Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
รัฐบาลกลางสหรัฐฯมีหุ้นอยู่ในบ.คู่แข่งโตโยต้าถึง 60% vote  

ข่าวนี้บอกอะไรเราได้บ้าง   อ่านเจอในคมชัดลึก  เห็นว่าน่าสนใจดี  เลยเอามาฝากเพื่อนๆครับ

http://www.komchadluek.net/detail/20100221/49190/วิบากกรรมโตโยต้าตกบัลลังก์ยนตรกรรมโลก.html

ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โตโยต้าต้องฝ่าฟันมรสุมลูกยักษ์ที่ถาโถมเข้าใส่ไม่หยุดหย่อนนับแต่ประกาศเรียกคืนรถยนต์ทั่วโลกเกือบ 8.5 ล้านคัน เพราะปัญหาด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะการเรียกคืนรถจากลูกค้าสหรัฐ ตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดของโตโยต้า

โดยยอดเรียกคืนกว่า 8 ล้านคันภายใน 4 เดือนที่ผ่านมา ยังมากกว่ายอดขายรถรวมปีที่แล้วของโตโยต้าที่ขายได้ 7.8 ล้านคันเสียอีก

แม้ โตโยดะ จะแถลงขอโทษลูกค้ากรณีเรียกรถคืนลอตใหญ่ที่การประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และขออภัยอีกครั้งที่ต้องเรียกคืนรถยนต์หลายล้านคันในประเทศ แต่คำขอโทษนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความผิดพลาดของโตโยต้าบรรเทาเบาบางลง แม้แต่สื่อมวลชนชั้นนำของประเทศอย่างหนังสือพิมพ์อาซาฮี และหนังสือพิมพ์โยมิอูริ ก็ออกมารุมสับโตโยต้าอย่างไม่มีชิ้นดีว่าจัดการปัญหาล่าช้า และทำประเทศเสียชื่อเสียง

หนังสือพิมพ์อาซาฮีชี้ว่า โลกกำลังเฝ้าจับตาดูการจัดการปัญหาของโตโยต้าให้นำปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนในการผลิตรถยนต์ที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับโยมิอูริที่วิจารณ์ว่า ความผิดพลาดครั้งนี้เป็นเพราะโตโยต้าเชื่อมั่นในอุปกรณ์ไฮเทคของตัวเองมากเกินไป และไม่ใส่ใจต่อการร้องเรียนของลูกค้าที่เคยร้องเรียนเรื่องความปลอดภัยมาก่อนหน้านี้

ความผิดพลาดครั้งใหญ่นี้เองที่ทำให้ชื่อเสียงที่สั่งสมมานานของค่ายรถอันดับ 1 ของโลก ซึ่งเป็นความภูมิใจของยนตรกรรมเอเชียมีอันต้องตกจากบัลลังก์ทองที่เคยนั่ง ชื่อเสียงที่เคยไร้มลทินกลับต้องมัวหมองจนถึงกับทำให้หลายคนอดตั้งคำถามในใจไม่ได้ว่า "โตโยต้าจะฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาได้หรือไม่?"

แถมผลการสำรวจล่าสุดยังพบด้วยว่า การเรียกคืนรถยนต์ครั้งมโหฬารของโตโยต้าได้บั่นทอนความสนใจของผู้บริโภคชาวสหรัฐที่มีต่อรถยนต์รุ่นอื่นๆ ของโตโยต้าไปเกือบหมด โดยร้อยละ 27 ผู้ที่เคยคิดจะซื้อรถยนต์ของโตโยต้าเป็นอันดับแรก ตอนนี้ได้เปลี่ยนใจไม่คิดจะซื้อรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นแห่งนี้อีกต่อไป ขณะที่อีกร้อยละ 49 ยังไม่แน่ใจว่าจะคิดซื้อรถยนต์ของโตโยต้าต่อไปดีหรือไม่

แม้แต่บริษัทให้บริการเช่ารถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอย่าง เอวิส บัดเจ็ต กรุ๊ป ไอเอ็นซี และ เอ็นเตอร์ไพรซ์ โฮลดิ้ง ก็ออกมาประกาศว่า ได้ถอดรถยนต์โตโยต้าออกจากบริการให้เช่ารถยนต์แล้ว หลังจากมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย

การเพลี่ยงพล้ำของโตโยต้ายังส่งผลดีต่อบริษัทรถยนต์คู่แข่งที่รอเวลาล้มยักษ์ โดยผู้ที่เตรียมจะซื้อโตโยต้า ตอนนี้ได้หันไปมองรถยนต์ของบริษัทคู่แข่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟอร์ด เชฟโรเลต ฮุนได และ ฮอนด้า ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเหมือนกันแทน

ส่วน เจเนอรัล มอเตอร์ส หรือ จีเอ็ม ของสหรัฐ ก็ออกข้อเสนอสุดเร้าใจว่าจะให้เงิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33,000 บาท) แก่เจ้าของรถยนต์หรือรถบรรทุกโตโยต้า และให้บริการไฟแนนซ์ฟรี หากพวกเขาหันมาซื้อรถยนต์ของจีเอ็มแทน

วิกฤติครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทโตโยต้าเองเท่านั้น หลายฝ่ายวิตกว่าการที่รัฐสภาสหรัฐถึงกับนำเรื่องนี้ขึ้นมาสอบสวนกันในสภาจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยิ่งตึงเครียดขึ้นไปอีกจากปัญหาเรื่องการตั้งฐานทัพสหรัฐที่เกาะโอกินาวา

แถมล่าสุด คณะกรรมาธิการรัฐสภาสหรัฐที่รับผิดชอบด้านการสอบสวนการเรียกคืนรถครั้งมโหฬารของโตโยต้า ยังได้ส่งคำร้องไปยังนายโตโยดะให้เดินทางมาขึ้นให้การในการสอบสวนครั้งนี้ด้วย โดย ส.ส.อีโดลฟัส ทาวน์ส ประธานคณะกรรมาธิการกำกับดูสภาและปฏิรูปรัฐบาล เขียนในจดหมายเชิญนายโตโยดะ อ้างอิงการเรียกตัวครั้งนี้มาเพื่อถามคำถามเด็ดที่ชาวอเมริกันอยากจะรู้มากที่สุดนั่นคือ "จะปลอดภัยไหมหากต้องขับรถโตโยต้า" นอกเหนือจากต้องการถามความชัดเจนว่า โตโยต้าจะจัดการอย่างไรกับวิกฤติเรียกคืนรถครั้งนี้

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่านายโตโยดะเองคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ความตึงเครียดระหว่างประเทศครั้งนี้เป็นไปในทิศทางใด

แต่ใช่ว่าคนสหรัฐเองจ้องแต่จะรุมฉีกซีอีโอของโตโยต้า เพราะบรรดาผู้ว่าการรัฐต่างๆ ที่โตโยต้าไปตั้งโรงงานอยู่อย่างรัฐอลาบามา รัฐอินเดียนา รัฐเคนทักกี และรัฐมิสซิสซิปปี ต่างออกมาปกป้องบริษัทเลือดซามูไรกันอย่างแข็งขัน โดยผู้ว่าการทั้ง 4 รัฐส่งจดหมายไปยังประธานคณะกรรมาธิการในทั้ง 2 สภาเรียกร้องว่า โตโยต้าจะต้องได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลกลางในการสอบสวนครั้งนี้

แถมยังพูดจี้ใจดำถึงประเด็นที่เรียกร้องความเป็นธรรมนี้ด้วยว่า เป็นเพราะรัฐบาลกลางมี "ความขัดแย้งทางผลประโยชน์" อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลสหรัฐถือหุ้นมหาศาลอยู่ในคู่แข่งของโตโยต้า ซึ่งเป็นการพาดพิงถึงบริษัทผลิตรถยนต์ของสหรัฐอย่างจีเอ็ม ที่รัฐบาลสหรัฐถือหุ้นถึง 60.8 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่คนญี่ปุ่นเอง แม้จะประหลาดใจกับปัญหาความปลอดภัยของโตโยต้า ก็อดกังขาไม่ได้ว่า วิกฤติครั้งนี้ช่างเกิดขึ้นในเวลาประจวบเหมาะกับที่โตโยต้าล้มแชมป์บริษัทจีเอ็มก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของโลกเมื่อปี 2551 และเกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐพยายามผลักดันนโยบายใช้สินค้าผลิตเองในประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

แต่ถึงแม้ใครจะคิดอย่างไร โตโยต้าเองก็ยืดอกยอมรับความผิดพลาดครั้งนี้ โดยปฏิเสธว่าไม่ได้ปกปิดความจริงเรื่องความผิดพลาดที่เกิดกับรถ และการที่โตโยต้าเรียกคืนรถรุ่นต่างๆ ก็ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมองว่า โตโยต้าจริงจังที่จะปรับปรุงภาพลักษณ์ของบริษัทให้ดีขึ้นด้วยการสร้างมาตรฐานความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้ผู้บริโภค

...ส่วนจะใช้เวลาเท่าใดนั้น เหลือแต่ความดีเท่านั้นที่จะเป็นข้อพิสูจน์

จากคุณ : myst-man
เขียนเมื่อ : 21 ก.พ. 53 19:42:45





[ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่] [กติกามารยาท] [Help & FAQ]       
 
ความคิดเห็น :
  PANTIP Toys
จัดรูปแบบ :
ไฟล์ประกอบ :
  Help
ชื่อ :
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com