Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
แตกประเด็น "กทม." จำยอมล้ม ‘สกายวอร์ก’ เฟส 2 เพราะต้นเหตุมาจาก สตง ติดต่อทีมงาน

จากประเด็น "กทม." จำยอมล้ม ‘สกายวอร์ก’ เฟส 2 หลังโครงการแรกเจอ สตง.ท้วงไม่โปร่งใส ลั่นเดินหน้าสร้างเส้นอื่นต่อ
http://www.pantip.com/cafe/ratchada/topic/V10921341/V10921341.html

จนผู้บริหาร กทม เกิดการ สมน้ำหน้า คน กทม นั้น สงสัยมาจาก สตง ตรวจสอบจนหาทางออกไม่ได้ เลยน๊อตหลุดนิดหน่อย

http://www.suthichaiyoon.com/detail/9400

สตง.สั่งกทม.ทบทวน'สกายวอล์ค'4.2พันล้าน
วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

สตง.สั่งผู้ว่าฯ กทม.ทบทวนโครงการก่อสร้างทางเดินยกระดับสกายวอล์ค 4 เส้นทาง มูลค่าลงทุนกว่า 4.2 พันล้านบาท หลังตรวจสอบพบการตัดสินใจลงทุนโครงการขาดข้อมูลสำคัญหลายเรื่อง ไม่มีข้อมูลการศึกษาความเป็นไปได้ เส้นทางไม่สอดคล้องวัตถุประสงค์ ขาดความพร้อมบริหารจัดการ ส่อเอื้อประโยชน์เอกชนมากกว่าสาธารณะ เสี่ยงเสียหายมากกว่าได้ประโยชน์

โครงการก่อสร้างทางเดินยกระดับ หรือ Skywalk ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระยะที่ 1 ใน 4 เส้นทาง วงเงินลงทุน 4.256 พันล้านบาท ส่อเค้ามีปัญหา เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาทบทวนการดำเนินโครงการ

แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการ สตง.ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ สตง.ได้ทำหนังสือถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ทบทวนโครงการการก่อสร้างทางเดินยกระดับ (Skywalk) ระยะที่ 1 ใน 4 เส้นทาง วงเงินลงทุน 4.256 พันล้านบาท พร้อมกับให้เปิดรับฟังความเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในการดำเนินโครงการหรือยกเลิก หรือก่อสร้างบางช่วงที่มีข้อมูลชัดเจนว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนและลดความขัดแย้งหรือการคัดค้านที่เกิดขึ้น

หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า จากการตรวจสอบของ สตง.พบว่า การตัดสินใจดำเนินโครงการทางเดินยกระดับ 4 เส้นทาง ยังขาดข้อมูลที่สำคัญหลายประการ และขาดการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการโครงการ รวมทั้งการก่อสร้างในทางเส้นทางไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ

“ส่งผลกระทบให้การดำเนินโครงการนี้ ซึ่งมีวงเงินลงทุนจำนวนมากถึง 4.256 พันล้านบาท มีความเสี่ยงที่จะไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และเกิดความเสียหาย แม้ว่าจะมีการคิดค่าใช้จ่ายกับอาคารเอกชนที่ขอเชื่อมต่อ แต่ก็ส่อให้เห็นว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเอกชนยิ่งกว่าประโยชน์สาธารณะโดยแท้จริงตามความจำเป็น”

หนังสือ สตง.ยังระบุด้วย จากการตรวจสอบของ สตง.พบว่า กทม.ไม่ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว จึงไม่สามารถประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน ไม่มีข้อมูลผู้ได้รับประโยชน์ และผลกระทบจากโครงการ รวมทั้งผู้คัดค้านโครงการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบหรือความเสียหายต่อโครงการ

ส่วนกรณีที่ กทม.ให้เหตุผลการดำเนินโครงการทางเดินยกระดับในระยะแรก 4 เส้นทาง ว่า เพื่อลดการใช้รถยนต์ และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน จากการตรวจสอบข้อมูลของทีมตรวจสอบ พบว่าการก่อสร้างโครงการสกายวอล์คในเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศ เป็นการก่อสร้างในพื้นที่ที่มีลักษณะซับซ้อนของทางยกระดับต่างๆ ในบริเวณทางแยก ไม่มีลักษณะของการสร้างใต้ระบบขนส่งมวลชนระยะยาวเหมือนกับที่ กทม.กำลังจะสร้าง

นอกจากนี้ ยังพบว่าบางเมือง เช่น นิวยอร์ก มีการรื้อทิ้งสกายวอล์คที่สร้างแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้นหาก กทม.ตัดสินใจดำเนินการในพื้นที่ที่ไม่มีข้อมูลชัดเจน ว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนแล้ว อาจเกิดความเสียหายได้

ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยและผู้สัญจรตามแนวเส้นทางที่จะก่อสร้าง ก็เป็นการสำรวจเพียงสอบถามว่าเห็นด้วยกับการจัดให้มีทางเดินยกระดับหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ให้ข้อมูลว่าใช้งบประมาณของ กทม.และต้นทุนดำเนินโครงการเท่าใด

อีกทั้งการสำรวจก็ไม่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ที่จะชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มปริมาณการใช้งาน จำนวนประชาชนผู้ใช้ทางเดินยกระดับในแต่ละสายทางมากน้อยเพียงใด จำนวนอาคาร สำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม หรืออื่นๆ ที่มีความต้องการเชื่อมต่อเข้าสู่ทางเดินยกระดับมีจำนวนเท่าใด

สตง.ยังมีความเห็นว่า เส้นทางที่ กทม.จะดำเนินการในระยะที่ 1 ส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินโครงการ เพราะจากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า กทม.ให้เหตุผลว่ามีนโยบายลดการใช้รถยนต์ และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน ไม่สอดคล้องกับการก่อสร้างทางเดินยกระดับใน 4 เส้นทาง

เนื่องจากเส้นทางจากสถานีรถไฟฟ้านานาถึงสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง และเส้นทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงสี่แยกปทุมวัน กลุ่มเป้าหมายสำคัญของเส้นทางนี้คือ ประชาชนที่อยู่ตามอาคารสำนักงาน คอนโดที่พักอาศัย และโรงแรม บริเวณใกล้ถนนสุขุมวิท ที่จะจอดรถไว้ที่อาคารและเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า แต่ กทม.ไม่มีข้อมูลที่จะชี้ให้เห็นว่าประชาชนกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวมีจำนวนเท่าใด และไม่มีผลการสำรวจความเห็นของประชาชนที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม

ขณะที่เส้นทางจากหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงถึงสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน เป็นช่วงที่ไม่มีระบบขนส่งมวลชนยกระดับ ผู้ใช้จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่สามารถเดินทางบนทางเท้าด้านล่างได้ เนื่องจากมีร้านค้าจำหน่ายสินค้า ดังนั้นวัตถุประสงค์จึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้คนเดินเท้า ไม่ได้ลดการใช้รถยนต์ และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนตามที่ กทม.อ้าง มีเพียงเส้นทางสถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่ บริเวณใต้สะพานข้ามแยกตากสินเท่านั้น ที่ตรงตามเหตุผลในการดำเนินโครงการ

นอกจากนั้นยังพบว่า การเดินทางบนทางเดินยกระดับ ไม่สามารถเดินได้ตลอดเส้นทาง เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าได้ทุกสถานี เพราะสถานีรถไฟฟ้าบางแห่งเป็นอาคารที่ไม่สามารถเชื่อมต่อได้ ถึงแม้บางแห่งเชื่อมต่อได้ ประชาชนก็ไม่สามารถเดินผ่านสถานีรถไฟฟ้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สตง.พบว่า กทม.ยังขาดการเตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการโครงการ กล่าวคือ ตามโครงการทางเดินยกระดับ จะคิดค่าใช้จ่ายกับอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม ที่ต้องการขออนุญาตเชื่อมต่อเข้าสู่ทางเดินยกระดับ แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์ วิธการเชื่อมต่อ และการคิดค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อ ยังไม่กำหนดวันแล้วเสร็จ โดยยังไม่มีความชัดเจนว่า กทม.จะให้หน่วยงานของ กทม.หรือว่าจ้างบริษัทเอกชนมาทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการ รวมทั้งยังไม่มีมาตรการหรือวิธีป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการค้า ขึ้นไปค้าขายบนทางเดินยกระดับ

"ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อาศัยอำนาจมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 301 วรรคท้าย ประกอบ มาตรา 302 (3) พิจารณาแล้ว เห็นชอบกับผลการดำเนินงานของ สตง.ให้ผู้ว่าฯ กทม.ทบทวนการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 โดยจัดให้มีการสำรวจข้อมูลความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในการดำเนินโครงการหรือยกเลิก หรือก่อสร้างบางช่วงที่มีข้อมูลชัดเจน ว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน"

"ขณะเดียวกัน ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ข้อ 5 วรรค 1 เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนและลดความขัดแย้งหรือการคัดค้านที่เกิดขึ้น หรือรับฟังความเห็นจากนักวิชาการและผู้คัดค้านโครงการ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจดำเนินโครงการและกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการดำเนินงานโครงการ เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยง และความเสียหายที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ กทม.ควรเร่งรัดการจัดเตรียมความพร้อมด้านบริการจัดการโครงการ" ในตอนท้ายของหนังสือ สตง.ถึงผู้ว่าฯ กทม.ระบุ

แก้ไขเมื่อ 12 ส.ค. 54 12:51:57

จากคุณ : คุณนายสะอาด
เขียนเมื่อ : วันแม่แห่งชาติ 54 12:42:23




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com