บทความนี้ คัดลอกมาจากบทความที่ อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ ได้มีการถกวิเคราะห์กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ และพระวิปัสสนาจารย์ทั่วประเทศ ในคราวที่ท่านได้รับเชิญไปบรรยายธรรม เรื่องทำอย่างไรจิตจึงจะเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็ว ใน วันที่ 11 พ.ย. 2531 ณ.วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
(ตามหนังสือเชิญเลขที่ รวท.21/2531 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2531)
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
จิตในพระอภิธรรม
เท่าที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นไปตามคัมภีร์พระอภิธรรมมัตถสังคหะ ซึ่งพระ อนุรุทธาจารย์ได้เรียบเรียงไว้เมื่อปี พ.ศ. ๙๕๐ ที่สำนักมูลโสมวิหาร ประเทศลังกานั้นทั้งสิ้น ท่านแบ่งออกเป็น ๙ ปริเฉท, และมีคำย่อซึ่งถือกันว่าเป็นหัวใจของคัมภีร์ดังกล่าวนี้ว่า จิ (จิต), เจ (เจตสิก), รุ (รูป), นิ (นิพพาน) เป็นหลักสำหรับอธิบายขยายความต่อไป.
เจตนาของพระอนุรุทธาจารย์ก็เพื่อรวบรวมสงเคราะห์หัวข้อธรรมะทั้งหลายให้ เป็นหมวดหมู่ สำหรับกุลบุตรกุลธิดาในภายหลัง จะได้เรียนเข้าใจได้โดยง่าย, ไม่สับสน นับว่าเป็นเจตนาที่ดีและเป็นกุศลอย่างยิ่ง แต่ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน จึงมีความผิดเพี้ยน,เพิ่มเติม,เสริมต่อกันบ้างในระหว่างนั้นเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงย่อมเกิดเป็นปัญหาขัดแย้งกันขึ้น เมื่อนำมาสนทนากัน, จนไม่อาจตกลงกันได้ก็มี ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ถ้าผู้สนทนาทุกฝ่ายเปิดใจของตนเองให้กว้างเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงโดยใช้เหตุผล และสอบเทียบกับพระสุตตันตปิฎกแล้ว, ย่อมยุติลงอย่างสิ้นเชิง.
ในคัมภีร์พระอภิธรรมนั้น, จิตคือธรรมชาติชนิดหนึ่งซึ่งรู้อารมณ์, จิตเป็นตัวรู้และ สิ่งที่ถูกจิตรู้นั้นเป็นอารมณ์ หมายความว่าจิตรู้สิ่งใด, สิ่งนั้นคืออารมณ์ อีกนัยหนึ่งแสดงไว้ ว่า จิตคือธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ รับ, จำ, คิด, รู้ ซึ่งอารมณ์.
ตามคัมภีร์นี้ถือว่า เมื่อมี จิต, ก็ต้องมี อารมณ์ อยู่คู่กันด้วยเสมอ จะมีจิตโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ เมื่ออารมณ์เกิดขึ้น,จิตจึงจะเกิด และเมื่ออารมณ์ดับลง,จิตก็ดับตามไปด้วยเสมอ
ดังพระบาลีที่มาในพระอภิธรรมว่า จิตฺเตตีติ จิตฺตํ อารมฺณํ วิชานาตีติ อตฺโถ แปลว่า ธรรมชาติใดย่อมติด, ธรรมชาตินั้นชื่อว่าจิต กล่าวโดยอรรถว่า ธรรมชาติที่รู้อารมณ์คือจิต.
จิตในพระอภิธรรม มีชื่อสำหรับเรียกขานเป็นไวพจน์แทนกันได้ถึง ๑๐ ชื่อ ดังนี้ คือ จิต,มโน,หทัย,มนัส,ปัณฑระ,มนายตนะ,มนินทรีย์,วิญญาณ,วิญญาณขันธ์,มโนวิญญาณธาตุ. ความหมายของจิตแต่ละคำเหล่านี้ สามารถใช้แทนกันและมีใช้กันอยู่ในภาษาธรรมะ โดยทั่วไป
ดังนั้น จากเงื่อนไขของคำอธิบายในคัมภีร์พระอภิธรรมที่ยกมาทั้งหมดนี้ที่ว่า มีจิตจะต้องมีอารมณ์ และจะต้องรับอารมณ์ด้วยเสมอ นั้น
--->ย่อมแสดงความหมายชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า ชื่อจิตที่ใช้เรียกแทนกันทั้ง ๑๐ ชื่อเหล่านี้
เป็นจิตที่ถูกอารมณ์เข้าผสมปรุงแต่ง จนผิดไปจากสภาพเดิมแล้ว,ไม่ใช่ธาตุแท้ จึงเป็นจิตสังขาร
เมื่อเป็นจิตสังขารก็ย่อมมีการเกิดขึ้นและดับสลายไปเป็นธรรมดา หมายความว่าไม่สามารถรับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้อย่างถาวรตลอดกาลได้ เมื่อเรื่องหนึ่งดับไปจากการรับรู้แล้ว ก็ย่อมมีเรื่องอื่นทยอยกันเข้ามาสู่จิตต่อไปอีกตามลำดับ.
เพราะฉะนั้น จิตสังขารในคัมภีร์พระอภิธรรม ที่เรียกกันในนามว่า"จิต"นี้ จึงเป็นวิบากจิต (ผล ของการรับรู้อารมณ์แต่ละอย่าง) เท่านั้น ไม่ใช่ฐานรองรับบุญและกรรมใดๆ เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมดับไปตามอารมณ์เป็นธรรมดา
ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจิตชนิดใดเกิดขึ้นหรือดับไปก็ตาม.
จากตัวอย่างที่ยกมาแสดงนี้ จะเห็นได้ว่า
จิตในพระอภิธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นจิตสังขาร
ส่วนจิตของผู้ปฏิบัตินั้น, ดำรงสภาพรู้ของตนเองอยู่ตลอดทุกกาลสมัย, ไม่ได้ดับตามจิตสังขารไปด้วยแต่ประการใดทั้งสิ้น.
จากคุณ :
หนูเล็กนิดเดียว
- [
23 มี.ค. 50 08:55:07
]