 |
พาหุสัจจะ : ความเป็นผู้ได้สดับมาก
|
|
.
พาหุสัจจะ แปลว่า ความเป็นผู้ได้สดับมาก หมายถึงการได้ศึกษาเล่าเรียนมาก การมีความรู้ประสบการณ์มาก เรียกบุคคลผู้มีภาวะอย่างนั้นว่า พหูสูต คือผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมากมาก ผู้มีความรู้มาก ผู้คงแก่เรียน นักปราชญ์ หนังสือบางฉบับเรียกว่า "หัวใจนักปราชญ์"
พาหุสัจจะ เกิดจากการศึกษา และการศึกษาที่ดีเกิดจากการศึกษา ๔ แบบ คือ ศึกษาด้วยการฟัง ด้วยการคิด ด้วยการสอบถาม และด้วยการจดจำบันทึก
มีคาถาบทหนึ่งที่ถือว่าเป็น หัวใจนักปราชญ์ คือ "สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต กถัง โส ปํณฑิโต ภเว" แปลว่า ผู้ปราศจาก สุ จิ ปุ ลิ จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร
สุ ย่อมาจาก สุตะ แปลว่า ฟัง จิ ย่อมาจาก จินตะ แปลว่า คิด ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา แปลว่า ถาม ลิ ย่อมาจาก ลิขิต แปลว่า จด
พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก, ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก หรือคงแก่เรียน มีองค์ ๕ คือ ๑. พหุสฺสุตา ได้ยินได้ฟังมาก ๒. ธตา ทรงจำไว้ได้ ๓. วจสา ปริจิตา คล่องปาก ๔. มนสานุเปกฺขิตา เจนใจ ๕. ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา ขบได้ด้วยทฤษฎี
พหุสูต, พหูสูต ผู้ได้ยินได้ฟังมามาก คือทรงจำธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก, ผู้เล่าเรียนมาก, ผู้ศึกษามาก, ผู้คงแก่เรียน
อัครพหูสูต พหูสูตผู้เลิศ, ยอดพหูสูต, ผู้คงแก่เรียนอย่างยอดเยี่ยม หมายถึง พระอานนท์ - พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม ๒ - หน้าที่ 10
[๑๒๑] พาหุสัจจะของพหุสุตบุคคล ชื่อว่า เป็นมงคล เพราะ เป็นเหตุแห่งอิฏฐผลมีสรรเสริญเป็นต้น, และชื่อว่าเป็นมงคล แม้ เพราะเหตุแห่งการละอกุศล และการบรรลุกุศล ด้วยประการฉะนี้. สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในนคโรปมสูตร๒ ทุติยวรรค ทุติยปัณณาสก์ ในสัตตกนิบาต อังคุตตรนิกาย ดังนี้ว่า "ภิกษุ ทั้งหลาย ก็อริยสาวกผู้สดับแล้วแล ย่อมละอกุศลเสียได้ ทำกุศล ให้เจริญ, ย่อมละกรรมอันมีโทษเสีย ทำกรรมไม่มีโทษให้เจริญ บริหารตนให้หมดจด."
[๑๒๓] อนึ่ง พาหุสัจจะ ชื่อว่าเป็นมงคล แม้เพราะเป็นเหตุ แห่งการทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจโดยลำดับ. สมดังคำที่พระผู้มีพระ ภาค เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์ชื่อภารทวาชะ ตรัสไว้ว่า "กุลบุตรผู้เกิดศรัทธาแล้ว ย่อมเข้าไปหา (บัณฑิต), ครั้นเข้าไปหา แล้ว ย่อมนั่งใกล้, เมื่อนั่งใกล้ ย่อมเงี่ยโสต, เงี่ยโสตแล้ว ย่อม สดับธรรม, ครั้งสดับแล้ว ย่อมทรงธรรมไว้, ย่อมพิจารณาเนื้อ ความแห่งธรรมที่ทรงไว้แล้ว, เมื่อเขาพิจารณาเนื้อความอยู่, ธรรม ทั้งหลายย่อมทนซึ่งความเพ่งพินิจ, เมื่อความทนซึ่งความเพ่งพินิจ แห่งธรรม มีอยู่, ความพอใจย่อมเกิด, เขาเกิดความพอใจแล้ว ย่อมอุตสาหะ, ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง, ครั้นไตร่ตรอง แล้ว ย่อมตั้งความเพียร, เขาเป็นผู้มีตนตั้งความเพียรแล้ว ย่อม ทำปรมัตถสัจให้แจ้งด้วยกาย และย่อมเห็น (แจ้ง) แทงตลอด ปรมัตถสัจนั้นด้วยปัญญา."
ปฏิสัมภิทาญาณ คือ ความแตกฉาน, ความรู้แตกฉาน, ปัญญาแตกฉาน มี ๔ คือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ คือ ภาษา ๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ
ปัจจัยเครื่องอุดหนุนของปฏิสัมภิทา มี ๘ คือ ปุพพโยคะ ๑ พาหุสัจจะ ๑ เทศภาษา ๑ อาคม ๑ ปริปุจฉา ๑ อธิคม ๑ ครุสันนิสัย ๑ และมิตตสมบัติ ๑
ในปัจจัยเหล่านั้น ปุพพโยคะก็มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล ความฉลาดในคัมภีร์และกระบวนศิลปะทั้งหลาย ชื่อว่า พาหุสัจจะ
จากคุณ |
:
Inquirer
|
เขียนเมื่อ |
:
23 ก.ย. 52 10:47:08
|
|
|
|  |