CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    ผู้บัญชาการทหารอากาศแถลงข่าวเกี่ยวกับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด

    พลอากาศเอก คงศักดิ์ วันทนา ผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมกับนายชลอ คชรัตน์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม พลอากาศโท สิทธิพร ไชยหลาก กรรมการผู้จัดการบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด และนางจิตราภรณ์ เตชาชาญผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (สสว.)แถลงข่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด หรือ Thai Aviation Industries co.,Ltd. (TAI) เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ณ ห้องรับรองพิเศษ ๑
    เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๔๓๐ พลอากาศเอก คงศักดิ์ วันทนา ผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมกับนายชลอ คชรัตน์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม พลอากาศโท สิทธิพร ไชยหลาก กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด และนางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (สสว.) แถลงข่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด หรือ Thai Aviation Industries co.,Ltd. (TAI) ณ ห้องรับรองพิเศษ ๑
    ความเป็นมาของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด สืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียทันทีที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อสร้างเสร็จ ซึ่งประเทศไทยจะมีสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย จะทำให้หลายสายการบินเปลี่ยนมาลงที่ประเทศไทยมีผลให้กิจการการบินของประเทศขยายตัวมากขึ้น และย่อมต้องมีการซ่อมบำรุงอากาศยานมากขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีอากาศยานทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันมากกว่า ๑,๐๐๐ เครื่อง การซ่อมบำรุงต้องดำเนินการเองตามขีดความสามารถและเครื่องมือที่มีอยู่ และส่วนหนึ่งต้องส่งซ่อมในต่างประเทศ ทำให้เงินรั่วไหลออกนอกประเทศปีละมากกว่า ๑ หมื่นล้านบาท ในส่วนของ กองทัพอากาศซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจการด้านการบินมากว่า ๙๐ ปี มีเครื่องมือซ่อมบำรุงและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมากและมีศักยภาพในการรองรับการเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานเทียบเท่าระดับสากล แต่ถ้าพิจารณาในการบริหารงานในระบบข้าราชการนั้น ถือว่ายังคงมีต้นทุนที่เสียโอกาสเมื่อเทียบกับการปฏิบัติงาน ในรูปแบบเอกชน ดังนั้นจึงได้ตั้งองค์กรในรูปแบบบริษัทจำกัด โดยมีการบริหารในรูปแบบเอกชนซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาจากรูปแบบราชการให้เป็นกลไกในการกระตุ้นเสริมการพัฒนาทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
    จากจุดเด่นในเรื่องพื้นฐานการซ่อมบำรุงของกองทัพอากาศต่อยอดอุตสาหกรรมอากาศยานจากฐานเดิมของประเทศที่มีอยู่ เสริมกับการดำเนินงานในรูปแบบเอกชน เพื่อการขยายผลการซ่อมอากาศยานของกองทัพอากาศไปสู่หน่วยงานอื่นๆ การส่งเสริมอุตสาหกรรมอากาศยานและชิ้นส่วน จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องและสร้างผู้ประกอบการใหม่ ทั้งนี้บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด จึงได้ตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๖ โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (สสว.)ถือหุ้นร้อยละ ๗๐ และกองทัพอากาศ โดยกองทุนสวัสดิการทหารอากาศ ถือหุ้นร้อยละ ๓๐
    ในช่วงปี ๒๕๔๔ - ๒๕๔๕ ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่เป็นมูลค่ามากกว่า ๔๐,๐๐๐.- ล้านบาท การเกิดของศูนย์ซ่อมอากาศยานขนาดใหญ่ภายในประเทศอย่างบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด จึงมิใช่ แต่เพียงเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานทางทหาร หน่วยราชการและภาคเอกชน ที่เกิดขึ้นภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการผลิตวัสดุสิ้นเปลือง และชิ้นส่วนอะไหล่อากาศยานประเภทต่างๆ ของผู้ประกอบการ SMEs ภายในประเทศ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยานในลักษณะของเครือข่าย Supply Chain เนื่องจากมีตลาดภายในประเทศรองรับที่แน่นอนและเกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
    ปัจจุบัน บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ได้รับงานซ่อมบำรุงเครื่องบินของกองทัพอากาศเป็นส่วนใหญ่ อาทิ เครื่องบินลำเลียงแบบ G-222, C-130 H , AVRO-748 และเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 A/B และกำลังจะรับงานซ่อมเครื่องบินฝึกแบบ PC-9 , CT-4 A/B/E และ T-41 แบบจ้างเหมาตลอดปี สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต บริษัทฯ จะรับงานซ่อมอากาศยานจากส่วนราชการอื่นๆ และเครื่องบินส่วนตัวของเอกชน รวมทั้งเครื่องบินโดยสารหรือบรรทุกสัมภาระ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานมาตรฐานระดับสากล

    จากคุณ : อินทร์นิล - [ 23 พ.ย. 47 11:52:56 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป