Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    * * * ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (๓) * * *

    ...โดย...ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
    โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
    คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


    ๙)ฮัจญีสุหลงกับขบวนการชาตินิยมมลายู

    ฮัจญีสุหลงเกิดในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ในหมู่บ้านกำปงอาเนาะรู มณฑลปัตตานี บิดาชื่อฮัจญีอับดุลกาเดร์ บิน มูฮัมหมัด หลานปู่ของฮัจญีไซนับ อาบีดิน บิน อาหมัด หรือ "ตวนมีนาล" ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราศาสนาที่ชื่อว่า "กัชฟ์ อัล-ลีซาม" และ "อากีดัต อัลนายีน" อันเป็นตำราศาสนามีชื่อเสียง เขาเริ่มต้นศึกษาในโรงเรียนปอเนาะ อายุได้ ๑๒ ปี บิดาส่งไปเรียนวิชาการศาสนาอิสลามที่นครมักกะห์ ปัจจุบันอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยได้เข้าศึกษากับครูที่มีชื่อเสียงและเป็นนักปราชญ์ทางศาสนาอิสลามในนครมักกะห์

    หะยีสุหลงศึกษาภาษาอาหรับ คัมภีร์และตำราอย่างแตกฉาน จนเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นเดียวกันและรุ่นหลัง ได้รับการขอให้เปิดสำนักสอนศาสนาอิสลามที่นครมักกะห์จนมีชื่อเสียง มีศิษย์เป็นจำนวนมากจากภูมิภาคต่างๆ ของโลก เหตุที่ทำให้ฮัจญีสุหลงตัดสินใจเดินทางกลับ ปัตตานีเพราะความตายของบุตรชายคนแรก เมื่ออายุได้ปีเศษๆ การเดินทางกลับครั้งนั้น เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของฮัจญีสุหลงอย่างที่เขาเอง ก็คงคาดไม่ถึง

    ปัตตานีและสังคมมุสลิมภาคใต้ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ในสายตาใหม่ของฮัจญีสุหลง ยังคงสภาพเหมือนสังคมอาหรับ ในยุคที่ศาสนาอิสลามเพิ่งเผยแพร่ คือเป็นสังคมที่ล้าหลังและคนมุสลิมยังมีความเชื่อในไสยศาสตร์ และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นอื่นๆ อีกมาก สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ ฮัจญีสุหลงตัดสินใจปักหลักที่นี่ แทนที่จะเดินทางกลับไปมักกะห์ตามความตั้งใจเดิม ได้ทิ้งบ้านช่อง ทรัพย์สินและตำราศาสนามากมายไว้ที่นั้น "ด้วยความสำนึกในหน้าที่ของมุสลิมที่ดี ที่จะต้องเผยแพร่ศาสนาอิสลามให้ถูกต้องตามโองการของอัลเลาะฮ์"

    ฮัจญีสุหลงเริ่มการเป็นโต๊ะครูโดยเปิดปอเนาะที่ปัตตานี เพื่อสอนหลักศาสนาแบบใหม่ ลบล้างความเชื่อผิดๆ โรงเรียนของเขามีชื่อว่า มัดราซะห์ อัล-มาอารีฟ อัล-วาตานียะห์ เป็นโรงเรียนศาสนาที่มีรูปแบบใหม่ มีการวัดความรู้และใช้ระบบมีชั้นเรียน มีการฝึกภาคสนามแก่นักเรียนทุกเช้า จุดหมายของโรงเรียนแบบใหม่จึงมีมากกว่าการสอนศาสนา หากแต่น่าจะมีวิสัยทัศน์สมัยใหม่ด้วย นั่นคือการมองถึงสังคมและกว้างกว่านั้นถึงประเทศชาติ ดังที่โรงเรียนมีคำว่า "อัล-วาตานียะห์" ซึ่งมีความหมายว่า "แห่งชาติ" ที่ป้ายชื่อโรงเรียนด้วย

    เขาเดินทางเทศนาไปยังที่ต่างๆ ในมณฑลปัตตานี การเผยแพร่ความคิดใหม่ของเขา ลบล้างความเชื่อเดิมที่ผิดๆ และที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม การกระทำดังกล่าวถูกตอบโต้ จากโต๊ะครูหัวเก่าตามปอเนาะต่างๆ จนมีผู้รายงานการเคลื่อนไหวของหะยีสุหลงต่อข้าหลวงมณฑลว่า เขาจะเป็น "ผู้ก่อความไม่สงบและจะทำให้ราษฎรก่อตัวเป็นภัยต่อแผ่นดิน" เขาถูกเรียกตัวไปสอบสวนแต่ปล่อยตัวไปเพราะไม่มีหลักฐาน

    การเผยแพร่ศาสนาอิสลามของฮัจญีสุหลงประสพความสำเร็จอย่างมาก ชาวบ้าน สนับสนุนให้เปิดโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแทนการสอนในปอเนาะที่ทำกันอยู่ โรงเรียนสร้างด้วยเงินบริจาคและร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในการสร้าง แต่ความไม่วางใจและหวาดระแวงของกลุ่มปกครองต่อพฤติกรรมและบุคลิกผู้นำของ ฮัจญีสุหลง ทำให้เกิดข้อพิพาทขัดแย้งกับกลุ่มผู้นำท้องถิ่น คือพระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะหริ่ง และพระพิพิธภักดี นายอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานีบุตรชาย ในเรื่องการสร้างโรงเรียน

    ข้อพิพาทนี้ทำให้ฮัจญีสุหลง เกิดกินแหนงแคลงใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีขณะนั้นคือ พระวิเทศปัตตนาทร(แจ้ง สุวรรณจินดา) เพราะไม่เป็นกลาง ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยารัตนภักดี เป็นผู้ว่าฯคนสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์. เมื่อคณะราษฎรปฏิวัติสยาม ได้ปลดพระยารัตนภักดีออก เนื่องจากเป็นฝ่ายคณะเจ้า คนนี้มีความสำคัญเพราะจะกลับมามีบทบาทอันมีผลด้านลบอย่างแรงต่อการจับกุมฮัจญีสุหลงในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์

    โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่ฮัจญีสุหลงดำเนินการก่อสร้างกับราษฎรมาเสร็จสมบูรณ์ และ เปิดใช้อย่างเป็นทางการก็ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ภายหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เรียบร้อยแล้ว โดยที่พระยาพหลฯ เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้บริจาคเงินช่วยการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ทั้งยังเดินทางไปร่วมในวันทำพิธีเปิดโรงเรียนอีกด้วย

    โรงเรียนที่ฮัจญีสุหลงสร้างขึ้น กลายเป็นศูนย์กลางใหม่ของคนมุสลิม ทำหน้าที่เหมือนมัสยิดแห่งหนึ่งไปด้วย จะมีคนมาทำละหมาด(นมาซ) ประจำวัน คนที่จำได้เล่าว่า "ทุกตอนเย็นจะมีชาวบ้านกลุ่มใหญ่เดินผ่านหน้าบ้านผมทุกวัน เสียงเกี๊ยะที่เดินผ่านหน้าบ้าน ผมดังกริ๊กๆๆ ลั่นไปหมด พวกนั้นเขาเดินไปทำละหมาดกันที่โรงเรียนของฮัจญีสุหลง….."

    ภาพประทับและจินตนาการอันเกี่ยวกับบทบาทและความนิยมของฮัจญีสุหลงในสายตา และความรับรู้ของรัฐไทย น่าจะไม่ตรงกับความคิดและความตั้งใจของคนมุสลิมในท้องถิ่นเหล่านั้นเท่าไรนัก นอกจากไม่เข้าใจในความหมายทางศาสนาอิสลามและการปฏิบัติของคนมุสลิมเองแล้ว ปัจจัยที่ยิ่งไปเพิ่มช่องว่างระหว่างการเคลื่อนไหวมวลชนของมุสลิมภาคใต้กับรัฐไทย ได้แก่การก่อตัวและพัฒนาไปจนถึงจุดสุดยอดของความคิดว่าด้วยรัฐไทย ที่กำลังจะเดินไปบนหนทางของมหาอำนาจ ลัทธิชาตินิยมไทยภายใต้จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งจะเป็นกงจักรปีศาจที่ร่อนไปตัดคอผู้ที่ขวางหน้าอย่างไม่ปราณี

    ประเด็นที่น่าสนใจในการก่อตัวและเติบใหญ่ของขบวนการมุสลิมหัวใหม่ในปัตตานี ไม่ใช่อยู่ที่การนำไปสู่การเรียกร้องทางการเมือง ที่สำคัญคือข้อเรียกร้อง ๗ ประการ ซึ่งมีเนื้อหาใหญ่ที่การทำให้สี่จังหวัดมุสลิมภาคใต้มีการปกครองของตนเอง เพื่อทำให้หลักการปกครองอิสลามสามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างแท้จริงเท่านั้น หากแต่จุดที่สำคัญไม่น้อยในด้านของพัฒนาการทางภูมิปัญญาของคนมลายูมุสลิมรุ่นใหม่ ได้แก่ การเกิดแนวคิดและอุดมการณ์การเมืองสมัยใหม่ ที่วางอยู่บนหลักการอิสลาม

    ในแง่นี้มองได้ว่า การเคลื่อนไหวของฮัจญีสุหลงกับคณะ เป็นผลพวงของการตอบโต้ปฏิสัมพันธ์กับการเกิดและเติบใหญ่ของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งชุมชนมุสลิมจะต้องพัฒนาและเปลี่ยนไปพร้อมกับรัฐสมัยใหม่นี้ด้วย ลัทธิอาณานิคมและความเป็นสมัยใหม่ที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ เข้ามาในสังคมมุสลิม ไม่ว่าจะในรูปแบบของรัฐประชาชาติ ระบบการศึกษาแบบใหม่ การเกิดขึ้นของสิ่งพิมพ์ทุนนิยม(print capitalism) ช่วยสร้างจินตนาการของชุมชนการเมืองใหม่ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นได้(imagined community) มาจนถึงแนวคิดว่าด้วยสิทธิอัตวินิจฉัยของรัฐ (self-determination) และสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชน (human rights) อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนตามหลักการสากลภายใต้องค์การสหประชาชาตินั้น กลุ่มที่ทำการต่อสู้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็คือกลุ่มคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้นี้เอง

    ที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าว คือการจุดประกายให้กับการเกิดจิตสำนึก การตระหนักถึงอัตลักษณ์และความเป็นตัวตน ซึ่งจำเป็นต้องการพื้นที่หรือเทศะ(space)อันใหม่ที่เอื้อต่อ การเติบใหญ่ของสำนึกทางการเมือง ดังนั้นการมองไปที่รัฐ ในฐานะที่เป็นพื้นที่และมีอำนาจอันเป็นเหตุเป็นผล ในการทำให้ปัจเจกชนสามารถก้าวไปสู่อุดมการณ์ของเขาแต่ละคนและในส่วนทั้งหมดได้ จึงกลายเป็นเป้าหมายของการเคลื่อนไหวเพื่อการไปบรรลุความเป็นอิสลามที่แท้จริงต่อไป

    ประเด็นนี้จึงเรียกร้องให้เราหันกลับมาคิดถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัฐไทยทั้งหมดด้วยว่า เราต้องให้น้ำหนักไปที่การเคลื่อนไหวและสำนึกของปัจเจกชนและกลุ่มชนในท้องถิ่นต่างๆ หลากหลาย ใหญ่บ้างเล็กบ้างทั่วราชอาณาจักรไทยด้วยว่า ในระยะที่รัฐไทยส่วนกลางพยายามสร้างและทำให้สมาชิกส่วนอื่นๆ ภายในเขตแดนตามแผนที่สมัยใหม่ ต้องคิดและจินตนาการถึงความเป็นชุมชนชาติใหม่ร่วมกันนั้น บรรดาคนและชุมชนโดยเฉพาะตามชายขอบและที่มีอัตลักษณ์พิเศษไปจากคนส่วนใหญ่นั้น ก็ควรมีสิทธิและความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนชาติใหม่นี้ด้วย ไม่ใช่ด้วยการถูกบังคับให้เชื่อและทำตามแต่ถ่ายเดียว นี่คือบทเรียนที่ในระยะต่อมาจะมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงของสังคมที่โลกาภิวัตน์มากขึ้นๆ

     
     

    จากคุณ : Crescent ) - [ 19 มี.ค. 50 14:50:07 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom