ความคิดเห็นที่ 3
...ต่อ...
๗)กบฏดุซงยอในวาทกรรมประวัติศาสตร์ทางการไทย
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏดุซงญอ" ก็มีฐานะและชะตากรรมคล้ายๆ กับบรรดากบฏชาวนาทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมา คือเป็นเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างและทำให้เป็นความทรงจำของสังคมต่อมาโดยรัฐและอำนาจรัฐสยามไทย เนื้อเรื่องจะดำเนินไปเหมือนๆ กันทำนองนี้ วันดีคืนดีก็มีกลุ่มชาวบ้านผู้หลงผิด พากันจับอาวุธแล้วลุกฮือขึ้นต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่และข้าราชการของรัฐไทย ชาวบ้านพวกนั้นมักเป็น "คนชายขอบ" หรืออีกศัพท์เรียกว่า "คนกลุ่มน้อย" ของรัฐและสังคมไทย ที่น่าสนใจคือในกระบวนการทำให้เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของสังคมนั้น คนเหล่านั้นก็จะถูกทำให้กลายเป็น "ผู้หลงผิด" และ เป็น "ผู้ร้าย"ในประวัติศาสตร์ไทยไป
กล่าวได้ว่านับจากปีพ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นต้นมา เหตุการณ์ในอดีตของกรณี "กบฏดุซงญอ" ตกอยู่ในสภาพและฐานะของ "ผู้ร้าย" มานับแต่เกิดเหตุการณ์นั้นมาถึงเหตุการณ์ล่าสุดในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่ทำให้เสียงและความทรงจำไปถึงหลักฐานข้อมูลที่เป็นของชาวบ้านเหล่านั้นถูกเปิดเผยออกมาอย่างกว้างขวางมากที่สุดในพื้นที่สาธารณะของสังคม
ที่ผ่านมาการบรรยายและอธิบายเหตุการณ์ที่ทางการเรียกว่า "กบฏดุซงยอ" ดำเนินไปบนกรอบโครงหรือพล๊อตเรื่องของการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถูกจัดวางไว้ต่อจากการจับกุมฮัจญีสุหลง เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ดังตัวอย่างงานเขียนนี้จากหนังสือเรื่อง ไทยมุสลิม โดย ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ (แพร่พิทยา, ๒๕๑๙) ซึ่งเล่าว่า
"นับแต่ได้มีการจับกุมนายหะยีสุหรงกับพรรคพวก เมื่อเดือนมกราคม ๒๔๙๐(ที่ถูกคือ ๒๔๙๑-ผู้เขียน) ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะจับกลุ่มมั่วสุมกัน ส่อไปในทางก่อการร้ายขึ้น ทางการได้พยายามติดตามสอดส่องความเคลื่อนไหวตลอดมา บรรดาผู้ที่หวาดระแวงซึ่งเกรงว่าจะถูกจับกุมก็หลบหนีออกนอกประเทศไป คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีก็ได้ยุบเลิกไป ขณะเดียวกันพรรคการเมืองของมลายูบางพรรค ตลอดจนหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงข่าวยุยงปลุกปั่นสนับสนุนเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลเพื่อที่จะแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปรวมกับมลายูให้ได้
ต่อมาในเดือนมกราคม ๒๔๙๑ สถานการณ์ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ทางรัฐบาลจึงได้ส่งกำลังตำรวจไปรักษาความสงบเพิ่มเติมไว้ที่จังหวัดนราธิวาส ในปีเดียวกันนั้นเอง คือเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑ ได้เกิดกบฏขึ้นที่บ้านดุซงญอ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายหะยี ติงงาแม หรือมะติงงา ตั้งตนเป็นหัวหน้า นำสมัครพรรคพวก เข้าปะทะยิงต่อสู้กับฝ่ายตำรวจ. การปะทะได้ดำเนินไปเป็นเวลานานถึง ๓๖ ชั่วโมง เหตุการณ์จึงได้สงบลง หลังจากนั้นได้ทำการจับกุมนายขหะมะ กำนันตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ และนายมุสตาฟา ในข้อหากบฎ ส่วนนายมะติงงาหลบหนีไปได้ ต่อมาประมาณปี ๒๔๙๗ จึงทำการจับกุมตัวได้ และถูกส่งไปคุมขังไว้ที่จังหวัดนราธิวาสได้ประมาณปีเศษ ก็หลบหนีจากที่คุมขังไปร่วมกับโจรจีนคอมมิวนิสต์จนถึงปัจจุบัน"(หน้า ๒๖๓-๒๖๔)
น่าเสียใจที่เชิงอรรถของหลักฐานข้อมูลและการตีความ"กบฎดุซงยอ" นี้ ผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์ไม่ทราบที่เกิดความผิดพลาด ไม่ได้ตีพิมพ์รายละเอียดของเชิงอรรถ มีแต่เลขเชิงอรรถที่ ๑๗ แต่ไม่มีชื่อเอกสารหนังสือหรือที่มาของข้อมูลดังกล่าว หลังจากจบย่อหน้าสุดท้ายของคำบรรยาย หากจะคาดคะเนโดยดูจากเอกสารและหนังสือที่ผู้เขียนนำมาใช้อ้างอิง ในการเขียนบทว่าด้วย "การวางแผนแบ่งแยกดินแดนในสมัยเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒" จากหน้า ๒๕๘-๒๖๖ ก็มีมาจากหนังสือจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เอกสารชั้นต้นเลยสักชิ้นเดียว ดังต่อไปนี้
พ.ต.ท. ลิมพิช สัจจพันธ์, ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสี่จังหวัดภาคใต้, (เอกสารโรเนียว)
พ.ต.อ. วิชัย วิชัยธนพัฒน์, ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา, กองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดนเขต ๙, ๒๕๑๖)
พ.ต.อ. กัมปนาท จินตวิโรจน์, ขบวนการโจรแยกดินแดนภาคใต้, (กรุงเทพฯ, โพธิ์สามต้นการพิมพ์, ๒๕๑๗)
พรรณาความของเหตุการณ์ "กบฎดุซงยอ" จึงเป็นความจริงตามทรรศนะและความเชื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอาศัยเอกสารรายงานและคำสอบสวนผู้ต้องหาโดยวิธีการและสมมติฐานของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเกณฑ์ ดังนั้นวิธีการเขียนและผูกเรื่องจึงเหมือนวิธีการของพงศาวดารอย่างหนึ่ง คือผลของเรื่องเป็นตรรกและแนวในการสร้างเรื่อง ในกรณีนี้คือชาวมลายูมุสลิมจำนวนหนึ่งจะต้องสร้างความไม่สงบให้เกิดขึ้นในภาคใต้สุด นั่นคือ "สถานการณ์
ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ" เมื่อมีน้ำหนักของเหตุที่จะเกิดความไม่สงบแล้ว ก็ทำให้ "ทางรัฐบาลจึงได้ส่งกำลังตำรวจไปรักษาความสงบเพิ่มเติมไว้ที่จังหวัดนราธิวาส"
ที่น่าสงสัยคือ ทำไมทางการจึงส่งกำลังตำรวจไปเพิ่มเติมเฉพาะที่นราธิวาสแห่งเดียวเท่านั้น ราวกับจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่นราธิวาส ทั้งๆ ที่ฮัจญีสุหลงถูกจับที่ปัตตานี และกลุ่มผู้นำมุสลิมที่นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็อยู่ที่ปัตตานีเป็นส่วนใหญ่ แต่ทางการกลับส่งกำลังตำรวจเพิ่มไปที่นราธิวาสตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งก็ไล่ๆ กับเวลาที่ทางการจับกุมฮัจญีสุหลง น้ำหนักของการวางความไม่น่าไว้วางใจที่นราธิวาสแต่เนิ่นๆ นั้น ทำให้ข้อสรุปของทางการว่า การเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนนั้นดำเนินไปในหลายจังหวัด และโดยหลายกลุ่มมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น หากอ่านและตีความตามคำบรรยายข้างต้นนี้ แสดงว่ากบฏดุซงยอไม่ได้เกิดเพราะเป็นปฏิกิริยาต่อการจับกุมฮัจญีสุหลง หากจริงๆ แล้วเป็นการก่อกบฏโดยความตั้งใจมาก่อนแล้วของคนมุสลิม ทำให้การโยนความผิดหรือความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยในการจับกุมฮัจญีสุหลงว่า นำไปสู่ความวุ่นวายและการตอบโต้ของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ก็ลดน้ำหนักและไม่เป็นจริงไป
จากคุณ :
Crescent )
- [
19 มี.ค. 50 14:03:18
]
|
|
|