CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    ขอให้ขึ้นภาษีที่ดินดีกว่าขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

    ขอให้ขึ้นภาษีที่ดินดีกว่าขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

    ค่าจ้างแรงงานกับภาษีที่ดินมีความสัมพันธ์กัน แต่คนธรรมดาอาจมองไม่ออก

    การเก็บภาษีที่ดินน้อยไปทำให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จากการที่ที่ดินมีราคาหรือค่าเช่าสูงขึ้นเรื่อยๆ เกือบตลอดมา
    เจ้าของที่ดินไม่มีส่วนในการลงแรงหรือลงทุนผลิต แต่ได้ส่วนแบ่งจากการผลิต
    ย่อมทำให้ผู้ทำงานและผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนน้อยลง

    เมื่อเจ้าของที่ดินได้ส่วนแบ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ผู้ทำงานและผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนลดลงเรื่อยๆ
    อย่างน้อยก็โดยอัตราส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเช่าที่ดิน
    เพราะการผลิตมีปัจจัยที่นำมาใช้เพียงสามปัจจัยเท่านั้น แต่ครอบคลุมหมด นั่นคือ ที่ดิน แรงงาน และ ทุน
    ผู้จัดการก็เป็นผู้ใช้แรงงานด้านสมองมากกว่าแรงกาย เขาอาจมีส่วนเป็นผู้ลงทุนในกิจการอยู่ด้วยก็ได้
    และอาจเป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ในกิจการนั้นอีกด้วย
    ถึงแม้คนหนึ่งๆ จะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตครบทั้งสามปัจจัยดังกล่าว แต่เราก็ต้องพิจารณาปัจจัยทั้งสามแยกกัน

    การแบ่งผลตอบแทนแก่ปัจจัยการผลิตทั้งสามนี้มีกฎธรรมชาติด้านสังคมเป็นตัวกำหนด:--

    ค่าเช่าที่ดินคือผลต่างระหว่างผลผลิตของที่ดินแปลงนั้นกับผลผลิตที่ขอบริมแห่งการผลิตหรือที่ดินชายขอบ เมื่อใช้แรงงานและทุนเท่ากัน
    (ที่ดินชายขอบหรือขอบริมแห่งการผลิตคือ ที่ดินเลวที่สุดที่ใช้กันอยู่
    ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นที่ดินดีที่สุดที่หาได้โดยไม่เสียค่าตอบแทน –
    ถ้าการผลิตต้องขยายออกไปจากขอบริมแห่งการผลิตขอบเดิม
    ขอบริมใหม่มักจะให้ผลผลิตต่ำกว่าขอบริมเดิม ที่ขอบริมเดิมก็มีค่าเช่าเกิดขึ้น ที่ดินที่มีค่าเช่าอยู่แล้ว ค่าเช่าก็สูงขึ้นไปอีก –
    เป็นส่วนที่เจ้าของที่ดินได้เพิ่มขึ้นมาเฉยๆ)

    ค่าแรงคือผลผลิตที่แรงงานสามารถผลิตได้ ณ ขอบริมแห่งการผลิต
    (ยิ่งที่ดินชายขอบขยายออกไป ค่าแรงยิ่งลด ยกเว้นไว้แต่ถ้าแรงงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น)

    ดอกเบี้ยหรือค่าใช้ทุนจะสูงขึ้นหรือต่ำลงเช่นเดียวกับค่าแรง โดยขึ้นอยู่กับขอบริมแห่งการผลิตเหมือนกัน

    ค่าเช่าหรือราคาที่ดินยังสูงขึ้นได้อีกจากการมีประชากรมากขึ้นและความเจริญก้าวหน้าทั้งหลาย
    การมารวมตัวของผู้คนเป็นชุมชนที่ค่อยๆ ขยายตัวออกเป็นเมือง นคร มหานคร
    การทำงานและการลงทุนของทั้งเอกชนและรัฐ (รัฐก็ใช้ภาษีจากเอกชนนั่นเอง) ช่วยให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ปลอดภัย การขนส่ง สื่อสาร การผลิต การค้าทำได้รวดเร็วและค่าใช้จ่ายต่ำลง การแบ่งงานกันทำแยกย่อยมากขึ้น ความรู้ความชำนาญสั่งสมแยกเป็นเฉพาะทางมากขึ้น อารยธรรมและประสิทธิภาพการผลิตก็สูงขึ้นๆ
    แต่สิ่งเหล่านี้กลับไปทำให้ค่าเช่า/ราคาที่ดินในเมืองสูงขึ้นมากมาย

    ทั้งหมดนี่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินทำ ผู้ทำงานและผู้ลงทุนผลิตต่างหากที่ทำ
    ถ้าเจ้าของที่ดินทำเขาก็ทำในฐานะผู้ทำงานหรือผู้ลงทุน
    ซึ่งย่อมจะได้รับผลตอบแทนในฐานะผู้ทำงานหรือผู้ลงทุนอยู่แล้ว
    การเข้าครอบครองที่ดินหรือหาซื้อที่ดินมาไว้ในครอบครองไม่ใช่การลงทุนผลิต
    แต่เป็นการแสวงหาหรือสืบทอดอภิสิทธิ์ที่จะเรียกแบ่งเอาผลตอบแทนของผู้ทำงานและผู้ลงทุนผลิต
    เจ้าของที่ดินจึงถูกเรียกว่า ผู้เก็บเกี่ยวโดยไม่ได้ไถหว่าน
    รายได้ของเจ้าของที่ดินจึงถูกเรียกว่า unearned income
    และเจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งก็เป็นประเภท absentee landlords

    เมื่อที่ดินให้ราคาหรือค่าเช่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ผู้คนที่มีเงินพากันสะสมหาซื้อที่ดินเก็บกักกันไว้ ที่เรียกว่า การเก็งกำไร
    ที่ดินที่เราเห็นว่างๆ ร้างรกอยู่มักมีเจ้าของแล้ว ยกเว้นที่ดินที่ทางราชการสงวนเอาไว้ ซึ่งก็ยังถูกบุกรุก
    การเก็งกำไรที่ดินคือผลจากระบบภาษีที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดิน
    ซึ่งส่งผลเสียหายร้ายแรงซ้ำแก่ประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้มีแต่แรงงานสามัญ
    คือทำให้ราคา/ค่าเช่าที่ดินสูงเกินจริง และเบียดคนจนออกจากโอกาสการเป็นเจ้าของที่ดิน
    คนจนต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ได้เงินมาจ่ายค่าเช่าที่ดินและเลี้ยงปากท้องตนและครอบครัว
    ส่วนใหญ่หาได้ไม่พอจ่ายต้องกู้หนี้ยืมสิน จ่ายดอกเบี้ยแพง เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

    นอกจากนี้ การเก็งกำไรทำให้ที่ดินทั้งในเมือง ชานเมือง และชนบทไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ก็ไม่เต็มที่
    ซึ่งหมายถึงการจ้างงานจะมีน้อยกว่าที่ควร ค่าแรงก็จะต่ำลง ยิ่งเดือดร้อนคนจน ผลผลิตของชาติก็ต่ำ
    เมืองมีขนาดใหญ่แต่หลวม ผู้คนต้องหาบ้านอยู่นอกเมือง สาธารณูปโภคต้องขยายไปไกล ต้นทุนค่าใช้จ่ายจึงสูง
    ซ้ำต้องมีการใช้พาหนะเดินทางเช้าเข้าเมือง เย็นออก การจราจรติดขัดเสียเวลา สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เกิดมลภาวะ

    ดังนั้นถ้าเราเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นภาษีที่ดินจนเสมือนเจ้าของที่ดินเป็นผู้เช่าจากรัฐ การเก็งกำไรที่ดินจะหมดไป
    จะมีการจ้างงานมากขึ้น ค่าแรงจะสูงขึ้น นายทุนก็ไม่สามารถกดค่าจ้างไว้ได้
    ชาติก็จะเจริญดีขึ้น และภาระของรัฐที่จะต้องช่วยเหลือคนจนจะลดลง

    ส่วนรายได้จากภาษีที่ดินจะทำให้รัฐบาลเลือกทำได้สองอย่าง คือ นำมาแจกราษฎรทุกคนเท่าๆ กัน
    หรือเลิก/ลดภาษีอื่นๆ ซึ่งก็คือภาษีจากการลงแรงและการลงทุน หรือแบ่งทำทั้งสองอย่าง
    ซึ่งก็เท่ากับเป็นการให้ทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของแผ่นดินไทยเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องแบ่งที่ดินจริง
    แต่แบ่งรายได้จากที่ดินให้แทน หรือเลิก/ลดภาษีทางตรงและทางอ้อมที่เคยเก็บจากผู้ทำงานและผู้ลงทุน

    การเก็บภาษีที่ดินเสมือนเจ้าของที่ดินเป็นผู้เช่าก็คือการนำความยุติธรรมกลับคืนมาสู่ผู้ลงแรงและผู้ลงทุน
    ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วว่าราคา/ค่าเช่าที่ดินที่สูงขึ้นนั้นมิใช่เพราะการกระทำของเจ้าของที่ดิน
    แต่เป็นเพราะกิจกรรมของผู้ทำงานและผู้ลงทุน

    อย่างไรก็ดี ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงฮวบฮาบ เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนเกินไป เพราะระบบเก่าให้อภิสิทธิ์เขาไว้
    แต่ขอให้ค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดินปีละ 3-4% ซึ่งจะกินเวลา 25-33 ปีก็จะครบ 100%.

    (รายละเอียดดูได้จากหนังสือแปลความก้าวหน้ากับความยากจน หรือ หนังสือความยากจนที่ไม่เป็นธรรม ที่ www.geocities.com/utopiathai รวมทั้งบทความเดิมๆ ครับ)

    จากคุณ : สุธน หิญ - [ 22 ก.ย. 48 13:44:10 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป