Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    “ยึดมั่น” “ยึดติด” “ตัวตน” “นิมิต” และ “ปล่อยวาง” ในวิชชาธรรมกาย

    (นิตยสารธรรมกาย  เล่มที่  ๔๔)
                    จัดพิมพ์โดย
    มูลนิธิและสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย
       อำเภอดำเนินสะดวก  จังหวัดราชบุรี



    ถาม  :  ดิฉันเคยปฏิบัติเจริญภาวนาธรรมในสายอื่น  ที่สอนให้ปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ   แม้เพียงตัวตนของเรา   ก็ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น   ตามขั้นตอนของการพิจารณาดูสังขารในสติปัฏฐาน ๔   แม้เพียงนิมิตก็ไม่ให้เอาเป็นอารมณ์หรือยึดติด   แต่เมื่อเข้ามาปฏิบัติ  ณ สถานที่แห่งนี้กลับตรงกันข้าม   แม้เอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ให้มา   ก็มีข้อความเป็นโดยนัยลักษณะเดียวกัน   อย่างนี้จะไม่เป็นการสอนให้ยึดมั่นถือมั่นหรือค่ะ   เช่นในหนังสือหลักการเจริญภาวนา (เล่มสีฟ้า)  หน้า ๒๒  ระหว่างบรรทัดที่ ๑  ถึงบรรทัดที่  ๑๘  เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมเข้ากลางกายแต่ละกาย  ผู้ปฏิบัติจะต้องยึดกายที่เข้าถึงเป็นแบบไปอย่างนี้เรื่อยๆ  จนถึงกายธรรมอรหัตละเอียด  ดิฉันสงสัยว่าจะถูกทางที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ในหลักของมัฌชิมาปฏิปทา  และการปล่อยวางต่าง ๆ  หรือไม่?



    ตอบ :   ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจคำว่า  “ยึดมั่น”  หรือ  “ยึดติด” คำว่า  “ตัวตน”  คำว่า “นิมิต” และ “ปล่อยวาง”   ให้ดีเสียก่อนก็จะเข้าใจความหมายคำของหลวงพ่อวัดปากน้ำ  พระมงคลเทพมุณี   (สด  จนฺทสโร)  ได้ง่า  กล่าวคือ



    การปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน   ในพระพุทธศาสนานั้นมุ่งที่จะอบรมจิตใจให้สงบ  และ ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์  (ธรรมชาติเครื่องเศร้าหมองอันเป็นเครื่องกั้นปัญญา)   ควรแก่งาน  แล้วพิจารณาสภาวะของธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  ได้แก่   อุปาทินนกสังขาร (สังขารที่มีวิญญาณครอง)  และอนุปาทินนกสังขาร (สังขารที่ไม่มีวิญญาณครอง) ทั้งปวง  ให้เห็นตามธรรมชาติที่เป็นจริงว่า   ไม่เที่ยง   (อนิจฺจํ)  เป็นทุกข์ (ทุกฺขํ)  และมิใช่ตัวตนของใครที่ถาวรแท้จริง   (อนตฺตา)   เพื่อให้คลายอุปาทานความยึดถือ  (ยึดมั่น  ยึดติด)  ว่าเป็นตัวตน  (มีแก่นสารสาระของความเป็นตัวตนที่แท้จริง)  ว่าเป็น  บุคคล  เรา-เขา  ของเรา-ของเขา  ด้วยตัณหา  และทิฏฐิ  ความหลงผิด  (ความคิดว่าเป็นตัวตนนั้นเสีย)



    เพราะอุปาทาน  คือความยึดถือสังขารธรรม  ทั้งปวงที่ไม่มีแก่นสารสาระในความเป็นตัวตนที่แท้จริงของใครนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยงเป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  ด้วยตัณหา  และ ทิฏฐิ  (ความหลงผิดว่าเป็นแก่นสารสาระในความเป็นตัวตน  บุคคล  เรา-เขา)  นั้น เป็นทุกข์จริง   ๆ  แท้  (ทุกขสัจ)  ตามส่วนแห่งความยึดถือนั้น   ยึดมากก็ทุกข์มาก  ยึดน้อยก็ทุกข์น้อย  ไม่ยึดเลยก็ไม่ทุกข์เลย



    “อุปาทาน ความยึดมั่น”  ณ ที่นี้หมายถึงความรู้สึกเป็นเจ้าของเมื่อไปมีอุปาทาน  (ความยึดถือ)  คือมีความรู้สึกเป็นเจ้าของในสิ่งที่ไม่มีแก่นสารสาระในความเป็นตัวตนที่เป็นเองโดยธรรมชาติไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งอยู่เสมอ ด้วยตัณหา  (ความทะยานอยาก)  และ ทิฏฐิ  (ความหลงผิด) จึงเป็นทุกข์  ดังตัวอย่างพระบาลีว่า   “สงฺขิตฺเตน  ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา  ทุกฺขา” กล่าวว่าโดยสรุปอุปาทานเบญจขันธ์เป็นทุกข์

    จากคุณ : สมถะ - [ 9 ธ.ค. 50 18:07:28 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom