CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    ทำไมดีเซลต้องคอมมอนเรล : วรพล สิงห์เขียงพงษ์

    ตลาดรถปิกอัพในไทยคึกคักมากเมื่อ 2 ยักษ์ขยับ คนไทยเพิ่มความตื่นตัวในเทคโนโลยีเครื่องยนต์ใหม่ๆ หลังจากที่เคยมียี่ห้อเดียวอยู่ถึง 3 ปี คราวนี้มาพร้อมกัน เกทับกันแหลก และอีกหลายยี่ห้อก็ใกล้จะเปลี่ยนตาม หลายคำถาม คาใจผู้บริโภค... ทำไมต้องคอมมอนเรล ดียังไง ยี่ห้ออื่นจะเปลี่ยนตามหรือไม่ ต้นตำหรับคือใคร ?
         
          ++คอมมอนเรล คือ อะไร++
         
          เป็นชื่อเรียกของระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแบบหนึ่งของเครื่องยนต์ดีเซล จริงๆ แล้วก็คือ ระบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง แต่เพราะเดิมเครื่องยนต์ดีเซลก็เป็นระบบหัวฉีดทุกตัวอยู่แล้ว ซึ่งเป็นแบบกลไก ถ้าจะเรียกระบบใหม่โดยมีคำว่าหัวฉีด (INJECTION) ผสมอยู่ด้วย ก็คงกลัวว่าจะเกิดความสับสนหรือไม่รู้สึกว่าใหม่จริง จึงนำจุดเด่นเรื่องการมีรางน้ำมันแรงดันสูงร่วมกันมาตั้งเป็นชื่อเรียก
         
          คอมมอนเรล ก็เป็นหนึ่งและเหมือนกับชื่อเรียกระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแบบอื่น เช่น คาร์บูเรเตอร์ หัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ หัวฉีดกลไก หัวฉีดเคเจททรอนิกส์ (ในเบนซ์รุ่นเก่าๆ)ไม่ได้เป็นชื่อของเครื่องยนต์ และไมได้มีใครมีลิขสิทธ์ในชื่อนี้แต่อย่างไร เพราะเป็นชื่อเรียกกลางๆ เหมือนว่าเป็นหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องยนต์ดีเซล แบบมีรางน้ำมันแรงดันสูงร่วมกันเท่านั้น (คอมมอน=ร่วม เรล=ราง) เหมือนๆ กับเรียกว่า เครื่องยนต์เบนซินคาร์บูเรเตอร์, เครื่องยนต์เบนซินหัวฉีด, เครื่องยนต์ดีเซลหัวฉีดกลไก, เครื่องยนต์ดีเซลหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ (คอมมอนเรล) ไม่มีบริษัทรถยนต์รายใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในชื่อนี้





          สำหรับบริษัทรถยนต์จะไม่มีต้นตำหรับ ไม่มีพันธ์แท้ เพราะทุกบริษัทรถยนต์ไม่ได้ค้นคิดเอง ล้วนซื้อลิขสิทธิ์และอุปกรณ์จากผู้ชำนาญเฉพาะทางมาทั้งนั้น ไม่มีซูเปอร์คอมมอนเรล ถ้ามีก็คือการเล่นคำทางภาษาในการโฆษณาเท่านั้น ในต่างประเทศไม่มีการใช้คำว่าซูเปอร์กับระบบนี้
         
          ในปัจจุบัน รถปิกอัพในไทยที่ใช้ระบบคอมมอนเรล ยังด้อยกว่ารถเก๋งในยุโรปนับสิบรุ่นที่มีระบบการทำงานเหนือกว่า และผ่านไอเสียยูโร สเต็ป 4 ดังนั้นถ้ารถปิกอัพในไทยเป็นซูเปอร์คอมมอนเรล รถเก๋งในยุโรปเหล่านั้นก็ไม่รู้จะสรรหาคำใดมาเรียก และไม่พบว่ามีรายใดใช้คำว่าซูเปอร์นำหน้า
         
          การใช้คำว่าซูเปอร์คอมมอนเรล จึงเป็นลูกเล่นในการโฆษณาสร้างความรู้สึกให้เหนือกว่าเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับทางวิศวกรรมเลย ผู้ผลิตอุปกรณ์และระบบคอมมอนเรลในปัจจุบันมีไม่กี่รายในโลก เช่น บ็อช, นิปปอน เดนโซ, เดลฟาย, ซีเมนส์ ฯลฯ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยมีโอกาสได้ใช้รถปิกอัพเครื่องยนต์คอมมอนเรล แม้จะทยอยเปลี่ยนกันอย่างช้าๆ บางยี่ห้อออกรุ่นที่หวังจะสร้างภาพพจน์ที่ดีออกมาก่อน แต่รุ่นที่ขายดีจริงๆ ยังขายรุ่นเก่าอยู่ แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของคนไทย และน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงในทุกยี่ห้อไปในทางที่ดีขึ้น
         
          ++คอมมอนเรล จะใช้ครบทุกยี่ห้อไหม++
         
          เพราะการแข่งขันทางการตลาดที่ดุเดือด และการบังคับของทางราชการ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ ต้องทำให้เครื่องยนต์ให้มีแรงดี เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ชื่นชอบ แต่ต้องมีไอเสียสะอาดขึ้นตามราชการกำหนด การทำเครื่องยนต์ให้แรง แต่ไอเสียสกปรก ไม่ยาก และง่ายที่จะทำเครื่องยนต์ให้มีไอเสียสะอาด แต่เรี่ยวแรงน้อย





          หลายคนมองเพียงผิวเผินว่า เพราะกฎของทางราชการที่บังคับให้เครื่องยนต์รุ่นใหม่ๆ มีไอเสียสะอาดขึ้น จึงทำให้ต้องใช้คอมมอนเรล ถ้าไม่ใช้แล้วไอเสียจะไม่ผ่าน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะทำให้เครื่องยนต์ที่ใช้หัวฉีดกลไกกับปั้มวีอีระบบเก่ามีไอเสียสะอาดตามกำหนดก็สามารถทำได้  แต่เรี่ยวแรงจะน้อยลง จนคนซื้ออาจไม่ชอบ นั่นจึงเป็นที่มาของการใช้ระบบคอมมอนเรล เพื่อให้ไอเสียสะอาด แต่มีกำลังออกมาสูง
         
          ดังนั้น ถ้ามีบริษัทรถยนต์รายใด มั่นใจว่ามีผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่ต้องการความง่ายในการดูแลและซ่อมแซม ไม่รังเกียจระบบเก่าๆ แล้วยอมรับเรี่ยวแรงที่มีแค่พอใช้ได้ ก็อาจจะมีเครื่องยนต์ดีเซลแบบเดิมๆ ที่ไม่ใช่คอมมอนเรลใช้ในรถปิกอัพขายต่อไปไปอีกหลายปี
         
          ไม่ใช่พอมาตรฐานไอเสียใหม่บังคับใช้ แล้วทุกยี่ห้อจะต้องรีบเปลี่ยนเป็นคอมมอนเรล เพราะถ้ามั่นใจว่าใช้ระบบเดิมแล้วมีกำลังสูงพอที่ผู้บริโภคจะยอมรับได้ ก็จะผลิตเครื่องยนต์ที่ใช้หัวฉีดและปั้มกลไกออกมาใช้ต่อไปได้ ต้องคอยดูกันต่อไปว่าในปี 2005-2006 จะมียี่ห้อใดที่ยืนหยัดจะใช้เครื่องยนต์ระบบเดิม แม้ไทยจะบังคับใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 3 แล้วก็ตาม
         
          ไม่ว่าจะยืนหยัดใช้ไปอีกนานเท่าไร แต่ที่แน่ๆ คือ ทุกยี่ห้อจะต้องทยอยเปลี่ยนมาใช้ระบบคอมมอนเรล ภายใน 3-5 ปีนี้ อย่างน้อยก็ต้องมีคอมมอนเรลในรุ่นที่เป็นหัวหอกชูภาพพจน์ทำตลาดก่อน แล้วรุ่นล่างๆ ค่อยไล่เปลี่ยนตาม
         
          ++คอมมอนเรล ดีกว่าอย่างไร ทำไมต้องใช้++
         
          เพราะหัวฉีดกลไกและปั๊มวีอีระบบเดิม ไม่มีการอ่านปริมาณอากาศ จึงฉีดน้ำมันหนา-บางไม่พอดี แรงดันน้ำมันไม่สูง (ไม่เกิน 200 บาร์) และวูบวาบ ในช่วงต้นและปลายของการฉีดแต่ละครั้งไม่เป็นละอองฝอยนัก หัวฉีดรูใหญ่และมีน้อยรู จังหวะการฉีดไม่แม่นยำ และฉีดถี่ๆ ติดกันไม่ได้
         
          คอมมอนเรล มีการอ่านปริมาณอากาศด้วยสารพัดเซนเซอร์แบบเดียวกับเครื่องยนต์เบนซิน ส่งข้อมูลมาประมวลผลที่กล่องอีซียู เพื่อสั่งยกหัวฉีดจ่ายน้ำมันให้เหมาะสมกับปริมาณของอากาศที่เข้าเครื่องยนต์ในขณะนั้น





          แรงดันน้ำมันสูงกว่าระบบเดิม 7-9 เท่า (1,300-1,800 บาร์) แรงดันไม่วูบวาบ เพราะปั๊มมารออยู่หลังหัวฉีดอยู่ตลอดเวลา แม้แรงดันในช่วงใช้งานทั่วไป จะใช้แค่ไม่ถึง 1,000 บาร์ แต่ก็มากกว่าแรงดันของระบบเดิมหลายเท่า ทำให้น้ำมันเป็นฝอยตลอดการฉีด
         
          หัวฉีดรูเล็กจิ๋วและมีจำนวนรูมาก เพราะแรงดันน้ำมันมีสูง จึงทำรองรับกันได้ การฉีดแม่นยำ เพราะสั่งด้วยอิเล็กทรอนิกส์ และยกหัวฉีดติดกันได้หลายครั้ง มีการฉีดนำ (ไพลอต-อินเจคชัน)ได้ สารพัดข้อดีที่เหนือกว่า จะทำให้คอมมอนเรลจะเพิ่มความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความกลัวในการซ่อมแซมก็จะลดลง โดยมีแนวคิดง่ายๆ ว่า ไม่เห็นมีอะไรต่างจากเครื่องยนต์เบนซินหัวฉีด ที่ตอนนี้ไม่มีใครกลัวและไม่มีใครอยากกลับไปใช้คาร์บูเรเตอร์อีกแล้ว
         
          ++จะพัฒนาอีกไหม++
         
          ปัจจุบันกับรถปิกอัพในไทยถือเป็นเจนเนอเรชัน 2 ของคอมมอนเรล ส่วนในต่างประเทศใช้เจนเนอเรชัน 3 บ้างแล้ว เป็นแรงดัน 1,800 บาร์ หัวฉีดยกติดกัน 4-5 ครั้ง บริษัทรถรายใด อ้างว่าเป็นเจนฯ 3 การจะดูว่าจริงไหม ให้ดูว่าตัวปั๊มหมควรไม่ใช่แบบ 2 สูบ ถ้าใช่ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นการเอาปั้มของเจนฯ 2 มาเบ่งให้ทำงานหนัก อีกอย่างที่สำคัญ คือ หัวฉีดต้องยกตัว 4-5 ครั้งติดกัน ไม่ใช่ยก 2-3 ครั้งอย่างแน่นอน และควรเป็นหัวฉีดแบบ PIEZO ไม่ใช่โซลินคอยด์สปริงขด
         
          ในอนาคตแรงดันสูงสุดจะเพิ่มขึ้น ไม่นานก็จะไปป้วนเปี้ยนแถวๆ 2,000 บาร์ต้นๆ หัวฉีดจะมีรูเล็กลงอีกเล็กน้อยจำนวนรูจะมี 6-10 รู ที่สำคัญคือ ปั้มจะไม่ใช่แบบ 2 สูบ และหัวฉีดจะไม่ใช่โซลินอยด์สปริงขด แต่จะเป็นแบบ PIEZO ที่ยกถี่ๆ ได้ดีมาก
         
          คอมมอนเรลก็เหมือนหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องยนต์เบนซินที่เคยกลัวกัน ยังไงก็ต้องมาแทนคาร์บูเรเตอร์ ท้ายสุดก็มาแทนได้เต็มตัวและคนก็เลิกกลัว
         
          วรพล  สิงห์เขียวพงษ์

    จาก ผู้จัดการออนไลน์

    จากคุณ : คุณหน่อง - [ 8 พ.ย. 47 11:13:55 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป