 |
ความคิดเห็นที่ 1 |
ขันธ์ ๕ ที่เราแบกกันอยู่ทุกคน ทุกชีวิตนี้ ไม่ใช่ของเรา ขันธ์ห้า ได้แก่
1. รูป ซึ่งหมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสสารทั้งที่อยู่ในสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมไปถึงช่องว่าง รวมถึงร่างกายของเรา ของผู้อื่น ร่างกายของสัตว์ ของเปรต ของเทวดา ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เพศชาย เพศหญิง ของแข็ง ของอ่อน สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความร้อน ความเย็น
2. เวทนา หมายถึง ความรู้สึกห้าอย่าง ได้แก่ สุขกาย ทุกข์กาย สุขใจ ทุกข์ใจ และเฉย ๆ ทางใจ
3. สัญญา หมายถึง ความจดจำ เช่น เห็นสิ่งนี้แล้วระลึกนึกได้ว่า สิ่งนี้คืออะไร ยกตัวอย่างเช่น เห็นก้อนกลม ๆ มีขาสี่ขา มีขนสีขาว มีตา มีหาง แยกเขี้ยว ก็นึกได้ว่า อ้อ สิ่งนี้คือสุนัข หรือเห็น คนหน้ารูปไข่ มีสิวที่แก้มข้างซ้าย ฟันเก ผมทอง ก็จำได้ว่า อ้อ คนคนนี้ชื่อนายก ไก่ หรือ เห็นก้อนสี่เหลี่ยมใหญ่ ๆ สูงประมาณสามสิบเมตรสีขาวมีช่อง ๆ ก็รู้ว่า อ้อ นี่คือตึกนะ เป็นต้น เพราะถ้าไม่มีสัญญา คือความทรงจำหรือการจดตำแล้ว ทุกอย่างจะเป็นเหตุการณ์ใหม่หมด และเราไม่สามารถจะเชื่อมโยงให้จิตคิดเรื่องอะไรได้เลย
ยกตัวอย่างเช่น นายแดงมีไฝที่จมูก เป็นอริกับนายขาว วันหนึ่ง นายขาวเดินตลาด ตามองเห็นสีและแสง เป็นรูปร่างผู้ชาย มีไฝที่จมูก เมื่อจักขุวิญญาณ ซึ่งเกิดจากจักขุทสกกลาป ได้เห็นแสง จิตก็จะส่งข้อมูลต่อไปสู้จิตที่พิจารณาอารมณ์ และในที่สุด จิตจะตัดสินอารมณ์ ว่าอารมณ์ที่พบนั้น คืออะไร ด้วยตัวสัญญา
ทีนี้ พอจิตของนายขาวได้รับข้อมูลจากสัญญาแล้วนะ ว่า นี่นะ นายแดง จิตก็จะรับช่วงทำงานต่อไปว่า โอเค นี่นายแดง เราต้องต่อยมัน หรือ โอเค นี่น้องฝน น้องแนน เราต้องเข้าไปจีบ เป็นต้น
4. สังขาร คือ การผสม หรือที่เรามักเรียกกันว่า การปรุงแต่ง คือ เมื่อจิตรับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแล้ว สังขาร จะจัดแจงว่าจะทำอะไรต่อไป
ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า สังขารนี้ มีสามด้วยกัน คือ
หนึ่ง บุญ เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร แปลว่า สภาพที่ไม่เศร้าหมองเร่าร้อน และให้ผลเป็นสุข สอง บาป เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร แปลว่า สภาพที่เศร้าหมองเร่าร้อน และให้ผลเป็นทุกข์ สาม จิตที่นิ่งระดับอรูปฌาน เรียกว่า อเนญชญาภิสังขาร หมายถึง สภาพของจิตที่ไม่หวั่นไหวด้วยอรูปฌาน
ยกตัวอย่างเช่น ตา มองเห็นพระ
คนที่เป็นพุทธศาสนิกชน ก็จะดีใจ ที่ได้เจอพระ ก็เลยยกมือไหว้ การทำอย่างนี้ เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร
หรือ
นายเขียว มองเห็นสุนัขหิวอาหารแล้วสงสารจึงซื้อไก่มาให้สุนัข ความสงสารนี้ เป็นไปในฝ่ายดี เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร
ตรงกันข้าม ถ้านายเขียว เห็นสุนัขแล้วรังเกียจ คิดร้าย อยากเอาไม้มาตีสุนัข นี้เรียกว่า เป็นฝ่ายลบ หรืออปุญญาภิสังขาร
5. วิญญาณ ซึ่งคำว่าวิญญาณ ในพระพุทธศาสนา กับในภาษาไทยนั้น คนละความหมาย
ในพระพุทธศาสนา วิญญาณ หมายถึง การรับรู้ Perception ทั้งหกทวาร (ประตู) เช่น จักขุวิญญาณ คือ การเห็น , โสตวิญญาณ คือการได้ยิน ,มโนวิญญาณ คือการรับรู้เรื่องทางใจ เช่น นั่งหลับตาคิดถึงแฟน เป็นต้น
ทั้งห้านี้ เป็นองค์ประกอบของสิ่งที่ถูกสมมุติเรียกว่า คน หรือสัตว์ แต่เมื่อจำแนกแยกแยะออกมาแล้ว เราหาพบความเป็นคนหรือสัตว์ไม่
เปรียบได้กับ รถยนตร์ เมื่อเราถอดชิ้นส่วนออกมาแล้ว เราไม่พบว่า ส่วนไหนเลย ที่เป็นรถยนตร์ เพราะมีแต่ล้อ เกียร์ เบรค ไฟ เบาะ กระจก น้ำมัน แบตเตอร์รี่ สายไฟ ยาง ฯลฯ
เช่นเดียวกัน เรา ๆ ที่นั่งกันอยู่นี้ ส่องกระจกแล้วคิดว่าเห็นหน้าตัวเองนี้ ที่จริงแล้ว เราพบแค่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เท่านั้น
แม้รูปกายนี้ เมื่อแยกออกมาแล้ว ก็หาได้พบความเป็นคนไม่
มีเพียง อวัยวะประกอบกันอย่างหลวม ๆ เท่านั้น ได้แก่ อาการ 32 มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ...อุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อ หนอง น้ำลาย เป็นต้น เท่านั้น หาสาระแม้นิดเดียวในกายนี้ไม่ได้มีเสียเลย
อนึ่ง เมื่อพิจารณาตามการวิปัสสนานี้แล้ว ให้กำหนดในที่สุดว่า "แม้จิตที่พิจารณา จิตที่กำลังทำวิปัสสนานี้อยู่นั้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ในที่สุดแล้ว เราก็จะไม่ยึดมั่นทั้งสติ ไม่ยึดมั่นแม้กระทั่งปัญญา ว่าเป็นอัตตาตัวตน แต่มีสติและปัญญาเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างสัมมาปฏิบัติก่อนสิ้นอายุ ได้อย่างมีความสุขเพียงเท่านั้น
แก้ไขเมื่อ 06 ม.ค. 53 11:20:54
จากคุณ |
:
SpiritWithin_HolyStream
|
เขียนเมื่อ |
:
5 ม.ค. 53 15:12:17
|
|
|
|
 |