ความคิดเห็นที่ 48
Credit : ประชาชาติธุรกิจ
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02p0101070751&day=2008-07-07§ionid=0201
----------------------------------------------------------------------
ปตท.รื้อแผนนำเข้าแอลพีจี รับวิกฤตหนักแห่ติดเพิ่มแสนคันต่อเดือน
ปตท.ปรับแผนนำเข้าก๊าซหุงต้ม (LPG) ใหม่หมด หลังขาดแคลนหนัก จาก 20,000 ตัน มาเป็น 60,000 ตัน/เดือน "ประเสริฐ บุญสัมพันธ์" ยอมรับประเมินความต้องการใช้ LPG ครึ่งปีหลังไม่ถูก จากหลายปัจจัย รถใหม่-เก่าแห่ติดตั้งเดือนละแสนคัน คาดปีหน้าอาจต้องนำเข้าสูงถึงล้านตัน ถามใครจะแบกรับส่วนต่าง 600 เหรียญสหรัฐ/ตัน หากให้กองทุนน้ำมันชดเชยต้องจ่ายเกือบ 50,000 ล้านบาท
การขาดแคลนก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซ LPG กำลังลุกลามกลายเป็นวิกฤตใหญ่โต ในเมื่อไม่มี "ใคร" คาดการณ์ได้ว่าความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในแต่ละเดือนควรจะเป็นเท่าไร ส่งผลให้แผนการนำเข้าก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตกอยู่ในสถานะไม่แน่นอน เมื่อก๊าซ LPG "ขาด" บริษัท ปตท.จึงกลายเป็นจำเลยของสังคม สุดท้ายจึงมีการปรับเปลี่ยนแผนการนำเข้าก๊าซ LPG ใหม่หมดในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ด้วยการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 60,000 ตัน ในราคาที่สูงเกินกว่า 900 เหรียญ/ตัน ขณะที่ราคา ณ หน้าโรงกลั่นถูกบังคับไว้ประมาณ 330 เหรียญเท่านั้น
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงสถานการณ์ก๊าซหุงต้มว่า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ก๊าซหุงต้ม (LPG) ขาดแคลนซ้ำเหมือนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น บริษัท ปตท.เตรียมที่จะเสนอกระทรวงพลังงานให้เพิ่มปริมาณการนำเข้าก๊าซ LPG จากแผนเดิมที่ต้องนำเข้าเดือนละ 20,000 ตัน/เดือน ให้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 ตัน/เดือน เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ นายประเสริฐยอมรับว่า ที่ผ่านมามีการคาดการณ์ความต้องการใช้ก๊าซ LPG ผิดพลาดและไม่คาดคิดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ ซึ่งเชื่อว่าการขาดแคลนที่เกิดขึ้นมาจาก 1)ข่าวลือที่จะมีการปรับราคาก๊าซ LPG ในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้แห่มาเติมก๊าซก่อนที่จะมีการปรับราคาขึ้น กับ 2)การขนส่งก๊าซจากคลังไปยังผู้ค้ารายย่อยล่าช้า แต่ที่สำคัญยืนยันว่าบริษัท ปตท.ไม่ได้มีการ "กักตุน" ก๊าซ LPG แน่นอน บริษัทยินดีให้มีการตรวจสอบได้ เพราะขณะนี้แม้แต่ปริมาณสำรองก๊าซ LPG ในระบบบยังเหลือน้อยมาก
นอกจากนี้ ปตท.ยังมีความกังวลในส่วนของรถยนต์ใหม่ที่ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์หันมาติดตั้งก๊าซ LPG กันมากขึ้น ประมาณการกันว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 3,000 คัน/วัน ทั่วประเทศ หรือรวมทั้งรถใหม่และรถเก่าประมาณ 100,000 คัน/เดือน
"ผมเชื่อว่าหากอัตราการออกรถใหม่ป้ายแดงไม่ลดลง ภายในปีนี้น่าจะมีรถติดก๊าซเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 400,000 คัน ส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในปีหน้าต้อง เพิ่มขึ้นไปอีก อาจจะต้องมีการนำเข้าถึง 1 ล้านตัน นี่ยังไม่คิดไปถึงปี 2553 ถ้ายอดรถใหม่ยังไม่ลดลง เราอาจจะต้องนำเข้าก๊าซถึง 2 ล้านตันก็ได้" นายประเสริฐกล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัท ปตท.เชื่อมั่นว่าตัวเลขความต้องการใช้ก๊าซ LPG จะไม่หยุดลงแค่นี้ ประกอบกับแผนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 60,000 ตันนั้น ก็เป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนเฉพาะหน้าจากปริมาณสำรองก๊าซที่เหลือน้อยเต็มที ปัญหาด้านการขนส่งที่จะตามมาก็คือ เรื่องของเรือและอุปกรณ์ที่จะรองรับการนำเข้าก๊าซ LPG ตั้งแต่ท่าเทียบเรือ (เขาบ่อยา) ของ ปตท.ที่ออกแบบเพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซ LPG ได้เต็มที่ประมาณ 500,000-600,000 ตัน/ลำเท่านั้น
ปัญหาคลังเก็บก๊าซไม่พอรองรับ
หากในอนาคต ปตท.ต้องนำเข้าก๊าซในระดับ 1-2 ล้านตัน อาจจะต้องให้เรือที่ขนส่งก๊าซ LPG ลอยลำกลางทะเลแล้วใช้เรือเล็กออกไปทยอยขนถ่ายเข้ามาแทน ซึ่งต้นทุนจะเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะการลอยเรืออยู่กลางทะเลจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 100,000 เหรียญสหรัฐ/วันเลยทีเดียว และที่สำคัญจะต้องลอยลำอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ฉะนั้นต้นทุนจะเพิ่มขึ้นมหาศาลแน่นอน ปัญหาการนำเข้าก๊าซทั้งหมดนี้ทาง ปตท.ได้รายงานให้ภาครัฐทราบแล้ว
ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่การค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการนำเข้าก๊าซ LPG เพิ่มเติมจากแผนเดิมว่า ความต้องการใช้ก๊าซ LPG ยังเพิ่มต่อเนื่อง ภายในสัปดาห์หน้าจะมีเรือขนส่งก๊าซ LPG ทยอยเข้ามาอีกประมาณ 40,000 ตัน และคาดว่าจะส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องของคลังก๊าซ LPG ไม่สามารถรองรับปริมาณก๊าซที่เพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ได้ ที่สำคัญท่าเรือและคลังเขาบ่อยาถูกออกแบบไว้เพื่อการส่งออกมากกว่าการนำเข้า
ฉะนั้นจากนี้ต้องปรับระบบขนส่งเร่งระบายก๊าซ LPG จากคลังไปยังผู้ใช้ เพื่อให้ถังสามารถรองรับก๊าซ LPG ที่ยังค้างอยู่บนเรือได้
"คลังเขาบ่อยารองรับได้เต็มที่ 20,000 ตัน หรือประมาณครึ่งลำเรือที่ขนมาและต้องใช้เวลาขนถ่ายถึง 24 ชั่วโมงเต็มๆ จากนี้ไปเราต้องปรับระบบขนถ่ายให็เร็วขึ้น และส่งต่อไปยังผู้ใช้ก๊าซทั่วทุกภาคให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการแออัด วันนี้ต้องยอมรับ ว่าการขนส่งก๊าซ LPG มี 3 ช่องทาง คือ ทางรถยนต์ เรือ และรถไฟ เราส่งเต็มที่ทุกทางเพื่อความมั่นคงทางพลังงานและไม่ต้องการให้เกิดปัญหาก๊าซขาดอีก" นายสุรงค์กล่าว
ดังนั้นการนำเข้าก๊าซ LPG ที่จะเพิ่มขึ้นอีก 50,000-60,000 ตัน/เดือนนั้น ปตท.อาจจะต้องปรับแผนด้วยการให้เรือลอยลำรอกลางทะเลแทนการเทียบท่า แล้วจัดเรือเล็กทยอยขนส่งเข้ามา เพื่อจัดระบบโลจิสติกส์ให้รวดเร็วมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก หากสั่งให้เรือลอยลำกลางทะเลมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1,000 บาท/นาที
เงินชดเชยราคาก๊าซพุ่ง 7,344 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า การนำเข้าก๊าซ LPG ที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการชดเชย "ส่วนต่าง" ระหว่างราคาก๊าซนำเข้ากับราคาก๊าซที่ถูกบังคับขายภายในประเทศ โดยราคาก๊าซนำเข้าขณะนี้สูงกว่า 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ราคาขายในประเทศถูกกำหนดไว้ที่ 330 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 18.13 บาท/กิโลกรัม หรือมีส่วนต่างราคาอยู่ 600 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ดังนั้นหากรัฐบาลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้ชดเชยส่วนต่างราคาแล้ว จากการคำนวณปริมาณการนำเข้าก๊าซ LPG เบื้องต้นตามแผนการนำเข้าที่ปรับใหม่เป็นเดือนละ 60,000 ตัน คำนวณจากราคาก๊าซ LPG เฉลี่ยที่ 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปรากฏกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องรับภาระ "ชดเชย" ราคาก๊าซ LPG อยู่ที่ 19.386 บาท/กิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศอยู่ที่ 18.13 บาท/กิโลกรัมเหมือนเดิม
ดังนั้นเมื่อรวมการนำเข้าก๊าซ LPG ตลอดปี 2551 ที่ปริมาณไม่ต่ำกว่า 380,000 ตัน รวมเป็นเงินที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องจ่ายชดเชยอยู่ที่ 7,344 ล้านบาท
"ผมยังไม่รู้ว่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเดือนละ 60,000 ตันนั้น มันจะอุดไหวหรือไม่ และส่วนต่างที่เกิดขึ้น 600 เหรียญสหรัฐ/ตัน ใครจะรับผิดชอบ ทุกวันนี้มีเพียง ปตท.ที่นำเข้าเพียงรายเดียวและต้องรับภาระไปก่อน ผมถามว่าหากเราต้องนำเข้าก๊าซ LPG ในระดับ 1 ล้านตันแล้ว ผมเชื่อว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะแบกรับไม่ไหว เพราะทุกวันนี้รัฐบาลมีหนี้ค้างชำระการชดเชยราคาก๊าซ ที่ยังไม่จ่ายให้บริษัท ปตท.เกือบ 40,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ดังนั้นภาครัฐจะต้องเร่งพิจารณาว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะนำเงินส่วนไหนมารองรับ" นายประเสริฐกล่าว
ขณะที่พลโทหญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการว่าจะต้องมีการนำเข้าก๊าซ LPG เพิ่มเป็น 60,000 ตัน/เดือน และยังไม่มีการหารือในคณะทำงานถึง "ภาระ" ของกองทุนน้ำมันที่จะต้องเข้าไปดูแลราคาก๊าซ LPG ในส่วนที่ต้องนำเข้า
อย่างไรก็ตามคาดว่าการเข้าไปชดเชยราคาก๊าซ LPG คงไม่ใช้เวลานาน เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมามีบทเรียนแล้วว่าเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ฉะนั้นหลังจากมีความชัดเจน ที่จะปรับราคาก๊าซ LPG ขึ้น คาดว่าปริมาณการใช้ก๊าซ LPG น่าจะลดลงได้ระดับหนึ่ง
สำหรับส่วนต่างราคาก๊าซ LPG ที่บริษัท ปตท.นำเข้าไปก่อนหน้านี้รวมเป็นเงิน 323 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันให้กับบริษัท ปตท. และกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาว่าจะชดเชยอย่างไร เช่น อาจจะกำหนดให้บริษัท ปตท.สามารถไปหากำไรจากส่วนอื่นๆ มา ทดแทนการชดเชยที่กองทุนต้องจ่ายได้ หรือไม่
"วิธีคืนเงินตอนนี้ยังไม่ได้สรุป เบื้องต้นคำนวณวงเงินที่ ปตท.รับภาระไว้เท่านั้นยังไม่ได้ใส่เงินเข้าไปเลย จากนี้ประเด็นต่างๆ คงต้องหารือในระดับคณะทำงานเรื่องก๊าซ LPG และในระดับคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ต่อไป
กองทุนน้ำมันรายรับสุทธิเพียง 85 ล้าน บ.
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รายงานประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุด (25 มิ.ย.2551) ปรากฏกองทุนน้ำมันมีเงินสดในบัญชี 16,593 ล้านบาท ซึ่งเงินสดนี้แบ่งเป็นเงินสะสมสำรองเพื่อการชำระหนี้ 2,920 ล้านบาท เงินสะสมเพื่อการจ่ายดอกเบี้ยและไถ่ถอนพันธบัตรชุดที่ 3 (ต.ค.2551) 6,138 ล้านบาท เป็นเงินฝาก ธ.ก.ส. สำหรับโครงการส่งเสริมการปลูกปาล์ม 500 ล้านบาท หรือจะมีเงินคงเหลือในปัญชีอยู่ที่ 7,035 ล้านบาท
ส่วนหนี้สินมีรวม 12,984 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้พันธบัตร 8,800 ล้านบาท ภาระดอกเบี้ยพันธบัตร 258 ล้านบาท อีกส่วนคือหนี้ค้างชำระชดเชยรวม 3,600 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิง 185 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคาก๊าซ LPG 132 ล้านบาท (หนี้เก่าในอดีตยังไม่รวมหนี้ตรึงราคา LPG ใหม่ที่ 40,000 ล้านบาทในปัจจุบัน) หนี้ชดเชยน้ำมันดีเซล ไบโอดีเซล B 5 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 รวม 2,864 ล้านบาท หนี้เงินชดเชย B 100 รวม 55 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยการผลิตน้ำมัน เชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 4 364 ล้านบาท
แต่ที่สำคัญก็คือ กองทุนน้ำมันมีรายรับจากการส่งเงินเข้ากองทุนอยู่ที่ 1,084 ล้านบาท ในขณะที่มีรายจ่ายอยู่ที่ 999 ล้านบาท สรุปกองทุนน้ำมันมีรายรับมากกว่ารายจ่ายอยู่เพียง 85 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสถานะกองทุนน้ำมันขณะนี้ตกอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงมาก -----------------------------------------------------------------------
จากคุณ :
บอย@สาธร
- [
7 ก.ค. 51 13:19:59
]
|
|
|