Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
วิกฤต"แอร์พอร์ตลิงก์" ปัญหารุมเร้า-สายการบินเมิน-สถานีร้าง ติดต่อทีมงาน

11เดือนเต็ม ๆ ที่ "แอร์พอร์ตลิงก์-รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ" ระบบขนส่งมวลชนสายที่ 3 ของประเทศไทย ระยะทางรวม 28 กิโลเมตรเปิดให้บริการ นับจากวันที่ 23 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา


จากวันนั้นถึงวันนี้ หน่วยงานเจ้าของโครงการ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" ต้องปรับกระบวนยุทธ์แบบ 360 องศา กว่าที่ยอดผู้โดยสาร จะแตะ 42,000 เที่ยวคน/วัน

แม้ว่าสถิติผู้โดยสารที่มาใช้บริการจะเริ่มไต่ระดับดีขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะรับประกันได้ว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ เมื่อประมวลจากสารพันปัญหาที่เกิดขึ้น โดย "ประชาชาติธุรกิจ" รวบรวมได้อย่างน้อยถึง 10 ปัญหาด้วยกัน อาทิ อัตราพนักงานที่เปิดมาเกือบปียังบรรจุได้ไม่เต็มจำนวนตั้ง 500 คน เรื่องระบบฟีดเดอร์ลงจากรถไฟฟ้าแล้วไม่สามารถต่อรถโดยสารเพราะทางเชื่อมต่อยังเข้าไปไม่ถึง ตลอดจนปัญหาใหญ่ ๆ คือเรื่อง "เงิน" ที่จะนำมาหล่อเลี้ยงองค์กรและโครงการ ฯลฯ

ปัญหาใหญ่ "ขาดเงิน-ผู้นำ"

"ภากรณ์ ตั้งเจตนาสกาว" รองผู้ว่าการฝ่ายปฎิบัตการร.ฟ.ท. และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันผู้โดยสารเริ่มดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงแรกที่เปิดบริการ หลังจัดตั้งบริษัทลูกเสร็จพร้อมทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 140 ล้านบาท ซึ่งร.ฟ.ท.จะสำรองจ่ายให้ก่อนระหว่างรอกระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณให้ ทำให้มีเงินมาหมุนเวียนทำกิจกรรมการตลาดมากขึ้น

โดยปริมาณใช้บริการสูงสุดเป็นระบบรถโดยสารธรรมดาหรือ City Line เพราะจอดรับ 8 สถานี อยู่ที่ 38,000 เที่ยวคน/วัน สูงกว่าประมาณการที่ 36,999 เที่ยวคน/วัน มากสุดคือสถานีต้นทางที่ "สถานีพญาไท" ประมาณ 10,000 เที่ยวคน/วัน น้อยสุดที่ "สถานีบ้านทับช้าง" 800 เที่ยวคน/วัน

ส่วนระบบรถไฟด่วนหรือ Express Line ยังต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้อยากได้ 2,200 เที่ยวคน/วัน สถิติจริงเฉลี่ย 1,500 เที่ยวคน/วัน แต่ก็ถือว่าดับเบิ้ลจากเดิมที่มีแค่ 500-600 เที่ยวคน/วันถึง 2 เท่าตัว หลังปรับแผนใหม่ ยืดเส้นทางบางขบวนจากมักกะสันมารับคนที่พญาไท ลดค่าโดยสารจากเที่ยวละ 150 บาทเหลือ 90 บาทเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา

"รายได้ตอนนี้อยู่ที่ 1.3-1.4 ล้านบาท/วัน หรือประมาณ 30-40 ล้าบาท/เดือน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 77 ล้านบาท ...ก็ยังขาดทุน"

ตามแผนธุรกิจโครงการนี้วางแผนขาดทุน 4 ปีแรก แบ่งเป็นปีที่ 1 ติดลบ 1,100 ล้านบาท จะเริ่มมีกำไรตั้งแต่ปีที่ 5 หรือในปี 2558 ที่คาดว่าจะมีกำไร 800 ล้านบาท ขณะที่ "จุดคุ้มทุน" ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10-15 ปี

รักษาการซีอีโอ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ระบุว่า เงินทุนที่ได้มาจากทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาท ใช้ได้แค่ระยะสั้น 3-4 เดือนเท่านั้น ยังต้องการเงินเพิ่มทุนอีก 1,860 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่ "รอ" ให้กระทรวงการคลังจัดสรรเงินงบประมาณมาให้

อย่างน้อยที่สุด งวดแรกขอ 420 ล้านบาทก่อนเพื่อมาต่อลมหายใจเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการโอนพนักงานจากศศินทร์มายังบริษัท

"ปัญหาใหญ่แอร์พอร์ตลิงก์มี 2 เรื่อง ขาดเงินกับคนที่จะมาเป็นผู้นำ ตอนนี้จะใช้เงินจาก ร.ฟ.ท.แต่ละครั้งติดระเบียบขั้นตอนทำให้ทุกอย่างดูช้าไปหมด ไม่มีความคล่องตัว"

ไม่คุ้มค่าลงทุน 3.5 หมื่นล้าน

"ภากรณ์" ยอมรับด้วยว่า สถานะที่นั่งบริหารชั่วคราวตอนนี้ เป็นแบบ "แอร์พอร์ตลิงก์เปิดไป ปรับไป ต้องใช้เงินและเวลากว่าทุกอย่างจะลงตัว เพราะเป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่บริหารงานโดยราชการ และโดย ร.ฟ.ท. การดำเนินการต่าง ๆ อาจจะไม่ราบรื่นเหมือนเอกชนเท่าไหร่?

อีกด้านหนึ่ง "แอร์พอร์ตลิงก์" กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจาณ์อย่างหนักถึงความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนที่ร.ฟ.ท.ทุ่มไปกว่า 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 28,067 ล้านบาท และรถไฟฟ้า 7,035 ล้านบาท

เพราะดูเหมือนรถไฟฟ้าสายนี้วางแผนและลงทุน "ผิดที่ผิดทาง" ไปเสียหมด ใช้ประโยชน์ผิดคอนเซ็ปต์ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะแนวคิดให้เป็นรถด่วนรับคนไปสุวรรณภูมิ ข้อเท็จจริงตอนนี้กลับกลายเป็นการขนคนจากพื้นที่รอบนอกเข้าเมืองแทน

มักกะสัน กลายเป็นสถานีร้าง

ปัญหาที่ช็อกสังคมล่าสุดคือ ภาพลักษณ์สถานีหลักคือ "สถานีมักกะสัน" กลายเป็นสถานีร้าง เพราะไม่มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการระบบเช็กอินกระเป๋าเดินทางตามแผนที่วางไว้ โดยเคาน์เตอร์เช็กอินมีเพียง 2 สายการบินที่เป็นพันธมิตรคือ "การบินไทย" กับ "บางกอกแอร์เวย์ส"

แผนธุรกิจจึงพยายามปรับเข้าหาความเป็นจริงโดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเช็กอินกระเป๋าสักวันละ 200-300 ใบ/วัน แต่สถิติจริงมีเพียง 20 ใบ/วัน จนล่าสุดทำให้ "บางกอกแอร์เวย์ส" ทนไม่ไหวต้องถอนตัวปิดเคาน์เตอร์ทิ้ง เหลือ "ทีจี" เพียงเจ้าเดียวในขณะนี้

อย่าลืมว่า สถานีมักกะสันถูกคาดหวังไว้สูง หมดค่าลงทุนร่วม 2,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นเซ็นเตอร์ "ระบบเช็กอินกระเป๋า+อาคารจอดรถ" นอกจากปัญหาสายการบินถอนเคาน์เตอร์แล้ว ยังมีปัญหาอาคารจอดรถที่ไม่มีเอกชนรายใดสนใจประมูลสัมปทานบริหาร

"พฤติกรรมคนไทยไม่ใช่ ที่ออกจากบ้านแล้วจะมาเพื่อโรดกระเป๋าที่มักกะสัน สู้นั่งรถแท็กซี่หรือรถยนต์ส่วนตัวไปเช็กอินที่สุวรรณภูมิเลยดีกว่า มีค่าเท่ากันจึงทำให้สถานีนี้ไม่เวิร์ค"

ความหวังตอนนี้เพื่อจะพลิกฟื้นสถานะแอร์พอร์ตลิงก์ถูกโยนภาระให้กับความคาดหวังอนาคต "ต้องรอมักกะสันคอมเพล็กซ์ที่จะมาช่วยบูม แต่คงใช้เวลาอีกหลายปี? แหล่งข่าวจากร.ฟ.ท.กล่าว

ร.ฟ.ท.ยอมรับ "แผนรวนจริง ๆ"

ด้าน "ยุทธนา ทัพเจริญ" ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ยอมรับว่า เห็นปัญหาและพยายามหาแนวทางแก้ไขอยู่ อาทิ อาจจะต้องขยายชานชาลาสถานีมักกะสันเพิ่มเพื่อให้รถเลี้ยวจอดรับผู้โดยสารได้ หรือขยายรางเพิ่ม แต่ต้องใช้เงินกว่า 1,000 ล้านบาท รวมทั้งจัดกิจกรรมการตลาดมากขึ้น หาพันธมิตรที่เป็นทัวร์ริสต์ โรงแรม เป็นต้น

"ปัจจุบันนี้ ร.ฟ.ท.มีเงินสำรอง 800 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าเงินเดือนพนักงาน ค่าไฟฟ้า สร้างทางเชื่อมสถานี เป็นต้น แผนที่วางไว้แต่แรกตอนนี้รวนไปหมดแล้ว"

ทั้งนี้ แผนธุรกิจของแอร์พอร์ตลิงก์จะขาดทุน 4 ปีแรก เริ่มมีกำไรในปีที่ 5 รายได้หลักมาจาก 2 ส่วนคือ 1. ค่าโดยสารเฉลี่ยปีละ 500-600 ล้านบาท 2.ค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์และโฆษณาที่ให้สัมปทานเอกชน 10 ปีกว่า 220 ล้านบาท

ล่าสุดอยู่ระหว่างสรรหาเอกชนมาดำเนินการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ และรายได้จะเริ่มเข้าบริษัทลูกตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป มีสัดส่วน 70% ของ 220 ล้านบาท หรือประมาณ 109 ล้านบาท

ทางเลือกสุดท้าย "แปลงหนี้เป็นทุน"

ระหว่างรอเงินจากกระทรวงคลัง ถามว่า ร.ฟ.ท. มี "แผนสำรอง" หรือไม่

"ผู้ว่าฯ ยุธนา" ชี้แจงว่า ทางที่ปรึกษาการเงินเสนอแนวทางที่น่าสนใจโดยอาจต้องใช้วิธีแปลงหนี้เป็นทุน จากภาระหนี้บริษัทลูกที่รับภาระลงทุนซื้อรถไฟฟ้า 7,035 ล้านบาท นำมาแปลงเป็นทุนหารายได้เพิ่ม เนื่องจากบริษัทลูกจะต้องชำระหนี้คืน 7,035 ล้านบาทให้กับ ร.ฟ.ท. ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป เฉลี่ยปีละ 633 ล้านบาท

ส่วนหนี้ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน 28,000 ล้านบาท ทางร.ฟ.ท.รับภาระให้แล้ว โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินงบประมาณให้

อาจกล่าวได้ว่าทุกอณูของโครงการแอร์พอร์ตลิงก์เป็น "เผือกร้อน" ก้อนโต อยู่ในมือใครก็มีแต่จะนำความปวดแสบปวดร้อนมาให้ จนกระทั่งพรรคการเมืองนำไปเป็นประเด็นหาเสียงเพื่อจะเข้ามาแก้ปัญหา จุดโฟกัสน่าจะอยู่ที่ "ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย" ส่วนจะได้มือฉมังขนาดไหน ต้องรอลุ้นหลังเลือกตั้ง 3 ก.ค.นี้

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1308973322&grpid=02&catid=&subcatid=

จากคุณ : OFDMA
เขียนเมื่อ : 25 มิ.ย. 54 15:35:23




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com