CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangGameRoom


    การก่อการร้าย(Terrorism)

    วันนี้ผู้เขียนอยากจะกล่าวถึงหัวข้อเรื่อง "การก่อการร้าย" หน่อยค่ะเนื่องจากว่าปัจจุบันนี้โลกเรารวมถึงประเทศไทยด้วย(โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชายแดนภาคใต้)กำลังเผชิญกับ "สงครามโลกครั้งที่IV " ซึ่งก็คือ "สงครามการก่อการร้าย" นั่นเอง ในอนาคตอันใกล้นี้องค์การสหประชาชาติกำลังจัดทำอนุสัญญาใหม่ฉบับหนึ่งซึ่งจะมีเนื้อหามุ่งต่อสู้กับการก่อการร้ายโดยเป็นที่คาดกันว่าเลขาธิการยูเอ็น โคฟี อันนันจะอธิบายอนุสัญญานี้ระหว่างขึ้นปราศรัยต่อที่ประชุมคราวนี้เช่นกันทั้งนี้จะมีการพูดถึงความหมายของการก่อการร้ายในสายตาของสหประชาชาติด้วย…..นอกจากนี้หัวข้อเรื่อง"การก่อการร้าย"-- ที่ว่าด้วยเรื่องการลงนามสนธิสัญญาต่อต้านการก่อการร้ายในจำนวนนี้รวมถึงมือระเบิดพลีชีพหรือบุคคลใดที่จงใจทำร้ายพลเรือน-- ยังเป็นหนึ่งในแผนการปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่ของยูเอ็นด้วยโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจว่าสหประชาชาติจะสามารถเป็นตัวกลางตัดสินปัญหาต่างๆทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในศตวรรษที่ 21 ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะว่าคำว่า "การก่อการร้าย"นั้นควรจะถูกให้คำจำกัดความที่ชัดเจนเพื่อทำให้เกิดความกระจ่างชัดเจนว่าไม่มีการกระทำใดๆจักสามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่การสังหารพลเรือนไม่ว่าจะอยู่ในสภาพการณ์ใดก็ตาม  

    ปัจจุบันนี้มีการหยิบยกประเด็นที่มีการวิพากย์วิจารณ์กันมากที่สุดคือใครเป็นผู้ก่อการร้ายเพราะ "นักก่อการร้าย" (Terrorist)ของสังคมหนึ่งอาจจะเป็น "นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ" (Freedom Fighter) ของอีกสังคมหนึ่งก็ได้นี่เป็นประเด็นสำคัญที่พวกผู้ก่อการร้ายมักจะฉกฉวยนำคำที่มีเกียรติอย่างคำว่า "นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ" มาใช้ในเวทีการเมืองเสมอค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
    -กลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์(รวมไปถึงกลุ่ม PFLP, DFLPและPFLP-GC ที่มีฐานการโจมตีอยู่ทางภาคใต้ของเลบานอน)  
    -กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชน กลุ่มก่อการร้ายเฮซบอลล่าห์(Hezbollah)
    -กลุ่มก่อการร้ายพรรคแรงงานชาวเคริ์ด(Kurdistan Workers’ Party) ที่ได้รับการสนับสนุนจากซีเรีย
    -กลุ่มก่อการร้าย ANO(อาบู นีดัล)ที่มีฐานตั้งมั่นในอิรักสมัยซัดดัม ฮุสเซ็นยังเรืองอำนาจ
    -กลุ่มก่อการร้ายของพวกอาหรับฟาสซิสต์ในอิรัก
    -กลุ่มก่อการร้ายเจมาห์ อิสลามิยาห์ หรือที่เรียกย่อๆว่ากลุ่ม JI ในอินโดนีเซีย
    -กลุ่มก่อการร้ายอาบู เซยาฟในฟิลิปปินส์
    -กลุ่มก่อการร้ายAnsar al Islam(ซึ่งชื่อของกลุ่มนี้มีความหมายว่า "ผู้สนับสนุนอิสลาม")ในอิรักสมัยซัดดัม ฮุสเซ็นยังเรืองอำนาจ
    -กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
    และกลุ่มก่อการร้าย November17 เหล่านี้เป็นต้น
    ซึ่งกลุ่ม November17นี้เป็น กลุ่มพวกซ้ายจัดหัวรุนแรงประเภทนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์นั่นเองค่ะกลุ่มก่อการร้ายประเภทนี้ส่วนใหญ่มีอุดมการณ์ทางการเมืองซ้ายจัด แนวทร็อตสกี้, เมา เซ ตุงหรือแนวอนาธิปไตยสมัยใหม่ซึ่งถือว่าการปฏิวัติโลกเป็นสิ่งแรกของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งมวล(การปฏิวัติสังคมตามแนวทางคอมมิวนิสต์) เป้าหมายประการแรกของกลุ่มคือ การยั่วยุให้รัฐบาลใช้มาตรการปราบปรามที่รุนแรงเพื่อทำให้ประชาชนไม่พอใจเจ้าหน้าที่รัฐบาลและหันมาเห็นใจหรือสนับสนุนพวกตนแทน กลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้มักจะเรียกตัวเองว่านักต่อสู้เพื่ออิสรภาพอันเป็นการปิดป้ายฉลากตัวเองเอาไว้เพื่อต้องการให้มันมีความหมายไปในทางบวกมากขึ้น  

    "การก่อการร้าย" เป็นสงครามอีกรูปแบบหนึ่งที่ผู้กระทำผิดไม่เคยเป็นผู้สูญเสียอย่างแท้จริงที่กล่าวเช่นนี้เพราะว่าผู้ก่อการร้ายประกอบไปด้วยกลุ่มอิสระหลายกลุ่ม มีการจัดตั้งเครือข่ายเป็นกลุ่มย่อยกระจัดกระจายในพื้นที่ การประกอบกำลังแบบเซลล์ย่อยๆ แบบนี้ทำให้สามารถหาแหล่งหลบซ่อนได้ดี…..พวกผู้ก่อการร้ายไม่มีการวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเหมือนดั่งกองทัพทหารในสนามรบเพื่อประกาศความปราชัยและไม่จำเป็นต้องยกธงขาวเพื่อประกาศถึงความปราชัยในการต่อสู้ศึกสงคราม บ่อยครั้งที่เราพบว่าทำไมการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายถึงแก้ยากนั่นเพราะประชาชนในพื้นที่บางกลุ่มนอกจากจะรู้ข้อมูลเบาะแสของพวกโจรก่อการร้ายแล้วยังเป็นกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุนและให้ที่พักพิงพร้อมกับเป็นสายให้กับกลุ่มโจรก่อการร้ายอีกด้วย โจรก่อการร้ายเหล่านี้จึงมีคนมาสวมเสื้อคลุมความเป็นพลเรือนเหมือนอย่างคนเดินถนนปกติให้อีกทีและยังเป็นเกราะคุ้มกันชั้นหนึ่งอีกด้วยนะคะ ยกตัวอย่างเช่น มีโรงงานทำระเบิดหลายๆโรงในบริเวณชุมชนหมู่บ้านแต่ฉากหน้าบอกว่าเป็นโรงงานกลึงเหล็ก มีชายหนุ่มวัยฉกรรจ์หลายคนอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์หรือตามบ้านเรือนประชาชนพร้อมกับมี AK-47's ไว้ในครอบครองและไม่มีงานทำแต่ออกปฏิบัติการยิงชาวบ้าน ทหาร ตำรวจหรือวางระเบิดเป็นต้นแต่ชาวบ้านในแถบนั้นกลับปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็นถึงพฤติกรรมเหล่านี้นั่นก็น่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อย….กล่าวง่ายๆสั้นๆคือประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐอาจจะเป็นเพราะความกลัวหรือฝักไฝ่กับผู้ก่อการร้ายเสียเอง นี่เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้การปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายของรัฐในแต่ละประเทศประสพปัญหา  

    จากตัวอย่างข้างบนที่ยกมานั้นเมื่อเป็นเช่นนี้การให้นิยามความหมายของคำว่า"การก่อการร้าย" จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลของแต่ละประเทศไม่ควรมองข้าม...ในส่วนตรงนี้ผู้เขียนจะขออ้างอิงคำนิยามของคำว่า"การก่อการร้าย" ของ ดร. Boaz Ganor ผู้อำนวยการสถาบันต่อต้านการก่อการร้ายสากลแห่งประเทศอิสราเอล มาเล่าสู่กันฟังนะคะ..

    โดยดร.Ganorได้ให้ความเห็นว่าเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านการก่อการร้ายนิยามของคำว่าการก่อการร้ายควรจะถูกบรรจุลงในเรื่องของหลักการ กฎหรือข้อกำหนดของสงครามที่ออกมาเป็นกฏหมายลายลักษณ์อักษรอันมีนานาประเทศประเทศร่วมกันลงนามเพื่อทำให้ความหมายของคำว่า่ก่อการร้ายชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเพื่อให้มีการยอมรับในคำนิยามของคำว่าการก่อการร้ายเราจำเป็นต้องแยกความแตกต่างประเภทของสงครามก่อนเป็นอันดับแรกอันได้แก่: "สงครามในรูปแบบ"(conventional warfare) ซึ่งเป็นสงครามที่ใช้กองกำลังทางทหารสู้รบกันระหว่างสองประเทศกับ "สงครามนอกรูปแบบ"(Non-conventional Warfare) ซึ่งเป็นการทำสงครามกันระหว่างองค์กรของกลุ่มบุคคลกับรัฐชาติ เช่น:
    -สหรัฐอเมริกาทำสงครามต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายอัลเคด้า...
    -อิสราเอลทำสงครามต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายฮามาส อิสลามิกจีฮัด ฟาห์ตาห์ อัลอักซาร์บริเกจ...
    -ฟิลิปปินส์ทำสงครามต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายอาบู ไซยาฟ...
    -อินโดนีเซียทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายเจไอ
    -หรือรัฐบาลไทยกำลังทำสงครามกับ "องค์การก่อการร้ายนิรนาม" (ชื่อนี้ผู้เขียนตั้งให้เองค่ะ..อิอิ)ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุความไม่สงบทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เหล่านี้เป็นต้น…  

    สำหรับ "สงครามในรูปแบบ"(conventional warfare)แล้วทหารจะยังคงสถานภาพเป็นทหารเมื่อเป้าหมายของปากกระบอกปืนเป็นกองทัพทหารของฝ่ายตรงข้ามแต่หากเมื่อใดก็ตามเมื่อเป้าหมายของการต่อสู้เปลี่ยนจากทหารของฝ่ายตรงข้ามไปเป็นชีวิตพลเรือนคนบริสุทธิ์ทหารคนนั้นก็คงไม่ถูกเรียกว่าทหารอีกต่อไปแต่จะถูกเรียกว่า "อาชญากรสงคราม"(war criminals) แทน…การแยกประเภทความแตกต่างของ military personnel(อย่างเช่น a soldier และ a war criminal) ของสงครามในรูปแบบจึงช่วยทำให้เรามาถึงบทสรุปของ "สงครามนอกรูปแบบ" (Non-conventional Warfare) และสามารถแยกความแตกต่างของการก่อการร้ายออกจากสงครามกองโจรได้ง่ายขึ้น

    เราอาจกล่าวคำนิยามสั้นๆของการก่อการร้ายได้ง่ายๆว่า..."การก่อการร้ายเป็นการข่มขู่ของบุคคลหรือองค์กรที่มีเจตจำนงในการใช้ความรุนแรงกับพลเรือนหรือมีพลเรือนเป็นเป้าหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง" นิยามการก่อการร้ายจึงวางอยู่บนพื้นฐานสามปัจจัยสำคัญๆด้วยกันคือ:

    1..แก่นสาระสำคัญของกิจกรรมการก่อการร้ายซึ่งก็คือ"การใช้หรือข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง" ตามคำนิยามเช่นนี้กิจกรรมใดๆก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับ"ความรุนแรงหรือการข่มขู่ใช้ความรุนแรง"จึงไม่ถูกจัดเข้าข่ายว่าเป็นการก่อการร้าย(รวมไปถึงการประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรงยกตัวอย่างเช่น การหยุดงานประท้วง การเดินขบวนประท้วงอย่างสงบ)  

    2..เป้าหมายของกระทำการหรือกิจกรรมใดๆก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ "การเมือง" เสมอ(อาจมีแรงจูงใจทางด้านอุดมการณ์ ศาสนาหรืออื่นๆที่อยู่เบื้องหลังวัตถุประสงค์ทางด้านการเมือง) กล่าวคือเป้าหมายหลักของการกระทำก็เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปสู่แนวทางที่ผู้ก่อการร้ายต้องการ เพื่อเปลี่ยนแปลงกลุ่มอำนาจในรัฐบาล หรือเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายทางด้านสังคมและเศรษฐกิจและอื่นๆเหล่านี้เป็นต้น และหากเป้าหมายของการก่อการหรือการกระทำการใดๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแล้วการกระทำนั้นจึงไม่ถูกจัดให้เป็นการก่อการร้าย....แต่หากการกระทำการความรุนแรงใดๆต่อชีวิตของพลเรือนโดยปราศจากวัตถุประสงค์ทางด้านการเมืองแล้วการกระทำการหรือการก่อการนั้นก็เป็นเพียงการกระทำที่ผิด"กฎหมายทางอาญา" เป็นอาชญากรรมหรือเป็นเพียงการกระทำของคนวิกลจริตที่ไม่ข้องเกี่ยวกับการก่อการร้ายแต่อย่างใด  

    3..เป้าหมายของการก่อการร้ายก็คือ"ชีิวิตของพลเรือน" ด้วยเหตุนี้จึงมีการแยกความแตกต่างระหว่างคำว่าการก่อการร้ายและความรุนแรงทางด้านการเมืองประเภทอื่นๆเป็นต้นว่าสงครามแบบกองโจร การจราจลของเหล่าประชาราษฏร์เป็นต้น การก่อการร้ายได้แสวงหาประโยชน์จากส่วนที่เป็นจุดอ่อนของพลเรือนในสังคมนั่นก็คือการสร้างความกังวลใจหรือความหวาดกลัว แก่กลุ่มพลเรือนโดยมีการเผยแพร่ภาพการสังหารพลเรือน การระเบิดในที่ชุมชนต่างๆอย่างต่อเนื่องของบรรดาสื่อมวลชน  

    อย่างที่ได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าการก่อการร้ายเป็นการข่มขู่ของบุคคลหรือองค์กรที่มีเจตจำนงในการใช้ความรุนแรงกับพลเรือนหรือมีพลเรือนเป็นเป้าหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองซึ่งมีความหมายต่างจาก"สงครามกองโจร" ที่มีหมายถึงการต่อสู้โดยการใช้หรือข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงในการกับต่อต้านกองกำลังทหารกองกำลังรักษาความปลอดภัยและผู้นำทางการเมืองเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง(อย่างที่อริสโตเติ้ลนักปรัชญาการเมืองชาวกรีกได้นิยามว่าเป็น"political animal" นั่นเองค่ะ)  

    ดังนั้นการก่อการร้ายจึงต่างจาก "สงครามกองโจร"(guerrilla warfare) ทั้งในรูปแบบของธรรมชาติของการปฏิบัติการและกลุ่มเป้าหมายที่ถูกเลือกในการโจมตี แต่หลายๆคนมักจะคิดว่าการก่อการร้ายกับสงครามกองโจรนั้นคือสิ่งเดียวกันค่ะนั่นเป็นเพราะบางองค์กรใช้ทั้งแทคติคของการก่อการร้ายและสงครามกองโจรในการปฏิบัติการโจมตีเช่นองค์การ IRA ที่ตอนหลังนี่ทิ้งอุดมการณ์ทางการเมืองเก่าๆไปเยอะค่ะเลยถูกลดชั้นไปเป็นกลุ่มก่อการร้ายเช่นกัน....

    อีกอย่างเป็นเพราะ "การก่อการร้ายในเมือง" นั้นได้นำแทคติคของสงครามแบบกองโจรมาใช้ด้วยจึงทำให้สับสนและแยกความแตกต่างไม่ออกเรื่องนี้นี่แม้แต่นักคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์"เอเชียไทม์"บางคนยังเข้าใจผิดคิดว่าปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายในอิรักเป็นสงครามแบบกองโจรด้วยเหตุนี้สื่อเหล่านี้จึงมักจะเรียกกลุ่มติดอาวุธพวกนี้ว่า"นักรบ"แทนที่จะเลือกใช้คำว่า "ผู้ก่อการร้าย" อย่างที่คนเหล่านี้เป็นจร ิงๆ

    แก้ไขเมื่อ 17 มิ.ย. 48 19:54:51

     
     

    จากคุณ : เอื้องอัยราวัณ - [ 17 มิ.ย. 48 19:52:35 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป