Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    --->>> ทำไมต้องมีดวงแก้วในการเจริญภาวนาธรรม

    ทำไมต้องมีดวงแก้วในการเจริญภาวนาธรรม
    (นิตยสารธรรมกาย  เล่มที่   ๑๕)

    จัดพิมพ์โดย
    มูลนิธิและสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย
    อำเภอดำเนินสะดวก  จังหวัดราชบุรี



    ถาม  :  ทำไมต้องมีดวงแก้วในการเจริญภาวนาธรรม?

    ตอบ  :  การที่เราจะสามารถเจริญวิชชา เพื่อดับอวิชชามูลรากฝ่ายเกิดได้นั้น  จะต้องเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน




    ฝ่าย  “สมถะ”  หรือภาคสมถะนั้น มุ่งหมายที่จะให้ใจสงบจากกิเลสนิวรณ์   ได้แก่  ความง่วงเหงาซึมเซาไม่กระปรี้กระเปร่าแห่งจิตใจ  ๑  ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม๑.  ความโกรธ  พยาบาทหงุดหงิด ไม่สบายใจ ๑,  ความฟุ้งซ่านแห่งจิตใจ  วิตกกังกลหรือนึกไปในเรื่องต่าง ๆ ๑,  ความยินดีพอใจยึดติดในกามคุณทั้ง ๕ คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สิ่งสัมผัสทางกายอีก ๑ เป็นต้น  ๕ อย่างนี้รวมเรียกว่ากิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา



    หัวหน้าใหญ่  หรือรากเหง้าของกิเลสเครื่องกั้นปัญญานี้  ก็คืออวิชชานิวรณ์  อวิชชานิวรณ์นี้เป็นกิเลสตัวสำคัญที่สุด จำต้องอาศัยวิชชาเป็นธรรมเครื่องกำจัด   แล้วจะพลอยให้กิเลสต่าง ๆ ระงับลงได้   แต่การที่จะเข้าไปกำจัดอวิชชาได้  ต้องเจริญวิชชา   วิชชาจะเจริญได้  กิเลสนิวรณ์  ๕ ข้อแรกที่กล่าวถึงต้องหมดไป  นี่....เกี่ยวข้องกันอย่างนี้  



    เมื่อกิเลสนิวรณ์ ๕   ข้อหมดไปแล้วใจจึงใส  เมื่อใสแล้วหยุดรวมเป็นจุดเดียว   ต้องเข้าใจว่าจิตใจที่ผ่องใสปราศจากกิเลสนิวรณ์นั้นใจต้องเป็นสมาธิแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว  (เอกัคคตารมณ์)  เพราะฉะนั้นบางครั้งเรามักพูดว่าทำสมาธิ   ซึ่งหมายเอาว่า  อบรมให้หยุดนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว   แต่บางครั้งเราเรียก   “สมถกัมมัฏฐาน”  นั่นหมายเอาคุณสมบัติของใจ  เมื่อจิตใจเป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคงแล้วก็จะผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์จากกิเลสนิวรณ์  แต่ความที่ใจจะสงัดจากกิเลสนิวรณ์ได้เป็นสมาธิแนบแน่นได้  ต้องอบรมใจให้หยุดให้นิ่งถึงขั้นฌานจิต   อันให้เกิดองค์คุณ  หรือองค์แห่งฌาน  คือ วิตก  วิจาร  ตรึกตรองประคองนิมิต  คือพอเราทำใจให้เกิดอุคคหนิมิต   คือเห็นใสเพียงชั่วขณะแล้วหายไปนี่เห็น ๆ  หาย ๆ อยู่เช่นนั้น   จัดเป็นสมาธิขั้นอุปจารสมาธิ  ให้เกิดองค์คุณหรืองค์แห่งฌานที่  ๑  คือวิตก  แต่ถ้าทำใจให้หยุดให้นิ่งสนิทยิ่งขึ้นไปอีก  ถึงได้ปฏิภาคนิมิต  แปลตามบาลีว่า   นิมิตเทียบเคียง  หมายถึงว่าเห็นนิมิตติดตา   จะนึกย่อนึกขยายก็ได้     พอจิตเข้าถึงปฏิภาคนิมิต  แล้วน่ะ  เป็นสมาธิขั้น   “อัปปนาสมาธิ” ให้ได้องค์คุณหรือองค์แห่งฌานที่  ๒   คือ   “วิจาร” ดังที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมธีรราชมหามุนี  ท่านกล่าวถึงว่าถ้าว่านกกำลังจะทะยานบินแล้วก็พระพือปีกบินพรึบ ๆๆ  ไปเรื่อยนั้น  อุปมาดั่งว่า  “วิตก”  จิตกำลังประคองนิมิตอยู่ได้บ้างไม่ได้บ้าง  แต่ถ้าจิตซึ่งเป็นปฏิภาคนิมิต  ประคองเห็นได้นานติดตาอยู่อย่างนั้น   เรียกว่าวิจาร  เหมือนกับนกบินลอยอยู่ในนภากาศ  กางปีกก็ร่อนไปได้  นั่น  เรียกว่า   “วิจาร”

    จากคุณ : สมถะ - [ 12 ธ.ค. 50 13:32:20 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom