Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ปรัชญาจารวาก  

.

      ปรัชญาอินเดียแบ่งเป็น 2 พวก โดยแบ่งตามการนับถือเกี่ยวกับคัมภีร์พระเวท

1. ปรัชญานาสติกะ โดยเป็นปรัชญาที่ไม่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท ได้แก่

-ปรัชญาจารวาก
-ปรัชญาเชน
-พุทธปรัชญา
-พุทธปรัชญาสำนักไวภาษิกะ
-พุทธปรัชญาสำนักเสาตรานติกะ
-พุทธปรัชญาสำนักโยคาจาร
-พุทธปรัชญาสำนักมาธยมิกะ

2.ปรัชญาอาสติกะ โดยเป็นปรัชญาที่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท ได้แก่

-ปรัชญานยายะ
-ปรัชญาไวเศษิกะ
-ปรัชญาสางขยะ
-ปรัชญาโยคะ
-ปรัชญามีมางสา
-ปรัชญาเวทานตะ
-ปรัชญาอไทฺวตะ เวทานตะ
-ปรัชญาวิศิษฏาไทฺวตะ เวทานตะ


         ปรัชญาจารวาก

         ปรัชญาจารวาก หรือลัทธิโลกายัต เป็นพวกวัตถุนิยมจัด หรือสสารนิยม (materialism) ผู้ก่อตั้งลัทธินี้คือ ฤาษีพฤหัสบดี หรือท้าวสหัมบดีพรหม ท่านผู้นี้นับเป็นคนแรกที่มีทรรศนะว่า สสารเป็นอันติมะสัจจะ เป็นสภาพความจริงสูงสุด แนวความคิดของลัทธิโลกายัตในสมัยนั้น บางครั้งเป็นที่ตลกขบขัน บางครั้งก็เป็นที่เกลียดชังของพวกนักคิดในสมัยเดียวกัน เพราะในสมัยนั้นนักคิดต่าง ๆ ทุกสำนักจะเป็นพวกจิตนิยม (Idealism) กันทั้งนั้น

        ลัทธิโลกายัตหรือจารวาก ถือว่าประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (Perception) เท่านั้น เป็นแหล่งความรู้ที่แน่นอนและถูกต้องแท้จริง ความรู้ทางอ้อม เช่น ความรู้ที่เกิดจากการอนุมาน (Inference) ความรู้ที่ได้มาจากการเรียน หรือบอกเล่าจากคนอื่นเป็นความรู้ที่เชื่อถือไม่ได้ ความรู้เหล่านั้นนำไปสู่ความผิดเสมอ เราไม่ควรเชื่อถือความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่ผ่านประสาทสัมผัสของเราเสียก่อน

        คำสอนของลัทธิโลกายัตหรือจารวาก

มีคำสอนบางอย่างของพฤหัสบดีได้กล่าวถึงสาระสำคัญของลัทธิโลกายัตหรือจารวาก ซึ่งพอจะนำมากล่าวโดยย่อเป็นข้อ ๆ ได้ดังต่อไปนี้

๑. ธาตุทั้งหลายมีเพียง ๔ คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ
๒. ร่างกาย ประสาทสัมผัส และสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของธาตุต่าง ๆ
๓. วิญญาณ (Consciousness) เกิดมีขึ้นจากการรวมตัวอย่างถูกส่วนของวัตถุ เช่นเดียวกับคุณสมบัติที่ทำให้เกิดความมึนเมาของสุราเมรัยซึ่งเกิดขึ้นจาการหมักดองของวัตถุที่ใช้ผลิตฉะนั้น
๔. สิ่งที่เรียกวิญญาณหรืออาตมันนั้น มิใช่อะไรอื่น ที่แท้ก็คือร่างกายที่มีสัมปชัญญะ หรือความรู้สำนึกนั่นเอง
๕. ความบันเทิงเริงรมย์เป็นจุดหมายเพียงอย่างเดียวของชีวิต
๖. ความตายคือโมกษะหรือความหลุดพ้น


        คำสอนของลัทธิจารวาก ถือว่า ไม่มีสวรรค์ ไม่มีความหลุดพ้น (โมกษะ) ไม่มีวิญญาณใด ๆ อยู่ในโลกอื่น ไม่มีการกระทำหรือกรรมของใครในวรรณะทั้ง ๔ ที่จะก่อให้เกิดผล (ไม่มีผลของ กรรม) การบูชาไฟ พระเวททั้งสาม การร่ายมนต์ของพวกนักบวช และการทาตัวด้วยขี้เถ้า เป็นอุบายวิธีหาเลี้ยงชีพของคนโง่ ไร้ยางอาย การฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นการต้มตุ๋นหลอกลวง เป็นคนลวงโลก ถ้าหากสัตว์ที่ถูกฆ่าในพิธีบูชายัญจะได้ไปเกิดในสวรรค์จริงแล้ว ไฉนเลยผู้ประกอบพิธีบูชายัญ ไม่เอาบิดามารดาของตนมาฆ่าบูชายัญเช่นนั้นบ้างเล่า

        จารวากสอนให้แสวงหาความสุขตั้งแต่ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ กินดื่มให้สุขสำราญ แม้ว่าจะต้องเป็นหนี้เป็นสินเขาก็ตาม เพราะว่าเมื่อร่างกายถึงความตายถูกเขาเผาเป็นเถ้าถ่านไปแล้ว มันจะกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีกไฉน พิธีกรรมต่าง ๆ นั้น เป็นอุบายวิธีหาเลี้ยงชีพของพวกพราหมณ์นั่นเอง ผู้แต่งคัมภีร์พระเวทคือคนโง่งั่ง คนลวงโลก เจ้าพวกอสูรกาย
จารวากถือว่าคัมภีร์ดังกล่าวเขียนขึ้นโดยพวกพระที่มีเล่ห์คดโกง และเลี้ยงชีพด้วยการหลอกลวงประชาชนผู้โง่เขลา พวกพระเหล่านี้สอนประชาชนให้หลงใหลกับการประกอบพิธีกรรมบูชายัญ ทั้งนี้เพื่อพวกตนจะได้มีปัจจัยไทยธรรมเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หาได้มีประโยชน์อันใดที่พึงเกิดขึ้นจากการประกอบพิธีกรรมบูชายัญเหล่านั้นแต่ประการใดไม่

        อภิปรัชญาของลัทธิโลกายัตหรือจารวาก

        สสารหรือวัตถุเท่านั้นเป็นความจริงที่เป็นอันติมะ ถือว่าความรู้ที่แท้จริง ต้องเป็นความรู้ที่ได้รับมาทางประสาทสัมผัสหรือความรู้ประจักษ์เท่านั้น (empiricism) เป็นความรู้ที่ถูกต้องสิ่งใดที่ประจักษ์โดยประสาทสัมผัสไม่ได้ ก็ถือว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง ดังนั้น นรก สวรรค์ บาป บุญ เทวดา ภูตผีปิศาจ ชีวิตในโลกหน้า วิญญาณหรืออาตมัน พระพรหม พระเป็นเจ้าจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เพราะว่าสิ่งเหล่านี้รับรู้ไม่ได้ด้วยประสาทสัมผัส สิ่งที่มีอยู่จริงตามทรรศนะของพวกจารวากจึงมีเพียงวัตถุเท่าที่เรารับรู้ได้เท่านั้น อภิปรัชญาของจารวาก๒ อาจแบ่งได้ ๓ หัวข้อคือ

         ๑. ยืนยันว่าสรรพสิ่งเกิดมาจากการรวมตัวของธาตุทั้ง ๔
         ๒. ปฏิเสธการมีอยู่ของโลกหน้าและตัวตนหรืออาตมัน
         ๓. ปฏิเสธการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าโดยสิ้นเชิง

         ปรัชญาการดำเนินชีวิตของจารวาก
         คติการดำเนินชีวิตของพวกจารวากมีปรัชญาชีวิตว่า กิน ดื่ม และรื่นเริงสำราญ มีความสุขทางเนื้อหนังเป็นจุดหมายปลายทาง มนุษย์เกิดหนเดียวตายหนเดียว ไม่มีโลกหน้า ไม่มีการเกิดใหม่ หลังจากตายแล้ว คนดีคนชั่วมีจุดสุดท้ายของชีวิตอย่างเดียวกันคือความตาย ดังนั้น มนุษย์จึงควรรีบตักตวงแสวงหาความสุขเสียให้เต็มที่ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ กินให้เป็นสุข ดื่มให้เป็นสุข และสนุกเสียให้เต็มอิ่ม ตายแล้วก็สิ้นสุดกัน จะดื่มสนุกสนานอะไรไม่ได้อีกแล้ว ลัทธินี้สอนตรงกับความต้องการกิเลสของปุถุชนทั่ว ๆ ไป พวกนี้ยอมรับเอาหลักปรัชญาชีวิตของจารวากมาปฏิบัติได้โดยไม่รู้สึกตัวและง่ายดาย
จารวากยังสอนให้คนเราแสวงหาทรัพย์ เพราะว่าทรัพย์สมบัติทำให้เราสามารถแสวงหาความสนุกสนานเพลิดเพลินในชีวิตได้อย่างเต็มที่ ความสุขทางเนื้อหนัง หรือความสุขทางกามารมณ์เป็นความสุขสูงสุด คุณธรรมไม่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต เพราะคนดีคนชั่วก็จบลงด้วยความตายเท่ากัน

         ทัศนะเกี่ยวกับโมกษะ
         โมกษะ
คือความหลุดพ้นจากความทุกข์ไม่จำเป็นต้องรีบแสวงหาในขณะนี้ และไม่มีประโยชน์อันใดด้วย ผู้ที่ยอมทนทุกข์ทรมานหรือยอมสละความสุขทางโลกียวิสัย เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นบรรลุโมกษะ ได้ชื่อว่าเป็นคนโง่เหง้าเต่าตุ่นตามทรรศนะของพวกจารวาก การแสดงความเคารพภักดีและอ้อนวอนบูชาพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะมีนามอย่างไร ล้วนเป็นความโง่เหง้าทั้งสิ้น เพราะความตายเท่านั้นคือโมกษะอันแท้จริงของคนทุกคน
ดังนั้น บุคคลจึงควรแสวงหาความสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน กินให้เป็นสุข สนุกให้เต็มอิ่ม ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อความตายมาปลิดฉากชีวิตก็เป็นอันหมดกันไป ร่างกายก็สูญสลายไปตามอากาศธาตุ ที่กล่าวมานี้คือแนวปรัชญาการดำเนินชีวิตของลัทธิโลกายัตหรือจารวาก

         ปรัชญาจารวากนั้นไม่เชื่อว่ามีชีวิตหลังความตาย ไม่เชื่อว่ามีวิญญาณที่จะล่องลอยไปเกิดใหม่หลังจากที่คนเราตายแล้ว เมื่อไม่เชื่ออย่างนี้เลย ทำให้คิดว่าการที่คนเรามีโอกาสได้เกิดมาดูโลกในช่วงระยะเวลาราว ๗๐ ปีโดยประมาณนี้ต้องถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญ ตายไปแล้วไม่แน่ว่าเราจะได้เกิดอีกหรือไม่ เมื่อไม่แน่ใจ เราจะอุทิศชีวิตให้แก่อะไร ระหว่างความสุขที่สามารถจับต้องได้แน่ ๆ ในชาตินี้กับความหลุดพ้นที่ศาสนาต่าง ๆ ของอินเดียสอนอยู่ในเวลานั้น สำหรับปรัชญาจารวากการเลือกที่ฉลาดก็คือการเลือกสิ่งที่จับต้องได้และแน่นอนว่ามีตัวตนอยู่จริง ๆ

         ปรัชญาจารวากคิดว่าคนที่เข้าใจชีวิตก็คือ คนที่รู้จักตระเตรียมตัวเองเพื่อให้สามารถมีความสุขในโลกนี้ การตระเตรียมที่ว่านี้ก็เช่นเมื่อเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาวก็ต้องรู้จักขวนขวายเรียนหนังสือ เมื่อเรียนจบแล้วก็รู้จักทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว มีคนรัก แต่งงาน และรู้จักใช้เงินทองที่หามาได้นั้นซื้อหาความสุขใส่ตัว ความสุขในที่นี้ปรัชญาจารวากแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่สุขหยาบ ๆ เช่นสุขจากการกินดื่มไปจนถึงสุขที่ประณีตเช่นการมีครอบครัวมิตรสหายที่อบอุ่น

โดยสรุป ปรัชญาจารวาก ไม่เชื่อเรื่องสวรรค์ที่เราจะได้ไปพบหลังจากตายแล้ว อย่างที่ศาสนาทั้งหลายในอินเดียสอน แต่เชื่อว่าหากจะมีสวรรค์ สวรรค์นั้นก็อยู่ในโลกนี้แหละ เรานั่นเองที่จะเป็นผู้สร้างสวรรค์ให้แก่ตนเอง หาใช่ใครไม่

----------------------------------------------------------------------------------

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว ท่านคิดอย่างไรบ้าง ?
ความคิดจากปรัชญาจารวากนี้ เหมือนหรือสอดคล้อง กับสำนักคิดในเมืองไทย สำนักใดบ้าง หรือไม่ อย่างไร ???

แก้ไขเมื่อ 20 ก.ย. 52 13:42:09

แก้ไขเมื่อ 20 ก.ย. 52 13:33:41

จากคุณ : Inquirer
เขียนเมื่อ : 20 ก.ย. 52 13:26:43




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com