Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    แม้ในจีนมีชาวจีนนับถือศาสนาพุทธมาก แต่ชาวจีนก็ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ

    ตั้งกระทู้นี้อีกครั้งเพราะโดนลบเห็นว่าอาจไม่ผ่านการกรองคำ ผมได้ตั้งกระทู้ว่า ชาวจีนนับถืออะไรมากกว่ากัน ระหว่างขอจื๊อ เต๋า และพุทธศาสนา คำตอบอาจจะยากเกินไป ซึ่งเป็นข้อมูลชี้วัดจำนวนออกมายาก ได้เข้าไปอ่านใน http://en.wikipedia.org/wiki/Religion_in_China สัดส่วนตัวเลขที่ออกมาก็ค่อนข้างแปลก อาทิ ชาวจีนนับถือพุทธ มีตั้งแต่ 8% จนถึง 80% ของจำนวนประชากร ทำไมค่ามันห่างกันขนาดนั้น จึงสงสัยถ้านับถือ 8% แล้ว 80% ที่อ้างอีกข้อมูลมาจากไหน ผลต่างกันถึง 72 (80-8) นั้นจะนับถืออะไรกันเล่า? ถ้าหากเราอิงข้อมูล 8% พร้อมกับพิจารณาข้อมูล 80%

    จนได้ไปพบข้อมูลน่าสนใจอันหนึ่ง คิดว่าน่าจะอ้างอิงได้

    http://www.blogth.com/blog/China/Square/600.html

    มีอาจารย์ชาวจีนท่านหนึ่งเคยกล่าวกับผมเล่นๆ ว่า หากเปรียบชาวจีนและสังคมจีน เป็นโพธิสัตว์สามหน้า ....
         
           ใบหน้าแรกที่ใหญ่ที่สุดคงเป็น ขงจื๊อ
           ใบหน้าด้านขวาก็คงเป็น พุทธศาสนา
           ส่วนใบหน้าด้านซ้ายก็ย่อมเป็น เต๋า
         
           โดยหากแบ่งเป็นสัดส่วนแล้วละก็ อาจารย์ท่านเดิมก็นึกอยู่สักพักแล้วตอบว่า ขงจื๊อน่าจะกินเนื้อที่ร้อยละ 60 พุทธ ร้อยละ 30 และ เต๋า ร้อยละ 10 (ชาวจีนและสังคมจีนในที่นี้หมายถึง 'ชาวฮั่น' โดยไม่รวมชนกลุ่มน้อย) ......
         
           ครับ กว่าสองพันปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน วิถีชีวิตของคนจีนและสังคมจีนผูกพันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า 'ปรัชญา' ของชีวิตและสังคมอยู่ 3 แนวทาง ก็คือ แนวของขงจื๊อ แนวของพุทธ และแนวของเต๋า ที่คนจีนเรียกกันสั้น ๆ ว่า หรู-ซื่อ-เต้า
         
           ผมยังจำได้ ครั้งยังเด็กเรียนชั้นมัธยม เมื่อเรียนวิชาสังคมเรื่องศาสนา พอกล่าวถึงว่า
         
           "ศาสนาที่มีผู้นับถือเยอะที่สุดโลกนั้นไม่ใช่ พุทธ หรือศาสนาประจำชาติของบ้านเราหรอกนะนักเรียน แต่เป็น ศาสนาคริสต์ รองลงมาเป็นอิสลาม ฮินดู ....." จากนั้น อาจารย์หลายท่านก็มักจะกล่าวต่อว่า หากประเทศจีนไม่ได้ปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ ศาสนาพุทธก็คงเป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในโลก เพราะประเทศจีนมีประชากรเป็นพันล้านคน
         
           ผมพกความเข้าใจนี้มาหลายปี จนกระทั่งมาเมืองจีน ......
         
           เมื่อมาถึงเมืองจีน สอบถามกับอาจารย์หลายท่านทั้ง อาจารย์ที่สอนทางด้านวัฒนธรรมจีน ปรัชญาจีน แล้วผมก็พบว่า คำกล่าว "หากประเทศจีนไม่ได้ปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ ศาสนาพุทธก็คงเป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในโลก" ถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
         
           จริงอยู่ จีน อาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีวัดวาอารามพุทธมากที่สุดในโลก ถือเป็นแหล่งเผยแพร่ศาสนาพุทธ มหายาน ของเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตาม แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ยึดถือแนวทางของ คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งถือเป็นนักคิดสายวัตถุนิยม (Materialism) จะไม่ได้เข้ามาปกครองประเทศจีน ก็มิอาจกล่าวได้อยู่ดีว่า จีนเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองของพุทธศาสนา หรือ พูดง่าย ๆ ก็คือ คนจีนที่เป็นชาวฮั่นเขาก็ไม่ได้ถือว่าตัวเองเป็นพุทธศาสนิกชน
         
           เหตุผลก็อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ก็คือ พุทธศาสนาที่มีต้นธารอยู่ในประเทศอินเดีย เมื่อไหลเข้ามาในประเทศจีนกลับมิอาจคงความบริสุทธิ์ได้ แต่มีความจำเป็นต้องหลอมรวมเข้ากับ แนวคิดและปรัชญาที่ถือกำเนิดขึ้นในแผ่นดินจีนเอง ก่อนที่จะเป็นที่ยอมรับจากชาวจีน
         
           เฝิงโหย่วหลาน หนึ่งในนักปรัชญาคนสำคัญของจีนแห่งศตวรรษที่ 20 กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ย่อปรัชญาจีนว่า พุทธศาสนาของอินเดียเมื่อเผยแพร่มาถึงจีน เมื่อมาปะทะกับปรัชญาท้องถิ่น และความคิดดั้งเดิมของชาวจีน อันหมายถึง ขงจื๊อ และ เต๋า นิกายพุทธที่ไม่ยืดหยุ่นก็มิอาจดำรงอยู่ได้หรือส่งอิทธิพลต่อสังคมในระดับ ต่ำ ยกตัวอย่างเช่น นิกายฝ่าเซี่ยง ที่ปรมาจารย์คือ พระเสวียนจั้ง หรือ พระถังซำจั๋ง ผู้ดั้นด้นไปถึงอินเดียและนำพระไตรปิฎกกลับมาแปลเป็นภาษาจีน
         
           นิกายฝ่าเซี่ยงที่กล่าวกันว่า พระเสวียนจั้งพยายามยึดถือตามคำสอนดั้งเดิมเป็นหลัก แต่การเผยแพร่กลับมิอาจส่งอิทธิพล เป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวจีนได้เท่ากับ นิกายพุทธอื่นๆ เช่น นิกายเซ็น หรือ นิกายฌาน หรือ นิกายสุขาวดี (จิ้งถู่) เนื่องจาก นิกายฝ่าเซี่ยงขาดการผสมผสานทางแนวคิดของพุทธ เข้ากับ คำสอนของขงจื๊อ และ เต๋า อันเป็นปรัชญาแนวคิดที่ถือกำเนิดขึ้นในผืนแผ่นดินจีนเองและมีการแพร่หลายใน จีนก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนาหลายร้อยปี
         
           เพราะฉะนั้น ในแวดวงวิชาการของจีนคำว่า 'พุทธศาสนาในจีน' กับ 'พุทธศาสนาของจีน' นั้นจึงเป็นเรื่องที่มีความแตกต่างในระดับหนึ่ง เนื่องจาก พุทธศาสนาของจีน นั้นทางด้านปรัชญาแนวคิดได้มีการปะทะ การแลกเปลี่ยน หลอมรวม แนวคิดบางส่วนกับปรัชญาท้องถิ่นด้วย*
         
           ตัวอย่างของการปะทะก็อย่างเช่น ลัทธิขงจื๊อให้ความสำคัญกับการมีบุตรชายสืบทอดตระกูลมาก ดังเช่นที่ผมเคยอ้างอิงถึงคำสอนของ เมิ่งจื่อ (ผู้สืบทอดคนสำคัญของขงจื๊อ) ที่ว่า
         
           "ที่สุดของความอกตัญญูนั้นคือ การไร้ทายาทสืบตระกูล"
         
           เมื่อลัทธิขงจื๊อมีคำสอนเช่นนี้แล้ว การออกบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ของบรรดาชายหนุ่มชาวจีนทั้งหลาย จึงถือเป็น 'ความอกตัญญู' ซึ่งความอกตัญญูนี้ถือเป็นความผิดร้ายแรงมากสำหรับสังคมจีน เพราะ เมื่อบวชแล้วก็แน่นอนว่า ย่อมไม่สามารถมีทายาทเพื่อสืบแซ่ สืบวงศ์ตระกูลต่อไปได้ นี่เป็นข้อขัดแย้งประการหนึ่งสำหรับสังคมจีนที่ความเชื่อแบบขงจื๊อ ซึ่งยังคงดำรงมาถึงปัจจุบัน (ขณะที่ในญี่ปุ่นซึ่งรับเอาทั้งขงจื๊อและพุทธ มาจากจีนเริ่มตั้งแต่ ศตวรรษที่ 17 ก็เริ่มมีการประนีประนอมกันในเรื่องนี้คือ พระญี่ปุ่นสามารถแต่งงานได้ และก็ถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่พระสงฆ์สามารถมีภรรยาและบุตรได้)
         
           ตัวอย่างของการแลกเปลี่ยน และ การหลอมรวม ระหว่าง แนวคิดของพุทธ กับปรัชญาดั้งเดิมของจีนนั้นเช่น ในช่วงแรกๆ ที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาในประเทศจีน โดยเฉพาะในช่วง ศตวรรษที่ 2-4 ชาวจีนจำนวนมากเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าหรือศากยมุนี นั้นเป็นสานุศิษย์ของ เหลาจื่อ ศาสดาของเต๋า เนื่องจากมีตำนานเล่ากันว่า ตอนที่เหลาจื่อหายสาบสูญไปนั้น มีผู้เห็นเหลาจื่อขี่ควาย ในมือถือคัมภีร์เต้าเต๋อจิง ออกไปทางทิศตะวันตก (ในยุคนั้นการเดินทางไปอินเดียต้องเดินทางไปทางทิศตะวันตกผ่านเส้นทางสายไหม) โดยเรื่องราวนี้มีผู้คาดว่าจะมีต้นกำเนิดมาจาก 'สื่อจี้' หนังสือประวัติศาสตร์ที่รวบรวมเอาเรื่องราวประวัติศาสตร์หลายยุคหลายสมัย เข้าด้วยกัน เล่มแรกของจีน โดยซือหม่าเชียน ขณะที่ทางศิษย์ของลัทธิเต๋า ก็มาเสริมแต่งเรื่องราวว่า เหลาจื่อเดินทางไปถึงอินเดียและเผยแพร่คำสอนให้กับ พระพุทธเจ้า รวมกับศิษย์อีก 28 คน ดังนั้นพระไตรปิฎกจึงมีต้นกำเนิดมาจากคัมภีร์เต้าเต๋อจิง
         
           ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธแพร่หลายมากขึ้นมีการแปลคำภีร์จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษา จีนเยอะขึ้น แม้ผู้คนจะทราบ และเข้าใจแล้วว่า 'พุทธ' นั้นมีต้นกำเนิดมาจากภายนอก แต่ชาวจีนก็กลับมีความเห็นขึ้นมาอีกประการหนึ่ง คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า กับ คำสอนของเหลาจื่อและจวงจื่อ (ผู้สืบทอดคำสอนของเหลาจื่อ) นั้นใกล้เคียงกันมาก นอกจากนี้การแปลพระไตรปิฎก และ พระธรรมคำสอนจาก ภาษาสันสกฤตให้เป็นภาษาจีนก็ยังคงติดอยู่ในกรอบภาษาเดียวกับที่เต๋าใช้อีก ด้วย เช่นคำว่า กระทำ ไม่กระทำ ฯลฯ
         
           ซึ่งในประเด็นนี้ มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญชาวไทยท่านหนึ่งเคยอธิบายไว้ว่า
         
           "พุทธศาสนาจากอินเดียนั้นมีทฤษฎีที่ลึกซึ้ง มีระบบปฏิบัติที่ชัดเจน เมื่อเข้าไปสู่วัฒนธรรม อารยธรรมจีนแล้วหลักคำสอนที่ลึกซึ้ง จึงเข้ากันได้ดีกับปรัชญาเต๋า ซึ่งถือเป็นโลกุตตรธรรมในแบบของจีนเอง แล้วก็วิธีการของปรัชญาเต๋านั้นเป็นวิธีการที่รวบรัดสั้นกระชับแล้วก็ตรงจุด เมื่อพุทธศาสนาที่มีหลักธรรมที่ลึกซึ้งแต่ว่ามีวิธีการบรรยายธรรม สาธยายธรรมเข้าไปถึงประเทศจีนนั้นจีนสนใจอย่างยิ่งต่อหลักธรรมที่ลึกซึ้ง นั้น แต่ว่าจีนคุ้นเคยกับวิธีการของเต๋ามากกว่า เช่น ปรัชญาเต๋ากล่าวถึง โลกุตตรธรรมที่ยิ่งใหญ่ คัมภีร์สั้น ๆ บาง ๆ 51 บท แต่ละบทก็คล้าย ๆ กับบทกวีแค่หน้าเดียว รวมถ้อยคําแค่ 8,000 คําแต่ว่าบรรจุสาระธรรมที่เป็นโลกุตตรหมด
         
           "เพราะฉะนั้น วิธีการของจีนนั้นเป็นวิธีการที่กระชับ กระทัดรัด สั้น ตรงจุดไม่เยิ่นเย้อยกตัวอย่าง ท่านเล่าจื้อ (เหลาจื่อ-ผู้เขียน) บอกว่า เต๋าที่เรียกได้ด้วยคําพูดนั้นไม่ใช่เต๋าที่แท้จริง เต๋าที่แท้จริงนั้นไม่อาจเรียกได้ด้วยคําพูด แล้วก็จบ คิดเอาเอง หรือว่า ผู้พูดไม่รู้ ผู้รู้ไม่พูด จบ คิดเอาเองจะไม่นิยมสาธยาย แต่มักจะพูดคําคมสั้น ๆ ไว้ให้คิด อันนั้นคือวิธีการที่ชาวจีนคุ้นเคย"**
         
           แม้จะยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าศาสนาพุทธเผยแพร่เข้ามาในจีนเป็นครั้งแรก เมื่อไหร่ แต่ถึงปัจจุบันก็ถือกันว่าน่าจะเข้ามาในประเทศจีนเป็นครั้งแรกใน สมัยฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-200) ราวครึ่งแรกของศตวรรษที่ 1 โดยการเผยแพร่เข้ามานั้นเป็นการเผยแพร่แบบแทรกซึมเข้ามาอย่างช้า ๆ

    แก้ไขเมื่อ 24 เม.ย. 51 00:02:17

     
     

    จากคุณ : DJC - [ 23 เม.ย. 51 23:58:16 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom