CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    เฮนรี จอร์จ กับ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์

    เฮนรี จอร์จ กับ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์
    โดย Jack Schwartzman, สุธน หิญ แปล
    [สรุปคำบรรยายต่อที่ประชุมโลกครั้งที่ 5 ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์สังคม University of York, England, 2 August, 1988 ตามที่ปรากฏใน Georgist Journal]
    เอกสารนี้กล่าวถึงปรัชญาสังคมที่แตกต่างกันของ Henry George และ George Bernard Shaw
    (จาก www.cooperativeindividualism.org/schwartzman_hgeorge_and_geo_bernard_shaw.html)

    จอร์จมีชื่อเสียงระดับโลกใน ค.ศ.1879 หลังจากการเขียนหนังสือ Progress and Poverty โดยยืนกรานว่าความยากจนและความเลวร้ายอื่นๆ ทางสังคมมีสาเหตุจากการปฏิเสธมิให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงที่ดินทำเลดีซึ่งเอกชนถือกรรมสิทธิ์  จอร์จเสนอวิธีแก้ไขโดยให้เก็บภาษีเดี่ยวจากมูลค่าที่ดิน (ในรูปแบบการเก็บค่าเช่าที่ดินโดยชุมชน) ซึ่งจะทำให้ผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ต้องปล่อยที่ดินออกมา อันจะนำไปสู่การผลิตที่ไม่มีขีดจำกัดและการแบ่งเศรษฐทรัพย์อย่างเป็นธรรม  เขายังสนับสนุนให้เลิกภาษีอื่นๆ ทั้งหมดด้วย

    ใน ค.ศ.1882 จอร์จได้เดินทางไปยังอังกฤษ และนำเสนอทฤษฎีของเขาต่อผู้ฟังที่สนใจ หนึ่งในจำนวนนั้นคือหนุ่มชอว์ ผู้ถูกมนต์โวหารของจอร์จจนกลายเป็นผู้เชื่อถือลัทธิจอร์จผู้หนึ่ง แต่ในไม่ช้า หลังจากได้อ่าน Das Kapital ของคาร์ล มาร์กซ์ เขาก็ได้เปลี่ยนไปนับถือลัทธิมาร์กซ์  ต่อมาชอว์ได้ทิ้งความคิดของทั้งจอร์จและมาร์กซ์ และเรียกตนเองว่านักสังคมนิยมแบบเฟเบียน (แบบวิวัฒนาการ - ปฏิเสธแนวคิดการต่อสู้ระหว่างชนชั้น)  แต่ในที่สุด ชอว์ก็เปลี่ยนความคิดอีก “ตะโกน” อย่างภาคภูมิใจว่าตนเป็นคอมมิวนิสต์  ส่วนจอร์จนั้นมิใช่นักสังคมนิยม (แม้บางคนจะว่าเช่นนั้นก็ตาม)

    (จำเป็นต้องกล่าวเสียแต่ต้นนี้ว่าชอว์ไม่เคยได้พบกับจอร์จ และก็ยังไม่แน่ว่าจอร์จรู้หรือไม่เกี่ยวกับชอว์)

    เพื่อจะได้เข้าใจทัศนะของจอร์จและชอว์ จะนำเสนอการวิเคราะห์เป็นเรื่องๆ ไป  เรื่องแรกคือ ความยากจน  นักเขียนทั้งสองท่านต่างประกาศย้ำว่าความยากจนเป็นสิ่งเลวร้ายที่จะต้องกำจัด  จอร์จและชอว์มีความขุ่นเคืองมากเหมือนๆ กันที่คนทั่วไปพอใจยอมรับว่าความยากจนเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งคู่ต่างก็เรียกการให้เหตุผลเช่นนี้ว่าเป็นการดูหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (blasphemy)

    แต่จากจุดนี้ไป หลักความเชื่อของจอร์จและชอว์ขัดแย้งกันอย่างมาก

    ด้านสาเหตุความยากจน จอร์จพบว่าอยู่ที่การปฏิเสธการเข้าถึงที่ดินอันมีค่า (ดังกล่าวแล้วข้างต้น)  วิธีแก้ไขของเขานั้นก็เพื่อปลดปล่อยที่ดินซึ่งถูกผูกขาดออกมาเพื่อการผลิต และการเลิกภาษีอื่นๆ ทั้งสิ้นเพื่อกระตุ้นความเติบโตทางเศรษฐกิจอีกแรงหนึ่ง  ทุนซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตปัจจัยหนึ่งจะไม่ถูกเก็บภาษี

    แต่ชอว์แย้งข้อเสนอของจอร์จโดยประกาศว่าความยากจนมีสาเหตุจากการผูกขาดร่วมกันของที่ดินและทุน  ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาของเขาจึงเป็นการให้รัฐเก็บทั้งค่าเช่าที่ดินและผลตอบแทนต่อทุน (ดอกเบี้ย) ด้วย  รัฐจะต้องยึดรายได้ทั้งหมดมาแจกจ่ายใหม่ “ตามความจำเป็น”

    ข้อโต้แย้งต่อไปอยู่ที่กฎของริคาร์โดว่าด้วยค่าเช่า  แม้ความคิดจะขัดแย้งกันอย่างตรงกันข้าม ทั้งสองฝ่ายต่างก็อ้างว่ามาจากแหล่งเดียวกัน คือ ทฤษฎีของริคาร์โด ซึ่งสาธิตให้เห็นว่าค่าเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นโดยเป็นผลเสียต่อทั้งทุนและแรงงาน  ในกฎของริคาร์โด จอร์จได้พบสูตรสำเร็จรูป (และการสร้างความชอบธรรมให้แก่วิธีแก้ของเขา)  เขาแถลงว่าสิ่งที่จำเป็นต้องทำก็เพียงแต่เปลี่ยนช่องทางไหลของค่าเช่าที่ดินจากเดิมที่ไปสู่เอกชน ให้มาสู่กองทุนของชุมชนเท่านั้น  ภาษีอื่นๆ นั้นไม่จำเป็นและไม่เป็นที่ปรารถนา

    ชอว์ไม่เห็นด้วย สำหรับเขาแล้ว การให้รัฐหรือชุมชนเก็บค่าเช่าที่ดิน (แม้จะเป็นส่วนสำคัญหรือ keystone ทางเศรษฐศาสตร์ของลัทธิสังคมนิยม) ก็เป็นเพียงขั้นแรกของการไปสู่การยึดรายได้ทั้งหมดโดยรัฐ  เขาย้ำว่าจุดประสงค์สำคัญของลัทธิสังคมนิยมคือการให้รัฐเก็บรายได้ทั้งปวงของประชาชนเป็นภาษี และจัดการให้รัฐเป็นรัฐสังคมนิยมซึ่งมีอำนาจเต็มที่

    ข้อโต้แย้งอีกข้อหนึ่งคือเรื่องกลุ่ม Physiocrats  จอร์จถือว่ากลุ่มนี้เป็นผู้มาก่อนเขาในด้านอุดมการณ์ (ideology) และให้เกียรติกลุ่มนี้ที่ประกาศระบบภาษีเดี่ยว  แต่ชอว์เย้ยหยันทั้งกลุ่มฟิสิโอแครตและจอร์จ และยกย่องบูชา Voltaire ที่เขาถือว่าเป็นผู้ “สังหาร” ข้อเสนอให้ใช้ระบบภาษีเดี่ยว (แต่สำหรับผู้เขียนเอกสารนี้กลับเห็นว่าเรื่องของโวลแตร์ดังกล่าว ซึ่งชอว์สนับสนุนแข็งขัน เป็นเรื่องที่กุขึ้นมาและไม่จริง)

    เรื่องสำคัญเรื่องสุดท้ายคือการเปรียบเทียบลัทธิเสรีวิสาหกิจกับสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์  จอร์จเชิดชูเสรีภาพ คุณค่าของปัจเจกชน การผลิตที่ไม่ถูกขวางกั้น และการปกครองอย่างจำกัด  เขาต่อต้านลัทธิสังคมนิยมจนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

    ตรงกันข้าม ชอว์เทิดทูนลัทธิซูเปอร์แมน ระบอบเผด็จการ คอมมิวนิสต์ และระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ  เขาต่อต้านดูหมิ่นระบอบประชาธิปไตยจนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิตเช่นกัน

    นี่คือการทบทวนอย่างสั้นมากในปรัชญาสองแบบที่ขัดแย้งกัน  การโต้เถียงระหว่างสองปรัชญานี้ยังคงรุนแรงมาจนถึงเดี๋ยวนี้ (ค.ศ.1988).


    ขออนุญาตแนะนำเว็บไซต์
    ๑. Search engine ทางเศรษฐศาสตร์ ภาษี สิ่งแวดล้อม www.askhenry.com
    ๒. Understanding Economics  www.henrygeorge.org  
    ๓. หนังสือ Progress and Poverty ของ Henry George พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.๑๘๗๙ (กว่าร้อยปีมาแล้ว) มีผู้แปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย  
    ก. ฉบับเต็มภาษาอังกฤษ www.schalkenbach.org/library/george.henry/ppcont.html หรือ download ได้จาก www.taxreform.com.au/hg/main.htm ในรูป zipped Microsoft word document ขนาด 385K
    ข. ฉบับเต็มภาษาไทย www.thai.net/econ_buu/suthon (ที่นี่มี “ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม - เศรษฐศาสตร์ที่ลงถึงราก” อยู่ด้วย)
    ค. ฉบับย่อภาษาอังกฤษเหลือประมาณ ๔๐% (concise :-) comprehensive) โดย A.W. Madsen  www.henrygeorge.org/pplink.htm  
      ง. ฉบับ supercondensed เหลือเพียง ๒% โดย Dr. James L. Busey ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ http://unitax.org/progress
    จ. ฉบับภาษาไทย supercondensed www.rimpingfunds.com/writing/Suthon/1.htm
      ฉ. ฉบับ synopsis โดย Alfred J. Katzenberger, Jr. แก้ไขเล็กน้อยจากฉบับ supercondensed  www.progress.org/cg/pandp1.htm.

    จากคุณ : สุธน หิญ - [ 14 ก.ค. 47 22:52:29 ]