กระทู้นี้ขออุทิศให้กับนักเขียนการ์ตูนไทยที่สร้างสรรค์ผลงานเป็นความบันเทิงที่ไร้พิษภัยให้กับเยาวชนไทยในสมัยหนึ่งครับ ผมเชื่อว่า มีหลายท่านในห้องนี้เคยเป็นแฟนการ์ตูนไทยกันมาก่อน แม้จะมีไม่มากนักก็ตาม
น่าเสียดายที่นักเขียนการ์ตูนทุกท่านนี้ ไม่มีใครร่ำรวยจากการเขียนการ์ตูนเป็นอาชีพเลย เพราะคนไทยด้วยกันเองไม่ได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดก็ต้องเลิกราไป เพราะถูกกระแสของการ์ตูนจากต่างประเทศเข้ามาครอบงำ
น่าเสียดาย..น่าเสียดาย..
ลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยมลายหายไปจนหมดสิ้นแล้ว เด็กรุ่นใหม่ ๆ ไม่มีใครประสงค์จะสืบสานลายเส้นแบบการ์ตูนไทยกัน
นักเขียนการ์ตูนที่เป็นตำนานหลายท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ไม่มีงานเขียนออกมาสู่ท้องตลาดอีกแล้ว เพราะ..คนไทยไม่ต้องการ
....................................
ประวัติการ์ตูนไทย..
http://www.geocities.com/a_cartoonus/resumect.htm
ความเป็นมาของการ์ตูนไทย ว่ากันว่าคนเขียนการ์ตูนคนแรกของประเทศไทยก็คือ ขรัวอินโข่ง ซึ่งเป็นจิตรกรในสมัยรัชกาลที่ 3 - รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่สมัยนั้นภาพยังมีรายละเอียดต่างๆ เหมือนจริงอยู่ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงโปรดการวาดรูปล้อเหล่าเสนามหาอำมาตย์อยู่เสมอๆ มีการตีพิมพ์ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ลงหนังสือดุสิตสมัยด้วย
ในยุคนี้ภาพล้อหรือการ์ตูนในเมืองไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น และในช่วงนี้นี่เองที่มีนักวาดการ์ตูนการเมืองคนแรกขึ้นมา คือนายเปล่ง ไตรปิ่น ลักษณะภาพจะเป็นลายเส้น สไตล์ฝรั่ง เนื้อหาเสียดสีล้อเลียนการเมือง สำหรับนายเปล่งนี้ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต"
เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 วงการการ์ตูนซบเซาลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ จวบจนปี 2475 ซึ่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้นักเขียนการ์ตูนมีเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นมากขึ้น จึงทำให้มีนักเขียนการ์ตูนดังๆ เกิดขึ้นในยุคนี้หลายคน อย่างเช่น สวัสดิ์ จุฑะรพ ผู้นำวรรณคดีเรื่องสังข์ทองมาวาดเป็นการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศไทยลงในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ หลังจากนั้นก็ได้สร้างตัวการ์ตูน "ขุนหมื่น" โดยดัดแปลงมาจากป๊อบอายและมิกกี้ เมาส์
ตัวขุนหมื่นนี้มีบทบาทในหลายเรื่อง โดยเป็นตัวตลกแทรกอยู่ในการ์ตูนจักรๆวงศ์ๆ เรื่องต่างๆ และต่อมานักเขียนการ์ตูนคนอื่นๆ ก็เลยสร้างการ์ตูนตัวหลักของตัวเองขึ้นมาบ้าง ในสมัยนั้นมีนักเขียนนำเรื่องวรรณคดีและเรื่องประวัติศาสตร์ต่างๆ มาวาดเป็นการ์ตูนแนวเดียวกับ สวัสดิ์ จุฑะรพ กันมากมาย อย่างเช่น วิตต์ สุทธิเสถียร , จำนงค์ รอดอริ
ส่วนนักเขียนในยุคเดียวกันแต่วาดคนละแนวก็มี อย่างเช่น ฉันท์ สุวรรณบุณย์ ผู้บุกเบิกการ์ตูนสำหรับเด็กเป็นคนแรกของประเทศไทย หลังสงครามโลก ประเทศไทยมีนักเขียนการ์ตูนเจ้าของฉายา "ราชาการ์ตูนไทย" นั่นคือ ประยูร จรรยาวงษ์ ซึ่งวาดทั้งการ์ตูนตลกและการ์ตูนการเมือง และในยุคเดียวกันนี้ก็มีนักวาดภาพประกอบผู้โด่งดังซึ่งเรารู้จักกันดีก็คือ เหม เวชกร ที่จริงแล้ว เหม เวชกร วาดการ์ตูนด้วยเหมือนกัน แต่เรามักจะรู้จักท่านจากภาพประกอบมากกว่า ปี 2495
พิมล กาฬสีห์ ออกหนังสือการ์ตูน "ตุ๊กตา" ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กเล่มแรกของเมืองไทย มีตัวละครหลักสี่คน คือ หนูไก่ หนูนิด หนูหน่อย และหนูแจ๋วจอมฮึ หลังจากนั้นก็มีการ์ตูนสำหรับเด็กออกมาอีกหลายเล่ม อย่างการ์ตูน "หนูจ๋า" ของ จุ๋มจิ๋ม ซึ่งเริ่มวางแผงเล่มแรกเมื่อเดือนมกราคม 2500 ปัจจุบันการ์ตูนหนูจ๋าเป็นการ์ตูนที่มีอายุยาวนานที่สุดที่ยังวางแผงอยู่ คือปีนี้เป็นปีที่ 43 และที่ได้รับความนิยมตามมาอีกเล่มก็คือการ์ตูน "เบบี้" ของ วัฒนา ซึ่งเริ่มวางแผงฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ตัวการ์ตูนหลักของเบบี้นั้นมีมากถึงสิบกว่าคน บางตัวก็มีการนำไปแสดงหนังโฆษณาก็มี คือคุณโฉลงและคุณเต๋ว
นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กที่แฝงสาระมากอีกเล่มหนึ่งก็คือ ชัยพฤกษ์การ์ตูน (พ.ศ.๒๕๑๐ เป็นต้นไป ยืนยงอยู่ประมาณ ๕-๖ ปี) ซึ่งมี ทาร์ซานกับเจ้าจุ่น เป็นตัวชูโรง ผู้วาดก็คือ รงค์ (คุณณรงค์ ประภาสโนบล) ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ได้ปิดตัวไปแล้ว
นักเขียนคนอื่นในยุคนี้ (ปีพ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๑๐) ที่มีชื่อเสียงก็อย่างเช่น พ.บางพลี , ราช เลอสรวง , จุก เบี้ยวสกุล ฯลฯ ซึ่งในยุคนี้ส่วนมากจะนิยมวาดการ์ตูนเรื่องกันมากกว่า บางเรื่องยาวเป็นร้อยๆ หน้า นับว่าเป็นยุคทองของการ์ตูนเรื่องทีเดียว
แต่หลังจากนั้นก็มีการ์ตูนเล่มละบาท (ปีพ.ศ.๒๕๑๔-๒๕๒๐โดยประมาณ) ซึ่งส่วนใหญ่จะเล่มเดียวจบออกมา และจะไม่ค่อยพิถีพิถันในการผลิตสักเท่าไหร่ พวกการ์ตูนเรื่องก็เลยค่อยๆ หมดความนิยมไป จนกระทั่งถูกการ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาครองตลาดแทน (เริ่มเข้ามาครั้งแรกหลังปีพ.ศ.๒๕๑๐)
แต่ขณะเดียวกันก็มีหนังสือการ์ตูนตลกที่รวมผลงานของนักเขียนเก่าหลาย ๆ คนไว้ในเล่มได้รับความนิยมอย่างมากควบคู่มากับการ์ตูนเรื่องล้วนๆ อย่างเช่น การ์ตูนขายหัวเราะ (เริ่มวางแผงเมื่อปี 2516) การ์ตูนมหาสนุก (เริ่มวางแผงเมื่อปี 2518) และปัจจุบันนี้การ์ตูนขายหัวเราะก็กลายเป็นหนังสือการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีนักเขียนประจำร่วม 30 คน ในขณะที่พวกการ์ตูนเล่มละบาท (ปัจจุบันกลายเป็นเล่มละ 5 บาทแล้ว)ซบเซาไป และนักเขียนการ์ตูนเรื่องยุคใหม่ก็จะต่างกับสมัยก่อน คือสมัยนี้จะได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนญี่ปุ่นแทนการรับอิทธิพลจากการ์ตูนฝรั่งอย่างสมัยก่อน
....................................
นั่นคือ เรื่องราวที่ผมเก็บมาจากเว็ปที่ทำลิงค์ไว้ให้ครับ โดยเพิ่มเติมรายละเอียดเล็กน้อยไม่ให้สับสนเรื่องปี
ต่อไปนี้ก็เป็นการเจาะเป็นรายยุคและรายบุคคลนะครับ..
จากคุณ :
*bonny
- [
19 ม.ค. 47 07:41:02
]