CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    คุณด่าทักษิณไหม ถ้าหากทักษิณขายกิจการส่วนตัวให้สิงคโปร์

      ด่า ให้ฝรั่ง(หัวดำ)มาโกยกำไรจากบ้านเราได้ไง (10 คน)
      ไม่ด่า ก็เรื่องของเขานิ คนค้าคนขาย ไม่อยากทำธุรกิจนี้แล้วก็ขายๆไป (31 คน)

    จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 41 คน

     24.39%
     75.61%


    http://www.matichon.co.th/prachachart/prachachart_detail.php?s_tag=02p0101121248&day=2005/12/12

    ชินคอร์ปจ่อปิดดีลขายหุ้น5หมื่นล. พลิกเกมเจรจา"กลุ่มสิงเทล"

    วงการสื่อสารเริ่มนับถอยหลัง ตระกูล "ชินวัตร" ขายหุ้น "ชินคอร์ป" ให้กลุ่มสิงเทล จับตาบิ๊กดีลระดับ 50,000 ล้านบาท พร้อมสวอปหุ้นบางส่วนไปถือใน "สิงเทล" เผยเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ได้ประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและการเมือง ที่ปรึกษาการเงินชี้เป็นเรื่องปกติถึงจุดต้องขายทำกำไร แถมปัจจัยอุตฯโทรคมนาคมเปลี่ยนธุรกิจมือถือถึงจุดอิ่มตัว ชี้ถ้าสู้ต่อต้องลงทุนมหาศาลในระบบ 3จี

    หลังจากกรณีที่กลุ่มเทเลนอร์เข้ามาซื้อหุ้นบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือยูคอม ทำให้เกิดกระแสความสนใจในกลุˆม ธุรกิจข้ามชาติหลายๆ ราย ซึ่งสนใจเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทโทรคมนาคมอื่นด้วย และข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเจรจาซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ก็ปรากฏออกมาเป็นระยะๆ

    ล่าสุดแหล่งข่าวจากบริษัทที่ปรึกษาการเงินเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่ากรณีการเจรจาซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของครอบครัวชินวัตร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ทั้งหมดประมาณ 38.63% ให้กับนักลงทุนต่างชาติขณะนี้ใกล้ได้ข้อยุติแล้ว โดยข้อสรุปเบื้องต้นคือทางครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์จะขายหุ้นทั้งหมดให้กับบริษัท สิงคโปร์ เทเลคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือสิงเทล ซึ่งเป็นพันธมิตรดั่งเดิมของกลุ่มชินคอร์ป และปัจจุบันก็ถือหุ้นอยู่ในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จำนวน 19.26% ในซีเอส ล็อกอินโฟ 13.45% และในบริษัทชินคอร์ป 1.08%

    โดยคาดว่าราคาที่มีการเจรจาตกลงซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 40-45 บาทต่อหุ้น ซึ่งจากจำนวนหุ้นดังกล่าวคิดตามราคา ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2548 (41 บาท/หุ้น) จะทำให้ดีลการซื้อขายครั้งนี้สูงถึงกว่า 47,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากที่จะจ่ายเป็นเงินสดแล้ว บางส่วนก็เป็นการสวอปหุ้นให้ครอบครัวชินวัตรไปถือหุ้นในสิงเทลแทน

    ทั้งนี้ บริษัทชินคอร์ปเป็นโฮลดิ้งคอมปะนีที่ลงทุนในบริษัทต่างๆ ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ

    แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อาจเป็นไปได้ว่าทางครอบครัวชินวัตรจะมีการเจรจาซื้อบางกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจโทรคมนาคมกลับคืนไปดำเนินการต่อ นอกจากนี้ก็ยังมีหุ้นบางส่วนที่เหลืออยู่โดยเป็นการลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ทางครอบครัวก็ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของบริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน)

    อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามไปยังนายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น ถึงกรณีการเจรจาดังกล่าว นายบุญคลีกล่าวปฏิเสธพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีกระแสข่าวเรื่องดังกล่าวออกมาหลายครั้ง และตนก็ให้คำตอบเช่นเดิมว่า ยังไม่มีการซื้อขายหุ้นแต่อย่างใด

    ก่อนหน้านี้ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นก็ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่า กลุ่ม ไชน่าเทเลคอมจากจีนได้เข้ามาเจรจาเพื่อซื้อหุ้นกลุ่มชิน พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติหารือเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น

    วิเคราะห์เหตุตัดสินใจถอย

    ขณะที่แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งในธุรกิจสื่อสารแสดงความคิดเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้กลุ่ม "ชินวัตร" ตัดสินใจที่จะขายหุ้นหรือถอยออกจากธุรกิจนั้น ความจริงก็เป็นปกติของการลงทุน ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องขายธุรกิจเพื่อทำกำไร และช่วงเวลานี้ถือว่าดีที่สุดของการที่ครอบครัวของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จะตัดสินใจขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ออกไป ปัจจัยแรกก็คือปัจจัยทางการเมือง เนื่อง จากขณะนี้เป็นช่วงขาลงของรัฐบาลทักษิณ มีความแน่นอนในหลายๆ ด้าน นอกจากนี้การขายธุรกิจให้ได้ราคาดีก็ต้องขายในจังหวะเวลาฐานะทางการเมืองยังเข้มแข็ง

    ปัจจัยที่ 2 คือปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดย เฉพาะในธุรกิจมือถือ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับชินคอร์ป ไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้นเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้ตลาดอยู่ในช่วงที่ใกล้อิ่มตัว อัตราการเติบโตของธุรกิจไม่สูงโดยจะพบว่ารายได้ของบริษัทเอไอเอส หรือดีแทค ผู้ให้บริการมือถือในตลาดไม่ได้เติบโตหวือหวาเหมือนเช่นในอดีต เนื่อง จากอัตราการเติบโตของฐานลูกค้าชะลอลงอย่างมาก ทำให้ภาพการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อแย่งฐานลูกค้าของคู่แข่ง ส่งผลให้รายได้ต่อเลขหมายลดลง ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายได้ของเอไอเอสในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมาก็หดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

    และการที่จะเติบโตในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อไปได้ผู้ให้บริการก็จะต้องก้าวกระโดดไปลงทุนในเทคโนโลยีระบบ 3 จี ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ซึ่งนายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหารของชินคอร์ปก็เคยบอกว่าอุตฯโทรคมนาคมจะต้องใช้เม็ดเงินเป็นแสนล้าน ซึ่งก็ทำให้อุตสาห กรรมโทรคมนาคมเป็นเวทีของยักษ์ต่างชาติมากขึ้น แม้แต่กลุ่มชินคอร์ปก็ต้องมีการระดมทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ครอบครัวชินวัตรจะต้องไปเหนื่อยเป็นหนี้จำนวนมหาศาลในการเพิ่มทุนเพื่อเพื่อรักษาสัดส่วนหุ้น

    "การที่ครอบครัวชินวัตรขายทิ้งหุ้นชินคอร์ป นอกจากที่จะได้ครอบครัวชินวัตรมีเงินสดในมือเกือบ 5 หมื่นล้านบาท อีกด้านหนึ่งก็จะทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถประกาศต่อสาธารณชนว่า ครอบ ครัวไม่ได้ทำธุรกิจการเมืองอะไรแล้วเป็นการเคลียร์ภาพตัวเองในทางการเมืองอีกครั้ง" แหล่งข่าวกล่าว

    ทั้งนี้จุดสำคัญที่จะต้องหาข้อยุติให้ได้ในที่สุดก็คือ การเจรจาเรื่องราคาที่จะเป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่าย กับอีกประการหนึ่งก็คือการที่กลุ่มสิงเทลไม่ สนใจธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือไปจากบริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่จะมีการจัดการอย่างไร หากตกลงในรายละเอียดเหล่านี้ได้ ก็อาจได้ข้อสรุปในการซื้อขายของทั้ง 2 ฝ่าย

    เผยเจรจาทั้งจีน-สิงคโปร์

    แหล่งข่าวกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาทางกลุ่มชินวัตรได้มีการเจรจาขายหุ้นกับนักลงทุนต่างชาติ หลายราย แต่ที่มีการเจรจากันอย่างเป็นทางการและใกล้ชิดก็คือกลุ่มยักษ์ใหญ่ บริษัท ไชน่า เทเลคอม จากประเทศจีน และกลุ่มสิงเทล ซึ่งเป็นปกติของการเจรจาก็ต้องเปิดเจรจากับหลายๆ รายเพื่อที่จะพิจารณาว่ารายไหนจะให้ราคาดีที่สุดและ เป็นการกดดันฝ่ายตรงข้าม เพราะทราบข้อมูลว่าทางกลุ่มชินวัตรได้มีการเจรจาขายหุ้นกับทางไชน่าเทเลคอมมาก่อน แต่ทางชินวัตรกำหนดราคาขายไว้สูงคือ 50 กว่าบาททำให้ไม่สามารถตกลงกัน

    แต่หลังจากที่กลุ่มเบญจรงคกุลได้ชิงตัดหน้าเปิดเกมขายทิ้งธุรกิจมือถือให้กับกลุ่มเทเลนอร์ไปก่อนหน้า ก็เท่ากับเป็นการสร้างเบนช์มาร์ก (benchmark) ราคาให้กับอุตสาหกรรม ทำให้นักลงทุนต่างชาตินำมาใช้เปรียบเทียบในการตกลงการซื้อขายของดีลอื่นๆ

    ด้านแหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมรายหนึ่งกล่าวว่า ทราบว่าดีลนี้ใกล้จะจบแล้ว และเท่าที่รู้มีการเจรจากันตั้งแต่ 5 เดือนที่แล้ว ก่อนที่จะเกิดกรณีระหว่างยูคอมกับเทเลนอร์ด้วยซ้ำ แต่ตกลงราคาไม่ได้ และทางชินฯก็ได้ไปคุยกับไชน่าเทเลคอมเพราะกลุ่มนี้ก็สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในเมืองไทยเช่นกัน แต่ก็ตกลงราคากันไม่ได้อีก จึงมีการเจรจากับสิงเทลใหม่ นอกจากเรื่องราคาที่ยังตกลงได้ยากแล้ว อีกส่วนก็เป็นสิงเทลต้องการเฉพาะธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอไอเอส

    ขณะที่นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ บริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการที่กลุ่มเบญจรงคกุลได้ตัดสินใจขายหุ้นใน ยูคอมและดีแทคให้กับเทเลนอร์ไปก่อน ถือว่าเป็น การตัดหน้ายักษ์ใหญ่และเป็นการสร้างมาตรฐานราคาในตลาด ซึ่งก็ทำให้การเจรจาของรายอื่นๆ อาจจะยากขึ้น

    ทั้งนี้ จะพบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาการซื้อหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปมีการเคลื่อนไหวมากเป็นพิเศษ โดยระดับราคาได้มีการไล่จาก 37-38 บาท จนเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ขึ้นไปสูงสุดที่ 41.75 บาท และมีการซื้อขายจำนวนมากโดย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2548 มีการซื้อขายสูงถึง 24 ล้านหุ้นด้วยมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท วันที่ 8 มีการซื้อขาย 15 ล้านหุ้น และ 9 ธันวาคมประมาณ 10 ล้านหุ้น

    หน้า 1

    จากคุณ : TauRuZ_PaSSeRBy - [ 13 ธ.ค. 48 01:11:07 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป