Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    nameonic โรค ย้ำคิดย้ำทำ

    โรคย้ำคิดย้ำทำ



         nameonic
    ลองสำรวจตัวเองดูเสียหน่อยว่า เคยมีพฤติกรรมแบบนี้หรือไม่

    - ขับรถออกจากบ้านแล้วไม่แน่ใจว่า ถอดปลั๊กเตารีดหรือยัง ต้องกลับไปดูซ้ำอีกครั้งให้แน่ใจ แถมก่อนออกจากห้องหันกลับไปมองซ้ำอีกสองทีว่าถอดปลั๊กแล้วจริงๆ

    - เคยหรือไม่ กดล็อกประตูห้องนอนแล้วไม่แน่ใจเดินกลับไปหมุนลูกบิดแล้วกดซ้ำอีกครั้ง หรือสองสามครั้ง

    - อาการเดียวกันอีกอย่าง เดินจากรถแล้วกดรีโมตล็อก เสร็จแล้ว กดล็อกซ้ำอีกครั้งให้แน่ใจว่ารถล็อกแล้วจริงๆ

    พฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่อาการหลงลืม แต่เป็นอาการทางประสาทอย่างหนึ่งที่เกิดกับคนได้ทุกวัยไม่สนหนุ่มหรือแก่ เป็นโรคที่แพทย์เรียกว่าโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือที่เรียกว่าโรค Obsessive Complusive Disorder หรือย่อว่าโอซีดี

    'คนทั่วไปมีอาการย้ำคิดย้ำทำอยู่ ถ้านานครั้งเป็นที ไม่ได้เป็นบ่อยๆ และไม่ได้กระทบกระเทือนต่อชีวิตประจำวัน ก็ถือว่าไม่ผิดปกติอะไร แต่ถ้าเมื่อไรเป็นเยอะมาก จนกระทบกระเทือนชีวิตประจำวัน ก็อาจจะต้องไปหาจิตแพทย์' น.พ.ไพศาล ช่วยวิบูลสุข ทันตแพทย์จากโรงพยาบาลราชวิถีอธิบาย

    หนึ่งในตัวอย่างโรคย้ำคิดย้ำทำเคยถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน เรื่อง As Good As It Gets นำแสดงโดยดาราเจ้าบทบาท แจ๊ค นิโคสัน ซึ่งสวมบท เมลวิน อูดาล นักเขียนชื่อดังที่มีพฤติกรรมเป็นที่น่ารังเกียจของคนที่อยู่รอบข้าง ตอนหนึ่งของภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นถึงอาการย้ำคิดย้ำทำผ่านฉากเมลวินใช้มือบิดกลอนประตูซ้ำกันสามครั้งพร้อมกับนับ...หนึ่ง...สอง...สาม เพื่อให้แน่ใจว่า เขาได้ล็อกมันแล้วจริงๆ

    น.พ.อนนท์ ปริณายกานนท์ จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคจิตชนิดนี้ ในร้อยคนจะมีสัก 2-3 คน เป็นชนิดหนึ่งของกลุ่มของโรคประสาทวิตกกังวล

    โรคประสาทวิตกกังวลที่ว่านี้ประกอบไปด้วย โรควิตกประเภทกังวลไปทั่วทุกเรื่อง (Panic Anxiety Disorder) ประเภทที่สองเป็นพวกขี้กลัว (Phobia) มีอาการหวาดกลัวหลายรูปแบบ อาทิ กลัวแมลงสาบ กลัวที่แคบ กลัวที่สูง กลัวคนจำนวนมากๆ

    'ประเภทต่อมาคือ พีทีเอสดี เป็นประเภทที่เกิดความกลัวหลังจากผ่านประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ อย่างเช่น สึนามิ ใครพูดถึงเรื่องนี้ก็จะกลัว พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์นั้นๆ หรือเกิดอาการผวาเมื่อได้ฟังเรื่องเหตุการณ์นั้น บางรายมีอาการซึมเศร้า ไม่อยากพบปะผู้คน บุคลิกภาพจะเปลี่ยนไปอีกคน และสุดท้ายคือ โอซีดี เป็นอีกประเภทหนึ่ง' น.พ.อนนท์ กล่าว

    คนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโอซีดี จะมีอาการวิตกกังวล มักคิดอะไรซ้ำไปซ้ำมา และมีพฤติกรรมทำอะไรซ้ำๆ เช่น ล้างมือบ่อยๆ นับแล้วนับอีกเพื่อให้แน่ใจ ดูแล้วดูอีก ทำความสะอาดเช็ดถูไม่เลิกโดยหวังว่าจะขจัดความย้ำคิดได้ หรือทำให้หมดกังวลได้ พฤติกรรมบางอย่างเป็นเหมือนกับ 'เป็นกิจวัตร' ที่รู้สึก (เอาเองว่า) ต้องทำ ทำแล้วสบายใจหมดกังวล

    แต่พฤติกรรมเหล่านี้หากเป็นหนักจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนคนนั้นเอง เช่น บางคนมีอาการติดนับเลข เช่น ต้องสระผมสามครั้ง เพราะถือว่าเลขสามเป็นเลขนำโชค บางคนอ่านหนังสือไปไม่ถึงไหนเพราะมัวแต่นับย่อหน้าอยู่ หรือถ้าจะตั้งนาฬิกาปลุกก็ต้องคอยนับตัวเลขไม่ให้บวกกันแล้วได้เลขอัปมงคล

    บางคนก่อนแต่งตัวตอนเช้าต้องทำกิจวัตรบางอย่างก่อน เพราะวิตกว่าถ้าไม่ทำ ก็จะกังวลแล้วจะไม่ยอมแต่งตัว เช่น วิตกกังวลว่าถ้าไม่ทำกิจวัตรบางอย่างแล้วพ่อกับแม่จะเสียชีวิต ซึ่งคนที่มีอาการเหล่านี้ยอมรับว่าเป็นความคิดที่ไร้เหตุผล เจ้าความคิดแปลกๆ นี้เองเมื่อยิ่งคิดยิ่งกังวล และยิ่งทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไร้สาระ

    คนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำบางคนวิตกกังวลว่าจะติดเชื้อโรค จะหมั่นล้างมืออยู่ตลอด และจะคอยคิดและรู้สึกว่าจะต้องเช็คให้แน่ใจ บ้างก็จะมีความคิดเกี่ยวกับความรุนแรงวนอยู่ในหัว และกลัวว่าจะทำร้ายคนที่อยู่ใกล้ บางคนใช้เวลาสัมผัสสิ่งของนานๆ หรือนับแล้วนับอีก เห็นอะไรไม่ได้ต้องจัดให้เป็นระเบียบหรือได้สมดุล

    'ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เปิดตู้เสื้อผ้าจะเห็นว่าเสื้อผ้าเรียงสีกันเลย หรือเปิดตู้ในครัวจะเห็นถ้วยชามเข้าชุดกัน เรียงจากเล็กไปหาใหญ่ เป็นคนที่เนี้ยบมาก ปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ เขาอาจจะไม่รู้ตัว และไม่ยอมไปหาแพทย์ ตัวเขาเองคิดว่าไม่เป็นไร อาจจะต้องมีกลเม็ดพาเขาไป' น.พ.ไพศาล ยกกรณีเพื่อนคนหนึ่งให้ฟัง

    คุณหมออธิบายเพิ่มเติมว่า คนที่เป็นโรคนี้อาจมีลักษณะบุคลิกภาพอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Perfectionism ในภาพยนตร์รางวัลออสการ์เมื่อปี 2540 เรื่องนี้ หนึ่งในฉากบนฟุตบาทที่ผู้ชมอาจฉงนว่าทำไมเมลวินถึงเดินกระโดดข้ามแผ่นทางเดินไปมาอย่างระมัดระวังนั้น เป็นเพราะความที่เขามีบุคลิกภาพแบบ Perfectionist ที่ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ แม้แต่แผ่นทางเดินเขาก็เลือกที่จะเดินบนแผ่นที่ไม่มีรอยแตก

    คนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้กับหลายอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับตัวเลขอย่างนักบัญชี ซึ่งจะนับแล้วนับอีกเพื่อความแน่ใจ หรือสถาปนิกจะคอยคำนวณแล้วคำนวณอีก ก็ยังไม่มั่นใจต้องวานให้เพื่อนสถาปนิกด้วยกันช่วยตรวจสอบให้อีกที

    โดยทั่วไปแล้ว คนปกติก็อาจมีอาการย้ำคิดย้ำทำกันบ้าง เช่น เดินกลับมาเช็คหลายรอบว่าปิดเตาแก๊สหรือยัง ก่อนออกจากบ้าน แต่สำหรับคนที่เป็นโรคโอซีดีนั้น พฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้เขาต้องเสียเวลากับมันเป็นชั่วโมง บางรายเป็นวัน และรบกวนชีวิตประจำวันอย่างแรง

    'อาการเหล่านี้อาจพบได้ในกลุ่มอาชีพ เช่น วิศวกร จะถามว่าบ้านที่ออกแบบถูกต้องหรือเปล่า ถามซ้ำๆ จริงหรือเปล่า เป็นคำถามที่ silly เขาก็รู้ว่า silly แต่อดไม่ได้ อย่างเช่น วัดแล้ววัดอีก คนไข้บางคนจะถามย้ำอยู่ตลอดว่าจะหายเปล่า ถามซ้ำอยู่นั่น เป็นความกังวลชนิดหนึ่งของ phobia พออธิบายแล้ว ดูเหมือนจะเข้าใจแล้วก็ยังถามซ้ำอีก' หมออนนท์ เสริมและว่า

    การดูแลตัวเองของผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวชนั้น ผู้ป่วยจะต้องรู้ว่าอะไรเป็นตัวสาเหตุ และพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ และต้องได้รับการส่งเสริมให้มีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น หมั่นดูแลจิตใจตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง รู้จักให้อภัยตัวเอง

    'คนส่วนใหญ่ไม่ให้อภัยตัวเอง บางคนมองโลกในขอบเขตตัวเอง นอกจากไม่ให้อภัยคนอื่นแล้วยังไม่ให้อภัยตัวเองด้วย ไม่ยอมให้อภัยตัวเองในสิ่งที่ตัวเองพลาด ซึ่งทำให้เกิดความเครียด สิ่งเหล่านี้ควรมานั่งพูดคุยกันให้รู้เรื่อง ยอมรับในข้อบกพร่องของตัวเองให้ได้' จิตแพทย์ กล่าว

    ขณะที่คุณหมอไพศาลเสริมต่อว่า คนรอบข้างควรต้องเข้าใจ โรคนี้รักษาได้ไม่ยากด้วยยา ถ้าคนไข้ทานยาอยู่ควรจะคอยช่วยดูแลให้คนไข้ทานยา คนไข้จิตเวชส่วนหนึ่งจะไม่ยอมทานยา อาการดังกล่าวหากทานยาก็จะช่วยได้ และจากภาพยนตร์เรื่อง AS Good AS It Gets จะเห็นว่า ความรักก็ช่วยได้ 'ทุกอย่างในโลกไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ คนเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบ'

     
     

    จากคุณ : ปลาทูน่า - [ 22 พ.ค. 50 08:26:40 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom