CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    กลไกราคาน้ำมัน : วรพล สิงห์เขียวพงษ์

    เห็นมันน่าสนใจดีครับ เลยเอามาฝากกัน ผิดถูกยังไงก็ดูกันเองนะครับ
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 15 พฤศจิกายน 2547 16:07 น.

          หลายเรื่องเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง หลายคนไม่ทราบ บางคนเข้าใจผิด อ่านบทความในหลายแง่มุมเกี่ยวกับกลไกของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในไทย
         
          ++ตรึงราคาด้วยกองทุนฯ / ปล่อยลอยตัว++
         
          ก่อนเดือนตุลาคม 2547 รัฐฯ ใช้วิธีตรึงราคาน้ำมันด้วยการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ ช่วยจ่ายไปก่อน แล้วเมื่อน้ำมันราคาถูกลงก็จะไม่ปรับราคาลงตาม แต่จะเอาส่วนต่างเก็บกลับคืนกองทุนฯการตรึงราคามีข้อดี และสมควรนำวิธีนี้มาใช้ถ้าราคาน้ำมันแกว่งขึ้น-ลงในช่วงสั้น ไม่กินเวลานานอย่างนี้ ปัจจุบันกองทุนฯ ติดลบส่วนของน้ำมันดีเซลกว่า 41,000 ล้านบาท (8 พย. 41,185 ล้านบาท) เบนซินเกือบ 7,000 ล้านบาท (จบที่ 6,975 ล้านบาทก่อนปล่อยลอยตัว) นับเป็นตัวเลขที่มากเกินไป จนมืดมนว่าจะหาคืนจากไหนหรือจะคืนได้ในเวลากี่ปี

          กลางเดือนตุลาคม รัฐฯ ปล่อยลอยตัวน้ำมันเบนซิน แต่ดีเซลบอกว่าจะตรึงไปอีก 5-6 เดือน แม้จะต้องช่วยจ่ายลิตรละ 6-7 บาทก็ตาม (4 พย. ติดลบลิตรละ 5.8 บาท)หลายคนมองว่าการตรึงราคาน้ำมันดีเซล เป็นเพราะหวังผลคะแนนนิยมทางการเมือง ซึ่งความจริงก็ไม่ทราบว่าทำเพราะอะไร ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น แต่อยู่ที่การใช้วิธีที่ผิดและแปลกมากกับน้ำมันเบนซิน ตามหลักการแล้ว เมื่อกองทุนฯ ติดลบอยู่ และราคาน้ำมันจริงต่ำกว่าราคาเดิม ก็จะต้องตรึงราคาขายปลีกให้แพงไว้ เพื่อนำเงินส่วนต่างเก็บคืนกองทุนฯ
         
          แต่ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2547 ราคาน้ำมันจริงเริ่มต่ำลงในส่วนของเบนซิน แต่รัฐกลับประกาศลดราคาลงลิตรละ 40 สตางค์ เหมือนเอาใจประชาชน แล้วก็ได้ผล คนแห่ไปเข้าคิวเติม แม้จะประหยัดได้แค่ถังละ 20-30 บาทก็เอา คำถาม คือ เมื่อราคาจริงต่ำลง ทำไมไม่ตรึงราคาไวให้สูง เพื่อเก็บเงินส่วนเกินคืนกองทุนฯ ในส่วนของเบนซินที่ติดลบอยู่ 7,000 ล้านบาท ตกลงว่าจะใช้วิธีใดกันแน่ ปล่อยลอยตัวขึ้น-ลง แต่ไม่ต้องเก็บเงินคืนกองทุนฯ เหรอ ?
         
          อีกกรณีที่ต้องทราบ คือ การใช้เงินกองทุนฯ มาช่วยตรึงราคา มีการแยกบัญชีระหว่างเบนซินกับดีเซล ไม่ใช่เอาเงินเบนซินไปช่วยดีเซล ในช่วงที่ผ่านมาก่อนเบนซินถูกปล่อยลอยตัว เบนซินเคยติดลบแถวๆ ลิตรละ 1 บาท ดีเซล 6 บาท กองทุนฯ ในส่วนของดีเซลจึงติดลบถึง 40,000 กว่าล้านบาท ประเมินดูแล้ว ไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะใช้วิธีตามหลักการเก็บเงินคืนกองทุนฯ คือ รอให้ราคาจริงต่ำลง แล้วไม่ลดราคาขายปลีก จะเอาส่วนต่างทยอยเก็บคืนกองทุนน้ำมัน เพราะน้ำมันแพง และพอน้ำมันถูกลง รัฐก็กลับลดราคาตามเหมือนจะเอาใจเพื่อสร้างคะแนนเสียงทางการเมือง  งงมากว่า ในเมื่อจะต้องเก็บเงินคืนกองทุนฯ แต่ทำไมตอนนี้ถึงลดราคาลงตามจริง

          ++ทำไมต้องอ้างอิงราคาสิงคโปร์++
         
          เพราะไทยผลิตน้ำมันดิบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นั่นคือสิงคโปร์ ทำไมน้ำมันมาเลย์ถูก และบางส่วนไทยก็ขุดเจาะได้เอง ทำไมไม่ขายคนไทยถูกๆ
         
          คำตอบ คือ เพราะคนเจาะน้ำมันล้วนเป็นเอกชนหรือบริษัทมหาชน ได้รับสัมปทานจากรัฐฯ ทุกรายล้วนทำธุรกิจและต้องการกำไรสูงสุด จะขายคนไทยถูกๆ ทำไม ในเมื่อใส่เรือไปขายที่สิงคโปร์ได้ทุกเมื่อ ราคาที่ขายในตลาดไทยจึงเป็นราคาใกล้เคียงกับการนำเข้าจากสิงคโปร์บวกค่าขนส่ง หรือถูกกว่าเล็กน้อยเพราะไม่ต้องขนส่งไกลเท่านั้น
         
          มาเลเซียขายน้ำมันให้ประชาชนในราคาถูก เพราะไม่ต้องการเก็บภาษีส่วนนี้สูง ยอมขาดรายได้ส่วนนี้ไป แล้วไปหาทางเก็บภาษีจากทางอื่น ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในไทย ถ้าไม่นับประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบเพื่อการส่งออกได้ ในไทยมีราคาถูกติดอันดับต้นๆ ของโลก ในหลายประเทศลิตรละ 25 30 40 50 บาท ทั้งที่ต้นทุนการซื้อและกลั่นพอๆ กับไทย แต่รัฐเก็บภาษีน้ำมันแพงมาก เพราะถือว่าฟุ่มเฟือยและต้องนำเข้า
         
          ++คนไทยตื่นตระหนกกับราคา แต่ไม่ลดการฟุ่มเฟือย++
         
          คนไทยหลายคนบ่นว่าน้ำมันราคาแพง แต่ตัวเลขการใช้น้ำมันเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ก็เพิ่มขึ้นตามอัตราที่เคยเป็นหรือมากกว่าเล็กน้อยด้วยซ้ำ นั่นแสดงถึงการไม่ลดการใช้ กลัวแต่ไม่ลดการใช้
         
          หลายคนตื่นตระหนกกับราคาน้ำมันมาก ทั้งที่ตนเองมีการฟุ่มเฟือยด้านอื่นอีกเยอะ เสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ นาฬิกาหรู เครื่องประดับแพงๆ รับประทานอาหารนอกบ้านร้านหรู ดื่มแอลกอฮอล์ ชาเขียวขวดละ 20-30 บาท เสพอบายมุขต่างๆ กลับไม่รู้สึกแพง เพราะดับกิเลสได้ แต่การจ่ายค่าน้ำมันดับกิเลสไม่ได้ ขึ้นราคาแค่ลิตรละ 60 สตางค์ก็เครียด ลดราคาแค่ลิตรละ 40 สตางค์ก็เข้าคิวยาว เติมเต็มถังประหยัดเงินได้ไม่ถึง 40 บาท ทีจ่ายทิปจ่ายค่าเริงรมย์เมื่อไปเที่ยวล่ะไม่เสียดาย

          ++กลั่นแล้วต้องใช้ให้หมดทุกประเภท++
         
          การซื้อน้ำมันดิบมากลั่น ตามหลักการที่ถูกต้อง คือ ต้องใช้ผลผลิตที่ออกมาในทุกประเภทให้หมดในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ ไม่ใช่บางผลผลิตล้นตลาด ต้องส่งออกไปขายในราคาถูกๆ หรือต้องนำเข้าบางผลผลิตที่ขาดตลาดเพิ่มเข้ามาในราคาแพง จริงๆ แล้วควรนำเข้าเฉพาะน้ำมันดิบให้น้อยที่สุด และใช้ผลผลิตที่กลั่นออกมาให้ครบหมด ไม่มีการนำเข้าและส่งออกผลผลิตแม้แต่ประเภทเดียว
         
          การจะทำให้สำเร็จ อยู่ที่การตั้งราคาเป็นสำคัญ คือ ต้องตั้งราคาในเชื้อเพลิงสำเร็จรูปแต่ละชนิด ให้มีแรงจูงใจ ในแต่ละกลุ่มคนอยากใช้คละกันไปจนหมด ไทยกำลังมีปัญหาอย่างมากในเรื่องนี้ คือ เชื้อเพลิงบางชนิด ตั้งราคาชวนให้ซื้อใช้ เช่น น้ำมันดีเซล ตั้งราคาไว้ถูกกว่าเบนซินมาก คนก็ยังแห่ใช้ จนต้องนำเข้าแบบกลั่นแล้ว น้ำมันเบนซินเริ่มชะลอการใช้ เพราะคนหันไปใช้ดีเซล แก๊สแอลพีจี ก็ไม่เน้นให้คนหันมาใช้ ดีที่ใช้หุงต้มด้วยจึงไม่เหลือมาก แต่กับรถก็นิยมเฉพาะในหมู่แท็กซี่ ทั้งที่รถบ้านก็น่าใช้ (ลิตรละ 9 บาท)
         
          ในวงการน้ำมัน รู้หลักการเรื่องการตั้งราคาให้มีแรงจูงใจ เพื่อให้ขายผลผลิตที่กลั่นออกมาให้หมดทุกชนิด แต่ไม่มีใครจริงจังที่จะทำ และทำไม่ได้ถ้ารัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้แบบนี้ เมื่อไร ถ้าปล่อยลอยตัวทุกชนิด จะต้องมีคนเก่งมากๆ ลงทำเรื่องการตั้งราคาน้ำมันหรือผลผลิตที่กลั่นได้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ใช้ให้หมดทุกประเภทจริงๆ
         
          ++ผู้ผลิตน้ำมันดิบ ตะวันออกกลาง ปั่นราคาจริงหรือ++
         
          ในปัจจุบันนี้ มีส่วนน้อยมากที่ผู้ผลิตจะเล่นแง่หรือปั่นราคา ปัจจุบันราคาน้ำมันแพง เพราะผู้ค้าคนกลาง หรือการซื้อขายล่วงหน้า นับเป็นธุรกิจหนึ่งที่ทำเงินได้มหาศาล ด้วยกลไกของคนกลางที่แทบจะกำหนดราคาได้ จึงทำให้หลายคนเดาว่า นับจากนี้ไปอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี น้ำมันเบนซินและดีเซลในไทยจะไม่ต่ำกว่าลิตร 20 บาทหรือต่ำสุดก็ป้วนเปี้ยนแถว 18-19 บาท
         
          ++แล้วคนไทยควรทำอย่างไร++
         
          ...เลิกบ่น เลิกบ่นแต่ไม่ลดการใช้ เน้นที่หันมาลดการใช้...
         
          รวมถึงสรรหาพลังงานทดแทน แอลกอฮอล์ แก๊สแอลพีจี เอ็นจีวี และต้องทำความเข้าใจ ไม่โวย เมื่อน้ำมันโลกมีราคาต่ำลง ถ้ารัฐตรึงราคาไว้เพื่อนำส่วนต่างกลับคืนกองทุนฯ (่ไม่ทราบว่าจะทำหรือมีโอกาสได้ทำไหม) น้ำมันเป็นสินค้านำเข้าและนำเข้าทุกวัน เงินไหลออกนอกประเทศทุกวัน วีธีแก้ไขง่ายๆ และได้ผล คือ ช่วยกันประหยัด พร้อมหาพลังงานเป็นทางเลือกใหม่

     
     

    จากคุณ : AIW&M.ME - [ 15 พ.ย. 47 17:47:47 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป