ค่าเสียโอกาส: ส่วนบุคคล-ส่วนรวม
(จาก Opportunity Costs ที่ http://www.landandfreedom.org/econ/econ1f.htm)
ค่าเสียโอกาส กล่าวสั้นๆ คือ รายได้ ผลกำไร หรือ ความพอใจ ที่สูงที่สุดที่คาดว่าจะได้จากสิ่งหนึ่งถัดจากสิ่งซึ่งผู้หนึ่งได้เลือก แนวคิดเรื่อง ค่าเสียโอกาส ถือว่ามีความสำคัญต่อการศึกษาเศรษฐศาสตร์ เพราะเศรษฐศาสตร์คือศาสตร์ที่ว่าด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่ามนุษย์ใช้ทรัพยากรที่มีอย่างไรเพื่อสนองความต้องการของตน ทรัพยากรเหล่านี้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์แบ่งประเภทเป็น ที่ดิน (รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ) แรงงาน และ เศรษฐทรัพย์ (รวมทั้งทุน) มีอยู่จำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อความต้องการทางกายได้รับการสนองครบถ้วนแล้ว เราก็เกิดความต้องการอื่นๆ ต่อไป เช่น ความบันเทิง ความรู้ หรือ การผจญภัย แต่เมื่อทรัพยากรมีจำกัด เราก็ต้องเลือกว่าจะใช้ทรัพยากรอย่างไร
ตัวอย่าง ถ้าเรามีเงินร้อยบาท เราอาจใช้ซื้ออาหาร หรือดูหนัง เราอาจคิดว่าทางเลือกหนึ่งดีกว่าทางเลือกอื่นๆ แต่ผู้อื่นอาจคิดต่างออกไป ผู้หนึ่งอาจใช้เงินนั้นซื้อหนังสือ อีกผู้หนึ่งอาจซื้อบุหรี่ และยังอีกผู้หนึ่งอาจบริจาคเงินนั้นให้แก่องค์การกุศล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเลือกที่จะแลกด้วยแรงงานหรือเงินของเรานั้นย่อมมีค่าเสียโอกาส คือ มูลค่าของสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งเราไม่ได้เลือก
เรื่องนี้ก็ดูว่าจะเห็นได้ชัด แล้วทำไมค่าเสียโอกาสจึงเป็นแนวคิดที่มีอานุภาพนัก? ก็เพราะความที่มันมีประโยชน์ในฐานะเครื่องมือวิเคราะห์ ในเศรษฐกิจระบบตลาด มนุษย์ย่อมหาทางให้ได้กำไร (โดยไม่ควรจะต้องละความสุจริต) เขาจึงต้องใช้ทรัพยากรที่มีให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ตนเอง เขาจึงต้องชั่งน้ำหนักของปัจจัยต่างๆ ทั้งหลาย การได้รู้มูลค่าของสิ่งที่ดีที่สุดถัดไปจากสิ่งที่คิดว่าจะเลือกจะช่วยได้มากในการตัดสินตกลงใจ ตัวอย่าง สมมุติว่าเรามีอาชีพขายลูกชิ้นปิ้งและโชคดีได้กำไรสุทธิ 10,000 บาทในครึ่งเดือน เราจะใช้กำไรนั้นสนองความต้องการของเราอย่างไรดี?
เริ่มแรก เราจะต้องคิดออกมาให้ชัดเจนก่อนว่าเราต้องการอะไร เราอาจหยุดขายลูกชิ้นปิ้งสักพักเพื่อจัดงานเลี้ยง แต่เมื่องานเลี้ยงเลิกรา เราจะกลับไปอยู่ในฐานะเดิม หรือเราอาจจะซื้อสินค้าที่จะขายให้มากขึ้น หรือลงทุนตั้งแผงลอยอีกแผงหนึ่ง หรือจ้างลูกมือมาช่วย อาจขายหมูปิ้งเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง หรือลงทุนในด้านโฆษณา เมื่อเราเลือกทำอย่างหนึ่ง การจะทำอีกอย่างหนึ่งก็จะมีความเป็นไปได้น้อยลง ถ้าจะให้การตกลงใจได้ผลดี เราจะต้องคำนวณหามูลค่าที่เราจะเสียไปจากการเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเชิงเศรษฐศาสตร์สิ่งที่เราควรทำก็คือการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ค่าเสียโอกาสสร้างแบบจำลองผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น
สังคมส่วนรวมก็คิดหาค่าเสียโอกาสหลายวิธีเหมือนกัน รัฐบาลต้องตกลงใจเลือกนโยบายภาษีและการใช้จ่ายด้านสาธารณะ ตัวอย่าง การใช้เงินของรัฐสร้างทางหลวงหมายความว่าจะไม่ได้เงินก้อนเดียวกันนั้นไปสร้างทางรถไฟ โดยทำนองเดียวกันถ้ารัฐลดภาษี เงินก็เข้าหลวงน้อยลง ผู้บริโภคมีเงินมากขึ้น แต่ค่าเสียโอกาสอาจจะเป็นกำลังป้องกันประเทศ บริการหรือโครงการของรัฐที่อาจจะมีถ้าไม่ลดภาษี
มีค่าเสียโอกาสขนาดใหญ่โตสำหรับสังคมส่วนรวมอยู่อย่างหนึ่งที่มักไม่ค่อยมีการพิจารณากัน แต่มีผลใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของเราทุกด้าน นั่นคือปรากฏการณ์การเก็งกำไรที่ดิน พฤติกรรมนี้ การเก็บกักที่ดินที่มีค่าไว้โดยไม่ใช้ประโยชน์จนกว่าเจ้าของจะเห็นว่าได้กำไรสูงสุดแล้ว ได้ก่อปัญหาหนักหน่วงแก่เมืองต่างๆ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ความเข้มแข็งของชุมชน และการอนามัยสิ่งแวดล้อม มันคือสาเหตุหลักแห่งปัญหาที่เกิดคู่กัน คือ การเสื่อมโทรมของเมือง (urban blight) และ การขยายตัวอย่างสะเปะสะปะของชานเมือง (suburban sprawl) การเก็งกำไรที่ดินเป็นพฤติการณ์ที่เกิดกว้างขวางมากในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ แต่ไม่ก่อผลประโยชน์แก่สังคมเลย มีแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล
น่าสังเกตว่าทัศนะของเจ้าของที่ดินเกี่ยวกับค่าเสียโอกาสด้านการเก็งกำไรที่ดินนั้นเป็นตรงข้ามกับทัศนะของสังคมอย่างสิ้นเชิง สำหรับเจ้าของที่ดิน ค่าเสียโอกาสของการใช้ที่ดินวันนี้คือราคาหรือกำไรที่จะได้สูงขึ้นในอนาคต และโดยที่มูลค่าที่ดินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อประชากรและการผลิต (รวมทั้งการซื้อขายแลกเปลี่ยน) มีมากขึ้น จึงเกิดแรงจูงใจขึ้นในตัวให้รอคอย! แต่สำหรับสังคมทั่วไป ค่าเสียโอกาสจากการที่ที่ดินอันมีค่าถูกเก็บกักไว้ไม่ใช้ประโยชน์ก็คือ ทั้งการผลิตและการจ้างงานส่วนที่น่าจะเกิดแต่ไม่เกิดขึ้นในทำเลนั้นๆ และค่าต้นทุนที่จะต้องขยายการให้บริการและโครงสร้างพื้นฐานออกไปไกลกว่าที่ควรในที่ซึ่งมีความเหมาะสมน้อยลง
ลองเปรียบเทียบกรณีผู้เก็งกำไรที่ดินกับผู้ขายลูกชิ้นปิ้งที่กล่าวมาแล้ว ลูกชิ้นปิ้งเป็นที่ต้องการของผู้คน แต่เราจะไม่กักตุนไว้โดยหวังว่าราคาจะสูงขึ้น เพราะถ้าทำเช่นนั้น จะมีผู้อื่นมาขายแทน สิ่งที่เราอยากทำคือลงทุนให้ได้ลูกชิ้นมากขึ้นและดีขึ้นแก่ลูกค้าจำนวนมากขึ้น ซึ่งสังคมส่วนรวมจะได้ประโยชน์ เพราะการแข่งขันระหว่างผู้ขายลูกชิ้นปิ้งด้วยกันจะทำให้ผู้บริโภคได้ลูกชิ้นปิ้งที่คุณภาพดีขึ้นและราคาถูกลง ตลาดที่มีการแข่งขันจึงให้ประโยชน์แก่ทั้งสังคมและผู้ประกอบกิจการที่ประสบความสำเร็จ
แต่กรณีของผู้เก็งกำไรที่ดินมิใช่เช่นนั้น พวกเขาได้กำไรจากกิจกรรมที่ทำร้ายสังคมส่วนรวมดังกล่าวแล้ว ปรากฏการณ์นี้ เมื่อปัจเจกบุคคลผู้ประกอบการได้กำไรจากกิจกรรมที่เป็นผลร้ายต่อประชาคม คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ความล้มเหลวของระบบตลาด หรือ ตลาดล้มเหลว (market failure) คำถามว่าจะทำอะไรกับกรณีตลาดล้มเหลวเป็นคำถามขั้นพื้นฐานที่สุดข้อหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจ
อีกวิธีหนึ่งในการคิดเรื่องค่าเสียโอกาสคือการระลึกไว้เสมอว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด และ มนุษย์ย่อมหาทางสนองความต้องการของตนโดยใช้ความพยายามแต่น้อยที่สุด เช่นนี้ เราทุกคนจะต้องเลือกว่าจะใช้แรงงานของเราและผลผลิตจากแรงงานของเราอย่างไรเพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการ.
จากคุณ :
สุธน หิญ
- [
11 พ.ย. 47 23:48:39
]