CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    ผลการทดสอบ"อีซูซุ ดีแมคซ์ คอมมอนเรล"ที่ญี่ปุ่น

      12 (0 คน)
      12 (0 คน)
      12 (0 คน)
      12 (0 คน)
      12 (0 คน)
      12 (0 คน)
      12 (0 คน)
      12 (0 คน)

    จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 0 คน

     0%
     0%
     0%
     0%
     0%
     0%
     0%
     0%


    บุกญี่ปุ่นสัมผัสพลังคอมมอนเรล "อีซูซุ ดีแมคซ์"

    http://www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9470000077553

          หลังจากที่เปิดตัวออกสู่ตลาดเมืองไทยได้ไม่นาน บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายรถอีซูซุในเมืองไทย ได้เชิญสื่อมวลชนไทยไปสัมผัสกับสมรรถนะของดีแมคซ์ ใหม่ เครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลคอมมอนเรล กันถึงสนามทดสอบอีซูซุ ฮอคไกโด พรูฟวิ่ง กราวน์ หรือเอชพีจี ที่เกาะฮอคไกโด ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพิสูจน์ถึงพลังขับเคลื่อนของขุมพลังบล็อกใหม่ล่าสุดที่ถูกพัฒนามาเพื่อรุกตลาดปิกอัพเมืองไทยโดยเฉพาะ
         
          ++ไม่ได้เปลี่ยนแค่หน้าตาเท่านั้น++
         
          จุดเด่นสำหรับอีซูซุ ดีแม็คซ์ใหม่ที่เปิดตัวออกมานี้ ไม่ได้มีแค่การสร้างความแตกต่างทางด้านรูปลักษณ์ ด้วยการปรับโฉมเปลี่ยนกระจังหน้า กันชนหน้า รวมถึงรายละเอียดภายในห้องโดยสารเท่านั้น แต่ประเด็นหลักที่ได้รับความสนใจในวงกว้างคือ เครื่องยนต์ใหม่ ซึ่งอีซูซุเสริมทัพด้วยขุมพลังใหม่รหัส 4JJ1-TC หรือ I-TEQ 3000Ddi ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ด้วยเทคโนโลยีอันเชี่ยวชาญทางด้านเครื่องยนต์ดีเซลของอีซูซุ เน้นด้านความทนทาน สมรรถนะในการขับเคลื่อน และมีค่ามลพิษในไอเสียลดลง
         
          ดูแค่รหัสตัวหน้าของเครื่องยนต์ อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นการนำของเก่ามายำใหม่ ทางอีซูซุยืนยันว่า นี่เป็นเครื่องยนต์ที่ออกแบบใหม่ทั้งบล็อก ส่วนที่มีข้อกังขากันว่ามีเลข 4J นำหน้าเหมือนกับเครื่องยนต์ 3,000 ซีซีรุ่นเก่าอย่าง 4JH1-T Max นั้น ความจริงแล้วตัวเลข 2 หลักนี้เป็นรหัสเฉพาะของอีซูซุสำหรับใช้กับเครื่องยนต์ทุกรุ่นที่ถูกพัฒนามาใช้กับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ ถ้าถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กับรถไซส์เล็ก ต้องนำหน้าด้วย 4J

          เครื่องยนต์บล็อกนี้ได้รับการพัฒนาบนเทคโนโลยีทันสมัยฝาสูบแบบทวินแคม 16 วาล์ว 3,000 ซีซี ผลิตจากอะลูมินัมอัลลอยชนิดพิเศษที่เรียกว่า ISUZU HIGH PERFORMANCE ALLOY มีน้ำหนักเบา ระบายความร้อนดี แต่แข็งแกร่งและทนทานกว่าฝาสูบแบบอะลูมินัมอัลลอยทั่วไป 15% ส่วนเสื้อสูบออกแบบใหม่พร้อมการชุบแข็งแบบเหนี่ยวนำด้วยคลื่นความถี่สูง หรือ HIGH FREQUENCY INDUCTION HARDENING มีความแข็งแกร่งทนทาน และใช้โซ่เป็นสายพานราวริ้นแทนแบบสายพานปกติ
         
          ส่วนเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งถูกนำมาใช้กับเครื่องยนต์บล็อกนี้ เช่น ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแรงดันสูงที่มีตัวเลขถึง 180 Mpa (เมกะปาสคาล) ระบบจ่ายน้ำมันแบบจัสต์-ออน-ดีมานด์ (JUST-ON-DEMAND) ทำงานสัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์ ควบคุมแรงดันของการส่งน้ำมันให้สูงคงที่ตลอดเวลา ระบบหมุนวนอากาศแบบสโลว์-สเวิร์ล (SLOW-SWIRL) พร้อมท่อไอดีแบบวีเอสเอส (VARIABLE SWIRL SYSTEM) ลดแรงต้านของอากาศในขณะที่ลูกสูบมีการเคลื่อนที่ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้
         
          ส่วนเทอร์โบเป็นแบบธรรมดา ไม่ใช่แบบมีครีบแปรผันเหมือนพวกเทอร์โบวีจีที หรือวีเอ็นที ที่ได้รับความนิยมในเมืองไทย ส่วนอินเตอร์คูลเลอร์ถูกติดตั้งอยู่ที่ด้านหน้าของตัวรถในตำแหน่งด้านหลังกันชน ต่างจากปิกอัพเทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ทั่วไป ซึ่งมักวางอินเตอร์คูลเลอร์อยู่ด้านบนเครื่องยนต์ และเจาะสคูปบนฝากระโปรงสำหรับรับลมเข้ามาเป่า โดยอีซูซุเปิดเผยว่า การวางอินเตอร์คูลเลอร์ไว้ด้านหน้าจะทำให้รับลมเย็นได้ดีขึ้น
         
          ในส่วนกำลังของเครื่องยนต์ ขณะที่หลายค่ายชูประเด็นในเรื่องความแรงเป็นหลัก แต่สำหรับอีซูซุ ตัวเลขแรงม้าที่ทำได้จากเครื่องยนต์บล็อกนี้กลับไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง อยู่ที่ 146 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที (เพิ่มขึ้น 26 แรงม้า) และแรงบิดสูงสุด 294 นิวตัน-เมตร หรือ 29.9 กก.-ม. ที่ 1,400-1,300 รอบ/นาที

     อีซูซุให้เหตุผลว่า วัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาก็คือ การผลิตเครื่องยนต์ให้มีจุดสมดุลทั้ง 3 ด้านคือ ความทนทาน สมรรถนะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เน้นแค่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น และที่ผ่านมา ลูกค้าที่ใช้เครื่องยนต์ 3,000 ซีซีรุ่นเดิมก็ไม่บ่นในเรื่องของความอืด ทั้งที่มีกำลังน้อยกว่า ดังนั้นประเด็นเรื่องตัวเลขแรงม้าจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่น่าเป็นห่วง
         
          แถมในรุ่นใหม่ กำลังเพิ่มขึ้น 26 แรงม้า แต่มีความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงดีกว่า 15% จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
         
          ++สัมผัสของจริงถึงฮอคไกโด++
         
          การทดสอบในครั้งนี้มีขึ้นที่สนามทดสอบของอีซูซุที่ชื่อว่า อีซูซุ ฮอคไกโด พรูฟวิ่ง กราวน์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลโดยบริษัท วา คอม ฮอคไกโด จำกัด (WA COM HOKKAIDO) ของอีซูซุ โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 4,435,000 ตารางเมตร และถูกใช้เป็นสนามสำหรับทดสอบรถยนต์ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นปิกอัพหรือรถบรรทุก
         
          การทดสอบแบ่งออกเป็น 4 ช่วง เพื่อให้สามารถสัมผัสถึงคุณสมบัติของตัวรถ ทั้งในเรื่องอัตราเร่ง และความเร็วปลาย สมรรถนะบนทางออฟโรด การทดสอบเอบีเอส หรือการขับบนถนนลื่น และการขับบนเส้นทางหลากรูปแบบเพื่อทดสอบช่วงล่างและการบิดตัวของตัวถัง

    ช่วงทดสอบอัตราเร่งและความเร็วปลาย ซึ่งจะทดสอบบนสนามไฮสปีค แทร็ค ที่มีลักษณะเป็นวงรีคล้ายกับยาแค็บซูล


          สำหรับการทดสอบอัตราเร่งและความเร็วปลายจะขับบนสนามไฮสปีดแทร็คที่มีลักษณะเป็นวงรีคล้ายกับยาแค็ปซูล แบ่งออกเป็น 4 ช่องทางสำหรับการใช้ความเร็วแต่ละระดับ โดยรุ่นที่ถูกนำมาให้ขับเป็นเอสแอลเอ็กซ์ แค็บโฟร์ 4 ประตู ขับเคลื่อนล้อหลัง เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 4 จังหวะ
         
          แม้จะเป็นปิกอัพ และเครื่องยนต์ดีเซล แต่การตอบสนองต่ออัตราเร่งในช่วง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงทั้งในรุ่นเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ ตอบสนองได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะเกียร์อัตโนมัติการเปลี่ยนเกียร์ในแต่ละตำแหน่งมีความนุ่มนวลและมีความรวดเร็วฉับไวในการทำงาน ขณะที่ความเร็วปลายที่ทำได้จากทั้ง 2 รุ่นอยู่ในระดับ 170-185 กิโลเมตร/ชั่วโมง
         
          จากนั้นจึงย้ายมาที่การทดสอบเอบีเอสและการขับบนถนนลื่น หรือ LOW FRICTION SURFACE TRACK โดยแบ่งพื้นผิวสนามออกเป็น 2 ส่วนคือ พื้นผิวที่มีค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทาน 0.2 หรือเทียบกับการขับบนหิมะ และอีกส่วนมีตัวเลข 0.07 หรือคล้ายกับการขับบนน้ำแข็ง โดยพื้นผิวในส่วนนี้จะปูด้วยเซรามิคแบบพิเศษ
          การขับใช้ความเร็วไม่สูงเพียง 20-30 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้นเพื่อจับอาการของตัวรถเมื่อขับบนพื้นผิวถนนลื่น รวมถึงการทดสอบเอบีเอสซึ่งจะช่วยลดระยะเบรกเมื่อขับบนพื้นผิวเปียกลื่น และป้องกันการล็อคของล้อเมื่อเบรกกะทันหันทำให้ผู้ขับสามารถหักพวงมาลัยพ้นจากสิ่งกีดขวาง โดยรอบแรกเป็นการขับแบบ 2 ล้อหลัง ส่วนรอบที่ 2 เปลี่ยนเป็น 4 ล้อแบบไฮ ซึ่งการทรงตัวบนถนนลื่นดีขึ้นกว่าแบบ 2 ล้ออย่างเห็นได้ชัด
         
          ในรอบสุดท้ายเป็นการออกตัวด้วยโหมดเติร์ด สตาร์ท หรือ 3rd START ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรุ่นเกียร์อัตโนมัติ โดยจะช่วยลดการหมุนฟรีของล้อ รวมถึงอาการท้ายไถลเวลาออกตัวบนพื้นผิวลื่น เช่น โคลน หรือหิมะ และเมื่อขับจนถึงความเร็วเกิน 34 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบก็จะตัดการทำงานทันที
         
     สำหรับการขับบนเส้นทางที่เป็นลอนคลื่น หรือ WAVY ROAD AND BELGIAN ROAD นั้น ก็เพื่อทดสอบถึงการทำงานของระบบช่วงล่างในการดูดซับแรงสั่นสะเทือนที่มาจากพื้นผิวถนนหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการทดสอบความแข็งแกร่งและการทนทานต่อการบิดตัวของตัวถัง โดยเฉพาะการขับบนลอนคลื่นแบบสลับซ้ายขวา ซึ่งการขับในสนามส่วนนี้จะใช้ความเร็วประมาณ 50-60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่าสูงพอสมควรกับสภาพเส้นทาง เพราะปกติแล้วเวลาเจอกับถนนอย่างนี้ในบ้านเรา แม้จะเป็นปิกอัพ บางทีก็มีขับแบบหยอดๆ เหมือนกัน
         
          ปิดท้ายการขับกับการตะลุยบนเส้นทางออฟโรดกับรุ่นโรดีโอบนเส้นทาง CROSS COUNTRY ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นสนามธรรมชาติที่ไม่ได้ถูกจำลองขึ้นมาเหมือนกับพวกสนามใช้สอนขับออฟโรด พื้นผิวส่วนใหญ่เป็นหินและดินร่วนซุย คดเคี้ยว และค่อนข้างแคบ มีทางขึ้นลงทางลาดชันในระดับต่างๆ ไม่ถึงกับโหดมาก แต่ก็ไม่ถึงกับขับอย่างสบายๆ เช่นกัน
         
          ตลอดเกือบทั้งเส้นทางแทบจะไม่ต้องใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเลย แค่เกียร์ 1 เพียงเกียร์เดียวก็แทบจะเอาอยู่ เพราะใช้ความเร็วไม่สูง แค่ 20-30 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น จะมีบางช่วงที่อาจจะต้องเร่งเครื่องส่งหน่อย เพราะเป็นทางลาดชันที่ค่อนข้างสูง
         
          ในช่วงท้ายๆ ลองเข้าโหมดขับเคลื่อน 4 ล้อแบบไฮด้วยระบบทัช-ออน-เดอะ-ฟลาย ก็ขับได้แบบสบายๆ เพียงแต่ต้องระวังสักนิด ในช่วงทางโค้ง เพราะเมื่อเข้าสู่โหมดขับเคลื่อน 4 ล้อแล้ววงเลี้ยวจะกว้างขึ้นซึ่งเป็นธรรมชาติของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ทำให้ต้องกะระยะเลี้ยวให้ดี ไม่อย่างนั้นมีหวังต้องถอยหลังแล้วเลี้ยวใหม่

    ++ทางเลือกใหม่ในอนาคต...มีแน่++
         
          แน่นอนหากจะรับมือกับโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ ให้ได้นั้น อีซูซุจำเป็นที่จะต้องเสริมทางเลือกใหม่ๆ ให้กับดีแม็คซ์ในตลาด และเท่าที่มีการเปิดเผยออกมาในตอนนี้ คือ จะมีการเปิดตัวเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลแบบคอมมอนเรลในรุ่น 2,500 ซีซีตามออกมาด้วย แต่ยังไม่มีการชี้ชัดว่าเป็นการ 'เพิ่มรุ่น' โดยทำตลาดเคียงข้างกับเครื่องยนต์ 2,500 ซีซี เทอร์โบบล็อกเดิม หรือว่าจะเข้ามา 'แทนที่' กันแน่
         
          ส่วนอีกหนึ่งที่จะตามออกมาคือ เวอร์ชันเอสยูวี หรือออฟโรด 5 ประตูที่พัฒนาบนพื้นฐานเดียวกับดีแมคซ์ โดยจะเป็นตัวแทนของเวก้า และเป็นคู่ปรับโดยตรงกับโมเดลเชนจ์ของไฮลักซ์ สปอร์ตไรเดอร์ ที่มีข่าวเปิดเผยว่าโตโยต้าจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่าฟอร์จูนเนอร์ และเปิดตัวในปลายปีนี้ ส่วนของอีซูซุก็มีข่าวแย้มออกมาเช่นกันว่าจะเปลี่ยนชื่อใหม่ ไม่ใช่เวก้าเหมือนเดิม
         
          อย่างไรก็ตาม ทางอีซูซุยังไม่ยืนยันถึงกำหนดการเปิดตัวที่แน่ชัดของ 2 ความใหม่นี้ แต่คาดว่า ไม่น่าจะรอกันนาน ซึ่งอย่างช้าที่สุดในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ 2005 ปลายเดือนมีนาคมก็น่าจะมีความใหม่อย่างใดอย่างหนึ่งเปิดตัวออกมาชะลอความแรงของโตโยต้าเอาไว้บ้าง
    -------------------------------------------------------
    ความเห้นส่วนตัว ผมว่าคนเขียน คงลืมเขียนบนหัวกระดาษว่า "หน้าโฆษนา " นะครับ เขาคงขี้ลืมจริงๆ55555ฮ่าฮ่าฮ่า

     
     

    จากคุณ : AIW&M.ME - [ 6 พ.ย. 47 11:50:36 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป