ความคิดเห็นที่ 9

ขอแนะนำ วัดป่ามหาไชย บ.อ้อมโรงหีบ ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พระอาจารย์มหาประกอบ ธมฺมชีโว
-----------------------------------------------
คอลัมน์ ทางสี่แพร่ง เรื่อง ตั้งวิทยาเขตมหาวิทยาลัยสงฆ์ในจังหวัดสมุทรสาคร
--------------------------------------------------------------------------------
พระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งเล่าว่าคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเคยสนใจจะปรับปรุงวัดป่าชัยรังสี ในจังหวัดสมุทรสาคร ให้เป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหามงกุฎราชวิทยาลัย แต่ก็ล้มเลิกแผนการ ท่านอยากให้ผมไปดูว่าสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร อาทิตย์ที่แล้ว ผมจึงถือโอกาสแวะไปสมุทรสาคร มีลูกศิษย์ที่มหิดลซึ่งเป็นชาวมอญอำเภอบ้านแพ้ว สมุทรสาคร เป็นมัคนายก
ไปสมุทรสาครเดี๋ยวนี้สะดวกกว่าแต่ก่อนมาก บ้านผมอยู่ระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย 3 กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 ขับรถออกจากบ้านมาบางลำพูเพื่อรับสำรับอาหารไปถวายพระ ขึ้นสะพานพระราม 8 ใช้เวลาเพียง 12-15 นาที ออกจากบ้านไปบนถนนใหม่ที่ปากทางถนนพุทธมณฑลสาย 4 ซึ่งตัดตรงไปยังสมุทรสาคร ใช้เวลาไม่ถึง 15 นาทีก็ถึงมหาไชย
วัดที่ผมไปถวายภัตตาหารเช้าคือวัดป่ามหาไชย ปกติ พระท่านฉันมื้อเดียวตามแบบอย่างพระกรรมฐานหรือพระป่าทั่วไป โดยเริ่ม 8 โมงเช้า ผมออกจากบ้านราวๆ 8 โมงนั่นแหละครับ แต่ก็ยังไปทันเวลาพระฉันจังหัน
ท่านเจ้าอาวาสวัดป่ามหาไชยคือ พระครูสิริสุดวราภรณ์ (พระมหาประกอบ ธมฺมชีโว ป.ธ.5) นั้น ผมรู้จักและคุ้นเคยกับท่านมาไม่น้อยกว่า 20 ปี สมัยก่อนเมื่อผมเป็นเณรเล็กๆ วัย 12 ขวบ ก่อนจะมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ผมเริ่มเรียนภาษาบาลีที่ศูนย์บาลีศึกษาอีสานธรรมยุต วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นสำนักบาลีใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่านพระครูสิริสุดวราภรณ์ก็เคยอยู่เรียนบาลีที่วัดนี้ ท่านเป็นรุ่นพี่ผมหลายปี ผมจึงรู้จักท่านมาตั้งแต่อยู่วัดนี้ด้วยกันแล้ว
โดยปกติ สำนักเรียนวัดโพธิสมภรณ์เป็นสำนักที่วางรากฐานให้ทั้งพระสายปริยัติและปฏิบัติ หลังจากเรียนจบนักธรรมเอกจากสำนักนี้ พระสงฆ์สามเณรหลายรูปเข้าไปอยู่ป่าเพื่อปฏิบัติกรรมฐานตลอดชีวิตก็มี หลายรูปเรียนบาลีต่อจนได้เป็นมหาเปรียญสูงๆ ก็มี สมัยผมยังเป็นเณรเล็กๆ ผมก็สังเกตเห็นว่าท่านหลวงพี่ประกอบสนใจสมาธิภาวนาตามแบบพระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ต่อมา แม้ท่านจะย้ายจากวัดโพธิสมภรณ์มาพำนักที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ เพื่อเรียนบาลีต่อ ท่านก็ยังสนใจฝึกสมาธิภาวนา เหตุนี้เมื่อท่านสอบบาลีได้เปรียญ 5 ประโยค ท่านก็หยุดแล้วหันไปเน้นกรรมฐานอย่างจริงจัง
มีผู้เล่าให้ฟังว่า มีอุบาสิกาชาวสมุทรสาครท่านหนึ่งนามว่า บุญศรี ถวายที่ดินซึ่งมีเนื้อที่จำนวน 25 ไร่ แก่หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่ดุลย์จึงมอบให้พระอาจารย์จันทร์ คเวสโก (หรืออดีตหลวงตาจันทร์เดี๋ยวนี้) ผู้เป็นลูกศิษย์มาสร้างวัด ซึ่งต่อมามีชื่อว่า `วัดป่าชัยรังสี พระอาจารย์จันทร์ (สมัยนั้น) ไม่ประสงค์ จะเป็นเจ้าอาวาสเสียเอง จึงติดต่อให้ท่านพระมหาประกอบไปเป็นเจ้าอาวาส ท่านพระมหาประกอบจึงย้ายจากวัดบรมนิวาสไปอยู่สมุทรสาครและเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าชัยรังสีหลายปี ต่อมา ชาวมหาไชยมีศรัทธาถวายที่ดินอีกแปลงเพื่อสร้างวัด ในที่สุดท่านก็ออกมาก่อตั้งวัดอีกวัดหนึ่งแล้วให้ชื่อว่า `วัดป่ามหาไชย และก็เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้มาจนบัดนี้
นับเป็นโชคดีของชาวสมุทรสาครที่มีพระดีอีกรูปมาอยู่อาศัยและช่วยอบรมสั่งสอนประชาชน วันที่ผมไปถึงเป็นวันพระพอดี จึงมีชาวบ้านมาถวายภัตตาหารกันมาก ผมฟังเทศน์และถวายภัตตาหารเสร็จก็ไปต่ออีกวัดหนึ่ง
-2-
วัดป่าชัยรังสีซึ่งผมแวะไปดูอีกวัดที่จริงก็อยู่ไม่ไกลกัน เป็นเรื่องบังเอิญที่ไม่คาดมาก่อน พระที่รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสในปัจจุบันของวัดนี้คือ พระมหาประมวล ปิยธมฺโม ผมก็รู้จักมาช้านานเหมือนกัน เพราะท่านก็เคยเป็นศิษย์ร่วมสำนักที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เช่นกัน
วัดป่าชัยรังสีซึ่งพระหลายรูปเห็นว่า น่าจะพัฒนาให้เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงฆ์ค่อนข้างเงียบแต่ร่มรื่น เพราะมีต้นไม้ใหญ่ๆ ขึ้นดกหนาจนเขียวครึ้มไปทั้งวัด แต่ที่สะดุดตาผมซึ่งเพิ่งไปวัดนี้เป็นครั้งแรกก็คือตึกวิหารอเนกประสงค์ สก., กุฏิที่อยู่อาศัย, รวมทั้งห้องสมุด ฯลฯ ซึ่งมองโดยองค์รวมแล้วก็ใหญ่โต เอาการอยู่ เฉพาะพระวิหารอเนกประสงค์แห่งเดียว ก็คงใช้จ่ายไปไม่น้อยกว่าร้อยล้านถึงจะสร้างเสร็จ เฉพาะค่าซ่อมพระอุโบสถที่เพิ่งเสร็จไปใหม่ก็ใช้งบถึง 8 ล้าน อาคารที่สร้างขึ้นมา เพื่อให้เป็นห้องสมุดก็ดูโดดเด่นเป็นสัดส่วนดีกว่าตึกห้องสมุดของวิทยาลัยหลายแห่งด้วยซ้ำ แต่ทว่ากุฏิต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาและเคยมีพระภิกษุสามเณรอยู่อาศัยมาก สมัยที่ท่านหลวงตาจันทร์ยังอยู่บัดนี้ถูกปล่อยให้รกร้าง เพราะกำลังพระภิกษุสามเณรซึ่งมีราว 18 รูป ทุกวันนี้ไม่พอจะดูแลได้ทั่ว ปัจจุบันวัดมีเนื้อที่ประมาณ 104 ไร่ ซึ่งก็กว้างขวางพอดู
น่าเสียดายว่าวัดที่เคยมีพระภิกษุสามเณรอยู่กันเป็นร้อยๆ รูป มาบัดนี้เหลือไม่กี่รูป ที่สำคัญมีตึกหลายตึกที่สร้างมาแล้วไม่ใช้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น ผมเห็นว่าควรอย่างยิ่งที่คณะสงฆ์จะมาเร่งปรับปรุงให้วัดป่าชัยรังสีเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงฆ์โดยเร็ว เพราะมีเหตุผลดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง ผมเสียดายตึก ไม่ว่าจะเป็นตึกเรียน ตึกสำนักหอสมุด และกุฏิสงฆ์ต่างๆ ที่สร้างไว้จำนวนมาก ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ผมทราบว่ากุฏิสงฆ์ต่างๆ ที่มีในวัดนั้น สามารถให้พระภิกษุสามเณรพักอยู่ได้ไม่น้อยกว่า 500 รูป ตึกเหล่านี้ปิดตายอย่างนั้นตลอด อีกไม่นานก็คงพังเพราะมดปลวก เสียดายตึกซึ่งสร้างมาโดยใช้งบประมาณหลายล้านเปล่าๆ
โดยปกติ เวลาพระสงฆ์จะตั้งวิทยาเขตวิทยาลัย ท่านจะพยายามระดมทุนหรือขอบริจาคทุนหลายสิบล้านบาทเพื่อก่อสร้างตึกเรียน ตึกห้องสมุด และตึกที่พักอาศัย กว่าจะสร้างวิทยาเขตให้เสร็จสักแห่งต้องใช้ความพยายามหลายปี บางทีผู้ริเริ่มทำอาจมรณภาพไปเสียก่อนที่วิทยาเขตจะสำเร็จก็มี แต่วัดป่าชัยรังสีมีตึกทุกอย่างพร้อม ถ้าจะหาทุนทรัพย์ก็เพียงแต่หามาเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ และซื้อพวกอุปกรณ์สำนักงานและเครื่องใช้ไม้สอยอื่นๆ ที่จำเป็นเท่านั้น เราก็สามารถมีวิทยาเขตมหาวิทยาลัยสงฆ์เพิ่มอีกแห่งเพื่อสร้างศาสนทายาทที่ดีให้ชาติบ้านเมืองได้
ประการที่สอง จังหวัดสมุทรสาครจัดเป็นสถานที่สัปปายะสำหรับพระภิกษุสามเณร ผมสอบถามชาวสมุทรสาครในบริเวณใกล้เคียงได้ความว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวสวนซึ่งมีฐานะ เพราะพืชพันธุ์เกษตรของชาวสวนหรือชาวไร่แถวๆ นั้นสมบูรณ์ดีกันถ้วนหน้า มีรายได้ต่อปีจำนวนมาก ชาวบ้านที่ผมคุยด้วยแบบสุ่มๆ บอกว่า ถ้าวัดป่าชัยรังสีจะก่อตั้งวิทยาเขตมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นมาเพื่อสร้างศาสนทายาทที่มีคุณภาพให้ประเทศชาติ สาธุชนทั่วๆ ไปก็คงยินดีอุปถัมภ์และเข้าวัดกันมากขึ้นเพื่ออุปถัมภ์ในเรื่องภัตตาหาร โดยปกติ ถ้าวัดมีงานชาวบ้านทั่วไปก็เข้ามาช่วยอยู่แล้ว
ประการที่สาม ชาวบ้านละแวกนั้นจำนวนมากเป็นชาวมอญ ซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธศาสนามาช้านาน ภาษาชาวมอญเป็นภาษาในตระกูลเดียวกับภาษาเขมร หรือบางทีเรียกว่าเป็นตระกูลออสโตรเอเชียติก ชุมชนที่พูดภาษาเขมรและมอญได้มาพำนักอยู่ในเขตที่เรียกกันว่า ประเทศไทยเดี๋ยวนี้กันมาช้านานแล้ว ผมเองก็พูดภาษาเขมรเป็นมาตุภาษา (Mother Tongue) มาตั้งแต่เกิด แม้บ้านที่ผมเกิดตอนนี้ก็พูดเขมรทั้งหมู่บ้าน ลองส่งภาษาเขมรคุยกับลูกศิษย์ซึ่งเป็นมอญบ้านแพ้วดู ผมฟังคำมอญที่เขาออกเสียงหลายคำปรากฏว่าคล้ายเขมรมาก สันนิษฐานได้ว่าต้นตอดั้งเดิมของสองภาษานี้น่าจะเกี่ยวโยงกัน หรือใกล้ชิดกันมาก แต่สิ่งที่ชาวมอญมีชื่อเป็นพิเศษ ก็คือความมีศรัทธาเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนาเถรวาท ถ้าคณะสงฆ์ท่านจะก่อตั้งวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นในพื้นที่จังหวัดสมุทสาครชาวบ้าน ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนแถวๆ นั้น โดยเฉพาะชาวมอญที่มีศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธศาสนาก็คงจะปลื้มปีติอนุโมทนา และช่วยอุปถัมภ์ค้ำจุนเป็นอย่างดี เพราะเป็นการช่วยสืบทอดศาสนาที่บรรพบุรุษเคยนับถือกันอย่างเข้มแข็งมาแต่โบร่ำโบราณ
-3-
สังคมไทยตอนนี้ เรามีปัญหาสำคัญประการหนึ่ง คือการกระจายการศึกษาไม่ทั่วถึง เราจึงหันมาเน้นพัฒนาคนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุด เวลาพูดถึงการศึกษาชาติ หลายคนอาจแค่นึกถึงแต่โรงเรียนประถม, มัธยม ฯลฯ ที่รัฐและเอกชนดำเนินการสอนอยู่ ลืมไปว่าทุกวันนี้วัดหลายวัดในประเทศไทย ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนปริยัติธรรมได้ทุกวัด เพราะไม่มีกำลังทรัพย์ไม่มีครูที่มีความสามารถ พระสงฆ์มากความสามารถซึ่งมีน้อยต่างก็พากันไปกระจุกอยู่แต่ในภาคกลาง
ดังนั้น เยาวชนหลายคนที่บวชเข้ามาเป็นสามเณรในวัดต่างๆ หลายวัดจึงไม่ได้รับการศึกษา แม้แต่ชาวบ้านที่บวชเป็นพระภิกษุสามเณรเพียงระยะสั้นๆ ก็ไม่มีหลักสูตรให้เรียนเพราะไม่มีครูสอนถึงยามเข้าพรรษาที ขณะที่วัดใหญ่ๆ ในตัวเมืองหลายวัด เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร มีหลักสูตรอบรมพระนวกะเข้มข้น วัดหลายๆ วัดในต่างจังหวัดแทบไม่มีอะไรเลย พระเณรที่บวชเข้าไปอยู่จำพรรษาเป็นเวลาตั้ง 3 เดือน ก็แทบไม่ได้เรียนอะไร เพราะไม่มีศาสนทายาทที่ดีพอจะช่วยสอน ลองไปสำรวจดูต่างจังหวัดสิครับ บางคนเป็นข้าราชการลาบวช แต่บวชไปแล้วไม่ค่อยทำอะไร ที่ขนโทรทัศน์และวิดีโอเข้าไปดูจนเป็นกิจวัตร ระหว่างพรรษาก็มาก บวชในพรรษาสำหรับบางวัดจึงเหมือนเป็นการลาไปพักผ่อน นึกถึงสามเณรเล็กๆ หลายรูปที่พลาดโอกาสจะได้รับการศึกษาตามหลักสูตรกระทรวงฯ และไปบวชอยู่ตามวัดบ้านนอกเถิดครับ อนาคตท่านเหล่านี้จะไปทางไหน
สังคมไทยจะมีบุคลากรที่มีคุณภาพทางการศึกษา และเข้มแข็งในทางจริยธรรมมากขึ้น ถ้าเราสามารถผลิตศาสนทายาทที่ดีไว้ประจำวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรอย่างเพียงพอ ในเวลาเดียวกันก็มีหลักสูตรเตรียมไว้สำหรับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาสกัดไว้ทุกทาง เช่น เมื่อบวชเข้ามาเป็นสามเณรตั้งแต่เด็กก็มีหลักสูตรให้เรียนซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับหลักสูตรระดับสูงทั้งทางโลกทางธรรมได้ เมื่อบวชเข้ามาเป็นชีก็มีสถานที่ให้การศึกษาเพื่อต่อยอดไปถึงระดับสูงทั้งทางโลกทางธรรมได้ แม้จะลาบวชเพียงระยะสั้นก็มีหลักสูตรที่ได้มาตรฐานไว้ฝึกอบรม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นข้าราชการลาเรียน ไม่ใช่ไปบวชเพื่อพักผ่อนดังนี้เป็นอยู่หลายแห่งในเวลานี้
ทุกวันนี้ เรามีโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งรัฐบาลกำลังพยายามทำอยู่ แต่ผมอยากบอกท่าน ดร.อดิศัย โพธารามิก และท่านสุธรรม แสงประทุมไว้ตรงนี้ว่าโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ นั้นจะเกิดเป็นจริงทั่วประเทศ ได้ยากมากถ้าท่านไม่คิดสร้างศาสนทายาท ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบสอนวิชาพระพุทธศาสนาไว้เพียงพอทุกโรงเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันและจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต การเอาคนเรียนจบสาขาอื่นมาอบรมวิชา พระพุทธศาสนาแล้วให้ไปรับผิดชอบสอนวิชาพระพุทธศาสนาระดับต่างๆ ที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้น ผมมองว่าก็เป็นเพียงขายผ้าเอาหน้ารอดไปชั่วคราวเท่านั้น
ผมจึงอยากให้คณะสงฆ์รีบๆ พัฒนาวัดป่าชัยรังสีให้เป็นวิทยาเขตมหาวิทยาลัยสงฆ์อีกแห่งเสียเร็วๆ เราจะได้มีสถาบันการศึกษาอีกแห่งไว้ปั้นศาสนทายาท ที่มีคุณภาพในอนาคต
------------------------------------------------------------------------------ แหล่งที่มา สยามรัฐ ฉบับที่ 18752 [หน้าที่ 7 ] ประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2547
จากคุณ :
อริยชน
- [
3 ต.ค. 51 12:28:52
]
|
|
|