Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    นางเพ็ญจิตร ปัญญวัณศิริ กับพวก 9 คน - ฟ้องศาลน้ำมันแพง ใครกำไรใครขาดทุน [24 พ.ค. 50 - 15:45]

    ขอบคุณที่ยังมีคนดีๆในสังคม....เอาใจช่วยครับ....

    -----------------------------------------------------------

    นางเพ็ญจิตร ปัญญวัณศิริ กับพวก 9 คนยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ฟ้องรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน, ปลัดกระทรวงพลังงาน, สำนักนโยบายและแผนพลังงานแห่งชาติ, กรมเชื้อเพลิง, กรมการค้าภายใน และ ปตท.

    คดีหมายเลขดำที่ 990/2550 ลงวันที่ 17 พ.ค.2550

    พฤติการณ์ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย... ได้รับความเดือดร้อนจากการแบกรับภาระค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ (ค่าไฟฟ้า) ที่นับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆโดยไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริง

    “เมื่อน้ำมันแพง พ่อค้าคนกลางส่วนใหญ่จะฉวยโอกาส ขึ้นราคาค่ารถโดยสาร ค่าอาหาร ค่าขนส่ง ต้นทุนสินค้าทุกชนิด...สินค้าอุปโภค บริโภค แพงทุกอย่าง...โรงงานผลิตสินค้าก็ต้องเพิ่มต้นทุนบวกลงไปกับราคาสินค้า”

    กระทั่ง...การไฟฟ้าฯ ทั้งๆที่ใช้ก๊าซที่ขุดจากในประเทศเป็นหลัก ก็เพิ่ม ค่าไฟโดยอ้างราคาน้ำมัน

    ต้นทุนแพงทั้งเชื้อเพลิง ค่าขนส่ง เดือดร้อนกันถ้วนหน้า แต่ เวลาน้ำมันลง ค่าโดยสาร ค่าสินค้าอุปโภค บริโภคไม่ได้ลงตาม ทำให้ ผู้ฟ้องคดีและประชาชนเดือดร้อน

    จากการติดตามรายละเอียดข้อมูลใน ปตท. พบว่า ปตท.ไม่เสนอข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนให้ชัดเจนว่า ซื้อน้ำมันดิบมาจากแหล่งใด ราคาต้นทุนเท่าไหร่ ณ วันเวลาที่ขึ้นราคาน้ำมัน และวิธีคำนวณราคาน้ำมันเป็นอย่างไร

    แต่ที่ทำกันเปิดเผย...มักจะอ้างราคาน้ำมันสำเร็จรูป จากราคาสิงคโปร์ แหล่งน้ำมันเท็กซัส โดยมีสื่อบางสื่อเสนอข่าวคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนดูว่า น้ำมันขึ้นราคา

    ความจริงไม่ได้ซื้อจากแหล่งนั้นๆ เท่าที่ทราบ เคยซื้อจากตะวันออกกลาง ใช้เวลาส่งน้ำมันทางเรือ อย่างน้อย 45 วัน

    ดังนั้น ราคาน้ำมันที่บอกว่า...วันนั้น วันนี้ ขึ้นราคา คงไม่ใช่ ราคาต้นทุนน้ำมันที่แท้จริง ณ วันที่จะขึ้นราคา

    ตัวอย่าง ราคาน้ำมันดิบ เดือนพฤษภาคม 2550 น้ำมันดิบดูไบลิตรละ 12.57 บาท น้ำมันโอมาน ลิตรละ 12.62 บาท...ขณะที่น้ำมันเบนซิน ประเทศไทย ขายอยู่ที่ลิตรละ 29-30 บาท

    หากจะอิงไปถึงราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ ณ วันที่ 26 เมษายน 2550 ราคาบาร์เรลละ 87.31 ดอลลาร์ ตีเป็นเงินไทย ตกลิตรละ 19 บาท (1 ดอลลาร์ เท่ากับ 35 บาท, 1 บาร์เรล เท่ากับ 160 ลิตร)

    ส่วนต่างราคาเป็นภาพแรกที่ต้องชี้ให้เห็น...ราคาน้ำมันเมืองไทยกับสิงคโปร์ ต่างกันเกือบ 10 บาท

    เหตุที่ ปตท. ไม่บอกราคาน้ำมันเป็นบาทต่อลิตร เป็นความพยายามที่จะปิดบังข้อเท็จจริงอะไรหรือไม่?

    ราคาน้ำมันดิบกับน้ำมันสำเร็จรูปต่างกันเกือบ 2 เท่าตัว มาจากไหน?

    ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกร ราคาน้ำมันดิบปี 2548 อยู่ที่ลิตรละ 12.55 บาทเทียบกับราคาเบนซินหน้าโรงกลั่น (ราคาน้ำมันดิบ+ค่าการกลั่น) อยู่ที่ลิตรละ 18.6697 บาท จะมีส่วนต่างลิตรละ 6.1197 บาท

    ส่วนต่าง 6 บาท คือราคาค่าการกลั่น โดยประมาณของน้ำมันเบนซินในปี 2548

    น้ำมันหน้าโรงกลั่น ลิตรละ 18.6697 บาท กว่าจะเป็นราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกตามปั๊มถึงมือผู้บริโภค จะมีการบวกภาษีสรรพสามิตร 3.6850 บาท, ภาษีเทศบาล 0.3685 บาท, กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 1.5 บาท, และกองทุนเพื่อส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงาน 0.04 บาท

    รวมทั้งหมดนี้ เป็นราคาน้ำมันขายส่งหน้าโรงกลั่น อยู่ที่ลิตรละ 24.2632 บาท

    จากราคาขายส่ง ก็จะบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคาขายส่ง 1.6984 บาท, ค่าการตลาด...กำไรของปั๊มน้ำมัน 1.2882 บาท, และภาษีมูลค่าเพิ่มส่งการตลาด 0.0902 บาท

    สรุปแล้ว...ประชาชนจะซื้อน้ำมันเบนซิน ลิตรละ 27.34 บาท

    ข้อมูลเดือนเมษายน 2550 ต้นทุนน้ำมันดิบ อยู่ที่ลิตรละ 14.22 บาท... บวกค่ากลั่น...? บวกภาษี 5.8273 บาท...บวกกองทุนต่างๆ 3.53 บาท... บวกค่าการตลาด 0.4451 บาท...

    ยังไม่รวมค่ากลั่น ราคาเบนซินอยู่ที่ลิตรละ 24.0224 บาท แต่ราคาเบนซิน ณ ปลายเดือนเมษายน ลิตรละ 29 บาท เท่ากับว่าค่ากลั่นอยู่ที่ลิตรละ 4.9776 บาท

    โรงกลั่นคิดค่ากลั่นเกือบลิตรละ 5 บาท คิดเป็น 20% ของราคาขาย

    หากกลั่นน้ำมันวันละ 1 ล้านลิตร โรงกลั่นจะมีรายได้วันละ 4-6 ล้านบาท แต่ปั๊มน้ำมันขายน้ำมันเบนซินลิตรละ 29.99 บาท กำไรแค่ 0.441 บาท

    ที่น่าสนใจ...ค่าการกลั่นลิตรละ 4-6 บาท เป็นราคากลั่นเฉพาะหนึ่งผลิตภัณฑ์เท่านั้น น้ำมันดิบ 1 ลิตร...สามารถกลั่นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาต่างกันออกมาได้กว่า 10 ชนิด ภายในครั้งเดียว เช่น เบนซิน 95, เบนซิน 91, ดีเซลหมุนเร็ว, ดีเซลหมุนช้า, เอพี 1, LPG, ก๊าซหุงต้ม, ยางมะตอย และแนปตร้า

    กระทรวงพลังงานมีหนังสื่อ เรื่องการควบคุมราคาน้ำมัน ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ระบุว่า รัฐต้องควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความโปร่งใส เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

    นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 น้ำมันเบนซิน 95 ขึ้นราคาเกือบ 5 บาท โดยราคาน้ำมันดิบต่างประเทศดูไบและโอมาน เฉลี่ยอยู่ที่ลิตรละ 14.22 บาท เดือนกุมภาพันธ์น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 12.57 บาท

    ต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น 1 บาทกว่า แต่ราคาขายน้ำมันกลับเพิ่มขึ้นเกือบ 5 บาท เมื่อมาดูค่าการตลาด ปรากฏว่าลดลงไปเรื่อยๆ

    เป็นการตอบโจทย์ที่ว่า...ทำไม ผู้ค้าปลีกน้ำมันรายย่อย จึงทยอยปิดตัวกันไปเรื่อยๆ

    เคราะห์หนักตกอยู่กับประชาชน บริโภคน้ำมันแพง ของกินของใช้ก็แพงสวนทางกับสถานภาพทางธุรกิจของโรงกลั่น กำไรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยที่รัฐ... สำนักนโยบายและแผนพลังงานแห่งชาติ กรมเชื้อเพลิง กรมการค้าภายใน มิได้ให้ความเป็นธรรมในการควบคุม

    เมื่อดูผลประกอบการของ ปตท.กำไรส่วนหนึ่งมาจากการขายก๊าซ และ ก๊าซหุงต้ม โดยเฉพาะการขายก๊าซแบบผูกขาดให้การไฟฟ้าฯ ไม่เคยปรากฏว่า ต้นทุนที่ ปตท.ไปผูกขาดซื้อจากแหล่งขุดเจาะในราคาเท่าใด?

    เท่าที่ทราบจากคำฟ้องของนายแพทย์เหวง โตจิราการ ราคาต้นทุนก๊าซประมาณ 20 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งบวกค่าผ่านท่อ 20 บาท แต่ ปตท.ขายให้การไฟฟ้า 188 บาท ต่อล้านบีทียู...กำไรกว่า 4 เท่าตัว

    ทั้งที่กำไรมากขนาดนี้ ผู้ว่าการการไฟฟ้ายังออกข่าวว่า...การไฟฟ้าลดค่าไฟ ft ไม่ได้ ยังค้างต้นทุนค่าก๊าซให้ ปตท. 6,000 ล้านบาท

    ดูเหมือนว่าประชาชนโดนหมกเม็ดข้อมูลมาตลอด

    ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลโปรดพิจารณา ไต่สวน และดำเนินการ ดังนี้

    1. ยับยั้งการขึ้นราคาน้ำมันไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ต้นทุนที่แท้จริง และไม่ค้ากำไรเกินควร นำไปสู่การค้าที่เป็นธรรมต่อประชาชน โดยวิธีการที่โปร่งใส

    2. ให้กระทรวงพลังงาน ชี้แจงข้อเท็จจริง การขึ้นลงค่าน้ำมัน ว่าทำไม ต้องขึ้นเท่ากัน สี่สิบสตางค์ทุกครั้ง...ทุกปั๊ม ให้ชัดเจน โปร่งใส ยุติธรรม รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ ปตท.กำหนดราคา เช่น เบนซิน 91, ดีเซลหมุนเร็ว ดีเซลหมุนช้า ฯลฯ

    3. ให้กรมเชื้อเพลิงชี้แจงเกณฑ์ในการกำหนดราคาค่าก๊าซ ทำไมต้องให้ ปตท.ขายให้การไฟฟ้า ในราคา 188 บาทต่อล้านบีทียู และให้แสดงต้นทุนจริงของการซื้อก๊าซจากแหล่งผลิต

    4. ให้รัฐบาลหรือกรมการค้าภายในกำหนด หรือควบคุมอัตรา ค่าการกลั่น ซึ่งควรจะควบคุมทันที และควบคุมราคาค่าก๊าซ และก๊าซหุงต้ม รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นผลผลิตจากการกลั่นน้ำมันดิบ 1 ลิตร

    ทั้งหมดเหล่านี้ เพื่อสร้างความจริงให้ปรากฏ ราคาน้ำมัน ราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆจะได้ลดลง ประชาชนทุกคนก็จะแบกภาระลดลงไปด้วย.

    -------------------------------------------------------
    ที่มา..... http://www.thairath.co.th/news.php?section=hotnews02&content=48054

    ______________________________________________________________________
    Update อีกทีครับ (link. http://www.thairath.co.th/news.php?section=hotnews02&content=49112 )


    ปริศนาค่าการกลั่น ไทยสมรู้..ต้มไทย [2 มิ.ย. 50 - 16:50]

    โดนใจคนทั้งประเทศ เมื่อ นางเพ็ญจิตร ปัญญวัณศิริ กับพวก 9 คน ร่วมใจยื่นฟ้องหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและ ปตท. ต่อศาลปกครอง

    ประเด็นฟ้อง ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากการแบกรับภาระค่าน้ำมัน ที่นับวันสูงขึ้น โดยไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงว่า น้ำมันที่คนไทยใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มันแพงขึ้นตามสภาพความเป็นจริงหรือเปล่า

    สิ่งที่คณะผู้ยื่นฟ้องและคนไทยทั้งประเทศตั้งข้อสงสัยที่สุดคือค่าการกลั่น...

    น้ำมันยิ่งแพง ค่าการกลั่นแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว

    ค่าการตลาด...ให้กันยังไง น้ำมันแพง บริษัทค้าน้ำมันรวย แต่ทำไม ปั๊มถึงได้แข่งกันเจ๊ง

    ที่สำคัญค่าการกลั่น ค่าการตลาด มักจะถูกผู้ค้าน้ำมันหยิบยกเป็นข้ออ้างทวงบุญคุณจากประชาชน บีบให้รัฐบาลปรับขึ้นราคาน้ำมันมาโดยตลอด

    “ถ้าคิดกันแบบง่ายๆ ความจริงแล้วค่าการกลั่น ค่าการตลาดของธุรกิจน้ำมัน ไม่แตกต่างไปจากธุรกิจผลิตสินค้าอื่นๆแต่อย่างใด”

    ดร.สีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัทลานนารีซอร์สเซส นักวิชาการปิโตรเลียม ผู้ได้ทุนรัฐบาลไทยเรียนจบปริญญาตรี-โท-เอก ด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมโดยตรง...กล่าว

    ค่าการกลั่นก็เปรียบได้กับค่าแปรรูปสินค้า แปรรูปอ้อยเป็นน้ำตาล แปรรูปน้ำมันดิบเป็นน้ำมันสำเร็จรูป...ต้นทุนในการแปรรูปน้ำมันดิบเป็นเบนซิน เป็นดีเซลมีเท่าไร ค่าการกลั่นก็ควรจะเท่านั้น

    ค่าการตลาดก็เช่นกัน ก็เงินเปอร์เซ็นต์ เงินกำไร ที่ทางบริษัทน้ำมันจ่ายให้กับปั๊ม แบบเดียวกับบริษัทผลิตสินค้าอย่างอื่นจ่ายให้กับห้างร้านที่ขายปลีก ให้ผู้บริโภคนั่นแหละ

    ฟังคำอธิบายแล้ว ค่าการกลั่น ค่าการตลาด ไม่เห็นจะแปลกพิสดารตรงไหน เหมือนธุรกิจทั่วไป...แล้วที่มันมีปัญหาวุ่นวายขายปลาช่อน สับสนเสียจนชาวบ้านรู้สึกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบนั่นเป็นเพราะอะไร

    ดร.สีหศักดิ์ชี้ว่า เป็นเพราะการคิดค่าการกลั่นต่างจากสินค้าอย่างอื่นตรง...

    บริษัทน้ำมันคิดมาให้อย่างไร หน่วยราชการไทยเชื่อว่ามันเป็นจริงอย่างที่เขาว่า

    “หน่วยราชการไทยไม่มีข้อมูล ไม่มีมาตรฐานในการคิดคำนวณว่าค่ากลั่นน้ำมันที่แท้จริงของโรงกลั่นแต่ละแห่งนั้นมีต้นทุนเท่าไร

    น้ำมันดิบกลั่นออกมาเป็นดีเซล เป็นเบนซิน เป็นน้ำมันก๊าด น้ำมันเจ๊ทสำหรับเครื่องบิน เป็นก๊าซแอลพีจี แต่ละตัวมีต้นทุนเท่าไรกันแน่ ตัวเลขที่แท้จริงเราไม่รู้

    ตัวเลขที่ผู้ค้าน้ำมันบอกมาเป็นตัวเลขจริง หรือตัวเลขลวง หน่วยราชการไทยที่รับผิดชอบไม่มีตัวเลขมาตรฐานเปรียบเทียบ เพราะที่ผ่านมา ไม่มีการศึกษาวิจัยเรื่องต้นทุนค่าการกลั่นน้ำมันที่แท้จริงเลย”

    ที่สำคัญไปกว่านั้น ค่าการกลั่นที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้...คิดกันแบบรวบหัวรวบหาง....แล้วมัดมือชก

    “เขาคิดแบบซื้อน้ำมันดิบมาในราคาเท่าไร เมื่อกลั่นเสร็จ เอาผลผลิตที่ได้จากการกลั่นทุกอย่างไปเปรียบเทียบกับราคาขายในตลาดโลก ซึ่งก็คือราคาที่สิงคโปร์

    ผลิตภัณฑ์ที่กลั่นได้ทั้งหมดขายได้ในราคาเท่าไร เอาราคานั้นไปหักลบกับราคาน้ำมันดิบที่ซื้อมา ได้ผลลัพธ์ออกมาเท่าไรนั้นก็คือ ค่าการกลั่น”

    เช่น ซื้อนํ้ามันดิบมาในราคาบาร์เรลละ 60 เหรียญสหรัฐฯ พอนำมากลั่น ผลิตภัณฑ์ที่กลั่นได้ทั้งหมดเปรียบเทียบกับราคาในตลาดโลก ณ วันที่กลั่นออกมา สมมติว่า รวมกันแล้วขายได้ 100 เหรียญ

    เอา 100 ไปลบ 60...ค่าการกลั่นจะตกบาร์เรลละ 40 เหรียญ ส่วนจะเป็นลิตรละเท่าไรให้เอา 159 หาร...1 บาร์เรล เท่ากับ 159 ลิตร

    ฉะนั้น ค่าการกลั่นที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้....ไม่ได้คิดจากต้นทุนที่แท้จริงของการกลั่น

    ซ้ำร้าย...ค่าการกลั่นก็ไม่ได้คิดจากต้นทุนราคาน้ำมันดิบ ณ วันที่ซื้อมาจริง

    ประเด็นนี้ วิศวกรปิโตรเลียมระดับปริญญาเอกอธิบายว่า ปกติแล้วการซื้อน้ำมันดิบมากลั่น ประเทศไทยจะสั่งซื้อน้ำมันจากตะวันออกกลางเป็นหลัก เพราะในละแวกแถวบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย ถูกสิงคโปร์กว้านซื้อไปหมดแล้ว

    เราต้องไปซื้อไกล กว่าน้ำมันดิบจะมาถึงโรงกลั่นในบ้านเราจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ฉะนั้น การจะคิดค่า ก็ควรจะต้องคิดจากราคาน้ำมันดิบในวันที่ซื้อจริง

    แต่เขากลับคิดราคาต้นทุนน้ำมันดิบ ณ ปัจจุบัน...ที่มักจะแพงกว่า

    แม้ผู้ผลิตจะอ้างว่าราคาน้ำมันไม่แน่นอน มีความเสี่ยงสูง มีขึ้นมีลงตลอดเวลาก็ตาม...แต่โดยส่วนใหญ่ราคาปัจจุบันจะแพงมากกว่าราคาในอดีต เพราะมีขึ้นมากกว่าลง

    ถ้าลงมากกว่าขึ้น...ราคาน้ำมันต้องลงไปอยู่ต่ำกว่าลิตรละ 20 บาท ไม่ใช่ 30 บาทอย่างนี้

    เมื่อเอาราคาน้ำมันดิบปัจจุบันมาคิด ทำให้ตัวเลขที่ทำมาเสนอหน่วยราชการ ค่าการกลั่นจะออกมาต่ำกว่าความเป็นจริง

    โชว์ตัวเลขให้พอเชื่อได้ว่า...ฉันไม่ได้เอาเปรียบ

    แค่นั้นยังไม่พอ สิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้นั่นก็คือ...น้ำมันดิบที่ซื้อมา 1 ลิตร เวลากลั่นแล้วผลิตภัณฑ์ที่ออกมามีปริมาตรมากกว่า 1 ลิตร

    หลายคนอาจจะงง เป็นไปได้ยังไง?

    ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ เป็นวิทยาศาสตร์ล้วนๆเหมือนอย่างที่เราเรียนกันมา สสารทุกอย่างในโลกนี้ เมื่อโดนความร้อนแล้วโมเลกุลจะขยายตัว

    การกลั่นน้ำมันต้องใช้ความร้อน...ร้อนในระดับที่ ดร.สีหศักดิ์บอกว่า... น้ำมันดิบ 1 ลิตร กลั่นออกแล้วได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ลิตร

    คิดดูก็แล้วกัน การคิดค่าการกลั่นตามสูตรแบบนี้ จะทำให้บริษัทน้ำมันโกยกำไรจากค่าการกลั่นมากมายขนาดไหน

    นี่ยังไม่รวมกรณีโรงกลั่นรู้ข้อมูลภายในล่วงหน้า โรงกลั่นโรงไหนจะหยุดซ่อม ซึ่งส่งผลให้น้ำมันสำเร็จรูปขาดตลาด มีราคาแพง โรงกลั่นจะรีบสั่งซื้อน้ำมันดิบมากักตุน รอกลั่นขายตอนน้ำมันสำเร็จรูปแพง ฟันกำไรค่าการกลั่นมโหระทึก

    ฟังคำอธิบาย บริษัทค้าน้ำมันฟันกำไรจากค่าการกลั่นมหาศาล แล้วทำไมยังเรียกร้องขอเพิ่มค่าการกลั่นอยู่อีก?

    “นี่เป็นเทคนิคพื้นๆของบริษัทค้าน้ำมัน...” ดร.สีหศักดิ์ บอก

    “ถึงจะได้ค่าการกลั่นมหาศาล แต่เขามีเทคนิคที่สามารถนำค่าการกลั่นไปซุกไว้ตามที่ต่างๆไม่ให้เราได้รู้ทัน

    วงการค้าน้ำมันสามารถนำกำไรจากค่าการกลั่นไปซุกได้ทั้งที่โรงกลั่นที่ จ็อบเบอร์หรือธุรกิจขนส่งน้ำมัน และซุกไว้ที่ปั๊มหรือค่าการตลาด ขึ้นอยู่กับว่า เขาต้องการอะไร

    ถ้าอยากได้เงินไปลงทุนสร้างขยายโรงกลั่น ก็จะโชว์ตัวเลขว่าโรงกลั่นมีผลกำไรดี เพื่อจะได้ปั่นหุ้นเอาเงินมาลงทุน ยิ่งสร้างตัวเลขให้รัฐบาลเชื่อว่า ได้ค่าการกลั่นน้อยแล้วรัฐบาลเพิ่มค่าการกลั่นให้ หุ้นก็จะยิ่งพุ่งถล่มทลาย เมื่อได้ดั่งใจก็เอาค่ากลั่นไปซุกไว้ในธุรกิจอื่นเพื่อหากำไรต่อ”

    ค่าการตลาดก็เหมือนกัน ดร.สีหศักดิ์ ให้ข้อคิด...ทำไมน้ำมันแต่ละชนิดถึงได้ค่าการตลาดไม่เท่ากัน ทั้งที่ให้เท่ากันก็ได้

    เพราะน้ำมันไม่เหมือนสินค้าอย่างอื่นๆ ที่ให้ค่าตลาดไม่เท่ากัน จ่ายให้ มากกว่า เพื่อคนขายได้เชียร์ให้ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าของตัวเอง

    ธุรกิจน้ำมัน...เคยเห็นไหมที่มีเด็กมาเชียร์น้ำมัน เหมือนเชียร์เบียร์

    มีไหมที่เด็กปั๊มมาเชียร์คนขับรถให้เติม 95 ดีกว่า 91 หรือเชียร์ให้เติมดีเซลดีกว่าเบนซิน...ไม่มี

    เพราะในความจริง รถใช้อะไรก็เติมอย่างนั้น แต่ทำไมบริษัทค้าน้ำมันถึงให้ค่าการตลาดน้ำมันแต่ละชนิดไม่เท่ากัน...เพื่ออะไร?

    จะเพื่อสร้างความสับสนงงงวยให้เกิดขึ้นในระบบ และจะได้นำไปเป็นข้ออ้างขอขึ้นราคาไม่จบสิ้นหรือเปล่า?

    ในเมื่อค่าการตลาด ค่าการกลั่นเป็นเช่นนี้...เลยมีคำถามว่า หน่วยราชการไทยมีความสามารถที่จะรู้ให้ทันและปรับเปลี่ยนแก้ไขความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมได้หรือไม่

    วิศวกรปิโตรเลียมระดับด็อกเตอร์ บอกเพียงแต่ว่า ธุรกิจน้ำมันมีเงินเป็นแสนๆล้าน มีความสามารถที่จะจ่ายอะไรก็ได้

    เลยทำให้นักการเมือง ข้าราชการและคนที่เกี่ยวข้อง อยากแกล้งโง่...มากกว่าอยากฉลาดกันทั้งนั้น.
    ______________________________________________________________________

    แก้ไขเมื่อ 02 มิ.ย. 50 09:17:30

     
     

    จากคุณ : echo@off - [ 27 พ.ค. 50 07:11:41 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom