| กลุ่มที่ 1 & 2 ชอบอ่านหนังสือที่เน้นความเบาสบายอ่านอะไรที่ไม่ต้องคิดตัวอย่างหนังสือที่กลุ่มพวกนี้อ่านคือพวก ความรักกับน้ำหวาน รักไม่รัก ขายหัวเราะ อันนี้อาจรวมกับพวกการ์ตูนและหนังสือบันเทิงอื่นๆ [b]หรือ[/b] ไม่อ่านอะไรนักถ้าไม่โดนบังคับ อ่านแค่หนังสือพิมพ์ก็จะเป็นจะตายแล้ว (2 คน) |
| กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่ชอบอ่านเรื่อง แปลจากงานของฝรั่งแต่ไม่ชอบอ่านต้นฉบับซึ่งส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษ (2 คน) |
| กลุ่มที่ 4 คือกลุ่มอ่านงานที่คนดังเขียน กลุ่มนี้เห็นดาราหรือคนดังคนไหนที่ตนชื่นชอบก็จะอ่านไปหมดหรือชอบอ่านหนังสือที่มีคำแนะนำต่างๆของคนดังหรือผู้มีประสบการณ์และหรือคุณวุฒิ (1 คน) |
| กลุ่มที่ 5 คือกลุ่ม ธรรมะ กลุ่มนี้ชอบอ่านเรื่องความเชื่อและศาสนาอาจรวมไปถึงหนังสือที่เกี่ยวกับพลังลึกลับต่างๆ (1 คน) |
| กลุ่มที่ 6 คือกลุ่มที่อ่านพวกตำราต่างๆ ที่เป็นวิชาการจริงๆหรือกึ่งวิชาการ (6 คน) |
| จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 12 คน |
มาสำรวจตัวเรากันค่ะว่านิสัยการอ่านหนังสือของตัวเราเองนั้นจัดอยู่ในกลุ่มไหนแต่ก่อนที่จะเลือกคำตอบลองอ่านบทความข้างล่างของดร.รุจิระ โรจนประภายนต์ จาก University of Minnesota ดูก่อนนะคะท่านเขียนให้แง่คิดได้ดีทีเดียว
~*~*~*~*
ดร.รุจิระ โรจนประภายนต์
ภาควิชาวาทะวิทยา มหาวิทยาลัยมินเนโซต้า มอริส
หมายเหตุจากบรรณาธิการ: ดร.รุจิระเป็นนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และวาทวิทยาคนไทยเพียงไม่กี่คนที่สอนในมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของสหรัฐฯอย่าง university of Minnesota ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นเด็กอเมริกันเกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ก่อนหน้าที่จะมาสอนที่นี่หลายปีก่อน ดร.รุจิระ สอนระดับบัณฑิตศึกษาที่สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และยังมีข้อเขียนที่ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยชั้นนำอย่างต่อเนื่อง ข้อเขียนจากคอลัมน์ นิเทศวิพากษ์ ที่ท่านกำลังจะอ่านได้ต่อไปนี้ เป้นผลงานที่เขียนเพื่อตีพิมพ์ในสยามโครนิเคิลเป็นกรณีเฉพาะ
เป็นที่รู้กันว่าการอ่านนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการประดิษฐ์คิดค้นระบบการเขียนซึ่งนำมาคู่กับระบบการสื่อสารที่เน้นด้านพูดจาที่มีแต่โบราณ ส่วนการผลิตหนังสืออย่างเป็นล่ำเป็นสันเกิดมาภายหลังที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว จากนั้นจึงค่อยๆมาเป็นยุคที่มีสื่อกระจายเสียงและภาพที่เป็นอิเล็คโทรนิคส์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุกระจายเสียง และกลายเป็นโทรทัศน์ต่อมา แล้วเป็นพวกวิดีโอต่างๆ และแม้กระทั่งอินเตอร์เน็ทในปัจจุบันที่มีทั้งภาพและเสียง การอ่านหนังสือนั้นก็ยังคงอยู่แต่น้อยลงจนน่าตกใจ เพราะคนรุ่นใหม่นิยมอ่านบนเน็ทแทนอีกด้วย ทำให้ตลาดหนังสือหดหายไปพอควร
จุดประสงค์ของบทความนี้คือต้องการที่จะกล่าวถึงมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อลักษณะการอ่านหนังสือของคนไทยโดยทั่วไป และผลกระทบของพฤติกรรมดังกล่าวในระดับของคนอ่านเองและระดับสังคมทั่วไป
ผู้เขียนพบว่าคนไทยโดยทั่วไปแล้วชอบอ่านหนังสือที่เน้นความเบาสบาย หลายหนที่ต้องแปลกใจกับคนไทยที่อ่านเรื่องแบบไม่มีสาระ เพราะอ้างว่าอยากอ่านอะไรที่ไม่ต้องคิด เคยถามกลุ่มนี้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ได้รับคำตอบว่า ชีวิตวันนี้ก็หนักอยู่แล้ว ไม่ต้องการอะไรที่หนักอีก ตัวอย่างหนังสือที่กลุ่มพวกนี้อ่านคือพวก ความรักกับน้ำหวาน รักไม่รัก อะไรแบบนี้ อันนี้อาจรวมกับพวกการ์ตูนและหนังสือบันเทิงอื่นๆที่เป็นเรื่องแต่งแบบฝรั่งเรียกว่า Fiction หรือแม้กระทั่ง ขายหัวเราะ
กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่ชอบอ่านเรื่อง แปลจากงานของฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นพวกนิยายหรือฮาวทู คือกลุ่มนี้จะนิยมของนอกแต่ไม่ชอบอ่านต้นฉบับซึ่งส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษ (คล้ายอยากนอก แต่นอกไม่จริง) แล้วก็มานั่งบอกว่าเรื่องนั้นดีไม่ดี มีนักเขียนไทยหลายคนที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษก็อ่านนิยายแปล แล้วจับพล็อตมาเขียนนิยายไทยเอง ปรับโน่นแต่งนี่ให้เป็นไทยๆให้คนไทยกันเองอ่านอีกทีก็มีมาก ส่วนพวกอ่าน ฮาวทูแปลก็เพียงแค่อยากรู้ว่าแนวโน้มในเมืองนอกเป็นอย่างไร ซึ่งพวกนี้เองก็เป็นตลาดของหนังสืออีกจุดหนึ่งในเมืองไทยเช่นเดียวกับเมืองนอกที่ใครๆหลายคนก็อ่านกัน
กลุ่มที่สาม คือกลุ่มอ่านงานที่คนดังเขียน พวกนี้เห็นดาราหรือคนดังคนไหนที่ตนชื่นชอบก็จะอ่านไปหมด ทั้งๆที่ก็รู้ว่าเรื่องพวกนี้คนดังบางทีก็ไม่ได้เขียนเอง ให้คนอื่นเขียนให้ หรือบางคนก็แต่งเองซะแบบดีเลิศไปซะหมด เป็นธรรมดาที่ไม่มีใครจะบอกมุมมืดของตนเองนัก หลายคนอ่านเพราะอยากรู้ว่าทำไมคนพวกนี้จึงดังหรือประสบความสำเร็จในชีวิต แต่แท้จริงแล้วเรื่องจริงไม่ค่อยมีปรากฏบนหนังสือพวกนี้เท่าไรนักด้วยเหตุผลอย่างที่บอก
กลุ่มที่สี่ คือคนที่อ่านหนังสือที่มีบางส่วนของแบบที่สามและสี่รวมกัน คือการให้คำแนะนำต่างๆของคนดังหรือผู้มีประสบการณ์และหรือคุณวุฒิ ซึ่งบางส่วนก็หยิบยืมมาจากตำราหรือหนังสือฝรั่งบ้าง (มีผู้เขียนหลายคนตรงนี้ก็ลอกออกมาเป็นกระบิๆ ทำนอง ตัดแปะไม่ให้เครดิตต่อเจ้าของไอเดียต้นตำหรับ) ส่วนดีคืออ่านแล้วได้อะไรมากหน่อย แต่ถ้าแนะนำผิดๆก็หลงทางไปเลย อันนี้อาจรวมถึงพวกตำรากับข้าว ตำราปลูกต้นไม้หรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆก็ได้
กลุ่มที่ห้า คือกลุ่ม ธรรมะ ถ้าถือคริสต์ก็จะมีพวกที่เกี่ยวกับไบเบิ้ลและพระเจ้า หรือแตกต่างออกไปตามแต่ความเชื่อและศาสนา กลุ่มนี้อาจรวมไปถึงหนังสือที่เกี่ยวกับพลังลึกลับต่างๆอีกด้วย ถือเป็นกลุ่มที่น่าสนใจอีกเช่นกันเพราะมีมูลค่าตลาดสูงพอควร
กลุ่มที่หก คือกลุ่มที่อ่านพวกตำราต่างๆ ที่เป็นวิชาการจริงๆหรือกึ่งวิชาการ ซึ่งก็มีอยู่ไม่มาก นอกจากที่เรียนหรือสอนกันอยู่ตามสถาบันการศึกษา ดังนั้นตลาดตรงนี้จะว่าแคบก็แคบ กว้างก็กว้าง แต่ถ้าผูกขาดได้ก็จะรวยไม่รู้เรื่องเหมือนสมัยก่อนที่มี ไทยวัฒนาพานิชเป็นตัวชูโรง หรือกลุ่ม คุรุสภา
กลุ่มที่เจ็ด ไม่อ่านอะไรนักถ้าไม่โดนบังคับ อ่านแค่หนังสือพิมพ์ก็จะเป็นจะตาย เกลียดการซื้อหรือหยิบจับหนังสือเป็นที่สุด อ้างว่าแพงและไม่มีเวลาบ้าง
เจ็ดประเภทที่ผ่านมานั้นเป็นการแบ่งประเภทของการอ่าน หนังสือ (โดยไม่รวมพวกวารสารนิตยสาร) ในสายตาของผู้เขียนเอง อาจขาดตกไปบ้างก็ไม่น่าจะถือเป็นการน่าเกลียดจนเกินไปนัก อย่างน้อยก็ทำให้เกิดไอเดียว่าคนไทยเรานั้นอ่านอะไรกันบ้าง ส่วนเรื่องของฝรั่งอเมริกานั้น ว่างๆจะไปค้นมาให้แน่ชัด เพราะเค้ามีการทำวิจัยเรื่องนี้และเผยแพร่ชัดเจนกว่า
ไม่ว่าจะเป็นผู้อ่านกลุ่มใด หรืออาจคาบเกี่ยวหลายกลุ่มก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนไทยทั่วไปขาดคือการอ่านแบบวิเคราะห์และการอ่านแบบวิพากษ์
ในระบบการเรียนรู้โดยผ่านการอ่านนั้น ในทางวิชาการแล้ว เราแบ่งการอ่านตามจุดประสงค์และหน้าที่อย่างคร่าวๆ ดังนี้
1. การอ่านเพื่อความเข้าใจ
2.การอ่านแบบวิเคราะห์และ
3. การอ่านแบบวิพากษ์
แบบแรกนั้นเราเรียกว่าอ่านแล้วจับใจความได้ รู้ว่าอะไรเกิดที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ทำไม แบบที่สองนั้นอ่านแล้วสามารถระบุลงไปได้ชัดลึกลงไปได้ว่าลักษณะการเขียนแบบนี้ต้องการสื่ออะไรกับเรา ในเชิงอารมณ์ เนื้อหา ผู้เขียนเป็นคนอย่างไร เหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะอะไร มีความซับซ้อนแค่ไหน มีความน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร แต่ไม่ได้ถึงขั้นประเมินว่าดีเลวอย่างไร ในแบบสุดท้ายผู้อ่านนั้นสามารถประเมินได้ว่างานเขียนนั้นมีอะไรบ้างที่ต้องแก้ไข เพิ่มเติม หรืดตัดออก แล้วยังสามารถชี้นำคนอ่านอีกได้ว่าควรจะอ่านอย่างไร อย่างไรการอ่านแบบที่สองและสามนี้ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องสอนในระดับมัธยมศึกษาและโดยเฉพาะอุดมศึกษา ในเชิงวิชาการแล้วจะมีกรอบในการวิเคราะห์วิจารณ์ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียนกันได้ไม่มีหยุดแม้จบปริญญาเอกกันแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้ระบุว่าคนที่จะทำการอ่านในสองประเภทหลังนั้นต้องเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเสมอไป ผู้อ่านทุกคนอ่านได้ฝึกได้ แต่จะใช้เวลามากน้อยนั้นต่างกัน อย่างไรก็ตามในระดับที่ไม่เกี่ยวกับวิชาการนั้น เราเชื่อว่าผู้อ่านของไทยหลายคนยังมีปัญหาในการอ่านอยู่พอสมควร แม้กระทั่งแค่อ่านจับใจความของหนังสือทั่วไป ไม่ว่าคนนั้นจะเรียนหนังสือมาสูงหรือไม่ก็ตามที่ผู้เขียนได้โยงประเด็นมาถึงจุดนี้ก็เพื่อที่จะให้ผู้อ่านระลึกย้อนไปว่า การอ่านทุกครั้งอย่าอ่านเพียงแค่ให้ผ่านหูผ่านตาเท่านั้น เวลาของท่านที่เสียไปและพลังงานที่ต้องใช้ในการอ่านต้องก่อให้เกิดประโยชน์ การอ่านสื่อต่างๆไม่ใช่เพียงแค่สิ่งพิมพ์ต่างๆหรือบนอินเตอร์เน็ทควรจะนำพาให้ผู้อ่านเกิดความรู้ความเข้าใจในข้อมูลที่ตนได้อ่าน สมัยก่อนได้ยินผู้รู้หลายคนบอกว่าแม้ตนยากจนหาหนังสืออ่านไม่ได้เพราะไม่มีปัญญาซื้อ ก็สามารถหาความรู้ได้จากถุงกล้วยแขกบ้าง กระดาษห่อของบ้าง แล้วก็อ่านมันทุกอย่างที่ขวางหน้า สมัยนี้สังคมมีข้อมูลข่าวสารให้เราอ่านมากเราบริโภคมากขึ้น แต่เรากลับไม่บริโภคหรือบริโภคไม่เป็น
อาหารสมองคือข้อมูลความรู้ที่ได้มาจากการอ่านและการพูดจา แต่การอ่านจะช่วยได้มากกว่าการพูดจาเพราะเราสามารถหยิบมาอ่านเมื่อใดที่ใดก็ได้เป็นส่วนมาก อ่านซ้ำๆก็ได้โดยเฉพาะหนังสือเล่มเล็กๆที่พกพาได้ แต่หลายคนเองก็อีกที่ไม่อยากอ่านเอาเลย จำได้ว่ามีนักศึกษาไทยบอกว่า อาจารย์สรุปๆให้ดีกว่ามั้ยครับ จะได้เร็วๆดี ผม/หนูอ่านเองช้า แล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจด้วย จุดนี้นักศึกษาลืมไปว่าการอ่านนั้นเกี่ยวกับการตีความด้วย การอ่านหนังสือเล่มเดียวกันไม่ได้หมายความว่าจะต้องคิดเหมือนกัน ความต่างนี่แหละที่จะทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าต่อไป
ดังนั้น ผู้เขียนจึงมองว่าหากนักอ่านไทยระลึกได้ว่าการอ่านนั้นมีกระบวนการและผลกระทบต่อระบบความคิดของตนเองอย่างไรแล้ว ก็อาจนำไปสู่การบริโภคข้อมูลข่าวสาร อาหารสมองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รู้จักเลือกที่จะรับข้อมูลและทิ้งข้อมูล ไตร่ตรองหาเหตุผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากนั้นก็จะสามารถแสดงออกถึงความคิดของตนเองที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้หลายขั้นตอนที่ผ่านมา ถ้าทุกคนทำได้และสามารถถก แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างมีคุณภาพ สังคมก็จะพัฒนาขึ้นยกระดับขึ้น ซึ่งเป็นสังคมที่พึงปรารถนาเพราะทุกคนสามารถที่จะเท่าทันในกลเกมส์ และไม่มีใครหลอกใครได้ เพียงแต่ลมปากหรืองานเขียนที่ให้แต่ความหวังแต่ไร้ซึ่งฐานของความจริงแท้ของคนคนหนึ่งหรือกลุ่มกลุ่มหนึ่ง