Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    เจโตสมาธิ

    เจโตสมาธิ

    เจโตสมาธิ หมายถึง
    สมาธิที่นำจิตให้หลุดพ้นจากการครอบงำปรุงแต่งของอารมณ์ทั้งหลาย

    ดังที่ได้บรรยายมาแล้วนั่นเอง ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น
    เพราะจิตปล่อยวางอารมณ์ทุกชนิดออกไปโดยไม่มีนิมิตหมายใดๆเหลืออยู่เลย

    ดังนั้น จึงแตกต่างจากสมาธิของศาสนาอื่น
    ที่ฝึกให้ยึดอารมณ์ที่ได้กำหนดไว้ให้แนบแน่นเพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น
    กล่าวคือ
    สมาธิในพุทธศาสนา อบรมจิตให้ว่าง เป็นสุญญตา
    แต่สมาธิในศาสนาอื่น อบรมจิตให้ยึดอารมณ์อันใดอันหนึ่งไว้ให้แนบแน่น
    เป็นเอกัคคตา

    วิธีบรรลุเจโตสมาธิ

    ๑.อาศัยความตั้งมั่นแห่งจิต คือ อยู่กับฐานที่ตั้งสติ (สัมมาสมาธิ )
    ๒.อาศัยความประกอบเนืองๆจนจำทางได้แม่นยำชำนาญ (วสี )
    ๓.มนสิการโดยชอบ คือ ทำลมหายใจประกอบด้วยไม่ว่าจะเข้าหรือออกจากสมาธิ
    (โยนิโสมนสิการ )
    ๔.ความไม่ประมาท คือ ใช้สติกำกับอยู่ตลอดเวลาที่ประกอบการงานตามหน้าที่
    โดยไม่ให้คลาดเคลื่อนออกไปอยู่ที่อื่นเลย (อัปปมาทธรรม )


    ๑.สัมมาสมาธิ ( จิตตั้งมั่นชอบ )

    หลักธรรมสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ก็คือ สัมมาสมาธิ ในมรรคมีองค์ ๘ กล่าวคือ
    ทำให้จิตสลัดอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดต่างๆออกไปอย่างสิ้นเชิง
    เป็น สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นอยู่ด้วยตัวของตัวเอง สงบสันติถึงที่สุดเป็นจิตตัวใน

    ดังพระบาลีว่า
    “อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ, สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ แปลว่า
    เมื่อปฏิบัติเข้าถึงจิตตัวในแล้ว ย่อมเข้าสู่ความสงบ”

    ซึ่งมีสภาวะตรงกันข้ามกับจิตที่ไม่สงบ วุ่นวาย กระสับกระส่าย
    เพราะถูกอารมณ์ครอบงำปรุงแต่ง กลายเป็นจิตที่ไม่ตั้งมั่นไป

    สมาธิจิต หรือ จิตตั้งมั่นนี้ ยังเป็นธรรมฝ่ายโลกียะอยู่
    คือ ยังถูกอริยมรรคปรุงแต่งเพื่อให้หลุดพ้นจากอารมณ์อยู่
    ได้แก่คำว่า สม+อธิจิต=สมาธิจิต ซึ่งหมายถึงจิตอันสูงยิ่งด้วยคุณธรรมฝ่ายกุศล
    ที่พร้อมจะเกิดขึ้นที่จิต
    ดังนั้น จึงไม่เปิดโอกาสให้อกุศลเกิดขึ้นในขณะที่จิตกำลังตั้งมั่นอยู่นี้.

    รวมความแล้ว จึงกล่าวได้ว่า
    สมาธิจิตเป็นโลกียธรรม และเป็นคุรุกรรมฝ่ายกุศลอีกด้วย
    ดังนั้น ถ้าผู้ใดปฏิบัติได้และรักษาไม่ให้เสื่อมจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตแล้ว
    ก็จะเป็นชนกกรรมนำผู้ปฏิบัติไปเกิดใหม่เป็นพรหม ก่อนกรรมใดๆทั้งสิ้น
    ผู้รู้หลายท่านกล่าวตรงกันว่า สมาธิที่เกิดขึ้นแก่ผู้ใดเพียงชั่วระยะเวลาช้างกระดิกหู
    หรืองูแลบลิ้นเท่านั้น ก็สามารถช่วยผู้นั้นไม่ให้ไปสู่อบายภูมิได้แล้ว.

    ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่า สมาธินี้มีประโยชน์เป็นอันมาก.

    ผู้ที่เริ่มลงมือปฏิบัติใหม่ๆที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ต่างก็ว่าเป็นเรื่องยากเย็น น่าเบื่อหน่าย
    ที่จะต้องมานั่งต่อสู้กับความปราดเปรียวของจิตที่ชอบแลบหนีออกไปหาอารมณ์เช่นนี้
    ถ้าความตั้งใจไม่เข้มแข็งมั่นคง และความอดทนฝึกแยกจิตออกจากอารมณ์มีไม่สูงแล้ว
    ก็มักจะเลิกปฏิบัติเสียกลางคัน โดยอ้างว่าไม่มีบุญวาสนาบ้าง ยังไม่ถึงเวลาบ้าง
    เพื่อที่จะไม่ปฏิบัติต่อไป ดังนั้นจึงนับว่าเป็นผู้พ่ายแพ้อารมณ์ต่อไปอีกตามเดิม
    คือ ยังเป็นผู้ที่ถูกอารมณ์เข้าครอบงำปรุงแต่งได้อย่างไม่มีที่สุด.

    ส่วนผู้ที่ปฏิบัติสมาธิได้สำเร็จนั้น ย่อมนับว่าเป็นผู้ชนะอันยิ่งใหญ่ในโลก
    ที่ไม่มีผู้ชนะใดเสมอเหมือน เพราะไม่มีการพ่ายแพ้อารมณ์ต่อไปอีก
    พระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงปราบข้าศึกได้ราบคาบมาแล้วนั้น
    ก็ยังมีโอกาสรบแพ้ข้าศึกที่ได้ตระเตรียมกำลังกองทัพไว้ดีแล้ว,ในภายหลังอีกก็ได้

    ดังนั้น ผู้ที่เพิ่มความเพียรพยายามฝึกยกจิตเข้าไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติบ่อยๆเนืองๆ
    จนทำได้อย่างชำนาญ เพียงไม่นานนักจิตก็จะเป็นสมาธิ
    และได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะตนเองอย่างน่าภาคภูมิที่สุด
    เพราะพ้นจากการถูกอารมณ์ครอบงำได้ตลอดไป.

    ด้วยเหตุนี้
    ผู้ปฏิบัติจึงต้องจำทางเดินของจิตที่จะต้องยกออกจากอารมณ์เฉพาะหน้า
    ให้เข้าไปตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติไว้อย่างแม่นยำ
    และปฏิบัติบ่อยๆเนืองๆด้วยความเพียร
    เพื่อปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง
    เป็นจิตตั้งมั่นชอบ(สัมมาสมาธิ)อยู่ด้วยตนเอง
    ไม่ต้องอาศัยอารมณ์มาเป็นบาทฐานให้ตั้งมั่นอีกต่อไป


    ๒.วสี ( ความคล่องแคล่ว )

    คำว่า วสี แปลว่า
    ผู้ชนะตนเองที่สามารถตัดนิวรณ์ได้เด็ดขาดในเมื่อมีอารมณ์มากระทบจิตทุกอารมณ์

    หมายความว่า
    สามารถควบคุมจิตของตนไม่ให้กระเพื่อมไหวตามอารมณ์ที่เข้ามาครอบงำได้ดี
    ทุกอารมณ์ รวมทั้งการเข้าและออกจากสมาธิได้อย่างรวดเร็วด้วย
    ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดและขณะใดก็ตาม มีอยู่ ๕ ประการ คือ

    ๑.อาวัชชนวสี ชำนาญในการนึกถึงฐานที่ตั้งสติที่เคยปฏิบัติ.
    ๒.สมาปัชชนวสี ชำนาญในการนำจิตเข้าสมาธิอย่างรวดเร็ว.
    ๓.อธิษฐานวสี ชำนาญในการประคองจิตให้เป็นสมาธิได้นานตามที่ต้องการ.
    ๔.วุฏฐานวสี ชำนาญในการออกจากสมาธิอย่างรวดเร็ว.
    ๕.ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณาตัวเองว่าตัดการกระเพื่อมไหว
    ได้เด็ดขาดเพียงใดหรือไม่?

    การสร้างวสีในการเข้า-ออกสมาธิ

    ผู้ที่ศึกษาเรื่องจิตมาแล้ว ย่อมทราบว่าสภาพพื้นฐานที่แท้จริงของจิตนั้น
    สงบ ประภัสสรผ่องใส และทรงไว้ซึ่งความรู้ตลอดทุกกาลสมัย
    จิตไม่ใช่ตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวสุข ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ชั่ว
    และไม่ได้เป็นอะไรในโลกนี้ทั้งสิ้น.

    ถ้ามีอารมณ์เข้ามากระทบเมื่อใด ทุกข์ สุข ดี ชั่ว จึงจะเกิดขึ้นเมื่อนั้น
    และปรุงแต่งจิตให้เกิดเป็นสัตว์ เป็นบุคคล โดยสมมุติบัญญัติในภายหลัง
    ซึ่งจัดว่าเป็นทุกข์ตามมาด้วยพร้อมๆกัน.

    แต่ถ้าเปลี่ยนความสนใจอารมณ์ที่กำลังกระทบอยู่เฉพาะหน้า
    หรือเลิกนึกคิดถึงอารมณ์ปัจจุบันเสีย
    แล้วไปสนใจดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจเข้าออก
    ณ จุดลมสัมผัส ที่เด่นชัดจุดหนึ่งภายในช่องจมูกแทนเสีย
    ความวุ่นวาย กระสับกระส่าย ความยินดี-ยินร้าย ซึ่งเป็นตัวทุกข์
    ย่อมดับไปจากจิตทันที.

    ผู้ที่จะเปลี่ยนความสนใจเช่นนี้ได้
    จะต้องฝึกปฏิบัติสมาธิโดยวิธีอานาปานสติมาเป็นอย่างดี
    จนจำฐานที่ตั้งสติได้อย่างแม่นยำและสามารถยกจิตเข้าไปตั้งไว้ได้อย่างชำนาญ
    ซึ่งจะทำให้สลัดอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดออกไปได้ดีที่สุด.

    ดังนั้น การเปลี่ยนความสนใจเลิกนึกคิดถึงอารมณ์เสีย
    แล้วให้ไปสนใจดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจ
    จึงขึ้นอยู่กับความคล่องแคล่วในการนำจิตเข้าสู่ความสงบเป็นสมาธิอย่างรวดเร็ว
    ดังตัวอย่างที่มีผู้ไปเฝ้ากราบทูลถามพระพุทธองค์ในเรื่องนี้ และได้ตรัสตอบดังนี้

    “ดูก่อนท่านทั้งหลาย
    ก่อนหน้านี้เราเคยอยู่ในวิหารธรรมอันสงบอย่างไร
    เมื่อกล่าวคาถาตอบท่านจบลง
    เราก็นำจิตกลับเข้าสู่วิหารธรรมอันสงบเช่นเดียวกันนั้น ได้อีกทันที”

    ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระสติอันไพบูลย์
    และทรงจำทางเดินของจิตได้แม่นยำ
    จนสามารถนำกลับเข้าสู่วิหารธรรมอันสงบได้อย่างคล่องแคล่ว
    หลังจากที่ได้ทรงเทศนาโปรดผู้ที่ได้เข้าเฝ้าเสร็จเรียบร้อยแล้วทันที.

    เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติสมาธิจึงต้องจำวิธีวางจิต
    หรือ อีกนัยหนึ่งเรียกว่า จำทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยำ
    ทุกครั้งที่ยกจิตเข้าไปตั้งไว้ ณ ฐานลมหายใจกระทบ
    พร้อมกับหยุดทำลมให้ละเอียดด้วยเสมอไป
    แล้วจึงประคองจิตไม่ให้แลบหนีออกไปอยู่กับอารมณ์อื่นๆ
    ได้อีกด้วยอุบายอันแยบคาย จนกระทั่งจิตสงบเป็นสมาธิถึงขีดสุด

    ถ้าจิตแลบหนีออกไปอยู่ที่อื่น ก็ให้ดึงจิตกลับมาตั้งที่ฐานดังกล่าวให้ได้
    ตามความประสงค์ทุกครั้ง จิตก็จะค่อยๆเชื่องและสงบเป็นสมาธิในที่สุด.

    ผู้ที่ฝึกปฏิบัติสมาธิ ควรทราบไว้ล่วงหน้าว่า
    การดึงจิตกลับมาตั้งที่ฐานลมกระทบทุกครั้ง
    จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดพลังปัญญาที่จะสลัดอารมณ์ออกไปจากจิต
    เพิ่มมากขึ้น ทุกครั้งที่ดึงจิตให้กลับเข้าสู่ฐานลมกระทบ

    ดังนั้น จึงเป็นงานที่มีค่าควรแก่บุคคลทุกชั้นที่จะพยายามปฏิบัติอย่างยิ่ง
    การเบื่อหน่ายแล้วเลิกปฏิบัติเสียกลางคันนั้น เป็นเรื่องของผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์
    ที่เปรียบเสมือนผู้นั้นปิดประตูกั้นประโยชน์ที่จะได้รับเสียเองโดยตรงทีเดียว
    ผู้ที่เลิกปฏิบัติสมาธิเสียแล้ว จะไม่มีทางนำตนเองให้เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแน่นอน.

    ผู้ที่สามารถนำจิตเข้าไปตั้งไว้พร้อมกับประคองให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่ฐานลมกระทบ
    ได้สำเร็จ จิตย่อมไม่กระเพื่อมไหว ( คือ นิวรณ์ดับ )
    ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถทำจิตให้สงบเป็นสมาธิสูงขึ้นอีก
    และเมื่อทำจิตให้สงบถึงขีดสุดแล้ว
    ย่อมหลุดพ้นจากอารมณ์ที่จะครอบงำปรุงแต่งให้เสียคุณภาพได้อีกต่อไป
    บุคคลผู้นี้ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ชนะตนเองโดยเด็ดขาด
    อย่างที่ไม่มีโอกาสกลับกลายเป็นผู้แพ้อีกต่อไป.

    นับตั้งแต่นิวรณ์ดับ จิตจะเริ่มเป็นสมาธิทันที
    ผู้ปฏิบัติอย่าเพิ่งรีบทำจิตให้สงบลึกลงไปกว่านี้อีก
    แต่ให้ซ้อมถอยออกมาสู่ความไม่สงบ
    ด้วยการถอนลมหายใจให้ค่อยๆหยาบเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย
    แล้วจึงนำจิตกลับเข้าสู่ความสงบให้ได้อีกครั้ง
    โดยใช้ความสังเกตและระวังไว้ตลอดเวลา เพื่อจำทางเข้าสมาธิไว้ให้ได้อย่างแม่นยำ.

    ผู้ปฏิบัติควรซ้อมทำดังที่กล่าวมานี้สัก ๒-๓ ครั้ง ทุกคราวที่ปฏิบัติสมาธิ
    เพื่อให้จำทางเดินของจิตไว้ได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำที่สุด
    จนกระทั่งสามารถทำให้จิตเป็นสมาธิได้ทันทีที่นึกน้อมถึงความสงบขีดสุด
    โดยไม่เสียเวลาเนิ่นนาน แต่ประการใด.

    เมื่อจะเลิกปฏิบัติสมาธินั้น ผู้ปฏิบัติควรจะทำอย่างช้าๆสุขุมเยือกเย็น
    ด้วยการถอนลมหายใจให้หยาบขึ้นทีละน้อยๆตามลำดับ
    พร้อมกับสังเกตดูจิตอย่างใกล้ชิด เพื่อให้จำทางออกจากสมาธิไว้ให้แม่นยำ
    อย่าออกจากสมาธิอย่าง รีบร้อน พรวดพราดเป็นอันขาด
    เพราะจะทำให้จิตซัดส่ายเสียพลังและจำทางเข้าสมาธิไว้ไม่ได้
    ซึ่งจะทำให้เข้าสมาธิครั้งต่อไปยากมาก

    ผู้ปฏิบัติควรซ้อมทำดังที่กล่าวมานี้สัก ๒-๓ ครั้ง ทุกคราวที่ปฏิบัติสมาธิ.

    การซ้อมทำดังกล่าวสัก ๒-๓ ครั้ง ทุกคราวที่ปฏิบัติสมาธิ
    เพื่อให้จำทางเข้าออกสมาธิไว้ได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำที่สุด
    จนกระทั่งสามารถนำจิตออกจากสมาธิได้ ทันทีที่นึกน้อมถึงการงานที่ต้องทำต่อไปจากนั้น,โดยเปลี่ยนเป็นสติกำกับอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้คลาดเคลื่อนเลย.

    กล่าวโดยสรุปแล้ว การทำลมหายใจให้หยาบขึ้นก็ดี หรือทำลมหายใจให้ละเอียดลงก็ดี
    ผู้ปฏิบัติจะต้องทำอย่างช้าๆโดยใช้ความสังเกตอย่างใกล้ชิดว่า
    เมื่อจะเข้าสมาธินั้นวางจิตอย่างไร จึงจะเป็นสมาธิได้ทันที
    และเมื่อจะออกจากสมาธินั้น วางจิตอย่างไร จึงจะออกจากสมาธิ
    และใช้สติกำกับ,แทนทันที เพื่อที่จะไม่ให้จิตซัดส่ายดิ้นรนได้แม้แต่น้อย


    ผู้ที่จำวิธีวางจิตด้วยการทำลมหายใจให้หยาบหรือละเอียดได้อย่างแม่นยำขนาดที่ว่า
    เพียงแต่นึกน้อมเท่านั้น
    จิตก็เป็นสมาธิ หลุดพ้นจากการครอบงำปรุงแต่งของอารมณ์ทันที และ
    เพียงแต่นึกน้อมเท่านั้น
    จิตก็ออกจากสมาธิ เพื่อทำการงานอันเป็นประโยชน์แก่ตนและสังคมตามหน้าที่ทันที
    ย่อมได้ชื่อว่าได้แก้วสารพัดนึกมาไว้ในมือตนเองแล้ว
    ซึ่งทำให้สามารถเข้าออกสมาธิได้อย่างคล่องแคล่วโดยไม่เสียเวลาแม้แต่น้อย
    เหมือนดังพุทธดำรัสที่ได้ยกมาอธิบายประกอบในตอนต้นนี้ทุกประการ.

     
     

    จากคุณ : rxkku - [ 25 เม.ย. 51 19:13:24 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom