Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (๔)

    ...โดย...ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
    โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
    คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


    ๑๒)สมัยของการสมานฉันท์ ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม, ๒๔๘๘-๒๔๙๐

    ในช่วงเวลาภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๘๑-๘๘) ขบวนการมุสลิมในภาคใต้ก็ทวีความรุนแรงในเนื้อหาความคิดที่แจ่มชัดขึ้น ในขณะที่ฝ่ายทางการก็ไม่เบามือในการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายจากส่วนกลาง ทำให้หน่อเชื้อและเมล็ดของการต่อต้านและการต้องการความเป็นอิสระของพวกเขากันเองเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

    เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามมหาอาเซียบูรพา และได้ประกาศทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอันมีสหรัฐฯและอังกฤษเป็นผู้นำ ในระยะต้นญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทยในการเรียกร้องเอาดินแดนที่เคยอยู่ใต้อำนาจสยามกลับคืนมา อันได้แก่ กลันตัน, ตรังกานู, เคดะห์และปะลิส ซึ่งยกให้อังกฤษไปในสัญญาปี ค.ศ. ๑๙๐๙ เพื่อแลกกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากอังกฤษ การเรียกร้องสี่รัฐคืนมาอยู่กับไทยอีก นอกจากเป็นประโยชน์ต่อรัฐไทยแล้ว อีกด้านยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนมลายูมุสลิมในบริเวณปัตตานีอีกด้วย บัดนี้คนปัตตานีสามารถรื้อฟื้นสัมพันธภาพและแลกเปลี่ยนปัญหาร่วมกันกับพี่น้องมุสลิมในฝั่งมลายาได้มากขึ้น

    ตนกูมะมุด มะไฮยิดดิน บุตรชายคนสุดท้องของอดีตรายาแห่งปัตตานี ซึ่งไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ในรัฐไทยสมัยนั้น ก็เดินทางไปพำนักอยู่ในกลันตัน และในระหว่างการยึดครองมลายาโดยญี่ปุ่น เขาร่วมในขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.๒๔๘๗ ตนกูอับดุลยาลาลบิน ตนกูอัลดุลมุตตาลิบ บุตรชายของอดีตรายาแห่งเมืองสายบุรี ซึ่งมีชื่อไทยว่า อดุลย์ ณ สายบุรี เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และต่อมารัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ประท้วงการปฏิบัติอันไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสร้างปัญหาและความลำบากทางเศรษฐกิจและความไม่พอใจทางศาสนาแก่คนท้องถิ่น

    หลังจากมีการพิจารณาปัญหาคำร้องเรียนหลายครั้ง ในที่สุดรัฐบาลให้คำตอบมาว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องในการใช้นโยบายการผสมกลมกลืนทางศาสนาและวัฒนธรรม ดังคำตอบจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า "การปฏิบัติงานของข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีนั้นเป็นการสมควร และไม่ได้กระทำการอันที่จะทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่"  จากนั้นเขาตัดสินใจออกจากไทยไปพำนักในกลันตันและเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับตนกูมะไฮยิดดิน ในการต่อสู้เพื่อสิทธิและความยุติธรรมของคนมลายูมุสลิมต่อไป

    หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงครามลาออกจากตำแหน่งเพราะแพ้คะแนนเสียงในรัฐสภา นายควง อภัยวงศ์ ได้รับการสนับสนุนจากพลังการเมืองฝ่ายเสรีไทยที่นายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป การเมืองระยะก่อนยุติสงครามมหาอาเซียและหลังจากนั้นสะท้อนความขัดแย้งและช่วงชิงการนำระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงครามกับนายปรีดี พนมยงค์ โดยที่ฝ่ายหลังสามารถก้าวขึ้นมานำได้ในระยะนี้ ฐานะอันเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของนายปรีดีคือตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว ในช่วงนี้เองที่นโยบายฟื้นฟูและปรับความสัมพันธ์อันดีเสียใหม่กับคนมลายูมุสลิมภาคใต้ถูกประกาศออกมา แทนที่นโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

    ที่สำคัญคือการประกาศพระราชกฤษฏีกา ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. ๒๔๘๘ ในวันที่ ๘ พฤษภาคม พร้อมกับการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีอีกวาระหนึ่ง หลังจากตำแหน่งนี้ว่างมาหลายปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้คือ นายแช่ม พรหมยงค์ เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่คนแรก เขาเป็นข้าราชการสังกัดกรมโฆษณาการ(ต่อมาคือกรมประชาสัมพันธ์) และก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกรุ่นก่อการของคณะราษฎรด้วย

    หลังจากนโยบายรัฐบาลปรับระดับของลัทธิชาตินิยมไทยลงไป และหันมาส่งเสริมสนับสนุนฝ่ายศาสนาอิสลามดังแต่ก่อน มีการยอมให้คนมุสลิมหยุดวันศุกร์ดังเดิม ตลอดไปถึงการปฏิบัติทางศาสนาและภาษา ใน พรก.ศาสนูปถัมภ์อิสลามนั้นมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดด้วย บรรดากลุ่มมุสลิมก็ก่อตั้งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเฉพาะสี่จังหวัดภาคใต้ขึ้นมา

    ก่อนหน้านี้ฮัจญีสุหลงและผู้นำมุสลิมได้ก่อตั้งองค์กรมุสลิมขึ้นในปัตตานี หลังจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศนโยบายรัฐนิยม องค์กรที่ว่านี้คือองค์กรดำเนินการกฎหมายชารีอะห์ หรือ อัล ฮัยอะห์ อัล-ตันฟีซียะห์ ลี อัล-อะห์กาม อัล-ชาร์อียะห์ โดยมีจุดหมาย "เพื่อรวมพลังบรรดาผู้นำศาสนาที่ปัตตานี ในการพยายามสกัดกั้นการคุกคามของรัฐบาลไทยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงคนมลายูให้เป็นคนสยาม พร้อมพิทักษ์ปกป้องความบริสุทธิ์ของศาสนาจากการแทรกแซงโดยความฝันไทยนิยม" องค์กรดังกล่าวนี้ตั้งขึ้นราวปี พ.ศ.๒๔๘๒

    พรก.ศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามที่ออกมาในปี พ.ศ.๒๔๘๘ (มาตรา ๓) ระบุให้ "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตำจุฬาราชมนตรีเพื่อให้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการส่วนพระองค์ เกี่ยวแก่การที่จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอิสลาม และให้มีเงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร" ทั้งยังให้กระทรวงศึกษาธิการอาจจัดตั้ง "อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย" "เพื่ออิสลามศาสนิกจะได้ศึกษาและรับการอบรมในทางศาสนา ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนี้ มีสิทธิเข้ารับเลือกเพื่อรับพระราชทานเงินทุนส่งไปเข้าศาสนจารีต ณ นครเมกกะ ตามจำนวนที่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯกำหนดขึ้นเป็นคราวๆ" (มาตรา ๔)

    หลังจากรัฐประหาร ๒๔๙๐ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ ได้มีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม ข้อสำคัญคือการยกเลิกความในมาตรา ๓ และให้เปลี่ยนเป็นดังนี้ "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาแก่กรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวแก่การศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม และให้มีเงินอุดหนุนในฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร" หมายความว่าจุฬาราชมนตรีขึ้นกับกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่ปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนพระองค์อีกต่อไป

     
     

    จากคุณ : Crescent ) - [ 19 มี.ค. 50 15:30:57 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom