Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ปฏิจจสมุปบาทอุบาย จาก คัมภีร์วิมุตติมรรค ทำให้เกิดสัสสตทิฏฐิ (ในความหมายของท่านพุทธทาส)

    ปฏิจจสมุปบาทอุบาย จาก คัมภีร์วิมุตติมรรค
    ปฏิจจสมุปบาทอุบาย

    http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y5403114/Y5403114.html

    อวิชชา

    ในที่นี้ อวิชชาคือความไม่รู้อริยสัจ ๔
    สังขารคือกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
    วิญญาณคือปฏิสนธิวิญญาณ
    นามรูปหมายถึงเจตสิกที่เกิดร่วมกับปฏิสนธิวิญญาณและกลละ
    สฬายตนะหมายถึงอายตนะภายใน ๖
    ผัสสะหมายถึงกลุ่มแห่งผัสสะ ๖
    เวทนาหมายถึงกลุ่มแห่งเวทนา ๖
    ตัณหาหมายถึงกลุ่มแห่งตัณหา ๖
    อุปาทานหมายถึงอุปาทาน ๔
    ภพหมายถึงกามภพ รูปภพและอรูปภพซึ่งเป็นที่ทำกรรม
    ชาติคือการอุบัติแห่งขันธ์ทั้งหลายในภพ
    ชราหมายถึงความแก่แห่งสังขารทั้งหลาย
    มรณะหมายถึงการทำลายขันธ์

    ---------------------------------------------------

    การที่ไปแสดงว่า  ปฏิสนธิวิญญาณที่เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป  นั้น

    ท่านพุทธทาสถือว่า ไม่ใช่ภาษาธรรมของพระพุทธเจ้า  เป็นภาษาคน

    ----------------------------------------------------------
    จากคำนำ ของหนังสือ ปฏิจจสมุปบาท ชุดลอยปทุม   โดยท่านพุทธทาส

    หน้า (๑๔)


    ข้อเท็จจริงอันลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้  มีอยู่ว่าพระพุทธเจ้าท่านประกาศศาสนาด้วยความยากลำบาก  คือต้องตรัสด้วยภาษาถึงสองภาษาในคราวเดียวกัน,  คือตรัสโดย  “ภาษาธรรม”  สำหรับสอนศีลธรรมแก่คนที่ยังหนาไปด้วยสัสสตทิฏฐิ  คือมีความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน  เป็นของ ๆ ตน  จนยึดมั่นอยู่อย่างเหนียวแน่นเป็นประจำ,  และตรัสโดย  “ภาษาธรรม”  สำหรับสอนคนที่มีธุลีในดวงตาอันเบาบางแล้ว  จะได้เข้าใจปรมัตถธรรม  เป็นการสอนปรมัตถธรรมให้รอดพ้นไปจากสัสสตทิฏฐิอันเป็นสมบัติดั้งเดิม  เพื่อให้ทิ้งสมบัติดั้งเดิมนั้นเสีย,  มันเป็น ๒ ภาษากันอยู่ดังนี้.  สำหรับปฏิจจสมุปบาทนั้น  เป็นเรื่องปรมัตถธรรม  ที่พูดกันด้วย  ”ภาษาธรรม”  เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามไปหมดจากเรื่องศีลธรรม,  แล้วจะนำมาตรัสด้วยภาษาคน  ที่ใช้สำหรับเรื่องศีลธรรมได้โดยวิธีใด  หรืออย่างไร ?  เมื่อตรัสโดยภาษาคนมันตรัสไม่ได้,  ถ้าตรัสโดยภาษาธรรม  คนฟังก็ตีความภาษาคนไปหมด  เลยไม่เข้าใจ  หรือเข้าใจผิดอย่างตรงกันข้ามไปเสียเลย  อันนี้เป็นต้นตอของปัญหาอันยุ่งยากสำหรับการสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท  ที่ทำให้ทรงท้อพระทัยในทีแรกถึงกับจะไม่ทรงสอน  กระทั่งถึงพวกเราทุกวันนี้  สอนเรื่องนี้กันไม่รู้เรื่อง  พูดกันไม่รู้เรื่อง,  รับคำสอนแล้วปฏิบัติอะไรไม่ได้  ยิ่งปฏิบัติยิ่งไกลออกไปอีก,  ดังนี้เป็นต้น

    ๔.   ปฏิสนธิวิญญาณ   ชนิดที่เป็นตัวตน  ไม่มีในภาษาปฏิจจสมุปบาท,  ดังนั้นคำว่าวิญญาณในปฏิจจสมุปบาทจึงทรงระบุวิญญาณหก,  แต่ถ้าจะหาเลศเรียกวิญญาณเหล่านี้ว่า “ปฏิสนธิวิญญาณ”  ก็ยังมีทางทำได้  คืออธิบายว่าวิญญาณหกนี้เอง  ก่อให้เกิดนามรูป – สฬายตนะ – ผัสสะ – เวทนาขึ้นมา,  แล้วยังสืบต่อลงไปถึงภพ  และชาติ  อันเป็นตอนปลายของปฏิจจสมุปบาท,  แต่พระองค์ไม่ทรงเรียก  หรือทรงอธิบายไว้ในที่ไหนว่า    ปฏิสนธิวิญญาณ  เพราะทรงประสงค์ให้เรามองกันในแง่ของวิญญาณ  ตามธรรมดานั่นเอง.   คำว่าปฏิสนธิวิญญาณเพิ่งมีใช้ในหนังสือชั้นหลัง  เป็นการดึงสัสสตทิฏฐิกลับเข้ามาสู่พุทธศาสนาโดยปริยาย  และเป็นกาฝากของพุทธศาสนา  ซึ่งคอยกัดกินพุทธศาสนาให้หมดไป. เรามีวิญญาณหก  ตามธรรมดา  และมีปฏิจจสมุปบาทได้โดยไม่อาศัยคำว่า  ปฏิสนธิวิญญาณเลย

    หน้า ๔๙
    ความหมายของคำในปฏิจจสมุปบาท
    ทีนี้สิ่งสำคัญที่สุดก็มาถึงคือ  ความหมายของคำในปฏิจจสมุปบาทเหล่านี้
    ความหมายของคำแต่ละคำเหล่านี้  เป็นความหมายในทางภาษาธรรม   ของ  ผู้รู้ธรรม ;   ไม่ใช่ความหมายของชาวบ้านผู้ไม่รู้ธรรม     เราได้แยกออกไว้เป็น   ๒  ภาษา  คือ ภาษาคน  หมายถึงภาษาคนธรรมดาที่ไม่รู้ธรรม ;    แล้วก็ภาษาธรรมคือภาษาของผู้รู้ธรรม ;   ภาษาปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นภาษาธรรม   เดี๋ยวจะแสดงให้เห็นเป็นลำดับไป.
    ถ้าเราถือเอาความหมายของปฏิจจสมุปบาทในภาษาคนแล้ว  ก็จะเกิดความยุ่งยาก  และจะเข้าใจไม่ได้ ;   จะยกตัวอย่างให้ฟังว่า   พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์นั้น   การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็คือการทำลาย   อวิชชาเสียได้  :    พระพุทธเจ้าทำลายอวิชชาเสียได้ก็คืออวิชชาดับ ;  อวิชชาดับสังขารก็ดับ ;  สังขารดับ  วิญญาณก็ดับ  ;   วิญญาณดับ  นามรูปก็ดับ ;  แล้วทำไมพระพุทธเจ้าไม่ตาย ?  คิดดูทีหรือว่าดับอวิชชาเสียได้   ที่การตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์นั้น  เพราะอวิชชาดับสังขารก็ดับ  คืออำนาจปรุงแต่งทางวิญญาณ  และนามรูปก็ดับ , แล้วทำไมพระพุทธเจ้าไม่สิ้นพระชนม์คาที่ที่โคนต้นโพธิ์  นั้นในวินาทีนั้น ?  นี้ก็เพราะว่าคำพูดในปฏิจจสมุปบาทนี้มันเป็นภาษาธรรม  :  คำว่าดับนี้ก็เป็นภาษาธรรม  ;   คำว่าเกิดนี้ก็เป็นภาษาธรรม ;    ไม่ใช่เกิดทางเนื้อหนัง   ไม่ใช่ดับทางเนื้อหนัง.
    เมื่อเข้าใจไม่ถูกแล้วปฏิจจสมุปบาทสายหนึ่งก็จะเข้าใจเป็นว่าเกิด  ๒  หน  ;  เกิดตรงนามรูปนี้ทีหนึ่ง   แล้วไปเกิดตรงชาติโน้นอีกทีหนึ่ง  ก็เลยเข้าใจว่าเกิด  ๒  หน.  เมื่อเข้าใจว่าเกิด  ๒  หน  ก็เลยมีสายปฏิจจสมุปบาททำให้เป็น  ๓  ชาติ  คือ  ชาติในอดีต  ชาติปัจจุบัน  ชาติอนาคต   มันเลยเตลิดเปิดเปิงยุ่งกันไปใหญ่ไม่ตรงตามเรื่อง  ;   และที่น่าขันที่สุดก็คือเมื่อเกิดพูดว่า   เกิด  ๒  หนได้,   แต่พอถึงทีดับ  หรือตายก็หากล้าพูดว่า  ตาย  ๒  หนไม่  เพราะไม่รู้ว่ามันจะตาย  ๒  หนได้อย่างไร.
    คำว่าภพ   คำว่าชาติ  ที่แปลว่า   ความมีความเป็นหรือความเกิดขึ้นในกรณีของปฏิจจสมุปบาทนี้   มิได้หมายถึงความเกิดทางมารดา  ไม่ใช่เกิดจากครรภ์มารดา ;    มันเกิดทางนามธรรม   ที่เกิดด้วยอุปาทาน    ที่ปรุงขึ้นมาเป็นความรู้สึกว่า  “ ตัวกู “   นั่นแหละคือเกิด .   ข้อนี้ก็มีพระบาลีที่ตรัสไว้ชัดที่จะอ้างเป็นหลักได้ก็คือ  มหาตัณหาสงขยสูตร  อีกเหมือนกัน :-
    พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในสูตรนั้นว่า   “ นันทิใดในเวทนาทั้งหลาย  นั่นคือ อุปาทาน “   หมายความว่าเมื่อเรามีการกระทบทางอายตนะ   เกิดเวทนา  เป็นสุขเวทนา  ทุกขเวทนา  อทุกขมสุขเวทนาอะไรก็ตาม,  ก็มีนันทิในเวทนานั้น. *  นั่นแหละคืออุปาทาน ;  นันทิคืออุปาทาน   เพราะว่านันทินี้มันเป็นที่ตั้งของความยึดถือ  :   ถ้ามีนันทิแล้วก็หมายความว่าต้องมีความยึดถือ.
    นันทิแปลว่าความเพลิดเพลินหรือความพอใจ.   นันทินั้นเองคืออุปาทานชนิดที่พระองค์ตรัส.  เราพอใจสิ่งใดหมายความว่าเรายึดถือสิ่งนั้นเข้าแล้ว    เพราะฉะนั้นนันทิเองคืออุปาทาน   แล้วนันทินั้นเองเป็นสิ่งที่ต้องมีในเวทนา ;   เพราะฉะนั้นเป็นอันว่าเมื่อใดเรามีเวทนา    แล้วเมื่อนั้นมีนันทิ  แล้วเมื่อนั้นมีอุปาทาน  :   “ เพราะมีอุปาทานนี้ก็มีภพ,   เพราะมีภพนี้ก็มีชาติ ,   เพราะมีชาตินี้ก็มีชรามรณะเกิดขึ้นพร้อมเป็นความทุกข์ “
    นี้แสดงว่าภพกับชาตินี้   มันมีติดต่อกันไปจากเวทนา   จากตัณหา  จากอุปาทาน  ไม่ต้องรอต่อตายแล้วไปเกิดใหม่  ;   ไม่ต้องรอให้ตายแล้วไปเกิดใหม่   จึงจะมีภพมีชาติ .   สิ่งที่เรียกว่าภพว่าชาตินั้นจะมีอยู่ที่นี่    ในวันหนึ่ง ๆ  ไม่รู้กี่ครั้งกี่คราว :    และจะมีทุกคราวที่มีเวทนา ;    แล้วประกอบอยู่ด้วยอวิชชาซึ่งเพลิดเพลินเป็นนันทิ ;   และนันทินั้นคืออุปาทาน;   อุปาทานก็สร้างภพสร้างชาติ ;    ฉะนั้นคำว่าภพว่าชาตินั้นมีอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้   ในวันหนึ่ง ๆ ไม่รู้กี่ครั้งกี่ครา    ไม่ต้องรอค่อตายแล้วไปเกิดใหม่
    คำว่าภพว่าชาติในลักษณะอย่างนี้    มันเป็นภาษาธรรม ;   ภาษาธรรมของผู้รู้ธรรม ไม่ใช่ภาษาชาวบ้าน .   ถ้าเป็นภาษาชาวบ้าน  ต้องรอต่อตายแล้วไปเกิดใหม่จึงจะมีภพมีชาติ  แล้วก็มีทีเดียวเท่านั้น  เพราะคนเรามันเกิดมาทีเดียวแล้วก็ตายเข้าโลงไปแล้วจึงจะมีภพมีชาติใหม่อีก.   เดี๋ยวนี้ภพหรือชาติในภาษาธรรมมีวันหนึ่งหลายหน   คือเกิดตัวกู --- ของกูหนหนึ่ง  ก็เรียกว่ามีภพมีชาติหนหนึ่ง.  แล้วเดือนหนึ่งก็มีได้หลายร้อยหน,  ปีหนึ่งก็หลายพันหน,   หลายพันภพชาติ ,   ฉะนั้นเราจะต้องรู้จัก  สิ่งที่เรียกว่าภพว่าชาติ  ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน  วันหนึ่งหลาย ๆ  หนนี้.
    ทีนี้จะเห็นได้ทันทีว่า  เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นเรื่องที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ;  ไม่ใช่รอต่อตายแล้ว หรือต้องกินเวลาตั้ง ๓  ชาติจึงจะมีปฏิจจสมุปบาทสักรอบหนึ่ง.   ที่แท้ในวันหนึ่ง ๆ  มีตั้งหลาย ๆ  หน ; เมื่อใดมีเวทนา  มีตัณหาอุปาทาน  เมื่อนั้นมีรอบของปฏิจจสมุปบาท  แล้วมีภพมีชาติ ;  ทำให้เห็นได้ว่ามันมีในชีวิตประจำวันของคนทุกคน .  
    ------------------------------------------------------------------------
    หน้า ๑๑๓
    วิญญาณตามความหมายในปฏิจจสมุปบาทที่ว่าสังขารให้เกิดวิญญาณ   ไม่ใช่ปฏิสนธิวิญญาณ,  แล้วก็ถูกตู่เอาไปเป็นปฏิสนธิวิญญาณหมด  โดยพวกที่รู้แต่ภาษาคน  พูดแต่ภาษาคน  มีตัวตน  คร่อมภพคร่อมชาติเสียเรื่อย  แต่ถ้าจะพูดกันอีกทีหนึ่งก็พูดได้เหมือนกันว่า  วิญญาณอะไรก็ตามที่ทำหน้าที่ให้เกิดอุปาทาน  ภพ  ชาติ  ในปฏิจจสมุปบาทได้ตามนัยที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น,  ก็อาจเรียกวิญญาณนั้นว่า  “ ปฏิสนธิวิญญาณ “  ได้เหมือนกัน  เพราะมันสืบต่อการเกิด  “ ตัวกู “  ให้เกิด ๆ กันไป

     
     

    จากคุณ : เฉลิมศักดิ์1 - [ 13 พ.ค. 50 07:10:20 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom