฟรีเกต เครื่องบินตรวจจับเรือดำน้ำ รวมทั้งเรือ และอุปกรณ์อื่น ๆ อีก นอกจากนี้ เรือรบหลักที่มีอยู่แล้ว 10 ลำ จะต้องติดขีปนาวุธต่อต้านขีปนาวุธ ขีปนาวุธร่อน และระบบควบคุม บัญชาการ การสื่อสารและการข่าว (ซี31) ด้วย

    เรือดำน้ำนิวเคลียร์

    นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่อินเดียยังพูดถึงความจำเป็นที่อินเดีย จะต้องมีศักยภาพยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์จากเรือดำน้ำ ที่สามารถทำการตอบโต้ระลอกสอง และถ่วงดุลการเสริมกำลัง ทางนาวีของปากีสถาน ซึ่งนิวเดลีถือว่า เป็นภัยคุกคาม “ระดับปานกลาง”

    ทุกวันนี้ เรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล รุ่นอากอสต้า 90-บี ของปากีสถาน และเครื่องบินโจมตีนาวี รุ่นโอไรอัน พี-3 ซี จำนวน 3 ลำ ยังเป็นภัยคุกคามชายฝั่งของอินเดีย อย่างได้ผลอยู่

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ฝ่ายวางแผนในกองทัพเรืออินเดีย เห็นว่าน่าจะเป็นภัยคุกคามมากกว่า ก็คือจีน ที่พวกเขาเห็นว่า (ถูกหรือไม่ ยังไม่ทราบ) น่าจะเป็นคู่แข่งของตน ในมหาสมุทรอินเดียที่แท้จริง รายงายฉบับหนึ่งของอินเดียระบุว่า ในศตวรรษนี้ สุญญากาศอำนาจในมหาสมุทรอินเดีย มีเพียงอินเดีย จีน และญี่ปุ่นเท่านั้น ที่สามารถเติมได้ แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นเรื่องคิดเอาเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่า นโยบายต่าง ๆ ล้วนมีที่มาจากวิสัยทัศน์ทั้งสิ้น และตอนนี้อินเดียก็กำลังแสวงหา เรือดำนำนิวเคลียร์ เรือบรรทุกเครื่องบิน รวมทั้งขีปนาวุธระยะไกล พิสัย 2,500 กม. ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป้าหมายคือจีนนั่นเอง

    ผู้สังเกตการณ์จำนวนมาก เริ่มจับตาดูการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และแสนยานุภาทางทหารเหนือเอเชียตะวันออก ที่เอียงมาทางปักกิ่งมากขึ้น อินเดียก็กำลังใฝ่ฝันว่า จะเป็นแบบนี้บ้าง และก็ทุ่มเททรัพยากรต่าง ๆ ไป ในการนี้

    ยิ่งกว่านี้ อินเดียก็เตรียมที่จะตอบโต้กับจีน อย่างน้อยก็ในย่านเอเชียอาคเนย์ และเส้นทางเดินเรือในช่องแคบมะละกา การเปลี่ยนแปลงรูปโฉม ทางภูมิศาสตร์การเมืองดังกล่าว เป็นเครื่องยืนยันว่า สงครามปราบปรามการก่อการร้าย ไม่ใช่ศูนย์กลางอันเดียวของภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิยุทธศาสตร์ในยุคนี้เท่านั้น การแข่งขันระหว่างจีน กับอินเดียในทวีปเอเชีย ก็ยังจะเป็นเรื่องใหญ่ ในปีที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย

    ดังนั้น แม้ในปัจจุบัน การแข่งขันระหว่างประเทศทั้งสอง ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในอนาคต เอเชียอาคเนย์ เอเชียใต้ และเอเชียกลาง ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน

    http://www.manager.co.th/around/viewNews.asp?newsid=4615152260661

    จากคุณ : ต่อไปได้ดูแขกกับจีน ตีกันแน่ - [ 30 ธ.ค. 46 10:14:40 A:203.148.252.233 X:210.203.177.121 ]