CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    ///////////////บทความทดสอบ VIGO เขียนโดยอาหมูครับ/////////////////////

    *** บทที่ 1 ****
    VIGO โดย ธเนศร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
    ที่มา : http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=0411100947&srcday=2004/09/10&search=no

    อาจจะอีกนาน กว่าที่รัฐบาลชุดนี้จะนึกได้ว่า กำลังผลาญคะแนนนิยมลงไปทุกขณะ กับการจ่ายเงินชดเชยให้น้ำมันดีเซลราคาต่ำกว่าเบนซินลิตรละ 3-4 บาท โดยปล่อยให้คนใช้รถเบนซินต้องชอกช้ำกับราคาเบนซินสูงลิ่วเช่นนี้ไป อย่างมีเหตุผลไม่เพียงพอ

    ทุกวันที่เดินทางผ่านทางด่วน และเส้นทางในกรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่ต่างจังหวัด ผมเห็นรถกระบะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ถูกนำมาขับขี่กันมากมาย และที่มากมายนั้น เป็นรถกระบะที่แสดงออกว่า ไม่ใช่รถเพื่อการพาณิชย์ หากแต่ใช้เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งแบบรถยนต์แบบ PPV ดีเซล แบบสี่ประตู แบบแค็บที่ตกแต่งด้านกระบะบรรทุกของบ้าง ชนิดชัดเจนว่า ไม่ได้มีไว้บรรทุกอะไรเลยทั้งสิ้น

    แน่นอน เขียนหนังสือสมัยนี้ ต้องระวัง ต้องบอกว่า มีเหมือนกัน สำหรับกระบะบรรทุกที่เห็นอยู่ แต่สำหรับในกรุงเทพมหานครนี้ เวลาตั้งแต่สิบเอ็ดโมงเช้า ไปถึงหกโมงเย็น ผมเห็นกระบะบรรทุกวิ่งกันไม่มาก อย่างน้อย ก็ไม่มากเท่ากับกระบะใช้งานส่วนบุคคล ที่พูดถึงในย่อหน้าก่อนละครับ

    ความอยุติธรรม จะส่งผลให้คะแนนนิยมตกต่ำลง ไม่มากก็น้อย

    ผมยังไม่สังเกตเห็น Toyota Hi-Lux VIGO ป้ายแดงบนถนนที่ผมใช้อยู่เป็นประจำ แน่นอนที่มีออกมาแล้ว แต่ผมยังไม่เห็น ก็เท่านั้นเอง

    VIGO ก็เป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล ใช้น้ำมันราคาถูกอยู่แล้ว และยิ่งตอนนี้ ราคาน้ำมันดีเซลยิ่งถูกกว่าที่ควร ในขณะที่น้ำมันเบนซินถีบตัวสูงขึ้น และสูงขึ้น จนหากมีเงินแค่พันบาท น้ำมันเหลือในถังขีดเดียว ผมไม่กล้าเข้าไปบอกพนักงานเติมเชื้อเพลิงว่า เต็มถังครับ หรอกครับ

    ยิ่งใช้บัตรเครดิตเติมน้ำมันได้ ยิ่งต้องนึกถึงสิ้นเดือน เวลาแห่งการสะสมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับเชื้อเพลิง

    นานนักหนามาแล้ว ที่โตโยต้ามีอัตราการผลิตรถยนต์กระบะน้อยกว่าอีซูซุ และนั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์กระบะหนึ่งตันของโตโยต้า ในประเทศไทย ต่ำกว่าอีซูซุสะสมกันมากว่าสิบปี น่าจะรวมถึงปีนี้ ที่ทำอย่างไร ก็ไม่น่าจะทันอีซูซุ

    แต่ปีหน้า หากอีซูซุขยายกำลังการผลิตไม่ทัน ผมค่อนข้างมั่นใจว่า โตโยต้าที่ปัจจุบัน ประกาศจำนวนการผลิตรถกระบะหนึ่งตัน สูงถึง 280,000 คัน เอาไว้จำหน่ายในประเทศ 140,000 คัน ที่เหลือส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ก็จะต้องขึ้นมาเป็นผู้นำในเรื่องจำนวนจำหน่ายรถยนต์กระบะหนึ่งตันในบ้านเราอย่างแน่นอน

    แสดงให้เห็นว่า ส้มหล่นแน่ แต่จะเป็นหล่นให้กับโตโยต้า หรือหล่นไปทางอีซูซุในเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาแล้ว ก็ไม่ทราบเหมือนกัน

    การตัดสินใจปรับเปลี่ยน และขยายกำลังผลิตรถยนต์กระบะหนึ่งตันของโตโยต้า เป็นก้าวสำคัญ ที่มองเห็นชัดเจนว่า โตโยต้ามุ่งมั่นในการครองตำแหน่งจ้าวตลาดรถยนต์ของไทย อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นไป

    หลายท่านคงจำได้ ที่ผมเคยพูดไว้ในคอลัมน์รถยนต์ ของมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อราวต้นปีนี้ ว่า หากรัฐอนุมัติให้รถกระบะใช้สปริงคอยล์ แทนแหนบได้ ในช่วงกลางของปีนี้ เราจะได้เห็นรถกระบะใช้เครื่องยนต์คอมมอนเรล วิ่งด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกันก่อนสิ้นปี

    เวลานั้น มาถึงแล้วครับ แต่กระบะคอมมอนเรล ก็ยังไม่ไปเร็วถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะยังติดพันธนาการเกี่ยวกับการฉีดเชื้อเพลิง ที่ผู้ผลิตดึงเอาไว้ ไม่ปล่อยให้ไปได้ถึง เพราะแน่นอนว่า ยังมีอีกรุ่น และอีกรุ่น สำหรับการใช้คำว่า พัฒนา

    แค่ 180-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากกระบะบรรทุกหนึ่งตัน ที่ปัจจุบัน ทุกค่ายยอมรับกันในทีแล้วว่า บรรทุกได้มากกว่าสองตัน เพื่อตามใจลูกค้านั้น ก็เป็นความเร็วสูง ที่มาเร็วกว่าการคาดหมายของผมด้วยซ้ำ

    ผมคาดว่า จะเป็นความเร็วสูงสุด ที่อืดอาดกว่าจะขึ้นไปถึง แต่ที่ได้พบจากการทดสอบขับมานั้น ไม่ใช่เช่นนั้น

    ไม่มีอาการอืดอาด ต้องรอรอบ ต้องรอการเร่งความเร็วที่ค่อยค่อยขึ้นไปทีละน้อย แบบลุ้นกันตัวโก่ง กดคันเร่งบี้แล้วบี้อีก เพื่อให้ขึ้นไปถึงระดับความเร็วนั้นๆ อย่างที่เคยรับรู้ รับสัมผัสมาแต่อย่างไร

    VIGO ออกตัวเร็ว และอัตราเร่งแรง อย่างเห็นได้ชัด รถที่ผมทดสอบขับ ไม่ได้แสดงอาการขึ้นไม่ไหว หรือไม่อยากขึ้นสู่ความเร็วระดับสูงสุดนั้นเลยแม้แต่น้อย แสดงถึงพลังอันมหาศาลจากเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล D4D ของโตโยต้า ที่เพียงพัฒนามาใช้การฉีดเชื้อเพลิงแค่ 3 จังหวะ ทั้งที่ทำได้ถึง 5 จังหวะ เครื่องยนต์ก็เดินเงียบ เรียบ และแรงเกินความคาดหมายไปแล้ว

    อัตราเร่งของ VIGO มีมาให้อย่างต่อเนื่อง เหมือนจะไม่สิ้นสุด กำลังที่เหมือนน้ำทะลักทลายออกจากทำนบที่กักไม่ไหว อาจจะทำให้คุณได้เห็นรถกระบะหนึ่งตันคันนี้ แซงหน้ารถเก๋งไปได้แบบฉีดหาย ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่เช่นนั้น หากแต่คนขับรถเก๋งอาจจะไม่ทันนึกระวังรถกระบะที่ตามมาเห็นห่างๆ แต่แรก เพียงไม่กี่วินาที รถกระบะก็ทัน และแซงไปได้เร็วกว่าคนขับรถเก๋งจะกดคันเร่งกันท่าไม่ให้แซง

    ผมบอกแล้วว่า ถนนบ้านเรา ขับรถได้ด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแทบทุกถนนที่เป็นทางหลวงแผ่นดิน หากจะกักเอาไว้ให้วิ่งแค่ 90 รถจะแน่นถนน และคนขับรถเก๋งจะลำบากมาก เมื่อต้องขับตามกระบะที่สูงกว่า

    แต่นักการเมืองผู้มีรถนำขบวน ก็ยังไม่ฟังเสียงใคร ยังต้องการบังคับ ครับ ต้องใช้คำว่าบังคับ ให้คนเขาประหยัดเชื้อเพลิงกันตามกระแส ด้วยการใช้ความเร็วต่ำกว่าถนน และความสามารถของรถ ที่ควรจะทำได้

    เวลาที่ขับรถช้ากว่า 120-125 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผมมักจะเผลอง่าย ปล่อยสมาธิหลุดไปจากการบังคับควบคุมรถง่าย จนหลายครั้ง ต้องสะดุ้งเมื่อพบกับความกะทันหันของสถานการณ์ข้างหน้า ขืนขับรถบนทางหลวงระหว่างจังหวัดด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผมคงหลับคาพวงมาลัย

    เพราะแค่อยากประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยการขับแค่ 110 กิโลเมตร ผมยังง่วง ยังเบลอ มองทางข้างหน้าแบบมองผ่านๆ ไป เหมือนฉากภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง

    ยังดีนะครับ ที่ Ford Escape ของผมเงียบ เมื่อขับขี่แค่ 110 กิโลเมตร และเมื่อวิ่งที่ความเร็ว 120 กิโลเมตร เครื่องยนต์ก็ยังเงียบอยู่ แต่กระแสลมที่ผ่านและปะทะตัวถังแบบ SUV ของรถ จะเริ่มส่งเสียงดังเข้ามาในห้องโดยสาร อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของรถแบบ SUV อยู่แล้ว ผมก็จะรู้สึกตัว ตื่นตัวเต็มที่ขึ้น และลดความเร็วลงได้บ้าง

    พูดถึงความเงียบ ผมก็เห็นจะต้องบอกว่า นอกจาก VIGO จะเกาะถนนดีเยี่ยมสำหรับรถกระบะหนึ่งตันแล้ว ก็ยังมีห้องโดยสารที่เงียบเพราะขาดเสียงเอะอะจากการทำงานของเครื่องยนต์ดีเซล ที่เงียบเพราะการใช้จังหวะฉีดเชื้อเพลิงแบบ Pilot ถึงสองจังหวะเข้ามารบกวน คือตอนนี้น่ะ เสียงเครื่องยนต์ VIGO ดังพอๆ กับเครื่องเบนซิน

    จนเมื่อคุณขับเร็วกว่า 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เสียงลมปะทะตัวถังจะดังเข้ามา และแน่นอนครับ คนขับรถหลายคนจะไม่ยอมเข้าใจ ว่านี่เป็นเรื่องปกติ ของรถยนต์รูปทรงนี้ จะต้องนำรถเข้าศูนย์บริการ เพื่อให้แก้ไขไม่ให้มีเสียงลมดังเข้าห้องโดยสาร อันเป็นปกติธรรมดาของคนไทยอีกเช่นกัน

    ผู้จัดการศูนย์บริการก็จะต้องปวดหัว เพราะไม่รู้จะอธิบายอย่างไรให้ลูกค้าเข้าใจ เมื่อลูกค้าไม่ยอมรับสักอย่าง

    ผมมีวิธีแก้ให้ครับ ตรงนี้ หากคุณเป็นผู้ใช้รถ กรุณาอย่าอ่าน แต่หากเป็นช่างของศูนย์บริการละก็ อ่านแล้วเก็บเอาไว้ใช้เลย

    วิธีที่ผมแนะนำ ก็คือทำให้เสียงเครื่องยนต์ดังเข้ามาในห้องโดยสารของ VIGO มากกว่าปกติสักหน่อย ด้วยการเอาแผ่นซับเสียง หรือเก็บเสียง หรือพรมที่ปูพื้นนั่นแหละ ออกสักชั้นหนึ่ง เสียงเครื่องยนต์จะดังเหมือนเครื่องดีเซล

    แล้วทีนี้ เสียงลมปะทะดัง ก็จะถูกเสียงเครื่องยนต์กลบ เป็นอันว่า เสียงลมไม่ดัง จริงไหม ฮ่า ฮ่า

    แก้ไขเมื่อ 10 ก.ย. 47 20:35:16

    จากคุณ : TITAN_MAN@NACT - [ 10 ก.ย. 47 20:33:38 ]